ภายใต้ร่มธงของคำว่า Universal Banking บล. และบลจ.ไทยพาณิชย์ มิใช่เป็นเพียงบริษัทลูกของธนาคารไทยพาณิชย์
แต่เป็นเสมือน Strategic Arms ที่จะทำธุรกิจสอดประสานกันไป
โดยมีความพึงพอใจของลูกค้าเป็นเป้าหมายเช่นเดียวกับบริษัทแม่
คำว่า Universal Banking หากคนที่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง คงมองเห็นเป็นเพียงเหมือนภาพในอดีต
ที่กลุ่มไทยพาณิชย์เคยเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่ และได้เข้าไปมีบทบาทอย่างมากในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ผ่านบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในเครือที่มีอยู่ถึง 4 แห่ง คือ บงล.ธนชาติ บงล.ธนสยาม
บงล.สินอุตสาหกรรม และบงล.บุคคลัภย์ ก่อนที่จะเกิดวิกฤติ
แต่ในความหมายที่แท้จริง ภายใต้ร่มธงของคำว่า Universal Banking ในปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ บล. และบลจ.ไทยพาณิชย์แตกต่างจากภาพนั้นโดยสิ้นเชิง
หากแบ่งธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ออกเป็น 3 ขาหลัก คือ Retail Banking,
Commercial Banking และ Investment Banking แล้ว บล. และบลจ.ไทยพาณิชย์ก็คือขาที่
3 ในองค์รวมของธุรกิจทั้งหมดที่มีอยู่
"เราไม่ได้เป็นเพียงแค่บริษัทในเครือ แต่เราเป็น Strategic Arms ให้กับแบงก์โดยเฉพาะในขาของตลาดทุน"
ม.ล.ชโยทิต กฤดากร กรรมการผู้จัดการ บล.ไทยพาณิชย์ อธิบายกับ "ผู้จัดการ"
ม.ล.ชโยทิต เป็นบุคคลหนึ่งที่มีส่วนรับรู้ในกระบวนการ Change Program ของธนาคารไทยพาณิชย์มาตั้งแต่ต้น
จนสามารถกำหนดเป้าหมาย Universal Banking ให้เป็น Model ธุรกิจใหม่ของธนาคารซึ่งเป็นบริษัทแม่
ยิ่งไปกว่านั้น เขาก็ยังมีส่วนช่วยจุดประกายความคิดเรื่องนี้ให้กับ ดร.วิชิต
สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนที่จะมีการว่าจ้างบริษัท
McKinsey & Co. เข้ามาศึกษาเสียอีก
เดือนตุลาคม 2543 ขณะที่ ดร.วิชิต กำลังพะวงอยู่กับการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในธนาคารไทยพาณิชย์
เป็นช่วงที่ บล.ไทยพาณิชย์ได้เป็นที่ปรึกษา ในการนำบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งต้องมีการกระจายหุ้นเป็นจำนวนมากถึง 7,800 ล้านหุ้น
บล.ไทยพาณิชย์ได้มีการศึกษาโครงสร้างของตลาดทุน และพบว่าในกลุ่มของผู้ลงทุนทั้งหมด
ส่วนใหญ่เกือบครึ่งคือเจ้าของกิจการ รองลงไปเป็นนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนรายย่อย
ส่วนกองทุนรวมที่จดทะเบียนในขณะนั้น มีสัดส่วนการลงทุนเพียงประมาณ 1% เท่านั้น
หุ้น 7,800 ล้านหุ้น ผมว่าทุกกองทุนที่มีอยู่ในตอนนั้น สามารถรับซื้อได้อย่างมาก
ก็เพียง 1,000 ล้านหุ้น แล้วที่เหลืออีก 6,800 ล้านหุ้น ผมจะไปขายที่ไหน
ถ้าขายให้กับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งตอนนั้นมีสัดส่วนประมาณ 20% พวกนี้เป็นพวกเก็งกำไรระยะสั้น
ซื้อมาขายไป หุ้นของผลิตไฟฟ้าราชบุรีซึ่งเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี เมื่อเข้าตลาด
ต้องตกลงมาต่ำกว่าราคาจองแน่ๆ ผมเลยมองไปที่กลุ่มผู้ฝากเงินในธนาคารพาณิชย์
เอา Idea นี้ไปเสนอกับดร.วิชิตว่าผมจะขอขายหุ้นให้กับคนกลุ่มนี้ ท่านก็เห็นด้วย"
หุ้นของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง มีการจองซื้อผ่านสาขาทั่วประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์
และปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถขายหมดได้ภายในเวลา 45 นาที
และที่สำคัญ 85% ของคนที่จองซื้อผ่านสาขาของธนาคาร ได้ระบุไว้เลยว่าต้องการใบหุ้น
"พอเห็นอย่างนี้ผมก็สบายใจ เพราะเชื่อว่าราคาคงไม่ผันผวนมากหลังเข้าตลาด
เพราะกระบวนการจัดส่งใบหุ้นให้กับผู้ซื้อ ต้องใช้เวลาถึง 45 วัน"
การประสบความสำเร็จในการใช้สาขาของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นสถานที่จองซื้อหุ้นของบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง
ทำให้ ดร.วิชิตมองเห็นถึงความจำเป็นที่ธนาคารจะต้องเข้ามามีบทบาทในตลาดทุนเพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากที่เป็นผู้เล่นอยู่ในตลาดเงินเพียงตลาดเดียว
ซึ่งความจำเป็นนี้ ก็พัฒนามาเป็นบูรณาการทางธุรกิจร่วมกัน ระหว่างธนาคาร
บล.ไทยพาณิชย์ และบลจ.ไทยพาณิชย์ ตามคอนเซ็ปต์ของ Universal Banking
"มันเป็นวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมการเงินที่ทำให้ทุกวันนี้ ตลาดเงิน และตลาดทุนมัน
overlap กัน แบงก์จะบอกว่าเขาจะเล่นอยู่แต่ในตลาดเงินอย่างเดียว หรือเราจะบอกว่าเราจะอยู่แต่ตลาดทุนอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว"
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงมาอย่างมากในปัจจุบัน ทำให้ผู้ฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ เหลือทางเลือกในการลงทุนน้อยลง ดังนั้นบทบาทในการนำเสนอทางเลือกใหม่
ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จึงเป็นบทบาทที่บล. และบลจ.ไทยพาณิชย์ต้องขยายเข้าไป
มีส่วนร่วมด้วยมากขึ้น
"ยกตัวอย่างว่ามีป้าคนหนึ่ง แกขายที่ดินได้ก่อนเกิดวิกฤติ มีเงินฝากอยู่
200 ล้านบาท วันนี้ป้ามาบอกว่าป้าเคยได้ดอกเบี้ยอยู่ปีละ 20 ล้านบาท แต่ตอนนี้เหลือเพียง
2 ล้านบาท เราก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มผลตอบแทนให้กับคุณป้าได้"
ตัวอย่างดังกล่าวเป็นตัวอย่างในด้านผลประโยชน์ที่ผู้ฝากเงินในธนาคารไทยพาณิชย์จะได้รับ
ในทางกลับกัน ด้วยความที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขามากถึงกว่า 400 สาขา ทั้งบล.
และบลจ.ไทยพาณิชย์สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการกระจายขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
ที่แต่ละบริษัทสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยลงทุนของ บลจ.ไทยพาณิชย์เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุด
แผนการหนึ่งของกระบวนการ Change Program คือการสร้างเครือข่ายในตลาดทุน
บล.ไทยพาณิชย์ ได้เริ่มต้นเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นใน บลจ.ไทยพาณิชย์ จากกลุ่มผู้ร่วมทุน
เช่น บล.ธนชาติ ตั้งแต่ปี 2545 เพื่อให้ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 100% หลังจากนั้นได้ชักชวนอดิศร
เสริมชัยวงศ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บลจ.บีโอเอ เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใน
บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.ไทยพาณิชย์ได้เริ่มใช้สาขาของ ธนาคารเป็นแหล่งกระจายขายหน่วยลงทุน
มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
"1 ปีที่ผ่านมา ในกองทุนตราสารหนี้ของเรา มีเงินเพิ่มเข้ามา 1 หมื่นล้านบาท
กองทุนหุ้นปันผลที่เพิ่งออกเมื่อ 2 เดือนที่แล้วเราสามารถขายได้ 740 ล้านบาทและอินเด็กซ์
ฟันด์ จากเมื่อต้นปีที่มีเงินอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น
1,200 ล้านบาท" อดิศรชี้ให้เห็นภาพ
ทั้ง ม.ล.ชโยทิต และอดิศรย้ำว่า ทุกผลิตภัณฑ์ที่ทั้ง 2 บริษัทสร้างสรรค์มาเพื่อขายผ่านช่องทางสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้คัดเลือกมาอย่างดีแล้วว่า
มีความเสี่ยงน้อยที่สุด
"เพราะกลุ่มผู้ซื้อในช่องทางนี้คือ ผู้ฝากเงิน ที่ไม่เคยแบกรับความเสี่ยงเลย
ไม่ใช่นักเก็งกำไรเหมือนในตลาดหุ้น"
ปัจจุบันทั้งธนาคาร บล. และบลจ.ไทยพาณิชย์ ได้ร่วมกันพัฒนาทีมขายผลิตภัณฑ์
ผ่านทางสาขา ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,000 คน ให้มีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านตลาดเงินและตลาดทุน
เพื่อให้สามารถอธิบาย หรือช่วยให้คำปรึกษากับลูกค้าได้อย่างมีความรับผิดชอบ
"เราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นกับ Distribution Channel
เหล่านี้ให้ได้เสียก่อน"
ม.ล.ชโยทิตมองว่าการทำให้สาขาของธนาคารเป็นเครือข่าย Distribution Channel
อย่างมีประสิทธิภาพคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้น บูรณาการทางธุรกิจที่ทำร่วมกันระหว่างทั้ง
3 องค์กร คงจะมองเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
บูรณาการทางธุรกิจดังกล่าวนี้ แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในเครือเมื่อในอดีต
ที่ต่างคนต่างมุ่งเน้นทำธุรกิจของตัวเองเป็นหลัก และเนื่องจากทุกบริษัทล้วนจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
ทำให้เกิดความต้องการที่จะแยกตัวเองออกเป็นเอกเทศ
ธนาคารธนชาติ น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด
แต่สำหรับ บล.และบลจ.ไทยพาณิชย์ มีการยืนยันออกมาแล้วว่าจะไม่เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
แต่ธนาคารไทยพาณิชย์จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 100% ในทั้ง 2 บริษัท มีการให้อิสระต่อกันในการทำธุรกิจเฉพาะด้าน
แต่ในเรื่องของการจัดการแล้ว ทุกคนถือว่าอยู่ในทีมเดียวกันหมด
เป้าหมายร่วมของทั้ง 3 องค์กรคือการเป็น One Stop Service ที่สามารถให้บริการกับลูกค้าได้ทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน