Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2539
"ณรงค์ สุทธิสัมพัทน์ ตลาดไอศกรีมไม่มีที่3"             
 


   
www resources

โฮมเพจ เนสท์เล่ประเทศไทย

   
search resources

เนสท์เล่ (ไทย), บจก.
ยูไนเต็ด ฟูดส์, บมจ.
ณรงค์ สุทธิสัมพัทน์
Food and Beverage




เป็นที่คาดกันว่าในฤดูร้อนปีนี้อุณหภูมิของตลาดไอศกรีมเมืองไทยอาจจะทวีความร้อนแรงขึ้นไปอีก เพราะเป็นปีแรกที่ "เนสท์เล่" ยักษ์ใหญ่วงการอาหารได้เข็นไอศกรีม "เนสท์เล่ แดรี่ ฟาร์ม" เข้าสู่ตลาด อันเป็นผลเนื่องมาจากการเข้าซื้อหุ้น 45% ในบริษัท เจนเนอรัล แปซิฟิก ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด ต่อจากบริษัท แปซิฟิก ดันลอป ออสเตรเลีย ของเนสท์เล่ สวิสเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2538 ที่ผ่านมา

เดิมเจนเนอรัล แปซิฟิก ฟู้ด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท เอบิโก้ โฮลดิ้ง และแปซิฟิก ดันลอป ออสเตรเลีย ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเข้าไปเทคโอเวอร์กิจการไอศกรีมดั๊กกี้ เมื่อปี 2537 และเตรียมการที่จะแนะนำไอศกรีมยี่ห้อ "ปีเตอร์ส" และ "ดั๊กกี้" เข้าสู่ตลาด

แต่เมื่อเนสท์เล่ สวิสเซอร์แลนด์เข้าไปซื้อหุ้นต่อจาก แปซิฟิก ดัลลอป บริษัท เจนเนอรัล แปซิฟิก ฟู้ด จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เนสท์เล่ แดรี่ ฟาร์ม ซึ่งเป็นชื่อของไอศกรีมด้วย และได้มอบหมายให้บริษัท เนสท์เล่ โปรดักท์ส ไทยแลนด์ อินค์ บริษัทลูกที่มีความชำนาญในการทำตลาดสินค้าประเภทอาหารในประเทศไทย เข้าไปบริหารงานด้วย

การเข้าสู่ตลาดไอศกรีมของเนสท์เล่ครั้งนี้ แม้ว่าจะเริ่มต้นอย่างเงียบ ๆ ด้วยการวางตู้แช่ตามห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารบ้างแล้ว เพราะยังไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะบุกตลาดมากนัก แต่ทุกคนย่อมรู้ดีว่า ในอนาคตการเผชิญหน้ากันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติกับหนึ่งทุนท้องถิ่นไทย คือ "วอลล์" ของค่าย ลีเวอร์ บราเธอร์ "ยูไนเต็ด" ของค่ายยูไนเต็ด ฟูดส์ และ "เนสท์เล่ แดรี่ ฟาร์ม" ของเนสท์เล่ฯ จะต้องมีขึ้นแน่ เนื่องจากตลาดไอศกรีมไม่มีที่สำหรับอันดับสาม ต้องเบอร์หนึ่งและสองเท่านั้นที่จะอยู่ได้และมีโอกาสในการเติบโต

พูดง่าย ๆ ถ้าเนสท์เล่จะอยู่ในตลาดนี้ ก็ต้องเบียดใครคนใดคนหนึ่งให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าการเบียดยูไนเต็ด ซึ่งยังเป็นอันดับสองขณะนี้น่าจะง่ายกว่าวอลล์ซึ่งเป็นผู้นำตลาดอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

งานนี้คนที่ถูกจับตาว่าอาจจะได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุด จึงหนีไม่พ้น "ยูไนเต็ด" ซึ่งเพิ่งเข้ามาในตลาดได้ 2 ปีกว่า และไม่มีบริษัทแม่ที่จะให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องเงินทุนและเทคโนโลยีใด ๆ ทั้งสิ้น

