Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Karaoke Fascism
ผู้เขียน: Monique Skidmore
ผู้จัดพิมพ์: University of Pensilvania Press
จำนวนหน้า: 248
ราคา: ฿1,017
buy this book

ความเลวร้ายของเผด็จการทหารเมียนมาร์ ภายใต้อำนาจของกองทัพบก (ทามาดอว์) นั้น ประจักษ์ชัดแก่สายตาชาวโลกมามากมายแล้ว แต่คำตอบที่ยังหาทางออกไม่ได้ก็คือว่า จะโค่นล้มพวกเผด็จการเหล่านี้อย่างไร? และจะหารูปแบบรัฐแบบใดที่เหมาะสมกับเมียนมาร์?

หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ใช่หนังสือชี้ทางออก แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตอกย้ำเพื่อเตือนความจำของผู้คนในโลกว่า ระบอบการปกครองของเผด็จการทหารเมียนมาร์นั้น น่าสยดสยองเพียงใด

โดยพื้นฐานแล้ว การที่ผู้เขียนเป็นคนนอกสังคม และไม่พยายามพูดถึงรากเหง้าสังคมอย่างลึกซึ้งมากนัก สาระของหนังสือเล่มนี้จึงเป็นแบบ outside in ทั่วๆ ไป นั่นคือ ใช้มุมมองของคนภายนอก บวกกับกระบวนทัศน์ที่มีความชัดเจนล่วงหน้าว่า เผด็จการทหารนั้นไม่ว่าที่ไหน ย่อมเลวร้ายเสมอ และควรถูกขจัดไปเพื่อหลีกทางให้ประชาธิปไตย โดยไม่คำนึงถึงรากเหง้าและปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนได้รับเอกราชและเป็นมรดกตกมาถึงปัจจุบันที่ทำให้สังคมเป็น "เบี้ยหัวแตก" ชนิดไม่สามารถสมานกันได้ด้วยแนวทางชาตินิยมปกติ เพราะขาดเอกภาพในอุดมการณ์ ต้องใช้อำนาจแห่งความรุนแรงของกองทัพ ทำหน้าที่ในการสร้างเอกภาพจอมปลอมขึ้นมา

การที่จุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องการเมือง ผสมเข้ากับการละเลยรากเหง้าของปัญหาที่ซับซ้อนของสังคมพม่าก่อนได้รับเอกราช จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญสุดของหนังสือเล่มนี้อย่างช่วยไม่ได้

สิ่งที่ผู้อ่านจะต้องพึงระวังเสมอก็คือว่า ประวัติศาสตร์ของชาติที่เคยเป็นอาณานิคมและได้รับเอกราชนั้น มีลักษณะพิเศษที่บางปัญหาได้ถูกวางระเบิดเวลาเอาไว้โดยเจ้าอาณานิคมเก่า

กรณีของพม่าก็เช่นกัน อังกฤษได้เข้าปกครองพม่าและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียอย่างไม่แยแสกับประวัติศาสตร์หลังจากเข้ายึดครองได้ใน ค.ศ.1886 เป็นต้นมา แล้วใช้นโยบายแบ่งแยกเพื่อปกครองทำลายโครงสร้างเก่าของสังคมลงอย่างไม่เหลือหรอ คนกลุ่มใหญ่สุดของสังคมอย่างพม่า กลายเป็นพลเมืองชั้นสาม ในขณะที่คนอินเดียเป็นพลเมืองชั้นหนึ่ง และชนกลุ่มน้อยอื่นเป็นพลเมืองชั้นสอง

ผลของนโยบายอันเลวร้ายของอังกฤษ ทำให้องค์กรพุทธศาสนากลายเป็นแหล่งซ่องสุมผู้รักชาติที่เรียกร้องเอกราช และท้ายสุด คนหนุ่มในชมรมชาวพุทธจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจว่าการต่อสู้ทางอุดมการณ์ไม่เพียงพอ ก็รวมตัวกันในนาม "ตะขิ่น" เพื่อต่อสู้เรียกร้องด้วยกำลังอาวุธ นำโดยอองซาน และมีฐานสำคัญคือกองทัพพม่า ที่เป็นเสาหลักในการสร้างเอกภาพให้กับสังคมพม่ามาจนถึงปัจจุบัน

หลังได้รับเอกราช ข้อตกลงปางหลงถูกละเมิด ทำให้สงครามชนเผ่าเกิดขึ้นมายาวนาน พร้อมกับนโยบายรังเกียจต่างชาติอย่างถึงที่สุดและเกิดการชะงักงันทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้การเมืองยิ่งหลงทางมากขึ้นเข้าสู่เผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งปรากฏเป็นสาระหลักของหนังสือเล่มนี้

ภาพที่ผู้เขียนบรรยายให้เห็นในหนังสือนี้ มีรูปธรรมที่ชัดเจนซึ่งยืนยันให้เห็นว่า เผด็จการเบ็ดเสร็จแบบพม่านั้น เป็นเหมือนเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เกิดขึ้นทั่วโลก ด้วยการงัดเอารูปแบบของการสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวที่พวกเผด็จการเบ็ดเสร็จใช้ควบคุมสังคมให้ตกอยู่ใต้บงการออกมาตีแผ่ให้เป็นรูปธรรม

กระบวนการสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวนี้ ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไร้สาระของการใช้อำนาจเกิดขึ้นอย่างมากมายเอาไว้เป็นตำนาน ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่ง เจ้าของละครหุ่นไม้ชื่อดังถูกจับกุมไปขังนานหลายวันโดยไม่แจ้งข้อหา เพราะว่าเนื้อหาตอนหนึ่งของละคร ล้อเลียนเผด็จการทหาร เกี่ยวกับชายพม่าคนหนึ่งไปถอนฟันที่บังกลาเทศ เมื่อเขาเข้าไปในร้านหมอฟัน พบว่ามีคนพม่าเป็นลูกค้าเต็มไปหมด หมอฟันทนไม่ได้ เอ่ยปากถามชายคนนั้นว่า ที่พม่าไม่มีหมอฟันหรือไง? เขาตอบว่า "มี แต่ที่นั่นพวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้อ้าปาก"

ข้อมูลที่ปรากฏเหล่านี้นำไปสู่ข้อสรุปในบทสุดท้ายของผู้เขียนเพื่อบอกนิยามของคำว่า เผด็จการคาราโอเกะอันเป็นชื่อเรื่องของปกหนังสือว่า หมายถึงช่องว่างแห่งความหวาดกลัวที่ประชาชนมึนชากับการเชื่อมโยงอำนาจทหารเข้ากับความรักชาติ และการเข้าสู่ทุนนิยมอย่างเลอะเทอะ (รวมถึงการหารายได้จากส่วนแบ่งค้ายาเสพติด) ที่เปิดทางให้กลุ่มเผด็จการทหารเข้ามาสบช่องโฆษณา ชวนเชื่อเพื่อสยบฝูงชนให้ยอมอยู่ใต้อำนาจเถื่อน

แม้ว่าหนังสือจะไม่ได้ให้ทางออกมากมายเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ "เบี้ยหัวแตกใต้ฝ่าเท้าเผด็จการ" และไม่ได้ให้คำอธิบายที่ดีเพียงพอว่า ทำไมมวลชนจึงเลือกที่จะยอมจำนนมากกว่าการลุกขึ้นต่อสู้ แต่รูปธรรมของข้อมูลก็ช่วยให้เรามองเห็นถึงปัญหาอันสลับซับซ้อนว่า อนาคตของประเทศที่มีพรมแดนอันยาวเหยียดกับด้านตะวันตกของไทยเรานั้น ยังอีกยาวไกลเพียงใดกว่าจะพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เตือนใจให้เราต้องมุ่งมั่นกับการทำความเข้าใจปัญหามากขึ้นว่า ไม่ใช่เรื่องของความรักชาติ หรืออคติเกี่ยวกับ "ไทยรบพม่า" ที่เป็นประวัติศาสตร์ประดิษฐ์อันแต่งเติมขึ้นมาเพื่อให้คนไทยมึนชากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมของประเทศเพื่อนบ้าน

แม้ราคาของหนังสือจะดูแพงไปสักนิด แต่ก็คุ้มค่าสำหรับการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นอีกฟากหนึ่งของพรมแดนที่มีคนเถื่อนถือปืนควบคุมอยู่

รายละเอียดในหนังสือ

Chapter 1 Rongoon : End of Strife ผลพวงของการลุกฮือ

เพื่อประชาธิปไตยที่ล้มเหลวนำโดยอองซานซูจี และการรัฐประหารใน ค.ศ.1988 ซึ่งส่งผลพวงที่เลวร้ายตามมามากมาย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนลงมือค้นคว้าด้วยตัวเองเพื่อออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้

Chapter 2 Bombs, Barricades, and the Urban Battlefield

ผู้เขียนสอบค้นองค์ประกอบขององค์กรพุทธศาสนาทั้งในเชิงอุดมการณ์และวัตรปฏิบัติในการหลบหนีออกจากการต่อสู้ที่รุนแรงกับกลุ่มผู้ถืออาวุธโดยเฉพาะในเขตเมืองที่สับสนท่ามกลางความไม่ปลอดภัย แม้กระทั่งในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของวัดพุทธก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากอำนาจเผด็จการ

Chapter 3 Darker Than Midnight: Fear, Vulnerability, and Terror-Making

การสืบค้นความสำเร็จอย่างมีประสิทธิผลของคณะเผด็จการทหารเมียนมาร์ในการควบคุมประชาชนไม่ให้ลุกฮือ โดยสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวสารพัดโดยใช้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ที่เห็นได้ทั่วไปในเขตเมืองใหญ่ พร้อมกับสืบค้นแกนหลักในสงครามโฆษณาชวนเชื่ออันเปราะบางเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันเกี่ยวกับสังคมยูโทเปียที่พวกเผด็จการพยายามทำให้ประชาชนเชื่อฟังและคล้อยตาม

Chapter 4 Sometimes a Cigar is Just a Cigar

กระบวนการบีบรัดทางสังคมที่พวกเผด็จการทหารนำมาใช้ควบคุมประชาชน นับแต่การเซ็นเซอร์ข่าวสาร การโฆษณาชวนเชื่อ การให้ข้อมูลเท็จ การตรวจจับกุม และการควบคุมพื้นที่สาธารณะอย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้ข้อมูลทั้งหลายที่เผยแพร่ ล้วนเป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ และหาความแน่นอนไม่ได้ ในขณะที่ความพยายามของฝ่ายต่อต้านเผด็จการก็พยายามหาช่องโหว่จากการควบคุมเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ไม่มีประสิทธิผลมากนัก

Chapter 5 The Veneer of Modernity

การค้ายาเสพติด และปล่อยให้ประชาชนติดงอมแงมในเมืองต่างๆ โดยที่รัฐบาลมีประโยชน์ร่วมโดยตรง ทำให้เกิดสภาพเลวร้ายทางสังคมที่นำไปสู่เส้นทางด้านลบของทุนนิยม ขัดแย้งกับภาพที่รัฐนำเงินรายได้จากธุรกิจนี้ มาสร้างอาคารสูงและสิ่งก่อสร้างทางวัตถุเพื่อสร้างภาพความยิ่งใหญ่ของรัฐอย่างตรงกันข้าม

Chapter 6 The Veneer of Conformity

กระบวนการควบคุมทางสังคมของชุมชนเมืองขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อไพเราะว่าวิศวกรรมทางสังคม ที่ทำให้ผู้คนในเมืองขยาดกลัวที่จะลุกฮือต่อสู้กับความเลวร้ายของอำนาจรัฐ ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของผู้คนว่างเปล่าเหมือนดนตรีคาราโอเกะ ซึ่งทำให้สภาพสังคมเมียนมาร์มีลักษณะเลวร้ายจากทุนนิยมผูกขาดโดยรัฐอย่างถึงที่สุด

Chapter 7 The Tension of Absurdity

ภาพที่ขัดแย้งกัน ระหว่างการโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับอนาคตอันสวยงามของอำนาจรัฐที่สร้างขึ้นกับข้อเท็จจริงในการพัฒนาเมืองที่ขาดความพร้อมในเกือบทุกด้าน กลายเป็นสภาวะเหนือจริงที่ทำให้เกิดความชะงักงันไปเสียทั้งขบวน ซึ่งทำให้ประชาชนได้มีนิทานไร้สาระเล่ากันไม่รู้จบเกี่ยวกับพฤติกรรมไร้สาระของเผด็จการทหาร

Chapter 8 Fragment of Misery : The People of the New Fields

ว่าด้วยสภาวะของชีวิตประจำวันอันเลวร้ายของเด็กสาวจำนวนหนึ่งในเมืองเล็กๆ ในชนบทที่ต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศและชีวิตอันเลวร้ายที่ทำให้ชีวิตของพวกเธอสั้นลง

Chapter 9 The Forest of Time

ว่าด้วยวิถีแห่งการหลบหนีออกจากชีวิตประจำวันอันแสนเลวร้ายใต้อุ้งเท้าเผด็จการทหารของผู้คนในสังคมพม่าที่เต็มไปด้วยความหลากหลายผ่านศาสนา ไสยศาสตร์ และมายาคติต่างๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความหวังแห่งอนาคตเอาไว้

Chapter 10 Going to Sleep with Karaoke Culture

บทสรุปท้ายเล่มเพื่อเปรียบเทียบสังคมพม่าใต้เผด็จการทหารที่แม้จะมีเอกราช แต่ก็ไม่ได้ดีไปกว่าภาพสังคมใต้ยุคอาณานิคมที่จอร์จ ออร์เวล เคยบรรยายเอาไว้กว่าครึ่งศตวรรษมาแล้วและยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us