Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Last Tycoons
ผู้เขียน: William D. Cohan
ผู้จัดพิมพ์: Broadway Books
จำนวนหน้า: 742
ราคา: ฿530
buy this book

การทำลายเชิงสร้างสรรค์ หรือ creative de-struction เป็นศัพท์ที่วิศวกรสังคม หรือนักคิดผู้อยากเปลี่ยนโลกยังนำมาวิวาทะกันอยู่ไม่รู้จบ ทั้งที่เวลาผ่านมานานกว่า 1 ศตวรรษแล้ว

นิยามเบื้องต้นของนักคิดรัสเซียอย่าง มิคาอิล บากูนิน ผสมกับเฟรดริก นิทเช่ ซึ่งนำมาขยายความต่อโดยโจเซฟ ชุมปีเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์อังกฤษที่ว่า ในกระบวนการสร้างสรรค์สังคมใหม่ๆ นั้น หากต้องการความรวดเร็วมากเท่าใด ต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงจะผกผันตรงกับเจตนารมณ์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้เกิดการเติบโตที่เพิ่มพูนขึ้นของเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังเป็นการทำลายอำนาจผูกขาดของทุนเก่าลงอย่างไม่มีทางเลี่ยงได้

หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้ชี้ชัดโดยตรงถึงข้อเสนอเชิงปรัชญาดังกล่าว แต่ข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการเงินของวอลล์สตรีทที่เปลี่ยนจากบริษัทหลักทรัพย์เอกชน มาเป็นบริษัทมหาชน จนกระทั่งมีผลให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นทายาทผู้ก่อตั้ง ต้องสูญเสียอำนาจการควบคุมอย่างสิ้นเชิงให้กับผู้บริหารที่ตนจ้างมาทำงานให้อย่างไม่คาดฝันหลังจากการต่อสู้หลายรูปแบบก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวอย่างชัดเจน

ผู้เขียนเป็นอดีตนักหนังสือพิมพ์ และอดีตที่ปรึกษาทางการเงิน ได้ขุดคุ้ยรายละเอียดวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องเปลี่ยนตัวเองจากบริษัทลึกลับต่อคนภายนอกมาสู่วัฒนธรรมใหม่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอย่างที่ไม่สามารถฝืนชะตากรรมได้

นัยของรายละเอียดบอกให้ผู้อ่านรู้อย่างไม่ยากเย็นนักว่า ความพยายามที่จะย้อนเวลา หรือประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่อาจจะทำได้ แต่มีต้นทุนสูงจนเกินคุ้ม ดังนั้น การปรับตัวไปตามวิวัฒนาการจึงเป็นทางออกที่เหมาะสม แม้ว่าจะทำให้ต้องสูญเสียอดีตอันงดงามไปไม่ใช่น้อย

ความยิ่งใหญ่ของบริษัท ลาซาร์ เฟรเร่ส์ ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่เชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ธุรกิจอเมริกันอย่างแยกไม่ออก จากเงินลงทุนเล็กน้อยในธุรกิจค้าของแห้งที่นิวออร์ลีน มาสู่การนำเข้าสินค้าสำหรับนักขุดทองในซานฟรานซิสโก และเข้าสู่วงการค้าทองคำ จนกลายมาเป็นที่ปรึกษาการเงินที่แข็งแกร่งในนิวยอร์ก

ความช่ำชองในการให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยอาศัยความสัมพันธ์กับเศรษฐีและชนชั้นสูงในวงสังคมอเมริกันยาวนาน ทำให้บริษัทแห่งนี้ดำรงฐานะพิเศษที่ยั่งยืนมาได้ยาวนาน จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อกิจการขยายใหญ่ขึ้น ความแตกต่างของการบริหารแบบเดิมๆ ก็เริ่มถูกตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการตัดสินใจแบบอำนาจนิยม การรังเกียจสตรีเพศในที่ทำงาน หรือการไม่ยอมเข้าร่วมการจัดหาแหล่งการเงินให้กับดีลควบรวมกิจการขนาดใหญ่

