shinee.com เป็นดอทคอมยุคแรกๆ ที่เกิดขึ้นมาจากวิสัยทัศน์
ด้านอินเทอร์เน็ตของกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น แม้จะรอดพ้นจาก
การล่มสลายของฟองสบู่แตกยุคดอทคอม หันมามุ่งเน้นบริการ
บนโทรศัพท์มือถือ แต่ก็เป็นหนทางที่ยังต้องฟันฝ่าต่อไป
ปีที่แล้ว shinee.com เริ่มต้นธุรกิจด้วยการกว้านซื้อเว็บไซต์จนเรียกได้ว่าเกือบทุกประเภท
เพื่อหาไอเดียใหม่ๆ และวางตัวเองเป็นกึ่งๆ ไอเอสพี สร้างถนนให้บริการเฉพาะตลาดในประเทศ
มีเป้าหมายอยู่ที่ตลาดหุ้นแนสแดค
แต่หลังฟองสบู่ดอทคอมสลาย shinee.com ก็เหมือนกับดอทคอมในยุคนั้น ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
ปิดเว็บไซต์ต่างๆ ลง พร้อมการปิดฉากของเอดีเวนเจอร์ เหลือไว้เพียงแค่ไม่กี่เว็บ
ส่วนชินนี่ก็ต้องมองหาลู่ทางใหม่เข้าไปเกาะเกี่ยวกับกระแสของโมบายอินเทอร์เน็ต
"พอดีกับกระแส WAP เริ่มเข้ามา วันที่ 13 มีนาคม 2543 เริ่มมีการพูดกันว่า
อินเทอร์เน็ตจะมาอยู่บนมือถือได้อย่างไร เราก็เริ่มเลย WAP คู่กับ Short
mail" ศักดิ์ชัย เลิศเวชกุล Chief Technology Officer บริษัทชินนี่ดอทคอม
จำกัด บอกถึงจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ตลาดโทรศัพท์มือถือ
การเข้าสู่โมบายอินเทอร์เน็ตของชินนี่ ก็ล้มลุกคลุกคลานพอสมควร เนื่องจากเทคโนโลยี
WAP ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความเร็วในการส่งข้อความและการใช้งานที่ยุ่งยากกว่า
ทำให้ตลาด short mail หรือ SMS ไปได้เร็วกว่า
บริการตัวแรกของชินนี่ ผ่าน short mail service หรือ SMS ในเวลานี้ คือ
ยูโร 2000 บริการรายงานผลการแข่งขันฟุตบอล
เมื่อโอกาสเริ่มมา ชินนี่เริ่มมองหาบริการใหม่ๆ บน SMS ซึ่งเป็นจุดเริ่ม
ขยับมาสู่บริการ Ringtone เป็นรายแรกๆ ที่ผ่านการลองผิดลองถูกในตลาดมาพักใหญ่
"สมัยแรกๆ มีบางรายออกมาให้บริการ Ringtone ฟรี ปรากฏว่าเจอค่าส่ง SMS
เข้าไปมหาศาลก็ต้องเลิกไป เวลานั้นโอเปอเรเตอร์เองก็ยังไม่พร้อม ไม่รู้ว่าจะเก็บเงินยังไง
เราทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็แกะเพลงทำกันไป" วันชัยเล่า
ปรากฏว่าตลาดเริ่มไปสวย ปลายปี 2544 ชินนี่มีรายได้จากบริการ ringtone
โลโกเข้ามา 3-4 ล้านบาทเมื่อเทียบกับอินเทอร์เน็ตในเวลานั้นถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีมากๆ
ประกอบกับโทรศัพท์มือถือขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้เล่นในตลาด ringtone
