Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Game-Changer
ผู้เขียน: Ram Charan, A.G. Lafley
ผู้จัดพิมพ์: Crown Business
จำนวนหน้า: 336

buy this book

คำว่า นวัตกรรม แตกต่างจากคำว่า ความคิดสร้างสรรค์อย่างไร? และอย่างไหนสำคัญกว่ากัน? เป็นปริศนาที่ยังถกเถียงกันได้เรื่อยๆ หนังสือเล่มนี้ ก็คือหนึ่งในความพยายามที่จะให้คำนิยามจากมุมมองของตนเอง ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ โดยเฉพาะที่เป็นนิยามว่าด้วยการจัดการธุรกิจ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเป็นนามธรรมและมีความคลุมเครือในตัวเองมากทีเดียว

เรื่องนี้กระทั่ง ไมเคิล พอร์เตอร์ นักคิดทางด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ชื่อดังชาวอเมริกันก็เคยกล่าวว่า แนวคิดทางด้านการจัดการในโลกนี้ เกือบทั้งหมดเต็มไปด้วยความคลุมเครือ มีน้อยมากที่จะชัดเจน เหตุผลก็คือว่า ยิ่งชัดเจนมากเท่าใด โอกาสที่จะนำไปใช้แล้วล้มเหลวจะเกิดขึ้นเสมอ การจัดการเป็นศิลปะ แม้ว่าจะมีคนพยายามทำให้เป็นศาสตร์ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ เพราะมนุษย์นั้นไม่ได้มีพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยความสมเหตุสมผลเสมอไป ที่ไม่มีเหตุผลก็เกินครึ่ง และหลายกรณีเป็นการลองผิดลองถูกเสียด้วยซ้ำ ไม่ได้มีสูตรตายตัวอะไร พอประสบความสำเร็จก็มาตั้งสูตรกันทีหลัง

เนื่องจากผู้เขียนคนแรก เคยเป็นผู้บริหารของยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าบริโภคอย่าง P&G เจ้าของคำขวัญ "คิดให้ใหญ่ และไปให้ถึง" มาก่อน เลยเอาประสบการณ์ส่วนตัวบางเสี้ยวมาอธิบายถึงความสำเร็จจากการใช้สูตรในการนำเอานวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างยอดขายและกำไรในธุรกิจ

ความหมายของคำว่านวัตกรรมในหนังสือเล่มนี้จึงค่อนข้างแคบกว่าปกติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใด หนังสือเล่มนี้เขียนถึงวิธีคิดและจัดการเกี่ยวกับนวัตกรรมของบริษัทขนาดใหญ่ ไม่เพียงแต่ P&G อย่างเดียว หากแต่ในมุมของผู้ผลิตสินค้าบริโภคขนาดใหญ่ แน่นอน ยักษ์ใหญ่สินค้าบริโภคอย่าง P&G ของอเมริกาที่มียอดขายและกำไรเติบโตปีละเฉลี่ย 12% ในหลายปี ย่อมมีเรื่องราวชวนให้รู้อย่างมากเสมอว่า พวกเขาคิดอะไร และทำอะไร จึงสามารถรักษาความยิ่งใหญ่ในตลาดไม่เพียงในอเมริกาอย่างเดียว แต่แพร่ขยายไปทั่วโลกอย่างมีจังหวะก้าว ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และต่อต้านก็ตามที

คำถามที่มักจะเกิดขึ้นเสมอสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ทุกที่ที่คนอยากรู้มากที่สุดอยู่ที่พวกเขาสามารถฝ่าฟันการเมืองในองค์กรและคว้าจับเอานวัตกรรมในการผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่องได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากความซับซ้อนขององค์กรขนาดใหญ่นั้น ทำให้โอกาสที่นวัตกรรมจะถูกทำลายเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าได้รับการส่งเสริมเสมอ

อันที่จริงจุดเน้นหลักทางด้านนวัตกรรมที่ผู้เขียนย้ำแล้วย้ำอีกในหนังสือเล่มนี้ มิใช่เรื่องใหม่ เพราะคำว่า ความพึงพอใจของผู้บริโภค หรือ CS นั้น ได้รับการกล่าวขวัญถึงไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว แถมที่ญี่ปุ่นยังถือเป็นแกนหลักของธุรกิจในนามของ ไคเซน เพียงแต่รายละเอียดที่เป็นรูปธรรมซึ่งนำเสนอในสาระ ก็ถือว่ายังคงอ่านได้

โดยเฉพาะในบทที่ 1 ที่มีการวางโครงสร้างของการสร้างนวัตกรรมออกมาเป็นแบบแผนรูปธรรมที่สามารถเห็นได้ชัดเจนอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับเป้าหมาย 5 ประการหลัก และแรงขับแห่งนวัตกรรม 8 อย่างในขณะที่บทต่อๆ มาล้วนเป็นส่วนขยายรายละเอียดของบทแรกนี้

