กระทรวงการคลัง มั่นใจคลอดพ.ร.ก. เพื่อแก้ไขกฎหมายให้ "ไอเอฟซีที"
โอนสินทรัพย์ไปยังสถาบันการเงินใหม่ เปิดทางควบรวมกับไทยธนาคารได้ ภายในเดือน ธ.ค.นี้
ก่อนมีผลบังคับใช้ต้นปี 2547 ขณะที่ผู้บริหารไอเอฟซีที "อโนทัย" ย้ำบทบาทยังสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป
ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีหน้า 4.4 หมื่นล้านบาท
นายสุธา ชันแสง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการควบรวมกิจการระหว่าง
ธนาคารไทยธนาคาร (BT)และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ว่า
ภายในเดือนธันวาคม 2546 นี้ รัฐบาลจะสามารถออกพระราชกำหนดเพื่อแก้ไขกฎหมาย ไอเอฟซีที
ให้สามารถโอนสินทรัพย์ไปเป็นสินทรัพย์ของสถาบันการเงินใหม่ได้
โดยที่ผ่านมา ร่างพระราชกำหนดดังกล่าว ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองเรียบร้อยแล้ว
และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาประมาณ ต้นเดือนธันวาคมนี้
หลังจากผ่านการพิจารณาจากครม. แล้ว ขั้นตอนต่อไป จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณต้นปี
2547 อย่างแน่นอน
"กระบวนการพิจารณาคงจะใช้เวลาไม่นาน เพราะมี ข้อกฎหมายเพียงไม่กี่ข้อที่ต้องแก้ไข
เดิมกฎหมายกำหนดไว้ว่า ไอเอฟซีทีเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ครบทุกประเภท
และถ้าจะยุบไอเอฟซีทีกฎหมายเดิมก็ระบุให้สินทรัพย์ของไอเอฟซีทีต้องตกเป็นของแผ่นดิน
ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขกฎหมาย โดยการออกเป็นพระราชกำหนดมารองรับการยุบไอเอฟซีที
และโอนสินทรัพย์ของไอเอฟซีทีไปเป็นสินทรัพย์ของสถาบันการเงินใหม่" นายสุธา
กล่าว
ทั้งนี้ พระราชกำหนดที่จะมีการแก้ไขกฎหมายหลักดังกล่าวเท่านั้น จะไม่การลงรายละเอียดในส่วนของเรื่องการตีมูลค่า
สินทรัพย์ของบีทีและไอเอฟซีที อย่างไร ก็ตาม ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการประเมินสินทรัพย์ของสถาบัน
การเงินทั้งสองแล้วในเบื้องต้น จึงไม่น่าจะ มีปัญหาอะไร
ไอเอฟซีทีตั้งเป้าปีหน้าปล่อยกู้ 4.4 หมื่นล.
ด้านนายอโนทัย เตชะมนตรีกุล กรรมการและผู้จัดการทั่วไป ไอเอฟซีที กล่าวเพิ่มเติมว่า
แม้ว่าไอเอฟซีทีอยู่ใน ช่วงการเตรียมการควบรวมกับธนาคารไทยธนาคาร เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการแบบครบวงจร
แต่บทบาทของ ไอเอฟซีทีในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม ก็ยังดำเนินต่อไป โดยไอเอฟซีทีได้ตั้งเป้าหมายการให้ความสนับสนุนทางการเงิน
แก่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีแนวโน้มดีและเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ซึ่ง ในปี
2547 ตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมจำนวน 44,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ แบ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 18,000 ล้าน บาท
และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาด ใหญ่ 26,000 ล้านบาท
สำหรับยอดการปล่อยสินเชื่อของปี 2546 ในช่วง 10 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม
2546 ได้อนุมัติสินเชื่อแก่ อุตสาหกรรมต่างๆ รวม 32,763 ล้านบาท จำนวน 1,662 โครงการ
ทำให้ไอเอฟซีทีมั่นใจว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 36,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน
โดยได้ประมาณการยอดอนุมัติสินเชื่อทั้ง ปี 2546 ไว้ประมาณ 40,000 ล้านบาท
ส่วนรายละเอียดของการอนุมัติเงินกู้แก่ โครงการอุตสาหกรรม แบ่งเป็นโครงการขนาด
ใหญ่ 140 โครงการ เป็นเงิน 17,130 ล้านบาท และโครงการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
(SMEs) 1,523 โครงการ เป็นเงิน 15,633 ล้านบาท
ไอเอฟซีทีประเมินศก.ปี 47 โตร้อยละ 7
นายธีระ อัชกุล ที่ปรึกษาไอเอฟซีที กล่าวถึง ภาวะเศรษฐกิจในปี 2547 ว่า ไอเอฟ
ซีทีประเมินว่าจะเติบโตร้อยละ 7 โดยปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว
ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป (อียู) ประกอบกับเศรษฐกิจ ของเอเชียก็น่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยจีนมีเศรษฐกิจที่ดีที่สุด ตามมาด้วยไทย เช่นเดียวกับในปีนี้ ขณะที่ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นรวมทั้งภาคเอกชน
ทำให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะเดียวกันภาวะตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ก็คาดว่าจะขยายตัวต่อไป
รวมทั้งจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ จะทำให้เกิดการลงทุนของเอกชนกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่จะได้แรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
"แต่ปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกจะคล้ายกับปีนี้
โดยควรระวังเศรษฐกิจจีนที่อาจเติบโตมากเกินไป รวมทั้งจับตาค่าเงินหยวนที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้
ส่วนปัญหาการ ก่อการร้ายอาจจะมีผลรบกวนต่อเศรษฐกิจ แต่ยังเชื่อว่าไม่น่าจะมากนัก
รวมทั้งมีปัจจัยการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะใกล้ช่วง การเลือกตั้งของไทยรวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ขณะที่ราคาน้ำมัน แม้จะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีหน้า"
นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้เศรษฐ-กิจไทยมีการเติบโตขึ้นมามากกว่าที่คาดไว้ใน
ช่วงต้นปี ล่าสุดไอเอฟซีทีได้ประเมินเศรษฐกิจ ไทยในปีนี้ จะขยายตัวประมาณร้อยละ
5.8 แต่เมื่อดูปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีโอกาสเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้
ถึงร้อยละ 6 ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดนับจาก เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยขณะนี้เศรษฐกิจไทยถือว่าขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ
การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อบวกกับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจจากหลายสถาบัน เป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจไทยเกิดการขยายตัวได้มาก