Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2539
"ไทยอีควิพเม้นท์ สงครามของผู้ถูกท้าทาย ซูเปอร์คอมพ์พันล้าน"             
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
 

 
Charts & Figures

ผลงานของไทยอีควิพเม้นต์ในกรมอุตุฯ


   
search resources

ไทยอีควิพเม้นท์ รีเสิร์ช
ประพันธ์ อัศวพลังพรหม




ไทยอีควิพเม้นต์เป็นใครมาจากไหน? ทำไมพวกเขาจึงกลายเป็นบริษัทที่สมิธ ธรรมสโรชยืนยันหนักหนาว่าจะต้องเป็นผู้ชนะให้ได้ ในสงครามการประมูลซูเปอร์คอมพ์มูลค่าพันล้านบาทที่วุ่นวาย ยืดเยื้อและอื้อฉาวที่สุดในรอบปี สมิทธลงทุนถึงขนาดตั้งกรรมการชุดของตนเองเพื่อดึงดันตามที่ตนต้องการ ท้าทายทั้งนักการเมืองและระบบราชการ ไทยอีควิพเม้นต์ไม่ธรรมดาจริง ๆ!

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า โครงการประมูลซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของกรมอุตุนิยมวิทยา มูลค่านับพันล้านบาทเป็นโครงการประมูลอื้อฉาวที่สุดในรอบปี

ทำไมอธิบดีกรมอุตุนิยมจึงกล้าเสี่ยงตั้งคณะทำงานขึ้นอีกชุด และพิจารณาให้บริษัทไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ช จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) สำนักนายกรัฐมนตรีได้คัดเลือกให้บริษัทท้อปกรุ๊ป ของค่ายเบียร์สิงห์เป็นผู้ชนะการประมูลไปแล้ว

ไทยอีควิพเม้นท์ รีเสิร์ช เป็นใครมาจากไหน

หลายคนรู้แต่เพียงว่าไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ช เป็นเจ้าประจำผูกขาดค้าขายอุปกรณ์ กรมอุตุฯ มานาน

กรมอุตุแทบจะเป็นอาณาจักรของไทยอีควิพเม้นท์ ที่ไม่มีใครแตะต้องก็ว่าได้ !

ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ปฐมบทของไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ชนั้นเริ่มต้นมาจากธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้างเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้ว ในชื่อบริษัทสีลมฮาร์ดแวร์ ก่อตั้งขึ้นโดย "พิชิต อัศวพลังพรหม" หรือ "เสี่ยบู๊" ที่คนในวงการเรียกขาน

จากธุรกิจค้าส่งวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีลูกค้าที่เป็นทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานราชการ เป็นจุดที่ทำให้สีลมฮาร์ดแวร์ได้พบตัวแทนขายสินค้าต่างประเทศ จนกลายเป็นโอกาสแตกไลน์ธุรกิจไปค้าขายอุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ

"ช่วงที่เราค้าวัสดุก่อสร้าง ทำให้มีโอกาสติดต่อกับตัวแทนขายอุปกรณ์ในต่างประเทศซึ่งเขามีสินค้ามาเสนอตลอด ก็บังเอิญที่เราได้สินค้าเรดาร์ตรวจอากาศยี่ห้ออีอีซี ซึ่งมีชื่อเสียงค่อนข้างมากเข้ามาทำตลาด และเป็นช่วงเวลาเดียวกับกรมอุตุต้องการเปิดประมูลซื้ออุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศแบบใหม่พอดี "ประพันธ์ อัศวพลังพรหม ประธานกรรมการบริษัทไทยอีควิพเม้นท์ รีเสิร์ช เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ในการประมูลจัดซื้ออุปกรณ์เรดาร์ ตรวจอากาศแบบใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม สามารถแสดงผลเป็นภาพของกลุ่มเมฆ และฝน ซึ่งจะมาใช้แทนที่เรดาร์ตรวจอากาศรุ่นเดิมของกรมอุตุเมื่อ 15 ปีที่แล้ว จึงมีชื่อของไทยอีควิปเม้นท์ เทเลคอม บริษัทลูกของสีลมฮาร์ดแวร์ ติดกลุ่มเข้าร่วมประมูลด้วย

"ในช่วงที่เราเริ่มเข้าประมูล ก็มีหลายบริษัทที่เขาค้าขายอุปกรณ์กับกรมอุตุอยู่แล้ว เช่น ล็อกซเล่ย์ ยิบอินซอย และบริษัทเก่าแก่จากอังกฤษ เราไม่ได้เป็นรายแรกที่ค้าขายกับกรม ตอนนั้นกรมอุตุเขาใช้อุปกรณ์ยี่ห้อ เบนดิกส์ของอังกฤษ" ประพนธ์ย้อนอดีต

แม้จะเป็นหน้าใหม่ที่ต้องแข่งขันกับหน้าเก่า อย่างล็อกซเล่ย์ และยิบอินซอย ซึ่งล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดงานประมูลค้าขายอุปกรณ์กับทางราชการมานานแต่ไทยอีควิพเม้นต์ เทเลคอมกลับเป็นผู้คว้าชัยชนะสามารถขายอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศมูลค่า 10 ล้านบาท

ผลจากชัยชนะในครั้งนั้น ซึ่งทำเงินไทยให้กับอีควิพเม้นต์ได้ไม่น้อย ทำให้พิชิต หรือ เสี่ยบู๊เริ่มหันมาจับธุรกิจค้าขายอุปกรณ์กับกรมอุตุฯ อย่างจริงจัง

ประจวบเหมาะกับในช่วงนั้น กรมอุตุมีนโยบายในการจัดซื้ออุปกรณ์ทันสมัยมาใช้งานเพิ่มขึ้น เนื่องจากองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ (WMO: WORLD METEOROLOGY ORGANIZATION) ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพยากรณ์อากาศของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งประเทศสมาชิก ที่ต้องเป็น HUB REGIONAL ทำหน้าที่ป้อนข้อมูล พยากรณ์ อากาศในภาคพื้นแถบนี้ป้อนให้กับเครือข่ายของ WMO

แม้ว่าล็อกซเล่ย์ และยิบอินซอยจะเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง และยังมีประสบการณ์ค้าขายกับกรมอุตุฯ มาก่อน แต่กรมอุตุฯ ไม่ใช่ลูกค้ารายเดียว ยังมีหน่วยงานราชการอื่น ๆ อีกที่เป็นลูกค้าของบริษัททั้งสอง

ขณะที่กรมอุตุฯ แม้จะเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม แต่ก็เป็นหน่วยงานที่แทบจะไม่มีบทบาทอะไร เป็นแค่หน่วยงานให้บริการทางด้านพยากรณ์อากาศ ไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง นอกจากงบประมาณ ที่ใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์มาใช้ในการพยากรณ์อากาศซึ่งไม่ได้มากมายนัก กรมอุตุฯ จึงเป็นม้านอกสายตาที่ไม่ได้เป็นเป้าหมายของบรรดาพ่อค้าอุปกรณ์ดังเช่นหน่วยงานราชการอื่น ๆ เท่าใดนัก

ผิดไปจากไทยอีควิพเม้นต์ เทเลคอม ที่มุ่งเน้นไปที่กรมอุตุฯ เพียงหน่วยงานเดียว เนื่องจากยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้นธุรกิจและเป็นแค่บริษัทขนาดเล็ก จึงเป็นช่องทางอย่างหนึ่งทำให้ไทยอีควิพเม้นต์เริ่มเข้าไปสร้างสายสัมพันธ์กับกรมอุตุฯ ได้อย่างเหนียวแน่น

"พอหลังจากเราประมูลได้ครั้งแรก เราก็เริ่มเข้าไประมูลอีกดูว่าโครงการไหนที่เรามีอุปกรณ์พอจะเข้าได้เราก็เข้า ในช่วงนั้นไม่ค่อยมีใครสนใจกรมอุตุฯ เพราะงบประมาณน้อย" ประพันธ์เล่า

นับจากนั้นจนถึงปัจจุบันไทยอีควิพเม้นต์ เทเลคอม ทำธุรกิจค้าขายอุปกรณ์กับกรมอุตุนิยมวิทยา อันเป็นลูกค้าหลักมาตลอด 15 ปี โดยสินค้าหลักของที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ คือเรดาร์ตรวจอากาศซึ่งประพันธ์ไม่ยอมเปิดเผยว่าในแต่ละปีบริษัทมีรายได้เท่าใด บอกแต่เพียงว่ารายได้ของบริษัทจะขึ้นลงตามงบประมาณของกรมอุตุฯ

แต่จากสถิติผลงานการค้าขายอุปกรณ์ของไทยอีควิพเม้นต์ในกรมอุตุฯ ตั้งแต่ปี 2534-2538 ระบุว่าไทยอีควิพเม้นต์มีรายได้จากการขายอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศ และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่องเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และบางปีก็มีมากถึง 500 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

ประพันธ์เล่าว่า ลูกค้าที่เป็นหน่วยงานราชการอื่น ๆ ก็มีอยู่บ้าง แต่มีน้อยรายที่ต้องการใช้อุปกรณ์ประเภทนี้ เช่น กรมการบินพาณิชย์ หรือการท่าอากาศยาน ซึ่งไทยอีควิพเม้นต์ขายอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศให้ ในช่วงที่มีการปรับปรุงท่าอากาศยานที่ภูเก็ต

การดำเนินงานของไทยอีควิพเม้นต์ พิชิตจะเป็นผู้ดูแลและบุกเบิกมาตลอด แต่มาช่วงปีหลัง ๆ เมื่ออายุมากขึ้นจึงเริ่มหันมาเน้นหนักเรื่องนโยบายและมอบหมายงานในบริษัทให้ลูกชาย 3 คนคือ ประจักษ์ ประพันธ์ และประดิษฐ์ ซึ่งจบทางสายวิศวกรรมมารับภาระต่อ

การบริหารงานในช่วงหลัง ๆ จึงตกอยู่ในรุ่นลูก ซึ่งจะแบ่งรับผิดชอบเป็นโครงการ ๆ ไปแล้วแต่ความถนัด ดังเช่นประพันธ์ลูกคนกลางหลังจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท ทางด้านไฟแนนซ์ ประพันธ์บินกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว และได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการประมูลซูปเปอร์คอมพ์

ส่วนสีลมฮาร์ดแวร์ยังคงทำธุรกิจค้าวัสดุก่อสรร้างเช่นเดิม แต่มอบหมายให้พนักงานอาวุโสเก่าแก่เป็นผู้ดูแล โดยมุ่งเน้นเฉพาะลูกค้าดั้งเดิมเท่านั้น

ปัจจุบัน สีลมฮาร์ดแวร์และไทยอีควิพเม้นต์ ขยับขยายสถานที่ตั้งสำนักงานจากถนนสีลมมาตั้งอยู่บนอาคารพาณิชย์ 4 คูหาบริเวณถนนสาธรมีพนักงานรวม 50 คน

ตลอดเวลาที่สนทนา ประพันธ์ออกตัวว่าไทยอีควิพเม้นต์เป็นเพียงธุรกิจครอบครัวเล็ก ๆ ไม่ได้มีบทบาทอะไรจึงไม่อยากเอยถึงเท่าใดนัก พร้อมกับย้ำตลอดเวลาว่าไม่ได้ผูกขาดค้าขายกับกรมอุตุฯ แต่เป็นเพราะการมีสินค้าที่ดีความเชื่อถือและสายสัมพันธ์ที่ดี ทำให้บริษัทค้าขายกับกรมอุตุจนทุกวันนี้

"เรามีสินค้าในธุรกิจนี้ คุณจะให้เราเอาเครื่องพยากรณ์อากาศไปขายกับการสื่อสารฯ หรือองค์การโทรศัพท์ฯ มันก็เป็นไปไม่ได้ แต่เพราะเราทำธุรกิจนี้มาจนเชี่ยวชาญเรารู้ว่าควรคำนวณต้นทุนอย่างไรซึ่งเป็นเรื่องต้องอาศัยประสบการณ์ หากให้ผมไปขายกับหน่วยงานอื่นมันก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ใครว่าเราผูกขาดผมว่าไม่ยุติธรรม" ประจักษ์ชี้แจง

อย่างที่รู้กันว่างานประมูลซื้อขายอุปกรณ์กับหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหญ่เล็กขนาดไหน ไม่เพียงแต่ต้องมีสินค้าดีราคาเหมาะสมเท่านั้น แต่ "คอนเนคชั่น" ก็สำคัญไม่แพ้กันหรือบางครั้งก็สำคัญมากกว่าสองสิ่งแรกด้วยซ้ำ

ผู้เข้าประมูลเกือบทุกรายจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องหาเส้นสายไปไว้เป็นแรงหนุนไม่ว่าโครงการเล็กหรือใหญ่ ไม่เช่นนั้นโอกาสที่จะชนะคงไม่ใช่เรื่องง่าย

จากการสืบทราบไปยังหน่วยงานราชการบางแห่ง มีเอกชนบางรายถึงกับส่งนายหน้ามานั่งประจำกรมหรือกอง เพื่อต้อนรับเลี้ยงดูปูเลื่อข้าราชการในกรมกองเหล่านี้ เมื่อเวลาหน่วยงานนั้นมีการประกวดราคาจัดซื้ออุปกรณ์ครั้งใด ก็จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทำให้สามารถเสนอราคาหรืออุปกรณ์ได้ตรงตามกับงบประมาณที่หน่วยงานตั้งไว้ และกลายเป็นผู้ชนะไปในที่สุด

ในการประมูลแต่ละครั้ง เอกชนผู้เข้าประมูล จึงต้องมีการจัดสรรงบประมาณในรูปของ "มาร์เก็ตติ้งฟรี" ตกประมาณ 10-20% ของวงเงินที่ใช้ในการประมูลแต่ละครั้ง เพื่อจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา

ภาพสายสัมพันธ์ระหว่างเอกชนที่เป็นเจ้าประจำค้าขายอุปกรณ์กับหน่วยงานรัฐมายาวนาน ขึ้นอยู่กับว่าเอกชนรายนั้น ๆ จะจับสินค้าอะไรเข้ามาจำหน่าย เช่น กลุ่มยูคอมที่ค้าขายอุปกรณ์สื่อสาร ยี่ห้อโมโตโรล่ากับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) หรือกลุ่มสามารถ ที่ขายอุปกรณ์ประเภทเสาอากาศกับกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นพิเศษ รวมทั้งสี่แสงการโยธาที่รับเหมาสร้างถนนให้กับกรมทางหลวงมาเป็นเวลายาวนาน

แน่นอนว่า การทำธุรกิจค้าขายอุปกรณ์ให้กับกรมอุตุฯ มาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี ความคุ้นเคยระหว่างไทยอีควิพเม้นต์และกรมอุตุย่อมต้องมีแน่ ตามประสาพ่อค้าและลูกค้าที่ติดต่อค้าขายกันมายาวนาน

ความสนิทสนมระหว่างพ่อค้าและลูกค้าของสองรายนี้ ไม่มีใครยืนยันว่าถึงขั้นไหน เพียงแต่มีการยืนยันว่า หากกรมอุตุฯ เปิดประมูลซื้อขายอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศเมื่อใด ไทยอีควิพเม้นต์จะได้รับชัยชนะไปเป็นส่วนใหญ่

ไทยอีควิพเม้นท์มีบริษัทในเครืออีก 3-4 แห่ง ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเข้าประมูลงานกับกรมอุตุฯ โดยเฉพาะ คือ บริษัทสตาทิฟิกรีเสิร์ช, แอฟโก้ไทย, ไทยอีควิพเม้นต์รีเสิร์ช การประมูลงานของกรมอุตุฯในบางคราวจะเสนอพร้อมกันคราวละ 2 บริษัท ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้เข้าประมูลงานราชการนิยมใช้เป็นส่วนใหญ่

ยกเว้นประมูลจัดซื้ออุปกรณ์ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรดาร์ตรวจอากาศ จะมีหน้าใหม่เข้ามาบ้างประปราย เช่น การประมูลจัดซื้ออุปกรณ์ดาวเทียม ในช่วงปี 2537 ซึ่งกลุ่มสามารถเป็นผู้ชนะ แต่ในระหว่างประมูลก็ถูกโจมตีตลอด กระทั่งผู้บริหารของกลุ่มสามารถ ยังต้องขอยอมยกธงขาวประกาศไม่เข้าประมูลกับกรมอุตุฯ อีก

"กรมอุตุฯ เขามีเจ้าประจำที่ผูกขาดอยู่แล้ว เราเข้าไปเราก็แพ้ การประมูลแต่ละครั้งต้องทุ่มเททั้งคนและเวลา สู้เราไปประมูลกับหน่วยงานอื่นดีกว่า ตอนนั้นที่กลุ่มสามารถชนะ เพราะเป็นระบบดาวเทียมเราชำนาญกว่า และก็ถูกกว่าด้วย" ผู้บริหารของกลุ่มสามารถกล่าว

เช่นเดียวกับกลุ่มยูคอมที่ชนะประมูลวิทยุสื่อสารในกรมอุตุ เพราะชำนาญในเรื่องอุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้ว แต่เมื่อถึงคราวประมูลอุปกรณ์เรดาร์ตรวจอากาศเมื่อใดจะต้องพ่ายแพ้ให้กับไทยอีควิพเม้นท์มาตลอด

แม้จะเป็นแค่บริษัทครอบครัว ว่ากันว่ากำลังภายในของไทยอีควิพเม้นต์ไม่เป็นรองใคร ตระกูลอัศวพลังพรหม ที่บังเอิญมีแซ่เบ๊เหมือนกับคนชื่อบรรหาร ศิลปอาชา หนำซ้ำยังเคยทำธุรกิจในธุรกิจเดียวกันมาก่อน

ในการปรับปรุงท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต เพราะปัญหาเครื่องบินตก ตามนโยบายของบรรหาร

สมัยที่นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงมีชื่อของไทยอีควิพเม้นต์ติดกลุ่มในฐานะของผู้ขายอุปกรณ์เรดาร์ด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในการประมูลจัดซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์มูลค่าพันล้านบาทของกรมอุตุฯ

แม้กรมอุตุฯ จะเป็นม้านอกสายตาในธุรกิจประมูลเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มานานแต่ถึงคราวเปิดประมูลจัดซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์มูลค่าพันล้านบาท เพื่อใช้พยากรณ์อากาศล่วงหน้า 3 วัน กรมอุตุกลายเป็นสาวเนื้อหอมทันที

เพราะไม่เพียงแค่มูลค่าโครงการแต่เอกชนที่ประมูลได้จะมีโอกาสขายสินค้าและซอฟท์แวร์ที่เกี่ยวข้องให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีโครงการนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปใช้งานด้วย

ปรากฏว่ามีผู้ยื่นซองประกวดราคาถึง 9 ราย คือ ชิโนบริต, สหวิริยาโอเอ, ไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ช, ไทยแมนเนจเม้น ไซน์ซ (ทีเอ็มเอส), เทคโนโลยีออปอเรชั่น,อินเตอร์เนชั่นแนลเอ็นจิเนียริ่ง (ไออีซี), กลุ่มยูคอม, ไทยแซทของล็อกเล่ย์ และ ที.เอส.เอ. อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อสารและคอมพิวเตอร์

แน่นอนว่าไทยอีควิพเม้นต์นั้นเจ้าขอวพื้นที่คงไม่ยอมปล่อยงานชิ้นสำคัญไปง่ายดาย ในขณะที่รายใหม่ล้วนแต่เป็นยักษ์ใหญ่คงไม่ยอมพลาดโอกาสงาม ๆ นี้

ทุกรายล้วนควานหาพันธมิตรหวังผนึกกำลังเต็มที่ สินค้าที่เสนอแบ่งออกเป็น 2 ค่ายหลัก คือ ญี่ปุ่น และสหรัฐ

ไทยอีควิพเม้นต์นั้น เตรียมตัวแต่วันหันไปคว้าสิทธิซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ ยี่ห้อเครย์ ซึ่งมีชื่อเสียงมากเข้ามาทำตลาด และยังมอบให้กับเนคเทคไว้ใช้งานฟรีอีก 1 เครื่อง เพื่อหวังสร้างเรคคอร์คให้กับบริษัท

งานประมูลครั้งนี้ย่อมไม่ธรรมดา

ปัญหาของโครงการนี้เริ่มทันทีตั้งแต่ยังไม่เปิดซองประมูล เริ่มตั้งแต่ความไม่ลงรอยกันระหว่างพินิจ จารุสมบัติ และสมิทธ ธรรมสโรช จนเป็นเหตุให้เกิดมีแก้ไขสเปคเพื่อเปิดกว้างมากขึ้น รวมทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยมีวิสุทธิ์ มนตริวัต รองอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน

กรรมการมี ธีระ อภัยวงศ์ จากธนาคารกรุงเทพ ผ.ศ. บุญชัย โสวรรณวณิชกุล - ดร. จิตตภัทร เครือวรรณ - เลอสรร ธนสุกาญจน์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนสมบัติ เจริญวงศ์ และดร. ดุษฎี ศุขวัฒน์ จากกรมอุตุนิยมฯ

จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกกรมอุตุฯ มีเพียงกรรมการสองคนเท่านั้นที่มาจากกรมอุตุฯ

มีการโยงใยความสัมพันธ์พิเศษระหว่างพินิจและกลุ่มยูคอม และสมิทธที่สนับสนุนไทยอีควิพเม้นต์ จนสั่งให้เลื่อนวันกำหนดรับซองทีโออาร์จากเดิม 25 เมษายน 2538 ไปอีก 1 เดือน มีการระบุว่าสาเหตุมาจากไทยอีควิพเม้นต์ยังจัดทำเอกสารเข้าประมูลไม่ทัน

ในขณะที่พินิจเร่งให้คณะกรรมการตัดสินโดยเร็ว ภายใน 2 เดือนหลังรับซองทีโออาร์ ก่อนรัฐบาลบรรหารจะเข้ามารับหน้าที่แทนรัฐบาลชวน

ตัวเก็งในเวลานั้น จึงตกเป็นของยูคอม และไทยอีควิพเม้นต์ไปโดยปริยายแต่การพิจารณาของคณะกรรมการยังไม่บรรลุผล จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาล สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้ริเริ่มโครงการกลับมารับตำแหน่ง รมช. คมนาคมอีกครั้ง

ระหว่าง 6 เดือนเต็ม ในการพิจารณาของคณะกรรมการ มีข่าวลือโจมตีกันเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการล้มประมูลและการนำเอาอิทธิพลทางการเมืองเข้าแทรกแซงจากกลุ่มผู้เข้าประมูล

โดยเฉพาะการมีจดหมายจากสถานฑูตสหรัฐอเมริกา พร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ และจากบริษัทเครย์รีเสิร์ช รวม 3 ฉบับ ส่งถึงนายกบรรหาร เพื่อขอให้ความเป็นธรรมกับบริษัทเอกชนจากสหรัฐที่เข้าประมูลจัดหาคอมพิวเตอร์

เพราะหลังจากนั้นไม่นาน วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือถึงวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จ่าหัวเรื่อง ขอความสนับสนุนแก่บริษัทสหรัฐในการเข้าประมูลซุปเปอร์คอมพ์ พร้อมแนบสำเนาหนังสือจำนวน 3 ฉบับจากสหรัฐ ระบุว่าขอให้กระทรวงคมนาคมให้ความเป็นธรรมกับบริษัทเอกชนของสหรัฐที่เข้าประมูล

นับว่าเป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาถึงกับลงทุนส่งหนังสือมาถึงรัฐบาลไทย เพราะเท่ากับเป็นการกดดันให้กับรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนสินค้าในประเทศตนอย่างเต็มที่

ยิ่งส่อเค้าให้รู้ว่าการประมูลครั้งนี้ไม่ธรรมดาเลย โดยเฉพาะไทยอีควิพเม้นต์ถูกจับตามองว่าอยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้เพราะหลังจากมีข่าววงในหลุดมาว่าไทยอีควิพเม้นต์ตกสเปค จดหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ก็ส่งมาถึงนายกบรรหารทันที

มีการระบุว่าค่ามาร์เก็ตติ้งฟรีสำหรับงานประมูลชิ้นนี้พุ่งไปถึง 20-30%ของมูลค่าโครงการ กรรมการบางคนเล่าว่า มีเอกชนบางรายเสนอจ่ายเงินให้ถึง 40 ล้านบาทเพื่อแลกกับชัยชนะในครั้งนี้

กระทั่งสิ้นสุดการพิจารณา คณะกรรมการตัดสินให้บริษัทท้อปกรุ๊ป ม้ามืดจากค่ายเบียร์สิงห์ ซึ่งเสนอเครื่องไอบีเอ็มชนะไปด้วยคะแนนเทคนิคสูงสุด คือ 66 คะแนน จากคะแนนเต็ม 75 คะแนนและราคาต่ำสุดคือ 1,068,157 บาท

คณะกรรมการคนหนึ่งให้เหตุผลว่าเครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มที่ท้อปกรุ๊ปเสนอมานั้นทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด และดูจากระบบโดยรวมแล้วดีที่สุด

"เราจะเอาเครื่องที่มีเทคโนโลยีทันสมัยหรือจะเอาเครื่องที่มีชื่อเสียง แต่เป็นรุ่นเก่า ซึ่งเขาเปลี่ยนรุ่นไปแล้ว" กรรมการให้ความเห็น

สำหรับท็อปกรุ๊ปนนั้นไม่ได้อยู่ในสายตาผู้เข้าประมูลเลย เป็นบริษัทส่วนตัวของสันติ ภิรมย์ภักดี ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เพื่อเข้าประมูลในงานนี้โดยเฉพาะและยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

ว่ากันว่า จุดที่โดดเด่นของบริษัทนี้คือ สายสัมพันธ์ระหว่างสันติ และมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มีสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นลูกพรรคและเป็น รมช. คมนาคม

เป็นธรรมดา เมื่อรู้ผลการตัดสินกลุ่มที่พลาดหวังมักจะออกมายื่นหนังสือประท้วงผลการตัดสิน แต่ในครั้งนี้มีถึง 3 รายที่ร่วมกันประท้วงระบุว่าท้อปกรุ๊ปเสนอผิดสเปค คือ กลุ่มยูคอม ไออีซี และทีเอ็มเอส ส่วนสหวิริยา นั้นใช้วิธีส่งหนังสือประท้วงไปที่กระทรวงคมนาคม

น่าแปลกคือไทยอีควิพเม้นต์เก็บตัวซุ่มเงียบไม่ประท้วง ทั้ง ๆ ที่ครั้งนี้อาจถือได้ว่าเป็นสงครามศักดิ์ศรี เนื่องจากกรมอุตุนั้นแทบจะเป็นอาณาจักรของไทยอีควิพเม้นต์มาตลอด แต่พอประมูลครั้งใหญ่ตนเองกลับพ่ายแพ้แก่ผู้ที่มาใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ

สาเหตุสำคัญอยู่ที่สมิทธ ธรรมสโรช อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา!

ทางด้านอธิบดีสมิทธทันทีที่รู้ผลกลับแต่งตั้งคณะทำงานของกรมอุตุฯ ขึ้นมาอีกชุด ซึ่งมีไกรสร พรสุธีรองอธิบดีกรมอุตุฯ เป็นประธาน และพิจารณาให้บริษัทไทยอีควิพเม้นต์รีเสิร์ช ซึ่งเสนอเครื่องเครย์ ที่ตกสเปคด้านเทคนิคไปตั้งแต่แรกเป็นผู้ชนะ

การกระทำในครั้งนี้เท่ากับปฏิเสธผลการตัดสินของคณะกรรมการชุดของวิสุทธิ์อย่างสิ้นเชิง

ไป ๆ มา ๆ นอกจากจะเป็นสงครามระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกันแล้ว ยังสงครามระหว่างนักการเมืองและข้าราชการที่ถือหางเอกชนคนละฝ่าย

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมในเมื่ออธิบดีกรมอุตุฯ ไม่พอใจผลการตัดสินไม่เป็นธรรมจึงไม่เสนอเรื่องให้การสอบสวนหรือทบทวนใหม่ แต่กลับตั้งคณะทำงานขึ้นและชี้ขาดให้ไทยอีควิพเมนต์เป็นผู้ชนะ เหมือนกับว่ามีตัวเลือกอยู่ในใจอยู่แล้วเมื่อคณะกรรมการไม่ตัดสินตามที่ต้องการจึงไม่ยอมรับผล

อีกทั้งตลอดเวลาที่คณะกรรมการพิจารณา อธิบดีจะให้สัมภาษณ์ตลอดเวลาว่าจะไม่ยอมรับผิดชอบผลการพิจารณาที่เกิดขึ้น เพราะเป็นกรรมการคนนอกจะไปรู้เรื่องดีเท่ากับกรมอุตุฯ ที่เป็นคนใช้งานเองได้อย่างไร

"ผมปรึกษานักกฎหมายของกรมอุตุฯ แล้วว่า ผมมีอำนาจตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีกชุดเพื่อเปิดซองประมูลใหม่ได้ โดยใช้คนของกรมอุตุฯ เป็นหลัก เราเป็นคนใช้ใครจะมารู้ดีกว่าเรา" สมิทธกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

สาเหตุที่สมิทธเชื่อมั่นในไทยอีควิพเม้นท์มากนักนั้น สมิทธไม่ได้อธิบายในเชิงเทคนิค แต่เขาอธิบายว่า เชื่อมั่นในชื่อเสียงของเครย์ ใช้ 16 ประเทศ ขณะที่ไอบีเอ็มยังไม่มีใครใช้หรือส่วนใหญ่อยู่ในขั้นทดลองและอ้างตลอดเวลาว่า รองอธิบดีทั้งสี่คนรวมทั้งระดับรองผู้อำนวยการเห็นด้วยกับเขา

เขาอ้างด้วยว่า กรรมการชุดแรกไปรับเอกสารเพิ่มเติมอีกกว่า 100 หน้าจากท้อปกรุ๊ปหลังจากที่เปิดซองแล้ว ซึ่งไม่ยุติธรรมกับผู้ประมูลรายอื่น ทำให้เขาต้องตัดสินใจเช่นนี้

"ท้อปกรุ๊ป เป็นใครมีพนักงานอยู่ไม่กี่คน เกิดเครื่องเสียไม่มีคน เราก็แย่"

ปมปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้สมศักดิ์ เทพสุทิน รมช. กระทรวงคมนาคมผู้รับผิดชอบ แต่กลับส่งเรื่องทั้งหมดให้คณะกรรมการว่าด้วยระเบียบพัสดุ (กวพ.) สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชี้ขาดแทนว่าใครกันแน่ควรเป็นผู้ชนะ

กวพ. ให้ข้อสรุปมาว่า คณะกรรมการชุดแรกของวิสุทธิ์เป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายส่วนคณะทำงานของกรมอุตุฯ มีสิทธิ์แค่ให้ความเห็น แต่ไม่มีสิทธิ์ให้คะแนน เพราะผิดกฎระเบียบของ ซึ่งหากมองในมุมนี้ก็เท่ากับว่าท้อปกรุ๊ปจะต้องเป็นผู้ชนะ

หากแต่ รมช. สมศักดิ์ ส่งเรื่องกลับไปให้กรมอุตุฯ ไปพิจารณาสรุปผลอีกครั้งอาจเป็นไปได้ว่าต้องการให้กรมอุตุฯ หันไปทบทวนและยอมรับพิจารณาแต่โดยดี เพื่อไม่ให้มีปัญหาขึ้นในระหว่างนี้ เพราะขณะนี้ตัว รมช. สมศักดิ์เองกำลังถูกโจมตีจากการเปลี่ยนบอร์ดการท่าอากาศยานจึงไม่อยากผลีผลามทำอะไรลงไป

หรือเพื่อประวิงเวลาต่อไป

เพราะคำตอบของโจทย์มี 3 ข้อ คือ

1. ท้อปกรุ๊ปชนะตามผลการตัดสินของคณะกรรมการของวิสุทธิ์

2. ไทยอีควิพเม้นต์ รีเสิร์ชชนะตามความเห็นชอบของอธิบดี

3. ล้มประมูล และเปิดประมูลใหม่แบบเร่งด่วยเพื่อไม่ให้เสียเวลามาก ด้วยการจัดซื้อพิเศษ หรือ

CLOSE BID คือให้เอกชนที่ผ่านสเปค 4 ราย คือ ท้อปกรุ๊ป ทีเอ็มเอส ไออีซี และทีเอชเอ ยื่นเสนอราคาเข้ามาใหม่

หากมองในแง่หลักการแล้ว ท้อปกรุ๊ปคงเป็นผู้คว้างานไป เพราะผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการที่ถูกต้องเว้นเสียแต่ว่าจะมีกำลังภายในจากรัฐบาลมาให้เห็นจะ ๆ

สำหรับสมิทธแล้ว แม้เขาจะมีท่าทีแข็งกร้าวในเรื่องนี้ แต่เขาก็ออกตัวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทุกอย่างแล้วแต่รัฐมนตรี หากเลือกแล้ว ตัวรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ

แต่คนทั่วไปก็ย่อมรู้ว่า เกมนี้ยังอีกยาว และสมิทธไม่ถอยแน่ ๆ เพราะถลำตัวมาถึงขั้นนี้แล้ว

แต่ที่แน่ ๆ ของงานประมูลในครั้งนี้คงต้องยอมรับว่า ไทยอีควิพเม้นต์ไม่ธรรมดาจริง ๆ !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us