แบงก์ชาตินัดนายแบงก์ ทำเวิร์กชอปแก้เอ็นพีแอล วางเป้า 2 ปี
ลดลงเหลือต่ำกว่า 5% จี้แบงก์เร่งแก้ไขกลุ่มลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จ และ
กลุ่มที่อยู่ระหว่างการเจรจา ต้องลดลงให้ ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทให้ได้ภายในปี 48
ด้านนายแบงก์ขานรับอีก 2 ปีเอ็นพีแอลลดตามเป้าแน่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการเข้าประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งหมดในงานการกำหนดยุทธศาสตร์
การแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และการดำเนินการตามมติที่เคยได้ประชุมกันไปแล้วในวันที่
27 ธ.ค.ปี 2545
โดยผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ค่อนข้างช้า
และไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ซึ่งในที่ประชุมได้ พิจารณาข้อมูล และวางแนวทางที่ชัดเจนแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอล
ซึ่งกำหนดว่านับจากนี้ไปอีก 2 ปีข้างหน้า กลุ่มลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้เสร็จ
แล้วอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ รวมทั้งกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจาจะต้องลดหนี้เอ็นพีแอลให้ได้ต่ำกว่า
100,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ กลุ่มลูกหนี้ดังกล่าวมีเอ็นพีแอลอยู่จำนวน 365,216
ล้านบาท
สำหรับตัวเลขเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ ไทย ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2546 มีจำนวนทั้งสิ้น
708,786 ล้านบาท เทียบกับเดือนมิ.ย.2545 ที่มีเอ็นพีแอล 788,182 ล้านบาท ลดลง 79,396
ล้านบาท ส่วนลูกหนี้กลุ่มที่อยู่ระหว่างบังคับคดี ตัวเลข ณ สิ้นเดือนมิ.ย.2546
มีจำนวน 222,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนมิ.ย. 2545 จำนวน 1,644 ล้านบาท
ทั้งนี้ เชื่อว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาน่าจะทำให้เอ็นพีแอลของลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวหมดภายใน
2 ปี ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ณ สิ้นมิ.ย.2546 มีจำนวนเงิน
120,951 ล้านบาท ลดลงจาก สิ้นเดือนมิ.ย. 2545 จำนวน 37,279 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวต้องรอให้ศาลตัดสินก่อนและหลังจากนั้นจะเลื่อนขั้นมาเป็นลูกหนี้กลุ่มที่อยู่ระหว่างบังคับคดี
ดังนั้น จะนำมาขายทอดตลาดได้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมบังคับคดี ได้เสนอวิธีแก้วิธีพิจารณาความแพ่ง
ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ถือเป็นเรื่องดี ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา
ของสมาชิกวุฒิสภา หากผ่านการพิจารณาก็จะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีการปรับโครงสร้างหนี้สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น
และส่งผลให้การ ขายสินทรัพย์ทอดตลาดได้เร็วขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้เสนอให้กระทรวงการคลังแก้กฎหมายของบรรษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อให้เข้ามาซื้อสินทรัพย์ที่กรมบังคับคดีนำออกมาขายทอดตลาดได้และจะส่งผลให้มีผู้เข้ามาประมูล
มากขึ้น ทำให้การประมูลได้ราคาสูงด้วย ซึ่งในขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างพิจารณา
แก้ไขพ.ร.ก. คาดน่าจะเสร็จภายในเดือน ธ.ค.ปีนี้
ทั้งนี้ จากการที่ธปท.พยายามแก้ไขปรับปรุง ทางด้านกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานแล้ว
คาดว่าภายใน 2 ปี ตัวเลขเอ็นพีแอลน่าจะลดลงได้เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม คงจะ
ทำให้ถึง 0% ไม่ได้แน่ ซึ่งทางการได้พยายามแก้ไข ปัญหาให้กลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีและลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างบังคับคดีไปบ้างแล้ว
ส่วนที่เหลือคือกลุ่มลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้เสร็จแล้วอยู่ระหว่างการผ่อนชำระ
และกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์จะต้องช่วยเหลือตนเอง
"แบงก์พาณิชย์จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาเอ็นพีแอลอย่างจริงจัง ถ้าเป็นลูกหนี้ที่ดีมีการแฮร์คัตได้ก็ให้ทำ
