หากเอ่ยชื่อ “อาซาฮี” หลายคนคงรู้ว่ามันคือบริษัทผลิตกระจกของญี่ปุ่นแต่น้อยคนในบ้านเราจะคุ้นเคยกับชื่อของบริษัทผลิตกระจกของอังกฤษอย่างพิลคิงตัน (มหาชน) ในเครือของพิลคิงตัน กรุ๊ป ที่ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นคู่แข่งตัวกลั่นของยักษ์ใหญ่อาซาฮี, แซงต์-โกเบนของฝรั่งเศสและน้องเล็กอย่างพีพีจีของเมืองลุงแซม
แม้จะตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในนอร์ธเทิร์น อิงแลนด์ห่างจากกรุงลอนดอนไป 200 ไมล์แต่ก็อาจกล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าพิลคิงตัน เป็นหนึ่งในบริษัทระดับอินเตอร์ของอังกฤษ โรเจอร์ เลเวอร์ตัน วัย 56 ปีประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของพิลคิงตัน กรุ๊ป กลุ่มกิจการยักษ์ใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่เท่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมในตะวันตก เผยมุมมองระดับโลกว่า “เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆเล็งขยายตัวสู่ระดับโลกและมองหาซัปพลายเออร์ในทั่วโลก เราจะมีฐานะโดดเด่นเป็นพิเศษในการรองรับความต้องการของบริษัทเหล่านี้”
ปีที่ผ่านมา พิลคิงตันมียอดขายกระจกจากโรงงาน 100 แห่งใน 20 ประเทศทั่วโลกเป็นเงิน 4,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งมาจากยอดขายกระจกรถยนต์ ทั้งนี้โรงงานบางแห่งเป็นบริษัทที่พิลคิงตันลงทุนเองทั้ง 100% แต่บางแห่งนั้นเป็นการร่วมทุนกับผู้ผลิตกระจกของประเทศต่างๆ
ละตินอเมริกาเป็นภูมิภาคเป้าหมายที่บริษัทรถยนต์ระดับโลกเตรียมทุ่มทุนก้อนใหญ่ 17,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้าและในขณะนี้พิลคิงตันก็ได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตกระจกดิบ 5 แห่งในบราซิล อาร์เจนติน่าและชิลีดักรอไว้แล้ว อีกทั้งยังเพิ่มกำลังการผลิตกระจกรถยนต์ในโรงงานในบราซิลและอาร์เจนติน่า
พิลคิงตันยังกระจายฐานการดำเนินงานไปอยู่ตามภูมิภาคส่วนอื่นของโลกโดยเบียดเข้าไปครองส่วนแบ่งตลาดกระจกรถยนต์ของโปแลนด์ได้ถึง 70% แต่ที่แน่ๆบริษัทกระจกรายนี้รุกเข้าไปในจีน
แบบเงียบๆมานาน 11 ปีเต็มแต่ก็ยังมีหุ้นส่วนในการลงทุนเพียงแค่ 8% เท่านั้นอย่างไรก็ดีในช่วงที่ผ่านมา พิลคิงตันได้เข้าไปถือหุ้นในโรงงานผลิตกระจกแห่งหนึ่งในเมืองชิงต่าว แถมขณะนี้ยังเร่งมือก่อสร้างโรงงานในเมืองฉางชุน,อู๋ฮั่นและกุ้ยหลิน ซึ่งนอกจากจะต้องเป้าผลิตกระจกรองรับรถยนต์ 600,000 คันแล้วยังจะผลิตป้อนโรงงานผลิตรถในเมืองจีนของ 2 ยักษ์ใหญ่แห่งยุโรปคือ โฟล์กสวาเก้นและซีตรอง
นอกจากนี้พิลคิงตันยังบุกตลาดอิตาลีด้วยการทุ่มเงิน 255 ล้านดอลลาร์ซื้อโซไซเอด้า อิตาเลียน่า วีโตร้ สปาหลังจากที่รัฐบาลทำการแปรรูปไปแล้ว 2 ปี