เมื่อความขัดแย้งระหว่างความเป็นจริงในโลกธุรกิจร่วมสมัย กับอหังการของอดีตปะทะกัน การเปลี่ยนแปลงจึงเลี่ยงไม่พ้น โดยผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกหลายขั้นตอน ก่อนที่จะมาจบสิ้นลงเมื่อเข้าตาจนต้องยอมรับทางเลือก 2 ทางคือ ขายบริษัททิ้งให้รายอื่น หรือไม่ก็เข้าเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนเพื่อทลายวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่าทิ้งไป

ข้อมูลของหนังสือเล่มนี้บอกเรื่องราวและพลวัตของ บริษัทเก่าแก่ที่ต้องปรับตัวได้ชัดเจน แม้ว่ารายละเอียดของการทำดีลควบรวมกิจการที่สำคัญๆ จะถูกผ่านเลยไป ทั้งที่หากเพิ่มเข้ามา จะทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า กฎของที่ปรึกษาทางการเงินเก่าแก่ที่ว่า "ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือถ้าผิดก็ไม่สามารถเอาผิดได้" มีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด

สองบทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้น่าสนใจอย่างมากเพราะให้ภาพของสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือกของการสูญเสียของผู้ถือหุ้นเก่าแก่ที่คุ้นเคยกับการทำธุรกิจแบบเดิมมาสู่สถานการณ์ที่ต้องทำใจอย่างรุนแรงในฐานะเหยื่อของสถานการณ์

อุบายของวาสเซอร์สไตน์ที่หาเสียงกับพนักงาน ด้วยการกระจายหุ้นให้ค่อนข้างมาก ทำให้ความพยายามของผู้ถือหุ้นเดิมที่จะใช้สิทธิพิเศษของสิทธิของผู้ก่อตั้ง หรือ dual-class shares ถูกล้มล้างในการประชุมอย่างสิ้นเชิง เป็นบทเรียนสำคัญที่บรรดาเจ้าของกิจการที่อยากแปลงเป็นมหาชนต้องอ่านเป็นบทเรียนสำคัญ

ความละโมบเก่าถูกแทนที่ด้วยความละโมบใหม่เสมอ นี่คือกติกาสากลของทุนนิยม ส่วนใครจะเรียกมันว่าสามานย์หรือไม่ สุดแท้แต่

คุ้มค่ากับราคาหนังสือทีเดียว เว้นแต่จะต้องการอ่านเพื่อหาความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการควบรวมกิจการ ต้องไปหาจากที่อื่น ไม่ใช่เล่มนี้

รายละเอียดในหนังสือ

Chapter 1. Great Man ปูมหลังวัฒนธรรมของที่ปรึกษาการเงินที่มีจุดขายหลักของธุรกิจคือความรอบรู้ในธุรกรรมการเงินในฐานะตัวเชื่อมตรงกลางของการควบรวมกิจการที่ไม่ต้องใช้เงิน ซึ่งคนที่ทำให้วัฒนธรรมนี้เข้มแข็งสุดได้แก่ เฟลิกซ์ จอร์จ โรเฮทีน ซึ่งถือเป็นคนที่มีชื่อเสียงโดดเด่นอย่างมากและเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลแห่งวอลล์สตรีท

Chapter 2. Tomorrow, the Lazard House Will Go Down จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งธุรกิจที่ทำธุรกิจค้าของแห้ง โดยพี่น้องอพยพชาวยิวฝรั่งเศสแห่งตระกูลลาซาร์กับเพื่อนฝูง ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจจากนิวออร์ลีนส์ ด้วยวงเงินเพียงแค่ 9 พันดอลลาร์ ก่อนจะมาร่ำรวยจากการขายสินค้านำเข้าจากยุโรปและส่งออกทองคำที่ซานฟรานซิสโกในยุคตื่นทอง ก่อนที่จะขยายกิจการเป็นที่ปรึกษาทางลงทุนไปหลายเมืองสำคัญในสหรัฐฯ ที่เป็นศูนย์กลางการเงิน

Chapter 3. Original Sin บทเรียนจากความยุ่งยากทางการเงินของกิจการโดยเฉพาะในยุโรปก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งทำให้หุ้นส่วนในธุรกิจของบริษัทผกผันอย่างรุนแรง ถึงขั้นมีการขับไล่ผู้ถือหุ้นบางคนออกไป จนกระทั่งเป้าหมายของบริษัทถูกจำกัดลงให้แคบว่าจะมุ่งสร้างฐานให้อเมริกาเป็นที่ซึ่งเหมาะสมที่สุดในการสร้างธุรกิจที่ปรึกษาการเงิน เพื่อช่วยบริษัทต่างๆ ระดมทุนโดยใช้วอลล์สตรีทเป็นศูนย์กลาง

Chapter 4. You Are Dealing with Greed and Power อังเดร เมเยอร์ มีส่วนสร้างวัฒนธรรมที่เป็นฐานรากของบริษัทที่ปรึกษาการเงินด้วยสไตล์เฉพาะที่โดดเด่น สามารถทะลวงเข้าไปเป็นที่ปรึกษาการเงินที่มีสายสัมพันธ์กับชนชั้นสูงในอเมริกาอย่างรอบด้าน และเป็นต้นแบบให้กับผู้บริหารรุ่นต่อไปที่จะยิ่งใหญ่กว่าอย่างเฟลิกซ์

Chapter 5. Felix the Fixer กรณีศึกษาความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในดีลที่ปรึกษาการควบรวมกิจการในอเมริกาของบริษัทภายใต้การจัดการของเฟลิกซ์ ซึ่งรับงานต่อจากเมเยอร์ที่เสียชีวิต ช่วยสั่งสมชื่อเสียงของบริษัทให้เป็นที่แพร่หลายอย่างแข็งขันในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้ฐานะกิจการของบริษัทเป็นปึกแผ่นอย่างมาก โดยที่ไม่ต้องพะวงกับการระดมทุนของกิจการให้ยุ่งยาก

Chapter 6. The Savior of New York บทบาทที่สำคัญของเฟลิกซ์ในการประสานงานเชื่อมโยงให้วอลล์สตรีทผ่านพ้นวิกฤติของบริษัทหลักทรัพย์ที่เรียกว่า back-office crisis อันเนื่องจากความเฟื่องฟูของการค้าหุ้นกะทันหันในช่วง ค.ศ.1967-1970 จนกระทั่งระบบการซื้อขายเพื่อเคลียร์บัญชีด้วยกระดาษรองรับไม่ทัน เกิดปัญหาฟ้องร้องจนกระทั่งบริษัทหลักทรัพย์ล้มนับร้อยบริษัท ทำให้เฟลิกซ์และบริษัทมีชื่อเสียงอย่างกว้างขวาง

Chapter 7. The Sun King ว่าด้วยการเข้ามาเก็บหุ้นจากผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ ของลูกชายหุ้นส่วนและผู้บริหารเก่า มิเชล เดวิด-เวลที่ต้องการสร้างบริษัทให้เติบใหญ่มากกว่าเดิม และต่อไปในอนาคตจะเป็นการท้าทายกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและผู้บริหารที่เคยสงบเงียบกันมายาวนาน

Chapter 8. Felix for President เมื่อสงครามผู้ถือหุ้นก่อเค้าขึ้นมา เฟลิกซ์จัดการรวบอำนาจมาไว้ที่ตัวเขาเองทั้งหมดเพื่อกระชับการจัดการธุรกิจให้ดำรงความแข็งแกร่งต่อไปได้ ในขณะที่มิเชลซึ่งพยายามแย่งอำนาจ เริ่มแสดงให้เห็นจุดอ่อนในการจัดการธุรกิจออกมาชัดเจนมากยิ่งขึ้น

Chapter 9. The Cancer is Greed ปัญหาถูกฟ้องร้องเนื่องจากพนักงานที่ปรึกษาการเงินทำผิดกฎของคณะกรรมการตรวจสอบของวอลล์สตรีทจากการเข้ายุ่งกับไมเคิล มิลเก้น ทำให้บริษัทต้องทบทวนการจัดการเสียใหม่ และปะทุเป็นของความขัดแย้งที่ขยายตัวมากขึ้น เพราะหุ้นส่วนและผู้บริหารต่างไม่ได้แยกแยะหน้าที่จากกันชัดเจน

