นับเป็นครั้งแรก สำหรับกลุ่มธุรกิจสื่อในประเทศไทย ที่ได้มีการประกาศตัวทายาทรุ่นที่
2 ซึ่งกำลังจะเข้ามารับบทบาทในการบริหารกิจการต่อจากคนรุ่นแรก ที่เป็นผู้ก่อตั้ง
จิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายเพียงคนเดียวของสนธิ ลิ้มทองกุล กำลังจะเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
(CEO) คนใหม่ของกลุ่ม "ผู้จัดการ" โดยจะมีผลอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่
1 มกราคม 2547 เป็นต้นไป
การแต่งตั้งจิตตนาถให้เข้ารับตำแหน่ง CEO คนใหม่ เป็นการประกาศออกจากปากของสนธิต่อหน้าแขกเหรื่อ
ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทขนาดใหญ่ และเอเยนซี่โฆษณาที่เป็นลูกค้าของ "ผู้จัดการ"
กว่า 500 คน ภายในงาน "ก้าวใหม่ผู้จัดการ" ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ในห้องบอลรูมของโรงแรมรีเจนท์
เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 30 ตุลาคม
จิตตนาถ ถือเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ แม้จะมีอายุได้เพียง 28 ปี แต่ได้ผ่านประสบการณ์ทำงานในธุรกิจสื่อมาแล้ว
ทั้งในบทบาทของผู้สื่อข่าว และผู้บริหารกิจการที่ประสบความสำเร็จ
จิตตนาถจบการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
(ศ.มศว) ประสานมิตร ก่อนที่จะไปเรียนระดับมัธยมที่ ศ.มศว ปทุมวัน จนจบมัธยมศึกษาปีที่
5
หลังจากนั้นได้บินไปเรียนต่อจนจบไฮสกูลที่ Whitsunday Anglican School
(WAS) ในเมือง Mackay แคว้น Queensland ประเทศออสเตรเลีย และใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นต่ออีก
4 ปี จนจบระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก University of Queensland
เขากลับเมืองไทย หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้เพียงไม่ถึงปี
จิตตนาถเริ่มต้นชีวิตการทำงานในวงการสื่อ ด้วยการเข้าเป็นผู้สื่อข่าวในสังกัดหนังสือพิมพ์
"ผู้จัดการ" เมื่อต้นปี 2541 และใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ในงานข่าวสายต่างๆ
อยู่ 2 ปีเต็ม ในช่วงนั้นเขายังไม่มีความคิดว่า วันหนึ่งเขาจะต้องเข้ามานั่งเป็นผู้บริหารในองค์กรแห่งนี้
"ผมเป็นคนที่แอนตี้ระบบลูกเจ้านาย" เขาบอกความรู้สึก
ด้วยความที่ยังเป็นเพียงคนหนุ่มไฟแรง เพิ่งจบมหาวิทยาลัย มาได้เพียง 2
ปี และต้องการจะพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง ปลายปี 2542 เขาตัดสินใจออกจากงานข่าว
และขอทุนพ่อแม่ก้อนหนึ่ง เพื่อไปทำธุรกิจเป็นของตัวเอง
จิตตนาถเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมาตั้งแต่ยังเล็กๆ และเป็นคนที่มีความรักในงานสร้างสรรค์
ในสมัยเด็กนอกจากการอ่านแล้ว เขายังชอบนั่งวาดการ์ตูน และสร้างเรื่องการ์ตูนของ
ตัวเองขึ้นมา
เมื่อตัดสินใจว่าจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เขามองว่าธุรกิจการ์ตูน เป็น
1 ในธุรกิจเพียงไม่กี่ประเภทที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ เขาจึงตั้งสำนักพิมพ์บุรพัฒน์ขึ้น
เพื่อนำเข้าลิขสิทธิ์การ์ตูนกำลังภายในจากฮ่องกง มาแปลและพิมพ์ขายในประเทศไทย
"ช่วงนั้นผมมองว่าการ์ตูนจากญี่ปุ่น มีรายใหญ่ครองตลาดอยู่แล้ว การจะสอดแทรกเข้าไปในตลาดนี้คงยาก
ขณะที่การ์ตูนจากฮ่องกงยังไม่มีใครสนใจ"
มุมมองทางธุรกิจครั้งแรกในชีวิตของเขาประสบความสำเร็จ เพียงครึ่งปีแรกสำนักพิมพ์บุรพัฒน์สามารถทำกำไรได้ถึง
20 ล้านบาท จากการ์ตูนกำลังภายในที่เขานำเข้ามาและได้รับความนิยมพุ่งขึ้นอย่างสูงลิ่ว
การก้าวขึ้นเป็นนักธุรกิจตั้งแต่วัยยังไม่ถึง 25 ปี ทำให้เขาต้องพยายามเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขวางขึ้น
เขาต้องอ่านหนังสือทุกประเภท โดยเฉพาะนิตยสาร และเขามองเห็นว่าในกลุ่มนิตยสารที่เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของผู้ชาย
ยังมีช่องว่างที่จะสามารถสอดแทรกเข้าไปได้ เขาจึงมีโครงการออกนิตยสารฉบับใหม่
ที่ชื่อว่า "MARS"
"ผมวาง position ของนิตยสารฉบับนี้ไว้ว่าเป็นนิตยสารเพศชาย ไม่ใช่นิตยสารของผู้ชาย
ดังนั้นกลุ่มผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงก็สามารถอ่านได้ เมื่อเราวาง position
ที่ชัดเจน การทำตลาดก็สามารถตามมาได้โดยไม่ยาก"
นิตยสาร MARS วางตลาดเล่มแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2545 และเพิ่งจะมีอายุครบ
1 ปี เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา แต่กลับได้รับการยอมรับจากทั้งผู้อ่าน และเอเยนซี่
หลังใช้ชีวิตเป็นนักธุรกิจทางด้านสื่ออยู่ 4 ปี ทำให้เขาเริ่มหันกลับมามองสื่อที่อยู่ในเครือ
"ผู้จัดการ" ที่สนธิ บิดาของเขาเป็นผู้ก่อตั้ง และเห็นว่าสื่อในเครือทุกชนิดล้วนมีจุดเด่นในตัวเอง
ที่แตกต่างจากคู่แข่ง
เขามองว่าหากมีการปรับแต่งอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็จะพัฒนาให้สามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นอันดับ
1 ได้โดยไม่ยาก
"ผมไปคุยกับคุณสนธิ ท่านก็เลยบอกว่างั้นให้เข้ามาช่วยกัน"
จิตตนาถมีความเชื่อมั่นในความสามารถของทีมงาน การเข้ามารับตำแหน่ง CEO
ของเขา ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การบริหาร แต่เขามองว่าด้วยประสบการณ์ เขาสามารถช่วยสร้างสรรค์
และวาง position ที่ชัดเจนของทุกสื่อในเครือ เพื่อเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นไปสู่อันดับ
1
"ทีมงานของผมเปรียบเสมือนพ่อครัว ถ้าผมเชื่อว่าพ่อครัวของผมเก่ง ทำอาหารอร่อยเสียอย่างแล้ว
เมื่อผมเข้ามาเป็นผู้จัดการร้าน ผมสามารถช่วยคิดสร้างสรรค์เมนู จัดสภาพร้านใหม่
ร้านอาหารของผมก็จะติดตลาดได้"
ในปีหน้า ทุกสื่อในเครือ "ผู้จัดการ" จะมีการขยับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเป้าหมายการก้าวขึ้นไปเป็นกลุ่มสิ่งพิมพ์ที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคมที่พัฒนา
ซึ่งจิตตนาถวางเป้าหมายไว้ว่าไม่น่าจะเกิน 3 ปี ก็จะประสบความสำเร็จ