ในสหรัฐฯพิงคิงตันเป็นซัปพลายเออร์เกรดดีของเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการรถของมะกันภายใต้ชื่อบริษัทว่ลิบบี่ย์-โอเว็นส์-ฟอร์ด ซึ่งรายได้ของบริษัทในเครือรายนี้ทำเงินให้แก่พิลคิงตันเกือบ 1 ใน 4 ของรายได้ทั้งหมด
ในมุมมองของเลเวอร์ตันนั้นเชื่อว่าสัญญาผลิตกระจกป้อนให้แก่บริษัทรถยนต์กำลังเปลี่ยนจากการป้อนแยกชิ้นต่างราคาเป็นการป้อนล็อตใหญ่ๆในราคามาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งจีเอ็มเป็นรายแรกที่จะใช้เกณฑ์ดังกล่าวและฟอร์ด ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองสัญชาติเดียวกันจะเจริญรอยตามในไม่ช้า ทั้งนี้ สัญญาครั้งประวัติศาสตร์ของจีเอ็มกับพิลคิงตันจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นซัปพลายกระจกครั้งใหญ่ในบราซิล อาร์เจนติน่า ออสเตรเลียและยุโรปไปพร้อมๆกัน
อย่างไรก็ดี กระจกที่บริษัทรถยนต์ต้องการจริงๆกลับเป็นกระจกพิเศษบางอย่างอาทิ กระจกสี, กระจกที่มีรูปทรงช่วยลดแรงต้านของลม. กระจกลดเสียงเคลือบสารไล่น้ำฝน, กระจกฝังสายอากาศและกระจกช่วยควบคุมอุณหภูมิภายในตัวรถ ซึ่งแม้จะเป็นกระจกที่ผลิตได้ยาก แต่ก็มีมาร์จินสูงกว่ากระจกธรรมดาที่ผลิตกันอยู่ในขณะนี้
ต่อกรณีพิลคิงตันไม่ค่อยห่วงมากนักเพราะตัวเองเป็นบริษัทแถวหน้าในวงการกระจกพิเศษและเป็นรายแรกที่สามารถผลิตกระจกป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตและกระจกมืดป้องกันคนมองทะลุเข้าไปภายในตัวรถ
ธุรกิจกระจกเคยลดความสำคัญลงไปมาเมื่อครั้งที่มีการแตกธุรกิจของกลุ่มในสมัยเซอร์ แอนโธนี่ พิลคิงตันผู้จัดการในตระกูลพิลคิงตันคนสุดท้าย แต่กลับมาเน้นหนักอีกครั้งในสมัยของเลเวอร์ตัน เพื่อหวังผลักดันธุรกิจบุกเบิกของกลุ่มขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการกระจกโลก
ก่อนหน้าที่เลเวอร์ตันจะเข้าบริหารกิจการ ผลตอบแทนต่อหุ้นของพิลคิงตันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าหุ้นราคาพาร์ 8% แต่แล้วในปีที่ผ่านมา เลเวอร์ตันสามารถพลิกสถานการณ์ของพิลคิงตันกลับมาอีกครั้ง โดยทำกำไรก่อนหักภาษีในช่วง 6 เดือนแรกได้ถึง 161 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทว่าหุ้น 1,000 ล้านหุ้นของพิลคิงตันที่อยู่ในตลาดก็ยังเทรดกันที่ระดับราคาหุ้นละ 3 ดอลลาร์อยู่ดีเพราะมีการคาดการณ์โดยนักวิเคราะห์ว่าหุ้นของบริษัทจะมีผลตอบแทนต่อหุ้นเพียง 23 เซนต์ในปี 1996 และจะขยับขึ้นเป็น 30 เซนต์ในปีหน้า เรื่องของเรื่องไม่มีอะไรมากเพียงแต่ว่าเลเวอร์ตันเล่นเดินหน้าลดต้นทุนไปพร้อมๆกับการทุ่มทุนขยายกิจการก็เท่านั้นเอง
|