"หลายคนอาจจะมองว่าคนที่จะลำบากน่าจะเป็นเราเพราะที่เข้ามาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งนั้น แต่ผมไม่เชื่อ ผมมั่นใจว่าขณะนี้เรามีศักยภาพพอที่จะต่อสู้กับใครก็ได้ เพราะถ้าไม่มี เราคงไม่สามารถขึ้นมาเป็นอันดับสองของตลาดได้" ณรงค์ สุทธิสัมพัทน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวพร้อมกับประกาศอย่างมั่นใจว่า อีก 2 ปีข้างหน้า ไอศกรีม "ยูไนเต็ด" จะต้องขึ้นเป็นผู้นำในตลาดไอศกรีมให้ได้

"ศักยภาพ" ของยูไนเต็ดที่ณรงค์อ้างถึงนั้น เริ่มตั้งแต่ศักยภาพในการออกสินค้าใหม่ ซึ่งยูไนเต็ดมีความคล่องตัวมาก จะเห็นได้จากในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2539 ที่ผ่านมาได้มีการออกสินค้าใหม่แล้ว 3 งวด ทั้งหมด 15 ตัว

"ปัจจุบันสินค้าของเรามีรูปแบบหลากหลายมาก ตามปกติคู่แข่ง จะมีแต่ไอศกรีมแบบแท่ง โคน ถ้วย และบาร์ ขณะที่ของเราจะมีลักษณะที่เป็นสแน็กด้วย เช่น ทิฟฟานี ชูไอซ์ โมนาก้า หรือแม้กระทั่งน้ำแข็งใส คือ โคริ ที่เราเพิ่งนำออกวางตลาด และถือว่าเป็นตัวเด่นสำหรับร้อนนี้ด้วย เพราะเป็นน้ำแข็งใสเจ้าแรกที่ได้รับเครื่องหมาย อย."

ณรงค์กล่าวว่า ศักยภาพในการออกสินค้าใหม่ของไอศกรีมยูไนเต็ดนี้ เป็นความต่อเนื่องมาจากประสบการณ์ที่อยู่ในตลาดขนมขบเคี้ยวมานาน จึงทำให้ง่ายในการอ่านพฤติกรรมของผู้บริโภค ไม่ต้องพึ่งพิงการวิจัยตลาดอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน

นอกจากนี้ยูไนเต็ดยังมีศักยภาพในการผลิต เพราะแม้ว่าปัจจุบันจะผลิตอยู่ที่ 20 ล้านลิตรต่อปี แต่ก็มีกำลังการผลิตจริง ๆ ไม่แพ้วอลล์ ซึ่งผลิตอยู่ที่ 30-40 ล้านลิตรต่อปี

ส่วนด้านเทคโนโลยีการผลิตนั้น แม้ว่าจะไม่มีบริษัทแม่คอยให้การสนับสนุนอย่างวอลล์และเนสท์เล่ หรือครีโมแต่ยูไนเต็ดก็ได้ลงทุนซื้อเทคโนโลยีการผลิตจากเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศผู้นำในการผลิตเครื่องจักรสำหรับทำไอศกรีม

สำหรับเรื่องเงินทุนในการดำเนินการนั้น แม้ว่าทั้งวอลล์และเนสท์เล่จะเป็นบริษัทข้ามชาติที่สามารถนำเงินดอกเบี้ยถูกจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในการดำเนินกิจการได้ แต่ยูไนเต็ดก็เป็นบริษัทมหาชนที่สามารถระดมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำมาใช้ได้เช่นกัน

นี่ยังไม่นับศักยภาพในเรื่องการจำหน่ายของไอศกรีมยูไนเต็ด ที่ปัจจุบันมีคอนเซสชั่นแนร์อยู่ประมาณ 10 แห่งมีตู้แช่อยู่ 18,000 ตู้ สามล้อถีบอยู่ 1,000 คัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เนสท์เล่จะต้องใช้เงินทุนอีกไม่ใช่น้อยถ้าจะตามยูไนเต็ดให้ทัน

