|

new releases
Manager 360 aStore
|
|
|

 |
 |
Edison on Innovation
ผู้เขียน: Alan Axelrod
ผู้จัดพิมพ์: Jossey-Bass Inc Pub
จำนวนหน้า: 178
ราคา: $24.95
buy this book
|
 |
|
 |
ด้วยการเป็นเจ้าของสิทธิบัตรมากกว่า 1,093 ฉบับ ทำให้ Thomas Alva Edison คือนักประดิษฐ์และนักนวัตกรรมต้นแบบ เปรียบเหมือนเทพเจ้า Prometheus สมัยใหม่ ผู้ใช้สติปัญญาขโมยไฟมาจากเทพเจ้าและนำมาให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องราวในเทพปกรณัมกรีก "ไฟ" ที่ Edison นำมามอบให้แก่มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ ยังมีมากมายนับไม่ถ้วน นับตั้งแต่ไฟฟ้า หลอดไฟ เครื่องเล่นจานเสียง ภาพยนตร์ การปรับปรุงคุณภาพโทรศัพท์และโทรเลข การริเริ่มเพาะปลูกยางในสหรัฐฯ ซีเมนต์เทียมไปจนถึงกระดาษไข
นอกจากจะเป็นนักประดิษฐ์แล้ว Edison ยังเป็นนักธุรกิจด้วย งานของเขามักเน้นที่การสร้างรายได้และมองหาตลาดที่ยังไม่ได้รับสนองความต้องการเพียงพอ Edison จงใจที่จะไม่แยกแยะระหว่างความคิดสร้างสรรค์เล็กๆ น้อยๆ กับสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ และทำเหมือนทุกอย่างที่เขาได้ลงมือทำนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการคิดค้นที่ยอดเยี่ยม เขายังไม่ค่อยจะแบ่งปันความดีความชอบกับพนักงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นนักทดลอง นักวิทยาศาสตร์ หรือใครก็ตาม
แต่สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญคือ เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากอัจฉริยะในการสร้างสรรค์ของ Edison มาจุดประกายให้ตัวเราเอง เกิดความคิดหรือการกระทำที่สร้างสรรค์ได้อย่างมีจุดหมายและได้ผลตลอดไปได้บ้างหรือไม่
เลียนแบบ Edison
Alan Axelrod ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ยืนยันว่า เราทำได้แน่ และนำกระบวนการสร้างสรรค์ของ Edison มาแตกออกเป็นบทเรียน 102 บท ผู้แต่งชี้ว่า ความจริงก็คือ คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ห่างไกลหรือไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความสามารถในการสร้างสรรค์ แบบเดียวกับที่เราคิดว่าเราห่างไกลจากความเป็นอัจฉริยะ แต่ตัวอย่างจาก Edison แสดงให้เห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์แม้แต่ในระดับสูงที่สุด เป็นสิ่งที่สามารถจะทำให้เกิดขึ้น จะเรียกมาใช้เมื่อใดก็ได้ แม้แต่จะนำมาสรุปเป็นวิธีการทำงานหรือหลักการก็ยังได้
ผู้แต่งชี้ว่า หากเราเข้าใจคุณสมบัติหรือศักยภาพที่อยู่ภายในของวัสดุใดก็ตามอย่างถ่องแท้ ซึ่งรวมไปถึงการเข้าใจแนวคิด คนหรือวัตถุกายภาพใดๆ ก็ตาม คุณกำลังเพิ่มโอกาสที่จะค้นพบวิธีใหม่ๆ ในการใช้สิ่งที่คุณเป็นเจ้าของอยู่แล้วหรือเข้าถึงได้อยู่แล้ว
ความล้มเหลวที่สำเร็จ
Edison เองก็เรียนรู้จากความผิดพลาดไม่ต่างจากพวกเราเช่นกัน ครั้งหนึ่งเขาเคยเสนอขายเครื่องไฟฟ้าสำหรับการลงมติออกเสียงในสภา แม้ว่าเครื่องของเขาจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม แต่ผลิตภัณฑ์นี้กลับขายไม่ออก เพราะเขาไม่ได้ทำการบ้านเกี่ยวกับกระบวนการทำงานในสภา ซึ่งไม่ได้ต้องการความรวดเร็วหรือประสิทธิภาพในการออกเสียงลงมติ หากแต่วิธีการออกเสียงด้วยการขานชื่อสมาชิกสภาทีละคน คือการทำให้สมาชิกสภามีเวลามากขึ้นในการระดมเสียงสนับสนุนร่างกฎหมายหรือมติใดก็ตามที่สภากำลังพิจารณา
Edison จึงได้บทเรียนว่า จะต้องค้นให้พบตลาดและความต้องการเสียก่อน ก่อนที่จะคิดประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ใดๆ และสำหรับ Edison แล้ว บทเรียนที่ได้รับนั้นเพียงพอที่จะเปลี่ยนความล้มเหลวเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ให้กลายเป็นความสำเร็จตลอดชีวิต
Aselrod ยกย่องการไม่ยอมลดละความพยายามของ Edison ในการคิดค้นไส้เส้นลวดสำหรับใช้ในหลอดไฟ สำหรับ Edison แล้ว การทดลองใดๆ ก็ตามที่ทำให้ได้รู้อะไรมากขึ้นแม้แต่เพียงน้อยนิด ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว แม้ว่าสุดท้ายจะไม่ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างที่วาดหวังไว้ก็ตาม ปรัชญาความล้มเหลวของ Edison คือ มีแต่ความล้มเหลวที่เป็นผลมาจากการทำงานอย่างระมัดระวัง คือการคิดและทำอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้แล้ว เท่านั้น ที่จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์สาเหตุของความล้มเหลวนั้นได้อย่างสมเหตุสมผล ดังนั้น จึงได้เรียนรู้สิ่งที่มีค่า
|
 |
|
|