ชื่อของ Baker Tilly สำหรับในประเทศไทย อาจยังไม่ค่อยเป็นที่คุ้นหูมากนัก
หากเปรียบเทียบกับแบรนด์ของบริษัทผู้สอบบัญชีข้ามชาติระดับ Big 4 อย่าง
Ernst & Young, KPMG, Pricewaterhouse Coopers หรือ Deloitte Touche
Tohmatsu
แต่หลังจากนี้ไป ชื่อนี้อาจเริ่มได้ยินกันมากขึ้น หลังจาก Baker Tilly
ได้เข้ามาตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
Baker Tilly เป็นเครือข่ายผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษาที่มียอดรายได้สูงเป็นอันดับ
10 ของโลก โดยในปี 2545 Baker Tilly สามารถทำยอดรายได้สูงถึง 1.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
"เราเห็นศักยภาพ และมีแผนจะเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว
และในปัจจุบันเราเห็นว่าเป็นจังหวะที่ดีมาก เพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ มีแนวโน้มไปในทางที่ดี
เศรษฐกิจของประเทศไทยมีความมั่นคง ตลาดหลักทรัพย์มีความคึกคัก" Geoff Barnes
CEO ของ Baker Tilly International ให้เหตุผล พร้อมสำทับอีกว่า
"ด้วยศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยดังกล่าวบ่งบอกถึงแนวโน้มที่นักลงทุนจากต่างชาติ
จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เราจึงต้องเข้ามาตั้งสำนักงานในไทย
เพื่อรองรับการลงทุนของนักลงทุนเหล่านั้น"
การเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย Baker Tilly ได้จัด ตั้งบริษัทเบเคอร์
ทิลลี่ ประเทศไทยขึ้น โดยมี Robert Brown และยรรยง ตันติวิรมานนท์ เป็น Director
Robert Brown จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยลอนดอน
เคยมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัท OTIS ในเครือ United Technologies ของสหรัฐอเมริกา
และ GCE Group ของสหราชอาณาจักร
ในปี 2539 Brown ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย
ของบริษัท Thyssenkrupp Aufzuge ทำหน้าที่จัดตั้ง และบริหารบริษัทร่วมทุนในประเทศไทย
โดยใช้เวลาอยู่ในประเทศไทย 2 ปี ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับ Grand Thonton โดยทำหน้าที่พัฒนาและดูแลงานฝ่ายสรรหาบุคลากรระดับบริหาร
ตลอดจนการจัดจ้างบริษัทภายนอกในการจัดทำเงินเดือน และบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับกิจการต่างๆ
ส่วนยรรยง จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และ MBA ด้าน Finance จากมหาวิทยาลัย Southern Illinois สหรัฐอเมริกา เคยมีประสบการณ์
กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ และบริษัทเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน จากออสเตรเลีย
การเข้ามาลงทุนตั้งเป็นสำนักงานในประเทศไทยของ Baker Tilly มีการวางแผนไว้ว่าจะทำธุรกิจอย่างครบวงจร
โดยเน้นการให้บริการสำคัญ 5 ประเภท ได้แก่ การให้คำปรึกษาทาง การเงิน การให้คำปรึกษาด้านบัญชีและการสอบบัญชี
การให้บริการด้านภาษี บัญชี และธุรกิจ การบริหารทรัพยากรบุคคลและการสรรหาบุคลากรระดับผู้บริหาร
"เราต้องการเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกจากบริษัทระดับ Big 4 ที่ได้เข้ามาให้บริการอยู่ในประเทศไทย
มานานแล้ว" Barnes เสริม
ความเนื้อหอมของประเทศไทย กำลังดึงดูดให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาจับจองพื้นที่ลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเหล่านั้น ก็ต้องติดตามลูกค้าเข้ามาตั้งสำนักงานในประเทศไทย
เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน