Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2539
"ทอม เครือโสภณ โอกาสที่มากับโรคคลั่งอินเตอร์เน็ต"             
 


   
search resources

แปซิฟิก เอจ
ทอม เครือโสภณ




หนุ่มร่างท้วม ผิวคล้ำ พูดภาษาอังกฤษคล้องแคล่ว หากเจ้าตัวไม่บอกว่าเป็นคนไทย ก็คงนึกว่าเป็นหนุ่มอินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ หลายคนเคยพบเขา เมื่อเขาทำหน้าที่พิธีกรในงานสัมมนาบริการอินเตอร์เน็ตที่จัดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้

ทอม เครือโสภณ กำลังกลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมยุคอินเตอร์เน็ต ทอมไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้บริหารของบริษัทให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือทำธุรกิจไอที แต่อาชีพของเขาคือ ผู้รับจัดสัมมนา

จริง ๆ แล้ว ทอมน่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เนื่องจากโอภาส เครือโสภณ พ่อของเขาได้ย้ายครอบครัวไปตั้งรกรากที่สหรัฐฯ ตั้งแต่ทอมมีอายุได้เพียง 7 ขวบ ซึ่งพ่อของเขาเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เสรีชน หนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของไทยในสหรัฐฯ ส่วนธีระพร เครือโสภณ แม่ของเขาได้ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจคนแรกไปใช้ชีวิตต่างแดน พร้อมกับลูกชายหญิง

หากไม่บังเอิญ ทอมได้นั่งดูทีวีที่กำลังถ่ายทอดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส หรือ นางงามจักรวาล สาวไทยคว้าตำแหน่งมาครอง ทำให้ทอมเกิดไอเดียทันทีว่าเมื่อบริษัทมิสยูนิเวิร์ส ผู้จัดงานจะต้องส่งปุ๋ยกลับมาโชว์ตัวที่เมืองไทย จำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่ประสานงาน เพราะปุ๋ยนั้นแม้จะเป็นคนไทยแต่ก็ไปใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ มานานและคนไทยก็ตื่นเต้นกับนางงามจักรวาลค่อนข้างมาก ซึ่งทอมรู้ว่าเขาเหมาะสมที่สุดสำหรับภารกิจนี้

วันรุ่งขึ้นทอมเปิดสมุดโทรศัพท์ โทรติดต่อบริษัทมิสยูนิเวิร์สทันที พร้อมกับแนะนำตัวว่า เป็นใครมาจากไหนมีอะไรให้เขาช่วยบ้าง และทอมก็สมหวัง เมื่อบริษัทมิสยูนิเวิร์สตอบตกลงให้เขาเป็นผู้จัดการส่วนตัวของปุ๋ยในการเดินทางมาโชว์ตัวที่เมืองไทย

ชื่อของทอมน่าจะเป็นที่รู้จักของคนไทยในฐานะผู้จัดการส่วนตัวของนางงามจักรวาล หากอมรรัตน์ ศิริปรีชาพงษ์ อดีตภรรยาของทนง ศิริปรีชาพงษ์ "เสี่ย ป. เป็ด" เจ้าของกิจการโรงแรมลิตเติ้ลดักส์ได้ขอซื้อลิขสิทธิ์การเป็นผู้จัดการส่วนตัว โดยแลกเปลี่ยนกับเงินจำนวน 4 แสนเหรียญสหรัฐ ในช่วง 2 อาทิตย์ ที่ปุ๋ยเดินทางมาโชว์ตัวเมืองไทย หลังจากบริษัทมิสยูนิเวิร์สตอบตกลง ทอมได้ส่วนแบ่ง 15% จากเงินก้อนนั้น และเขาก็บินกลับสหรัฐฯ ทันที

"ผมไม่ประทับใจเลยกับการมาเมืองไทยครั้งแรก เพราะปัญหาหลายอย่าง และเมืองไทยในเวลานั้นยังล้าหลังอยู่มาก คุณคิดดูในโรงแรมระดับ 5 ดาว แต่หาเครื่องแฟกซ์ไม่ได้เลย ตอนนั้นผมกลับไปและไม่คิดจะกลับมาเมืองไทยอีกเลย" ทอมเล่าความรู้สึกในขณะนั้น