Chapter 10. The Vicar ความจำเป็นรอบด้านโดยเฉพาะทางการเงิน ทำให้รูปแบบการจัดการธุรกิจที่เคยดำรงมายาวนานไม่สามารเดินหน้าต่อไปได้ การปรับโครงสร้างการจัดการจึงเป็นสิ่งที่คาดเดากันไปทั่ว แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบริษัทที่ปิดตัวลึกลับมายาวนานที่จะเปิดตัวเองสู่การตรวจสอบจากภายนอก เพื่อหาหุ้นส่วนหรือพันธมิตรธุรกิจที่จะมาช่วยสร้างความแข็งแกร่ง ความปั่นป่วนเพราะการเมืองภายในจึงเกิดขึ้นนานนับปีทีเดียว

Chapter 11. The Boy Wonder การเข้ามาของสตีฟ แรทเนอร์ จากมอร์แกน สแตนเลย์ โดยมีมิเชลชักใยเบื้องหลัง พร้อมกับไอเดียใหม่ในการปรับธุรกิจเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤติวอลล์สตรีทช่วง ค.ศ.1987 พร้อมกับความพยายามเปิดช่องให้บริษัทมีภาพลักษณ์โปร่งใสมากขึ้น ยิ่งทำให้เฟลิกซ์ถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ

Chapter 12. The Franchise การตอบโต้กลับของเฟลิกซ์ต่อการท้าทาย โดยเข้มงวดระเบียบต่างๆ ภายในบริษัท (รวมทั้งการไม่ชมเชยผลงานของพนักงาน เพราะถือว่าเป็นผลงานรวมของบริษัท) ให้เป็นไปตามจารีตที่เคยทำกันมา โดยไม่ประนีประนอม ทำให้เกิดความแปลกแยกทางวัฒนธรรมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผลลัพธ์คือการสมคบคิดกันของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่จะโค่นอำนาจเขาลงไปนำโดยมิเชล เพื่อให้เฟลิกซ์ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับงานประจำ แต่ให้คุมเฉพาะนโยบายใหญ่ๆ

Chapter 13. Felix Lose It วันแห่งความพ่ายแพ้ของเฟลิกซ์มาถึงจนได้ใน ค.ศ.1993 เมื่อเขาตัดสินใจลงจากอำนาจ เปิดทางให้แรทเนอร์ขึ้นมาทำงานแทน โดยมีมิเชลชักใยเบื้องหลัง แต่นั่นก็ยิ่งชักนำให้บริษัทถลำลึกไปสู่ปัญหามากขึ้นจากแนวทางการทำธุรกิจที่ไม่ยึดจารีตเหมือนเดิม แม้จะมีรายได้เติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้น

Chapter 14. It's a White Man's World หลายกรณีศึกษาว่าด้วยสถานภาพของพนักงานหญิงภายในบริษัทซึ่งมักจะประสบความยุ่งยากในการทำงานร่วมกับพนักงานชายอย่างมาก เนื่องจากทัศนะรังเกียจผู้หญิงที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรอย่างถอนตัวไม่ขึ้น สร้างปัญหาทำให้สูญเสียคนที่มีฝีมือไปจำนวนไม่น้อย ถึงจะมีความพยายามปรับก็ไม่เคยสำเร็จ

Chapter 15. The Heir Apparent การผ่องถ่ายอำนาจออกจากมือของเฟลิกซ์อย่างแยบยล โดยผลที่สุดทำให้เขาไปเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำปารีส เป็นเกียรติยศที่บริษัทจัดหาให้เพื่ออำลาผู้บริหารที่เคยยิ่งใหญ่มายาวนาน ด้วยความช่วยเหลือของตัวแทนสื่อที่ช่วยปล่อยข่าวลือสารพัดให้การผ่องถ่ายอำนาจเป็นจริง

Chapter 16. All the Responsibility but None of the Authority การเปลี่ยนโครงสร้างจากระบบบริหารแบบอำนาจนิยม มาสู่ระบบที่ยืดหยุ่นและมีส่วนร่วมมากขึ้นนำไปสู่การสูญเสียพนักงานจำนวนมาก รวมทั้งการถูกปรับจำนวนมากจากการกระทำผิดระเบียบตลาด เป็นโอกาสที่เปิดให้กับการนำตัวบรูซ วาลเซอร์สไตน์ เข้ามาสู่บริษัท ทั้งที่มีคนทักท้วงว่าจะมีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมองค์กรในภายหน้า

Chapter 17. He Lit Up a Humongous Cigar and Puffed It in Our Faces for Half an Hour ความวุ่นวายอันเนื่องจากสไตล์การจัดการอันไม่แน่นอนของมิเชล ทำให้บริษัทสูญเสียทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังจากฟองสบู่ดอทคอมแตกใน ค.ศ.2000 ทำให้ทางเลือกเหลือทางเดียวคือ นำเอาบรูซ วาสเวอร์สไตน์เข้ามาพร้อมทีมงาน เพื่อกอบกู้ธุรกิจในสไตล์ใหม่

Chapter 18. Lazard May Go Down Like the Titanic ปัญหาที่รุมเร้าทางการเงิน เนื่องจากวอลล์สตรีทหลังฟองสบู่ดอทคอมแตกซบเซาอย่างหนัก ทำให้แนวคิดเกี่ยวกับการขายกิจการทิ้งผุดขึ้นมา ปัญหาอยู่ที่วิธีการเท่านั้น แต่หลังจากข้อเสนอขายให้กับเลห์แมน บราเธอร์ล้มเหลว ต้องเลือกเอาทางสุดท้ายนั่นคือ เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหุ้น เพื่อผู้ถือหุ้นเดิมจะได้รับประโยชน์คืนโดยไม่เสียหน้า แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นจะต้องพึ่งพาฝีมือของวาสเวอร์สไตน์ในการแต่งตัวบริษัทเสียใหม่ในฐานะผู้ถือหุ้นอันดับสองของบริษัท

Chapter 19. Bid-Em-Up Bruce ปูมหลังของวาสเซอร์สไตน์บนเส้นทางผาดโผนทางการเงินที่โลดโผนในฐานะนักเจรจาต่อรองผลประโยชน์และตั้งกองทุนร่วมเสี่ยงชื่อดัง

Chapter 20. Civil War วาสเซอร์สไตน์ใช้อำนาจต่อรอง ที่มีอยู่ผสมกับปัญหาที่บริษัทเผชิญหน้าอยู่ ผลักดันให้บริษัทแปลงกายเป็นบริษัทมหาชนโดยไวเพื่อหาพันธมิตรรายใหม่ที่จะอัดฉีดเงินทุนเข้ามาช่วยฐานะของบริษัทแข็งแกร่งอีกครั้ง ผลคือนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งภายในจากผู้ถือหุ้นเดิม และภายนอกจากพันธมิตรธุรกิจเก่าแก่ แต่ท้ายสุดก็จบลงด้วยการตัดสินใจขายหุ้นIPOs ที่ยังผลให้ตระกูลเก่าแก่สูญเสียการครอบครองบริษัทอย่างสิ้นเชิง

Chapter 21. The End of a Dynasty การตัดสินใจขายหุ้นด้วยวิธีการที่ซับซ้อนต่อสาธารณะนับแต่ก่อตั้งบริษัทมา 156 ปี เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน ทำให้ได้ราคาหุ้นต่ำกว่าปกติ แต่ก็เป็นผลดีต่อบริษัท ถือเป็นการเสียสละในระยะสั้นเพื่อผลดีในระยะยาว แต่จุดพลิกผันสำคัญก็คือ เป็นจุดจบของความลึกลับที่เคยดำรงอยู่มายาวนาน Afterword โมเดลของการเป็นบริษัทหลักทรัพย์มหาชน ได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่า ประสบความสำเร็จ และทำให้วาสเซอร์สไตน์รุ่งโรจน์มากยิ่งขึ้น เขาแปลงภาพลักษณ์ของบริษัทเสียใหม่เป็นนักลงทุนที่มีส่วนร่วมในดีลควบรวมโดยตรง หรือ activist investor ไม่ใช่แค่ที่ปรึกษาการเงินธรรมดาแบบในอดีตอีกต่อไป



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us