Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Heritage Crusade and the Spoils of History
ผู้เขียน: David Lowenthal
ผู้จัดพิมพ์: Cambridge University Press
จำนวนหน้า: 338
ราคา: ฿930
buy this book

หนังสือเล่มนี้แม้จะค่อนข้างเก่าแล้ว แต่เนื้อหานั้นเหมาะกับยุคสมัยของชาตินิยมสุดขั้วที่กำลังฟูเฟื่องในบ้านเมืองเราและอุษาคเนย์ยามนี้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะนับแต่กรณีเขาพระวิหารเป็นต้นมา ซึ่งทำเอาประโยคที่ว่า "ไทยคือประตูสู่อินโดจีน" กลายเป็นคำเลอะเทอะและถูกกลบฝังไปในทันที พร้อมกับคำถามใหญ่กว่าว่า แล้วจะมีอาเซียนเอาไว้ทำไม?

คำว่าประวัติศาสตร์กับอดีต เชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และมนุษย์ก็พยายามหาคำนิยามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตนเองและผู้อื่นออกมา แต่ก็ยังหาฉันทานุมัติไม่ได้ชัดเจน เหตุผลก็เพราะว่า ข้อเท็จจริงในอดีตและประวัติศาสตร์ที่เขียนลงไปนั้น เป็นคนละเรื่องกัน

เหตุผลก็เพราะมนุษย์เลือกที่จะใช้อคติ หรือความรู้ที่ไม่สมบูรณ์ทำการ "ประดิษฐ์" ประวัติศาสตร์ด้วยความจริงด้านเดียว หรือความจริงเสมือน ผลลัพธ์ก็คือว่า ในบางครั้ง หรือส่วนใหญ่ ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จึงไม่สามารถถือเป็นสัจจะได้แบบเดียวกันกับ "เงาในหลืบถ้ำ" นั่นแหละ

ผู้เขียนหนังสือนี้ ทำให้งานของนักประวัติศาสตร์ เก่าๆ กลายเป็นกระบวนทัศน์ที่ตกยุคอย่างง่ายดาย ด้วยการชำแหละให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ และมรดกแห่งความทรงจำนั้น เป็นคนละเรื่องที่แยกจากกันอย่างเห็นได้ชัด เพียงแต่ฝ่ายหลังนั้น ชอบที่จะอำพรางตัวอยู่ภายใต้นิยามของอย่างแรกเท่านั้นเอง

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของมนุษยชาติในระดับมหภาค ส่วนมรดกเป็นเรื่องกลุ่มจำเพาะระดับจุลภาคที่โดดเด่น

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จะช่วยสร้างความกระจ่างในเรื่องของประวัติศาสตร์ในฐานะเครื่องมือการเมือง ประวัติศาสตร์ในฐานะมรดกความทรงจำ ประวัติศาสตร์ในฐานะสื่อบันเทิง พร้อมกับทำให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนชั้นสูง และรากหญ้ามีระดับที่ไม่เหมือนกันได้อย่างไร

โลเวนธาลสร้างกรอบมองใหม่ว่า ประวัติศาสตร์ หรือตำราประวัติศาสตร์ คือบันทึกที่ประดิษฐ์ขึ้นจากฐานรากของมุมมองของคน (บางคน) ในยุคหนึ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกยุคสมัยหนึ่งในฐานะมรดกที่มองอดีตจากฐานของปัจจุบัน

ในแง่นี้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ถึงถูกใช้ในฐานะเสมือนทางด่วนที่เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าหากัน ผ่านการให้ความหมายทางการสื่อสารเฉพาะหน้าที่แน่นอนในระดับหนึ่ง โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนในปัจจุบันสามารถรู้จักและเข้าถึงอดีตได้อย่างง่ายๆ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของพวกเขา และแสดงความเป็นทายาทที่ควรค่ากับบรรพบุรุษนั้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ กระดูกนักบวชที่เรียกว่า Three Wise Man (ปราชญ์ที่เข้าอวยพรพระเยซูคริสต์ในรางหญ้าชานเมืองเบธเลเฮม) ในมหาวิหารโคโลญน์ หลังสงครามครูเสดนั้น นับแต่แรกจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีใครรู้จริงหรอกว่า กระดูกนั้นจริงแท้แค่ไหน แต่ตำนานประดิษฐ์ดังกล่าวก็ทำให้มากเกินพอสำหรับความขลังของมหาวิหารแห่งนี้ และเมืองโคโลญน์แล้ว อย่างน้อยก็ทำให้อำนาจของจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์น่าเกรงขามขึ้นมาในฐานะผู้สืบทอดภารกิจของคริสต์ศาสนา แม้กระทั่งภายหลังจะพบว่ามันเป็นของเทียม ก็ไม่สามารถทำให้ศรัทธาที่แท้จริงถดถอยลงไปได้แม้แต่น้อย

นี่ยังไม่นับประวัติศาสตร์จอบปลอมของลัทธิชาตินิยมในยุคสมัยหลังๆ จำนวนมหาศาล

ความน่าสนใจกลับอยู่ตรงที่ว่า มรดกแห่งความทรงจำและการให้ความหมายเหล่านี้ถูกครอบงำและผูกขาดให้อยู่ในมือของชนชั้นนำและชนชั้นสูง (รวมทั้งบริกรทางปัญญา) ซึ่งทำหน้าที่เลือก "บรรพชนต้นแบบ" และ "ความทรงจำต้นแบบ" (รวมทั้งตีความแทน) ให้กับคนส่วนใหญ่ ผลลัพธ์ก็คือ ประวัติศาสตร์ กลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นสูงในการกุมอำนาจนำในการตัดทอน หรือแต่งเติมความทรงจำไปโดยปริยาย ชนชั้นสูงรู้ดีว่า เมื่อใดก็ตาม ประวัติศาสตร์ตกไปอยู่ในกำมือของชาวบ้าน หรือมวลชนแล้ว มันจะถูกข้อเท็จจริงและความไร้เดียงสาของภูมิปัญญาที่ต่ำต้อยกว่า ทำให้สามานย์ลง จนกระทั่งอำนาจของอดีตเลอะเลือนลงไป เสมือนหนึ่งสินค้าบริโภคในชีวิตประจำวันที่มีไว้สำหรับถูกทิ้งขว้างตามรอยวัฒนธรรม "ใช้แล้วทิ้ง" ร่วมสมัย

ประวัติศาสตร์ จึงเป็นได้ทั้งศัตรูและมิตรของมวลชนได้เสมอ เพียงแค่พลิกปลายปากกาหรือเคาะนิ้ว และสามารถโน้มนำไปสู่อนาคตของสังคมมนุษย์ได้อย่างที่ใครบางคนมุ่งหวัง จนกระทั่งบางครั้งต้องระวังว่า หนังสือประวัติศาสตร์อาจจะมีค่าไม่ได้ดีไปกว่าใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองหรือโฆษณาสินค้ากี่มากน้อย และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมจึงต้องมี "วิวาทะ" กันไปเรื่อยๆ สำหรับปัญหาประวัติศาสตร์

คิดดูก็แล้วกันว่า เพียงแค่เรื่องเขาพระวิหารเรื่องเดียว ยังทำให้เกิดหลุมดำทางปัญญากับคนหลายล้านคนทั้งไทยและกัมพูชาได้ แล้วเรื่องใหญ่ มีผลประโยชน์ปัจจุบันมากกว่า และ ฯลฯ จะเป็นประเด็นใหญ่และยุ่งยากแค่ไหนในการชำระ

นี่ยังไม่รวมถึงปัญหานามธรรมเกี่ยวกับความเชื่อ ศาสนา หรือวัฒนธรรม ที่ปนเปอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

อ่านหนังสือของโลเวนธาลเล่มนี้ และอาจจะรวมถึงอีกเล่มหนึ่ง The Past is Foreion Country แล้วจะทำให้มุมมองหรือกระบวนทัศน์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตามที่เคยเรียนมา เปลี่ยนไปอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว

เป็นหนังสือต้องอ่านอย่างยิ่ง แม้ว่าภาษาวิชาการอาจจะสะดุดกึกกักไปบ้าง แต่ก็ไม่ยากเกินไปจนต้องหากระไดมาปีนอ่าน

รายละเอียดในหนังสือ
Chapter 1 Heritage Ascendent หนึ่งในกระบวนการที่ชนชั้นนำใช้ในการสร้างเอกภาพแก่ชนในชาติภายใต้แนวคิดชาตินิยมก็คือ หากไม่สามารถชี้นำความก้าวหน้าในอนาคตของสังคมได้ ก็ต้องหันกลับมาสร้างศรัทธาจากมรดกเก่าแก่ที่ฝังรกรากเดิมเอาไว้ในสังคม เพื่อสร้างเสาหลักในตัวเองให้กับสังคมโดยมุ่งเป้าสร้างระเบียบและการยอมรับทางอำนาจ ผลลัพธ์ก็คือ มรดกเก่าแก่ ถูกยกระดับขึ้นเป็นเสมือนวัวศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเชิดชู แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง มรดกเหล่านั้น อาจจะเต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวเองซึ่งจะสร้างปัญหาในภายหน้าก็ตาม

Chapter 2 Personal Legacies กระบวนการสร้างและหล่อหลอมให้มรดกส่วนตัว กลายเป็นมรดกร่วม และเป็นมรดกอันศักดิ์สิทธิ์ โดยผ่านการตัดทอน เสริมแต่ง และปรับปรุง เพื่อละทิ้งมรดกที่ไม่ถึงปรารถนา เหลือไว้แต่มรดกที่เป็นประโยชน์ เพื่อส่งถ่ายต่อไปยังคนรุ่นหลัง โดยอ้างว่านั่นคือ มันจะสามารถสร้างความพอใจส่วนตนได้ง่ายกว่า เหมือนส่งมรดกบ้านเก่าให้กับลูกหลาน โดยไม่ต้องให้เขาไปดิ้นรนก่อสร้างใหม่

Chapter 3 Collective Legacies จิตวิทยาฝูงชนเกี่ยวกับการสวามิภักดิ์กับกลุ่ม ได้ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นสร้างมรดกร่วมของสังคมที่โดดเด่นขึ้นมาเพราะเชื่อว่ามันเป็นประโยชน์โดยเปรียบเทียบ ผ่านการให้คุณค่าตามยุคสมัย เช่น ความรักในปิตุ-มาตุภูมิ การเสียสละเลือดเนื้อในสงคราม หรือ ฯลฯ เพื่อหล่อหลอมให้เป็นขบวนการที่ใหญ่ขึ้นในระดับชุมชนและชาติ แม้ว่าจะมีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายในเอกภาพเจือปนอยู่ โดยมีกุญแจหลักอยู่ที่ภาษาของชาติที่ใช้สื่อสารร่วมกัน แต่หนึ่งในแรงกระตุ้นที่สำคัญ หนีไม่พ้นการสร้างศัตรูร่วมทางจริยธรรมขึ้นมา (เช่นพวกนาซียกเอายิวเป็นศัตรูร่วม)

Chapter 4 Heritage Assailed ไม่เคยมีการสร้างมรดกของสังคมใดมีต้นทุนต่ำกว่าผลตอบแทน โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ว่ามรดกส่วนใหญ่ ล้วนเป็นศัตรูของสัจธรรมหรือ จารีตที่ชอบธรรม เพราะถูกครอบงำด้วยความเห็นแก่ตัว ความหลงตัวเองมากเกินขนาด การถวิลหาอดีตอย่างติดยึด การเชิดชูชนชั้นนำเกินจริง และการหลบหนีจากความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่ร้ายก็คือ นำไปสู่ความขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งทำให้คนรุ่นหลังเกิดความงุนงงและละอายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อย่างเลวที่บันทึกหรือเล่ากันเอาไว้

Chapter 5 The Purpose and Practice of History การนำเอาอดีตมารับใช้ประโยชน์เฉพาะหน้าในปัจจุบัน ถือเป็นบาปอย่างหนึ่งของนักประวัติศาสตร์ แต่ก็ยากจะป้องกันคนกลุ่มอื่นๆ ที่จะสร้าง "มรดกบริกร" จำเพาะขึ้นมา สิ่งที่นักประวัติศาสตร์และคนทั่วไปต้องเตือนสติกันอยู่เสมอก็เพียงแค่ว่า ประวัติศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูล และภูมิปัญญา เหตุผลก็เพราะว่า เลนส์ที่ใช้ส่องอดีตนั้นมีสีสันหลากหลาย แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดในกระบวนการใช้ประโยชน์จากอดีตนั้นอยู่ที่การประดิษฐ์นิทานปรัมปราขึ้นมาให้กลายเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์ไม่อาจกลายเป็นอดีตที่แท้จริงได้ แต่ประวัติศาสตร์แบบดังกล่าว ก็มักจะมีอายุแสนสั้นและพร้อมจะถูกลืม