มากขึ้น สยามทูยู อีโอทูเดย์ จากที่เคยตั้งเป้าไว้ 4 ล้านบาท ในปี 2545 ก็เพิ่ม
เป็น 35 ล้านบาท
"ตัวแปรที่ช่วยคือเอไอเอสลงทุนระบบ IVR สร้าง ความง่าย และสะดวก กดแค่เบอร์ได้รูปแล้ว"
แต่ปัญหาที่ตามมาพร้อมกับการเติบโตของตลาด คือ คู่แข่งที่พร้อมจะกระโดดเข้ามาในตลาดที่ยังไม่มีกลไกของธุรกิจมาควบคุม
จากที่มีอยู่ไม่กี่รายเพิ่มขึ้นทันที ไม่ต่ำกว่า 100 ราย
"ก๊อบปี้ง่ายมาก ช่วงแรกๆ เราไม่ได้ระวัง เอาringtone ตัวจริงไปขึ้นบนเว็บ
เพื่อให้ลูกค้าทดลองฟังก่อน จึงค่อยโหลด ปรากฏว่า คู่แข่งมาก๊อบปี้ไปใช้
ไม่ต้องทำอะไรเลย"
การไม่ได้เป็นเจ้าของ content ทำให้การแข่งขัน ของชินนี่เต็มไปด้วยความยากลำบาก
ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเจ้าของเนื้อหา
"ชินนี่ไม่มีเนื้อหาของตัวเอง เราอยู่ในฐานะลำบาก สมมติเรามีรายได้จาก
ringtone มาเพลงละ 10 บาท ต้องจ่ายให้โอเปอเรเตอร์มือถือ 50% จ่ายให้เจ้าของเนื้อหา
30%-40% เหลือมาถึงเราจริงๆ แค่ 20% ซึ่งก็ต้องไปจ่าย เป็นค่าโฆษณาในสื่อ
เบ็ดเสร็จขาดทุน"
จากรายได้ที่เข้ามาหลายสิบล้านทำท่าว่าจะลืมตาอ้าปาก ก็เริ่มมาอยู่ในสภาพปากกัดตีนถีบอีกครั้ง
ด้วยเงื่อนไขต่างๆ นอกจากคู่แข่งที่เป็นค่ายเพลงเดิม อย่างอีโอทูเดย์ และโมบี้
ของอาร์เอสแล้ว เวลานี้มีค่ายเพลงจากต่างประเทศ 4-5 แห่งรวมตัวกันเข้ามาทำตลาด
"วันนี้เค้กขยายไม่ทันกับจำนวนผู้เล่น ก็เลยกลายเป็นว่า ต้องเฉือนเนื้อ
จะเหลือไม่กี่รายที่ทำรายได้จริงๆ"
ชินนี่ต้องหาทางออกให้กับตัวเองอีกครั้ง ด้วยการยกระดับบริการขึ้นไปอีกก้าว
จาก ringtone ธรรมดา ขยับมาเป็นเสียงเรียกเข้าแบบ polyphonic รวมทั้งการ
สร้างแอพพลิเคชั่นที่วิ่งบนโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ที่มีฟังก์ชันมาเป็นจอสี
หรือบน GPRS
บริการ inews ของไอทีวี และแฮนดี้ทีวีของโมบี้คลับ จากค่ายอาร์เอสเป็น
2 บริการ ที่ชินนี่เข้าไปรับจ้างทำระบบให้ เป็นธุรกิจที่ทำเงินแต่ไม่ได้ชื่อ
"บางทีเจ้าของเนื้อหานึกไม่ออกว่าจะให้บริการบนโทรศัพท์มือถือได้อย่างไร
เราต้องเดินไปบอกบางคนก็ให้ทำ บางคนที่บอกให้ทำ แต่ไม่ให้ใส่ชื่อเรา บางคนก็เอาไปเลย
แต่พวกนี้น้อยหน่อย"
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแอพพลิเคชั่นจะพัฒนาได้แต่มีต้นทุนในการทำสูง หากโทรศัพท์มือถือที่มีรองรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นมีอยู่ในตลาดน้อย