ทอมบินกลับไปใช้ชีวิตหนุ่มอเมริกันอีกครั้ง และจากการร่วมงานกับบริษัทมิสยูนิเวิร์สในครั้งนั้นทำให้โอกาสของเขาเปิดกว้างขึ้น เพราะในช่วงที่เขาศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาการตลาด มหาวิทยาลัย UNIVERSITY OF CALIFORNIA LOS ANGELES หรือ UCLA เขามีโอกาสได้ทำงานเป็นผู้ดูแลอำนวยความสะดวกให้บิล คลินตัน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อครั้งที่ยังเป็นผู้ว่าการรัฐอาคันซอ ที่ต้องเดินทางมาหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่ฮอลลีวู้ด

หลังจากนั้นทอมมีโอกาสได้เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายหาเสียงให้กับริชาร์ด เรียดัน ซึ่งสมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของแอลเอ และหลังจากริชาร์ด เรียดันได้ชัยชนะ ทอมได้รับเลือกให้เป็นโฆษกประจำตัว ทำให้เขามีโอกาสต้อนรับตัวแทนจากรัฐบาลไทยที่เดินทางไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา และในช่วงนี้เองเขาได้รู้จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ของไทยว่าเมืองไทยนั้นพัฒนามากขึ้น ประกอบกับธุรกิจทัวร์อเมริกาของพี่ชายเขามีลูกค้าคนไทยมาใช้บริการไม่ได้ว่างเว้น ทอมรู้ทันทีว่าคนไทยรวยขึ้น แต่ในความร่ำรวยนั้น คนไทยยังขาดแคลนความรู้อีกมาก ทอมจึงจับเอาทั้งสองสิ่งมาบวกกันให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ และสิ่งที่เขามองเห็น คือ ธุรกิจสัมมนา

"ผมเคยไปฟังสัมมนาของ ดร. เสรี วงษ์มณฑา มีคนฟังถึง 400 คน ผมหันไปถามคนที่เข้าฟังว่า คุณมาฟังเพราะอะไร เขาบอกว่าบริษัทส่งมา ผมรู้ทันทีว่า คนไทยนั้นยังขาดความรู้อีกมาก เพราะประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าเป็นใครเขาก็ต้องยอมจ่ายเงินเพื่อนำความรู้มาพัฒนาองค์กรของเขา" ทอมเล่า

เทคโนโลยี คือ หัวข้อที่ทอมเลือกในการจัดสัมมนาเพราะเขาเชื่อว่าคนไทยยังขาดผู้มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้อีกมาก

"ปัญหาคืองานสัมมนาในไทยทุกวันนี้ คือ มีอยู่เป็นจำนวนมาก และบางหัวข้อที่จัดก็ซ้ำ ๆ กันและบางงานก็ไม่ได้คุณภาพ แต่หากผมสามารถหาวิทยากรระดับแนวหน้าจากต่างประเทศมาบรรยาย และเก็บเงินเท่ากับผู้จัดคนอื่น ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำ"

ทอมใช้ชื่อบริษัทแปซิฟิก เอจ ของพี่ชาย ซึ่งทำธุรกิจที่ปรึกษา และหาที่เรียนให้กับนักเรียนไทยที่ต้องการไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทรับจัดสัมมนา

รูปแบบการรับจัดสัมมนาของทอมจะมีลักษณะเหมือนกับผู้ประสานงาน ทอมจะเป็นผู้ติดต่อหาลูกค้าเป้าหมายที่เป็นบริษัททำธุรกิจไอที เช่น เทเลคอมเอเชีย กลุ่มสามารถ ล็อกซเล่ย์

หลังจากตกลงในเรื่องหัวข้อและรายละเอียดได้แล้ว ทอมจะติดต่อหาวิทยากร ซึ่งจะมีทั้งที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศมาเป็นผู้บรรยาย

"ผู้ผลิตสินค้าบางรายเขาก็อยากเผยแพร่ความรู้อยู่แล้วส่วนใหญ่เวลาเราเชิญเขามาบรรยายเขาก็ไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ก็อาจมีโฆษณาสินค้าเขาบ้าง ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาเพราะเรามีสิทธิที่จะไม่ซื้อสินค้าของเขา" ทอมเล่า

ทอมทำหน้าที่สารพัดอย่าง เพราะทีมงานของทอมมีเขาเพียงคนเดียว ในงานสัมมนาทอมจึงมีหน้าที่เป็นพิธีกร และสอนงานให้กับเจ้าหน้าที่ของบริษัทลูกค้า

งานแรกที่เขาได้พิสูจน์ฝีมือ คือ การจัดสัมมนาเกี่ยวกับดาวเทียม ซึ่งมี ดร.สุธีย์ อักษรกิตย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดาวเทียม จากกระทรวงคมนาคมเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง ซึ่งทอมได้เชิญบริษัท ทีอาร์ดับบลิว ทำธุรกิจทางด้านดาวเทียมมาบรรยายให้ฟรีและติดต่อบุญยง ว่องวานิช เป็นสปอนเซอร์ออกค่าใช้จ่ายในการสัมมนา

ดูเหมือนโชคจะเข้าข้างเขา ในยุคโรคคลั่งอินเตอร์เน็ตไทยกำลังระบาด ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาทอมได้รับมอบหมายจากเอกชนที่เป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ "อินเตอร์เน็ตเซอร์วิส โพรไวเดอร์" หลายแห่งให้เป็นผู้จัดสัมมนาเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นงานสัมมนาของกลุ่มสามารถ ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ที่โรงแรมอิมพีเรียล

รวมทั้งงานสัมมนา ที่จัดขึ้นโดยบริษัทล็อกซเล่ย์ อินฟอร์เมชั่น หนึ่งในผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตอีกรายของไทย ภายใต้หัวข้อ DOING BISINESS ON THE INTERNET มีวิทยากรจาก UCLA เป็นผู้บรรยาย เมื่อวันที่ 6-7 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเก็บค่าสัมมนา 15,000 บาทต่อคน

ปรากฎว่าในงานนี้ มีผู้มาเข้าฟังมากกว่า 200 คน ซึ่งทอมเล่าว่าเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะเขาคาดหมายว่าจะมีเพียงแค่ 150 คนเท่านั้น

นั่นเท่ากับว่าชั่วเวลา 2 วัน ทอมมีรายได้จากการสัมมนาไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท !

จากการสอบถามผู้เข้าฟังสัมมนา ไม่ได้มีเฉพาะผู้บริหารหรือ เจ้าของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีคนทั่วไปที่ยอมจ่ายเงินนับหมื่นบาท เพราะอยากรู้ว่าอินเตอร์เน็ตคืออะไรและทำธุรกิจได้จริงหรือไม่

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ยังมีงานสัมมนาที่เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตอีกเป็นระลอกโดยผู้จัดรายอื่น ไม่ว่าจะเป็นงานที่ทางเน็คเทค ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายแรกของไทยที่ร่วมกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และจะมีงานสัมมนาอินเตอร์เน็ตกับธุรกิจค้าปลีก ยังไม่รวมถึงในช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลเดย์ ก็ได้จัดงานสัมมนาอินเตอร์เน็ตกับธุรกิจการเงินผ่านพ้นไป

สำหรับทอมแล้วเขามองว่า โอกาสของเริ่มขึ้นแล้วในประเทศไทย ซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจำเป็นต้องเรียนรู้อีกมากในโลกใบใหม่ ที่เป็นโลกของอินเตอร์เน็ต

ในขณะที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับผู้ต้องการทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต แต่ในธุรกิจสัมมนาของทอม หรือไม่ว่าใครต่อใครกำลังเฟื่องฟูอย่างเห็นได้ชัด เพราะทุกคนอยากร่วมขบวนไปกับอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำประโยชน์ได้เพียงใด และผู้ให้บริการทั้ง 11 ราย คงต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อเพิ่มยอดสมาชิกให้คุ้มกับเงินที่ลงไป

ไม่ว่าธุรกิจอินเตอร์เน็ตจะทำเงินทำรายได้ให้เป็นจริงเป็นจังหรือไม่ หรือต้องใช้เวลาอีกนานเพียงใด แต่สำหรับวันนี้ทอมยอมอกหักจากแฟนสาว ด้วยเหตุที่เขาตัดสินใจตั้งรกรากในเมืองไทยมาโต้คลื่นอินเตอร์เน็ตในไทย และสามารถทำเงินอย่างรวดเร็วและทันทีไปล่วงหน้าแล้ว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us