Chapter 6 The Purpose of Heritage มรดกมักจะไม่ถูกปฏิเสธเพราะมันเป็นจริงแท้หรือไม่ แต่จะเกิดจากมันถูกพิจารณาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของมรดกนั้นหมดประโยชน์แล้วหรือยัง การพิสูจน์ความแท้หรือเทียมของมรดกในฐานะที่เป็น การโกหกอันทรงเกียรติ จึงไม่จำเป็น เพียงแต่ต้องตระหนักชัดกันในวงการศึกษาว่า มรดกคือ อดีตที่เลือกปฏิบัติโดยปัจจุบัน ไม่สามารถนำไปอ้างอิงเพื่อเพิ่มพูนปัญญาได้ ยกเว้นคนบ้า และคนอคติเต็มล้น

Chapter 7 The Practice of Heritage กระบวนการ เบี่ยงเบนอดีตให้เป็นมรดกที่มิใช่ประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยการสร้างตรรกะแบบลดทอนและเหมารวม เช่น 1) การทำให้อดีตทันสมัยขึ้นโดยใส่กระบวนทัศน์ปัจจุบันเข้าไปในข้อมูลของอดีต 2) การยกระดับข้อมูลแบบเจตนาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อปัจจุบัน 3) การจงใจละเว้นหรือละทิ้งข้อมูลที่ก่อให้เกิดคำถามที่ไม่เอื้อเป้าหมายปัจจุบัน 4) การอ้างเอาผลสำรวจประชามติเป็นโจทย์และข้อสรุปรวม 6) การยัดเยียดเอามรดกเข้าไปแทรกในบรรทัดของประวัติศาสตร์ โดยเป้าหมายสำคัญคือ มุ่งช่วงชิงอำนาจนำในการสร้างกรอบจารีตให้กับมุมมองของคนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน

Chapter 8 Being First การช่วงชิงอำนาจนำในฐานะ "บุคคลแรก" ของหน้าประวัติศาสตร์ มีความสำคัญกับมนุษย์ เพราะโยงเข้ากับผลประโยชน์ (ในมุมของเวลา) ที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นกฎธรรมชาติของความรวดเร็วและก้าวหน้า นั่นคือ "มาก่อน ได้ก่อน หรือได้หมด" ผลลัพธ์ก็คือ มีการโยงเชื่อมเงื่อนไขให้คุณธรรมต่อกับการช่วงชิงอำนาจนำขึ้นมาในการบันทึกมรดกแห่งความทรงจำของสังคมอย่างเหนียวแน่น และถูกทำให้ขลังมากยิ่งขึ้นโดยผ่านกระบวนการประดิษฐ์สร้างองค์ประกอบทางวัฒนธรรมว่าด้วยลัทธิของเวลาขึ้น

Chapter 9 Being Innate การปลูกฝังกระบวนการสร้างมรดก ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นต่อรุ่นของมนุษย์ จนดูเสมือนหนึ่งกลายเป็นปัญญาที่ติดตัวมาแต่กำเนิด โดยการอ้างถึงความเคารพต่อบรรพชน การอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิม การสืบสายเลือด และความบริสุทธิ์ของชาติพันธุ์ รวมถึงการเป็นลูกผสมของอดีตที่รุ่งเรือง และการถูกคัดเลือกอย่างเหมาะสมจากผู้ที่มีภูมิรู้

Chapter 10 Rivalry and Restitution ด้วยเหตุที่มรดกเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์จำเพาะ มันจึงกลายเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างความเป็นศัตรูกันระหว่างมนุษย์จนกลายเป็นความแตกร้าวขึ้นในโลกอย่างต่อเนื่อง โจทย์ใหญ่สำหรับมนุษย์ในปัจจุบันก็คือว่า จะสามารถทำให้มรดกนั้นเปลี่ยนบทบาทมาเป็นการชดใช้คืนหรือล้างบาปได้มากน้อยเพียงใด ตำตอบอยู่ที่การกระจายตัวของผู้คน และความรู้ที่จะช่วยหลอมละลายศรัทธา และอารมณ์ที่เกาะยึดกับมรดกจำเพาะจนเกินขนาดลงไปได้ พร้อมกับเพิ่มแรงกดดันให้นักประดิษฐ์มรดกมีเวทีในสังคมโลกน้อยลง ซึ่งประเด็นหลังนี้ พูดง่ายกว่ากระทำมาก



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us