จะเห็นได้ว่าถ้าเทียบกันแล้วยูไนเต็ดยังเป็นต่อเนสท์เล่อยู่หลายขุม จึงแน่นอนว่าฝ่ายที่หนักใจที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเนสท์เล่นั่นเอง เพราะการที่จะไล่วอลล์ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ประมาณ 40% และยูไนเต็ด ซึ่งมีส่วนแบ่งอยู่ 25% ในขณะนี้และวางเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 35% ให้ได้ในปี 2539 นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ในการเข้าสู่ตลาดของเนสท์เล่ แตกต่างกับวอลล์และยูไนเต็ดอย่างสิ้นเชิง

กล่าวคือ วอลล์เข้าสู่ตลาดในช่วงที่ "โฟร์โมสต์" เป็นเจ้าตลาดที่แข็งแกร่งเพียงรายเดียว ประกอบกับเป็นช่วงที่การแข่งขันยังไม่รุนแรง เนื่องจากโฟร์โมสต์ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะสกัดกั้นวอลล์ได้ ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก เพราะต้องการทุ่มเทกำลังให้กับตลาดนมมากกว่า ทำให้วอลล์ซึ่งเข้าตลาดด้วยกลยุทธ์เชิงรุกเต็มที่ ได้ส่วนแบ่งตลาดไปอย่างเป็นกอบเป็นกำ และในที่สุดก็ยังสามารถไล่โฟร์โมสต์ออกจากตลาดไปได้ด้วยการซื้อกิจการไอศกรีมของโฟร์โมสต์เสีย

สำหรับยูไนเต็ดนั้น เข้าสู่ตลาดในช่วงปลายปี 2536 ซึ่งเป็นช่วงที่วอลล์แข็งแกร่งอยู่ในตลาดเพียงรายเดียวเหมือนกัน ประกอบกับเป็นช่วงที่วอลล์กำลังมีเรื่องวุ่น ๆ ในการยุบรวมคอนเซสชั่นแนร์จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 10 รายลงเหลือเพียง 4 ราย จึงไม่มีเวลามาสกัดกั้นยูไนเต็ดเต็มที่นัก ยูไนเต็ดจึงทุ่มกำลังทุกด้าน โดยเฉพาะด้านโฆษณาที่ดึงเอา "เจ มณฑล" ซึ่งกำลังดังสุด ๆ มาเป็นฟรีเซ็นเตอร์ ส่งผลให้ประโยคที่ว่า "รักเจ รักชอคโก บาร์" ติดปากของวัยรุ่นได้ไม่ยาก

ในขณะที่การเข้าสู่ตลาดไอศกรีมของเนสท์เล่จะต้องเผชิญกับการรับมืออย่างเต็มที่ของทั้งวอลล์และยูไนเต็ดแล้ว นักวิเคราะห์ตลาดยังให้ทัศนะว่า การเข้าสู่ตลาดไอศกรีมของเนสท์เล่ด้วยการซื้อกิจการไอศกรีมดั๊กกี้นั้นนับเป็นกลยุทธ์ที่ค่อนข้างเปล่าประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่สิ้นเปลืองเกินกว่าเหตุอีกด้วย

"ความหมายของการซื้อกิจการควรหมายถึงว่านอกจากจะได้โรงงานแล้ว ควรจะได้ส่วนแบ่งตลาดด้วย อย่างเช่นวอลล์ซื้อโฟร์โมสต์และได้ส่วนแบ่งตลาดส่วนหนึ่งของโฟร์โมสต์มาไว้ในมือด้วย แต่การซื้อดั๊กกี้ของเอบิโก้และเนสท์เล่ในราคาถึง 475 ล้านบาทแล้วได้แต่โรงงานอย่างเดียวอย่างนี้ผมว่าตั้งโรงงานใหม่ดีกว่า"

ทำไปทำมากำลังจะกลายเป็นว่าเนสท์เล่อาจจะเสียท่าตั้งแต่เริ่มต้นเสียแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us