แต่ถ้าเป็นลูกหนี้ไม่ดีก็ฟ้องศาลได้เลย ซึ่งจะช่วยให้ระบบสะอาด ซึ่งทาง ธปท.หวังให้แบงก์พาณิชย์ดำเนินงานอย่างแข่งกันทำดี
ต้องใช้วิธีจับแบงก์พาณิชย์มาเปรียบเทียบ ว่าใครเก่งกว่ากัน" ผู้ว่าการธปท.กล่าว
2 ปีเอ็นพีแอลลดต่ำกว่า 5%
นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงไทย จำกัด กล่าว
ว่า ในปีหน้า ธนาคารตั้งเป้าจะลดเอ็นพีแอลให้เหลือ ต่ำกว่า 5% หลังจากธนาคารได้แก้ปัญหาเอ็นพีแอล
ไปมากแล้วในปีนี้ โดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 90,000 ล้านบาทหรือคิดเป็น 9% ของสินเชื่อทั้งหมด
ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้ดำเนินการทำ ได้แก่ การตั้งทีมมาดูแลการแก้ปัญหาหนี้โดยเฉพาะการเอาทรัพย์สินมาชำระหนี้การดำเนินคดี
พร้อมกับการเจรจาหนี้ และการซื้อหนี้หลังจากบังคับคดีเรียบร้อยแล้วเพื่อนำมาขายให้กับบริษัท
บริหารสินทรัพย์ไทย
ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกรมบังคับคดี
ด้านคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า
ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์มีความคืบหน้าในการ แก้ไขปัญหาเอ็นพีแอลได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกำหนดว่าให้ดำเนินการปรับหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน
อีก 4 เดือนนั้น ทางธนาคารก็ทำให้ลดลงได้จำนวน มาก แต่ในส่วนที่ยังไม่เสร็จก็ต้องดำเนินการไปสู่การฟ้องร้อง
พิพากษาบังคดี ซึ่งสถานภาพของแต่ละธนาคารนั้นมีความแตกต่างกัน
คุณหญิงชฎา กล่าวต่อไปว่า ลูกหนี้ของธนาคารไทยพาณิชย์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มพิพากษา
และบังคับคดีแล้ว จากนี้ต่อไปเป็นเรื่องการขาย ทอดตลาด และเจรจากับลูกหนี้เพื่อหาคนมาซื้อเอง
ซึ่งสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือทำอย่างไรระบบธนาคารพาณิชย์จะมีหนี้เอ็นพีแอลลดลงทั้งระบบมากที่สุด
ซึ่งทางการจะมีการออกกฎเกณฑ์มาเพิ่มเติม
"เอ็นพีแอลของธนาคารไทยพาณิชย์ตอนนี้คือมี 20% ของสินเชื่อรวม คิดเป็นเงินจำนวน
100,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในขั้นดำเนินคดี และบังคับคดี คิดเป็นประมาณ 50%
ของเอ็นพีแอล ทั้งหมด ทั้งนี้ ธปท.ก็ได้ชี้แจงถึงการแก้ไขกฎหมาย บังคับคดีและกฎหมายล้มละลายซึ่งจะส่งผลดีสำหรับทุกคน
เพราะจะทำให้การจัดการแต่ละขั้นตอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นำกรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าว
คุณหญิงชฎากล่าวว่า หากการแก้กฎหมายในเรื่องการบังคับคดีและกฎหมายล้มละลายมีความคืบหน้ามากขึ้นก็จะทำให้ระบบโดยรวมสามารถแก้ปัญหาเอ็นพีแอล
ได้มีประสิทธิภาพซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย
"ธปท.กำลังพิจารณาเรื่องการออกมาตรการ เพิ่มเติมเพื่อทำให้หนี้เอ็นพีแอลตัดออกจากบัญชี
ได้เร็วขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" คุณหญิงชฎา กล่าว
แบงก์กรุงเทพวอนรัฐออกกม.สนับสนุน
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า หนี้เอ็นพีแอลของธนาคารค้างอยู่ในการบังคับคดีจำนวนมาก
ซึ่งหากจะให้กระบวนการดังกล่าวจบได้รวดเร็ว ต้องอาศัยทางราชการที่จะมีการออกกฎหมายใหม่
มาใช้ ที่ผ่านมาผลงานการปรับโครงสร้างหนี้และการลดเอ็นพีแอลของธนาคารยังไม่น่าพอใจนัก
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปี 2547 จะมีความคืบหน้าจากการที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
และมาตรการของทางการก็คงมีส่วนช่วยทำให้ธนาคารมีทางออกมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีการขายสินทรัพย์ออกมาเพียงใด
แต่ได้มีการจัดอันดับของลูกค้าไว้เป็น 4 เกรดแล้ว
ขณะที่ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
กล่าวว่าการที่ธปท. ตั้งเป้าให้ธนาคารพาณิชย์แก้ไข เอ็นพีแอล และเร่งให้ลูกหนี้เข้ามาช่วยเจรจาเป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการอยู่แล้ว
ซึ่งปัจจัยหลักอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ได้ปรับตัวไปในทิศทางที่ดี จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การแก้ปัญหาเอ็นพีแอลทำได้รวดเร็วขึ้น
ซึ่งคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ จะลดลงมาเป็นตัวเลขหลักเดียว
จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 16 - 17% ของสินเชื่อรวม