และ GPRS ยังไม่เปิดให้บริการเต็มที่ ก็ทำให้โอกาสของตลาดถูกจำกัด
"เราต้องคิดถึงต้นทุน ถ้าลูกข่ายมีน้อยทำแล้วก็ไม่คุ้ม เพราะเราจะขายแพงไม่ได้
อย่าง ringtone ตอนขึ้นจาก 10 บาทเป็น 15 บาท ลูกค้าหายไปเลยกว่าจะกลับมาใหม่อย่างเกม
เกิน 100 บาทไม่ได้ เพราะเขาไปซื้อพันธุ์ทิพย์ดีกว่า"
ในเมื่อไม่มี content เป็นของตัวเอง ชินนี่จึงต้องขยับจาก content provider
ไปเป็น content aggregator คือ เป็นผู้รวบรวมเนื้อหาจากทุกค่าย โดยอาศัยช่องว่างทางการตลาด
ที่เจ้าของเนื้อหารายใหญ่ๆ บางรายทำไม่ได้ ซึ่งก็เป็นทิศทางที่ไม่แตกต่างไปจากค่ายอื่นๆ
ในเวลานี้
"แกรมมี่คงไม่ขายเพลงอาร์เอสเด็ดขาด อาร์เอสคงไม่ขายเพลงของอีโอ นี่คือช่องว่างที่เราต้องมีทุกอย่างเข้ามาที่เราที่เดียว"
หากจะทำรายได้ดี ก็ต้องไม่ใช่ห้างราคาถูก แต่ต้องเป็นห้างหรู "เพราะวันนี้ถ้าขายของถูกตายเลย
เครื่องเสียงต้องเป็นไพโอเนียร์"
ชื่อของชินนี่ ที่เริ่มมีมูลค่าการตลาด บวกกับความ พร้อมของระบบหลังบ้าน
ที่ชินนี่ใช้เงินลงทุนไป 100 ล้านบาท ในการสร้างระบบ เรียกว่า content management
system ซึ่งเป็นระบบที่ตรวจสอบได้ว่าขาย ringtone ไปเท่าไร มีคนมาใช้บริการเท่าไร
ใช้บริการอะไรบ้าง เพื่อหักจ่ายให้กับเจ้าของเนื้อหา สร้างความมั่นใจสำหรับ
โอกาสใหม่ได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม วันชัยยังไม่มั่นใจในโอกาสของความสำเร็จมากนัก
"การขยับไปสู่ผู้รวบรวมเนื้อหา หรือ content aggregator ถามว่าจะสำเร็จหรือไม่
ยังบอกไม่ได้โอกาสมี แต่ก็ต้องใช้พลังงานมหาศาล"
ไม่เพียงเทคโนโลยีต้องพร้อม ระบบหลังบ้านมีครบถ้วน ยังมีเรื่องรายละเอียดการคัดเลือกเนื้อหา
"ยอมรับว่ายังเป็นเรื่องของการลองผิดลองถูก ไม่ใช่ทุกโปรดักส์ ที่ให้บริการแล้วคนจะใช้
ต้องมีการทำตลาดอีก จะให้ทำแบบ 100 ตัว งบประมาณคงไม่มากขนาดนั้น
การจัดหมวดหมู่ และการทำตลาดให้กับเจ้าของเนื้อหาที่มาใช้บริการอย่างเท่าเทียม
และเกิดประโยชน์สูงสุด จะเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ตามมา
"เป็นโจทย์ที่ยากมากสำหรับ content aggre-gator ทุกเจ้าต้องเจอปัญหา" คำกล่าวของวันชัยที่บอกถึงอุปสรรครออยู่ข้างหน้าของ
shinee.com
แม้วันนี้ชินนี่จะผ่านพ้นยุคแตกสลายของฟองสบู่ดอทคอมมาได้ สร้างโมเดลธุรกิจใหม่
แต่อุปสรรคขวากหนามที่รออยู่ กับความท้าทายใหม่ในโลกการเป็น content provider
บนโทรศัพท์มือถือ