ในบทที่ 4 ผู้เขียนซ่อนเอารูปแบบของนวัตกรรมที่เหมาะสม 3 ประการตามทัศนะของ P&G ได้แก่ 1) เน้นความแข็งแกร่งหลักของสินค้าบริษัท 2) กระจายสินค้าที่ให้กำไรสูงเข้าไปในตลาดก่อนคู่แข่ง 3) เอาชนะในตลาดผู้มีรายได้น้อยก่อน เพื่อจะทำให้ผู้อ่านเข้าถึงความหมายของคำว่า นวัตกรรมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น นั่นคือ จะต้องไม่เลื่อนลอยอยู่กับความคิดส่วนตัว หากจะต้องแปลงความคิดให้เป็นรูปธรรมคือ ทำให้ยอดขายเพิ่ม และกำไรเพิ่ม

กรอบชุดความคิดดังกล่าว เหมาะสำหรับอธิบายในมุมมองธุรกิจได้ชัดเจนอย่างตรงเป้า เพราะจะมีอะไรเล่าที่ดีไปกว่าการเพิ่มยอดขายและกำไรสำหรับองค์กรธุรกิจ

จะว่าไปแล้วหนังสือเล่มนี้ดูไม่มีอะไรแปลกใหม่มากนัก เมื่อเทียบกับหนังสือที่ผลิตขึ้นมาโดยคอนเซ็ปต์ธุรกิจแบบญี่ปุ่น เพียงแต่การเน้นของญี่ปุ่นนั้นดูจะเป็นรูปธรรมมากกว่าเสียอีก เพราะแทนที่จะมองภาพรวมของแนวคิด กลับไปให้ความใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อการปรับปรุงทุกขั้นตอนอย่างมีรายละเอียดที่ไม่ควรพลาด

อ่านหนังสือเล่มนี้จบ ต้องขอชมว่าคนตั้งชื่อหนังสือฉลาดลึกล้ำจริงๆ ที่สามารถหลอกให้คนเข้ามาอ่านเรื่องที่ไม่ได้มีอะไรใหม่มากนักได้สำเร็จ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า จะให้ได้สาระครบถ้วน ต้องไปอ่านเทียบกับหนังสือประเภทไคเซนของญี่ปุ่นควบคู่ไปด้วย จะหาข้อเปรียบเทียบเพื่อประยุกต์ใช้ได้สะดวกมากขึ้น

รายละเอียดในหนังสือ

Our Goal เป้าหมายของการเขียนหนังสือเล่มนี้ คือการจะสร้างวิธีการเอาชนะคู่แข่งขันทางธุรกิจในการสร้างสินค้าและบริการที่ต่างออกไปจากกลยุทธ์เดิมๆ ด้วยกระบวนการจัดการ เนื่องจากความเร็วของการแข่งขันมากขึ้นทำให้ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อเนื่อง

Chapter 1. How and Why Innovation at Procter & Gamble Changed Its Game นวัตกรรมคือแกนฐานของการจัดการธุรกิจนับแต่การเลือกเป้าหมาย กลยุทธ์ โครงสร้างองค์กร การจัดสรรทรัพยากร การทำงบประมาณ และ การพัฒนาความเป็นผู้นำ โดยมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย 5 ประการหลัก เพื่อสร้างตัวขับแห่งนวัตกรรม 8 อย่างขึ้นมา

Chapter 2. What P&G Innovation Transformation Means for You การสร้างนวัตกรรมอย่างบูรณาการให้ต่อเนื่องในระยะยาวเป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนในเบื้องแรกว่า นวัตกรรมคือการใช้แนวคิดใหม่สร้างยอดขายและผลกำไร ไม่ใช่การประดิษฐ์อะไรที่ใหม่เฉยๆ โดยไม่มีผู้บริโภคเป็นองค์ประกอบสำคัญ การทำให้นวัตกรรมกลายเป็นกิจกรรมหรือวัฒนธรรมปกติของสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักตลอดเวลา

P a r t One: Drawing the Big Picture นับแต่ ค.ศ.2000 เป็นต้นมา โครงการนวัตกรรมของ P&G ถูกสร้างขึ้นมามิใช่เพื่อเอาชนะในการแข่งขัน มิใช่เพราะต้องการทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้น และมิใช่เพราะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด แต่เป็นเพราะต้องการปรับเน้นให้ลูกค้าเป็นแกนกลางของการบริหารจัดการองค์กรอย่างบูรณาการ เพื่อสร้างจุดแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในระยะยาว

Chapter 3. The Customer is Boss ฐานรากของนวัตกรรมเริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจลูกค้าทั้งด้านที่มีเหตุผลและอารมณ์พร้อมกัน เพื่อหาแรงกระตุ้นในการบริโภคเฉพาะส่วนอย่างละเอียดรอบคอบและมองเหรียญทุกด้าน เพื่อเข้าถึงความต้องการที่ยังแหว่งวิ่นของผู้บริโภค สามารถช่วยให้มองเห็นช่องทางเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ได้ จนกระทั่งสามารถกำหนดเงื่อนไขในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าตลาดได้ตามระดับที่ต้องการ โดยเน้นไปที่การให้ผู้บริโภคเป็นผู้สร้างตลาด ไม่ใช่ผู้เลือกสินค้า

Chapter 4. Where to Play How to Win วิธีการให้เป้าหมายและกลยุทธ์ของนวัตกรรมประสบผลสำเร็จ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างเป้าหมายที่ยั่งยืน 3 ประการ จากนั้นก็เลือกสถานที่สำหรับการใช้นวัตกรรมที่เหมาะสม 3 ประการ ได้แก่ เน้นความแข็งแกร่งหลักของสินค้าบริษัท กระจายสินค้าที่ให้กำไรสูงเข้าไปในตลาดก่อนคู่แข่ง และเอาชนะในตลาดผู้มีรายได้น้อยก่อน

Chapter 5. Leveraging What You Do Best การฟื้นฟูความเข้มแข็งให้องค์กรโดยนวัตกรรมของ P&G ดำเนินไปโดยผ่าน 5 กระบวนการคือ ทำความเข้าใจลึกซึ้งในผู้บริโภค สร้างแบรนด์สินค้าที่คงทนยาวนาน เพิ่มมูลค่าสินค้าโดยร่วมกับผู้บริโภคและซัปพลายเออร์ เรียนรู้โลกและขนาดของตลาดใหม่ ทำให้นวัตกรรมอยู่ในสายเลือดของพนักงานตลอดเวลา

P a r t Two: Making Innovation Happen การสร้างนวัตกรรมไม่เพียงพอ แต่ต้องทำให้สามารถแปลงเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ ซึ่งเป็นกุญแจความสำเร็จได้

Chapter 6. Organizing for Innovation การสร้างโครงสร้างที่พร้อมจะทำงานสร้างนวัตกรรม โดยผ่านเกณฑ์วัด 6 ประการ เพื่อตั้งและตอบโจทย์สำคัญของนวัตกรรม จากนั้นก็นำไปเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์

Chapter 7. Integrating Innovation into Your Routine การแปรความคิดสู่ตลาดสินค้าจริงด้วยกระบวนการบูรณาการโดยผ่านกรอบงาน 5 ส่วน ได้แก่ทำให้ความคิดไหลลื่น การเลือกความคิดที่เหมาะสม การหล่อหลอมให้เป็นผลิตภัณฑ์ การนำไปสู่ตลาด และเลือกความคิดที่โดดเด่นสุดมาใช้ จากนั้นก็ทบทวนหลายครั้งเพื่อให้เกิดความมั่นใจในนวัตกรรมให้มากที่สุด

Chapter 8. Managing the Risks of Innovation การบริหารความเสี่ยงของนวัตกรรม เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีความเสี่ยงควบคู่ไปด้วยเสมอในการสร้างผลิตภัณฑ์ แต่การลดความเสี่ยงด้วยสูตร 8 ประการ (รู้จักผู้บริโภค สร้างต้นแบบสินค้า ทดสอบรสนิยมผู้บริโภค สร้างพอร์ตโฟลิโอสินค้าหลากหลาย ทดลองอย่างเปิดเผย ระบุจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่ทดลอง เรียนรู้ความผิดพลาด และใช้มาตรวัดที่ดีเพื่อตัดสินนวัตกรรม) จะช่วยได้มากขึ้น

P a r t Three: The Culture of Innovation การจัดองค์กรหรืออื่นๆ เพื่อรับนวัตกรรมยังไม่เพียงพอ หากต้องการวัฒนธรรมเพื่อนวัตกรรมประกอบ จึงจะสามารถสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นขึ้นมาได้

Chapter 9. Innovation is a Team Sport วัฒนธรรมที่กล้าหาญและเชื่อมต่อกันได้ทั่ว เป็นสิ่งที่จำเป็นเสมือนหนึ่งการสร้างโรงละครแห่งนวัตกรรมเพื่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลายก่อนการตัดสินใจ กระบวนการสร้างลำดับชั้นของทีมงานเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่มีการจัดการจะให้เกิดความลื่นไหลของความคิดใหม่ที่เป็นเอกภาพกัน โดยผ่านกระบวนการระดมสมอง 10 ขั้นตอน

Chapter 10. The New Job of the Leader ผู้นำมีบทบาทสำคัญในการทำให้วัฒนธรรมต่อเนื่องและสร้างการเติบโตให้กับองค์กร โดยผ่านกระบวนการ 3 ขั้น ที่สำคัญคือ การสร้างโมเดลต้นแบบในพฤติกรรมสร้างนวัตกรรม การกำหนเดบทบาทที่สร้างมูลค่าเพิ่ม และการลับทักษะพนักงานให้คมกริบอยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝึกขึ้นมาได้ มิใช่พรสวรรค์แต่อย่างใด

Conclusion: How Jeff Immelt Made Innovation a Way of Life at GE 283 กรณีศึกษาของเจฟฟ์ อิมเมลท์แห่งกลุ่ม GE ในการสร้างทีมนวัตกรรมขึ้นมาจนโด่งดังด้วยสูตร 12 ข้อ ซึ่งเกิดจากการทดลองปฏิบัติที่เป็นจริงกว่าจะมาเป็นสูตรดังกล่าวที่สามารถนำไปดัดแปลงใช้ได้ตามสภาพ



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us