|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2539
|
 |
เมื่อน่านฟ้าไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจการบินรายใหม่ แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะผู้ที่หวังจะดำเนินธุรกิจการบินเท่านั้นที่หันความสนใจมาทันที เหล่าผู้ผลิตเครื่องบินก็เป็นกลุ่มหนึ่งในจำนวนนั้น ที่จะต้องมุ่งความสนใจมายังประเทศไทยมากขึ้น
การจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเครื่องบินปีกแข็ง “SAAB 2000 JETPROP” เมื่อไม่นานมานี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเช่นนี้ในเมืองไทย
ตลอดเวลาที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องบินให้กับสายการบินที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้นจะดำเนินในลักษณะของการจัดจำหน่ายไปยังผู้ซื้อโดยตรง ใช้สายสัมพันธ์อันแนบแน่นของนายหน้ากับลูกค้า
การมาของ “ซาบ แอร์คราฟท์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ก็ใช้ยุทธวิธีเหมือนผู้ผลิตและผู้ค้าเครื่องบินหลายๆรายที่ผ่านมาจะมีความต่างก็ตรงที่ว่าใช้หลักการประชาสัมพันธ์ผนวกเข้าไปด้วย
ประเด็นสำคัญเป็นเพราะซาบไม่ได้มองที่สายการบินซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันเพียงเท่านั้น ยังมองไปถึงสายการบินที่จะเกิดขึ้นอีกอย่างน้อย 1 สายการบินในอนาคตอันใกล้
“ผมมาเมืองไทยถึง 53 ครั้งเห็นเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโต พัฒนาไปมากและเป็นประเทศหนึ่งที่นักลงทุนจากสวีเดนเข้ามาลงทุนไว้มาก ผมมองว่าอนาคตประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเอเชียได้ จึงเข้ามาเสนอสินค้าที่มีคุณภาพดีเยี่ยมครั้งนี้แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่ซาบตัดสินใจเข้ามาเสนอสินค้าในครั้งนี้ก็เนื่องด้วยประเทศไทยได้เปิดเสรีเกี่ยวกับธุรกิจการบิน” คำกล่าวของ มาร์ติน เจ เครกส์ประธานบริหาร ซาบ แอร์คราฟท์ อินเตอร์เนชั่นแนล
ซาบ แอร์คราฟท์นับเป็นบริษัทสร้างเครื่องบินที่เก่าแก่พอสมควร มีอายุประมาณ 60 ปีและสร้างเครื่องบินป้อนหลายๆประเทศทั่วโลกมาราว 4,000 เครื่อง การมาครั้งนี้ประธาน มาร์ตินมั่นใจว่าจะสามารถทำตลาดในไทยรวมถึงอินโดจีนได้ในระดับที่น่าพอใจแม้จะเป็นครั้งแรกก็ตามด้วยเครื่องบินปีกแข็ง ซาบ 2000 รุ่นล่าสุดที่เพิ่งเริ่มบริการในยุโรปเมื่อปีที่แล้ว
ปัจจุบัน ซาบ แอร์คราฟท์ จำหน่ายเครื่องบินให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไปแล้ว 50 ลำและจนถึงปี ค.ศ. 2002 จำนวนเครื่องบินของซาบในภูมิภาคนี้จะเพิ่มเป็น 100 ลำ
ประเทศหลักๆในเอเชีย-แปซิฟิก ที่เป็นลูกค้าของซาบได้แก่ญี่ปุ่น ไต้หวัน,จีน,มาเลเซีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
สำหรับประเทศไทยซาบตั้งเป้าหมายว่า จะสามารถจำหน่ายได้ 8-10 ลำภายในปี ค.ศ. 2002 โดยวางกลุ่มลูกค้าทั้งภาครัฐเช่นกองทัพอากาศและเอกชนทั้งที่ดำเนินธุรกิจการบินและทั่วไปส่วนการบินไทย สายการบินหลักนั้น มาร์ตินกล่าวว่าได้ทำการติดต่อไปแล้ว ร่วมถึงมีการเปิดทดลองบินเรียบร้อยแล้ว แต่เรื่องยังอยู่ระหว่างเจรจาตกลงในรายละเอียดการซื้อขาย
“อยากเห็น ซาบ 2000 ในเมืองไทยก่อนปี ค.ศ. 2000” มาร์ตินกล่าว
นอกจากลูกค้าที่มีตัวตนอยู่แล้ว มาร์ตินยังหวังว่า ผลจากการเปิดเสรีการบิน น่าจะทำให้ประเทศไทยมีสายการบินเพิ่มขึ้นอีกมากเหมือนในหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นเช่นนั้นเมื่อเปิดเสรีการบินและนั่นจะเป็นลูกค้าในอนาคตของซาบ แอร์คราฟท์ ต่อไป
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดไทยได้มีการเปิดเสรีทางการบินแล้ว และน่าจะมีโอกาสที่เอกชนจะเข้ามาพัฒนาธุรกิจการบินให้มากขึ้น เฉกเช่นประเทศไต้หวันที่เมื่อ 8 ปีก่อนเพิ่งได้รับการเปิดเสรีทางการบินจากรัฐ ทำให้ไต้หวันที่เดิมมีสายการบินเพียง 2 สายได้เพิ่มเป็น 8 สายซึ่งในอนาคตไทยก็มีโอกาสเป็นเช่นนั้น” มาร์ตินกล่าวยกตัวอย่าง
ทุกวันนี้ ถ้ากลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในประเทศไทยและอินโดจีน ต้องการจะติดต่อกับซาบ แอร์คราฟท์จะต้องติดต่อผ่านไปยังสำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์ แต่สำหรับอนาคตอันใกล้นี้ การติดต่อจะสามารถกระทำได้ทันทีกับสำนักงานในประเทศไทย
“ในอนาคตจะมีการตั้งสำนักงานขึ้นในประเทศไทยรวมทั้งศูนย์บริการและอะไหล่ เพื่องานบริการทุกด้านสำหรับลูกค้าของซาล แอร์คราฟท์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอให้ซาบ แอร์คราฟท์มีลูกค้าเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเสียก่อน” มาร์ตินกล่าว
มองถึงสเปกของตัวสินค้า ที่ซาบนำมาเสนอขายครั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับราคาจำหน่ายอาจกล่าวได้ว่าต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนทีเดียวก่อนตัดสินใจซื้อ
ซาบ 2000 รุ่นล่าสุดนี้ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือประมาณ 375 ล้านบาทต่อลำซึ่งถือว่าเป็นราคาสูงมากสำหรับเครื่องบิน 50-60 ที่นั่งเช่นนี้
“ราคาจำหน่ายสูงกว่าเครื่องบินในรุ่นระดับเดียวกันของยี่ห้ออื่นๆประมาณ 30-50 ล้านบาท แต่ถ้ามองถึงรายละเอียดของสมรรถนะและการลดต้นทุนในการใช้งานระยะยาวแล้ว ยืนยันได้ว่า ซาบ 2000 จะคุ้มค่ากว่า” มาร์ตินกล่าวให้ความมั่นใจ
ตัวอย่างแห่งความคุ้มค่านั้น มาร์ตินกล่าวว่า ซาบ 2000 เป็นเครื่องบินขนาด 50-60 ที่นั่งที่สามารถบินได้ระยะทางไกลพอสมควร สามารถบินระหว่างประเทศใกล้ๆได้ ซึ่งเหมาะสำหรับเส้นทางบินที่จำนวนผู้โดยสารไม่มากนัก ซึ่งเครื่องบินขนาดใหญ่จะไม่คุ้มค่าเพราะต้องรอจำนวนผู้โดยสารให้ครบหรือบางเที่ยวบินจำนวนผู้โดยสารไม่เต็ม ซึ่งเป็นข้อจำกัดหรือถ้าเป็นเครื่องบินขนาดนี้ยี่ห้ออื่นๆก็ไม่สามารถบินได้ระยะทางไกลเช่นนี้
หรืออย่างการขึ้นลงในสนามบินบางแห่งที่ยังไม่พัฒนาพอ เช่นมีขนาดรันเวย์ไม่กว้างนักและสั้นเกินไป เครื่องบินขนาดใหญ่หรือรุ่นที่ต้องใช้ระยะทางขึ้นลงยาวก็จะไม่สามารถลงจอดในสนามบินเช่นนั้นได้ แต่สำหรับ ซาบ 2000 ไม่ใช่ปัญหาเพราะใช้ระยะทางในการขึ้นลงเพียง 1,200 เมตรเท่านั้นซึ่งจะเหมาะกับประเทศในภูมิภาคนี้มาก เช่น อินโดนีเซียหรือพม่า
มาร์ตินยังกล่าวถึงงานบริการด้วยว่า ทีมงานของซาบจะเน้นในส่วนนี้ด้วยเนื่องจากเป็นเครื่องบินที่มีราคาจำหน่ายสูงกว่าคู่แข่งดังนั้นงานบริการจึงต้องมีคุณภาพมากตามไปด้วย ซึ่งลูกค้าจะได้ประโยชน์มากที่สุด
เป้าหมายของการบุกตลาดไทยเป็นครั้งแรกนี้ ทางซาบ แอร์คราฟท์ พกความมั่นใจมามาก แต่ถ้ามองถึงกลุ่มเป้าหมายแล้วนับว่ายากยิ่งพอสมควรที่จะพบความสำเร็จ
การบินไทยซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นลูกค้าหลักในขณะนี้แม้ในแผน 5 ปีที่จะทำการเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินที่มีอยู่และปี 2539 นี้จะต้องสั่งซื้อเครื่องบินใหม่จำนวนหนึ่ง แต่ก็คาดได้ว่าเครื่องบินที่อยู่ในสเปกของการบินไทยยังไม่ใช่เครื่องบินขนาด 50-60 ที่นั่งเป็นหลัก
ส่วนกลุ่มเป้าหมายอื่นๆเช่น บางกอกแอร์เวย์ ก็ยังเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ความพยายามอีกมากเพราะวี่แววในการเปลี่ยนถ่ายเครื่องบินยังไม่มีให้เห็น จะมีก็เพียงกองทัพอากาศที่กำลังทดสอบ ซาบ 2000 อยู่ในขณะนี้แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกมากในการสั่งซื้อและความไม่แน่นอนก็มีมากด้วยเช่นกัน
สำหรับอนาคตแห่งการเปิดเสรีการบินที่ว่าจะต้องเพิ่มสายการบินอีกอย่างน้อย 1 สายการบินนั้น แม้ว่าขณะนี้จะผ่านหลักการจากหน่วยงานที่มีอำนาจอนุมัติแล้วก็ตาม แต่รายละเอียดเกี่ยวกับการขออนุมัติจัดตั้ง จำนวนสายการบิน รูปแบบการให้สัมปทานเส้นทางการบินยังไม่เป็นที่ลงตัว
แม้จะคาดการณ์กันว่าภายในปี 2539 จะเป็นรูปธรรมมากขึ้นและในปี 2540 สายการบินแห่งใหม่คงได้เกิด แต่นั่นก็เป็นเพียงคาดการณ์ซึ่งบทสรุปในรายละเอียดจะออกมาอย่างไรและเมื่อไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
วันนี้ของซาบ แอร์คราฟท์จึงเป็นเหมือนการหยั่งเชิง ชิงออกตัวก่อนและประกาศให้สาธารณชนทราบเท่านั้นว่า ซาบมาแล้ว
เพราะการเข้ามาบุกเบิกตลาดในไทยครั้งแรกพร้อมแผนงานสวยหรูที่หวังจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ของซาบ แอร์คราฟท์ อินเตอร์เนชั่นแนลอาจริบหรี่ลงทันทีก็ได้
ถ้ามาร์ติน เจ เครกส์จะได้พบแต่เพียงความลมๆแล้งๆของนโยบายภาครัฐของไทย
|
|
 |
|
|