Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Power of Story
ผู้เขียน: Jim Loehr
ผู้จัดพิมพ์: Free Press
จำนวนหน้า: 263
ราคา: ฿851
buy this book

หากถามว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับมิกกี้ เม้าส์ ใครจะเป็นที่รู้จักของชาวโลกมากกว่ากัน? คำตอบในปัจจุบันหนีไม่พ้นคำตอบหลัง เหตุผลก็เพราะว่า เครือข่ายและกระบวนการสร้างเรื่องของบริษัทบันเทิงข้ามชาติขนาดใหญ่อย่างวอลท์ ดิสนีย์นั้น มีอิทธิพลมากมายนัก

ข้อเท็จจริงอย่างที่ยกมานี้แหละคือเหตุผลที่ว่า เหตุใด องค์กรธุรกิจที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องและสร้างเรื่อง อย่างบริษัทในธุรกิจบันเทิง หรือหนังสือนิยายทั้งหลายแหล่ซึ่งทำหน้าที่ประดิษฐ์ข้อเท็จจริงใหม่เพื่อหวังโกยกำไรมหาศาลจากจินตนาการ จึงกลายเป็นต้นแบบให้ใครต่อใครอยากก้าวข้ามเส้นเข้าไปร่วมขอส่วนแบ่งผลประโยชน์อย่างเอาเป็นเอาตาย

เป้าหมายทั้งหมดนี้ก็คือ เข้าไปมีอิทธิพล หรือแสดงบทบาทเพื่อต่อยอดของวิวาทะทางด้านจิตสำนึกร่วมสมัยอย่างมีส่วนร่วมแข็งขัน เพื่อนำไปสู่กระบวนการเล่าเรื่องและสร้างเรื่อง แม้ว่าเรื่องที่สร้างขึ้นมาเหล่านี้จะตรงกับความจริงแท้ หรือเป็นแค่ปั้นแต่งขึ้นมาก็ตามที

หนังสือเล่มนี้โดยผู้เขียนที่เป็นนักจิตวิทยาก็พยายามที่จะสร้างมุมมองใหม่ให้กับกระบวนวิธีการเล่าเรื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องราวทางธุรกิจ หรือเรื่องราวส่วนตัวที่โยงเข้ากับเรื่องทางธุรกิจ

ผู้เขียนเรื่องนี้มองว่า การเล่าเรื่องที่ดีเพื่อให้คนอื่นเชื่อนั้น จะต้องเริ่มต้นนับแต่การเล่าเรื่องตัวเอง ให้ตัวเองฟังแล้วชื่นชอบเสียก่อน เพราะเรื่องเล่าของตัวเองนั้น คือชีวิตของตัวเองด้วย หากไม่สามารถทำให้ตัวเองเชื่อได้ จะทำให้คนอื่นเชื่อ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

สาระของเรื่องที่จะนำมาเล่า เพื่อก่อให้เกิดการต่อยอดของภูมิปัญญา และกลายเป็นเงินทองตามมานั้น มีอยู่หลากมุมมองอย่างมาก นับแต่เรื่องความสำเร็จ/ล้มเหลว การมีอำนาจเหนือ/ตกเป็นเหยื่อ การทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์ใน สังคม สุขภาพ ความท้าทาย/โอกาส ฯลฯ

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้เขียนมองว่าการที่ทุกคนมีเรื่องเล่าของตนเองจากประสบการณ์นั้น ยังไม่เพียงพอ เพราะเรื่องที่จะน่าสนใจของคนทั่วไปนั้น อยู่ที่เป็นมากกว่า "เรื่องเก่าเล่าใหม่" อย่างเดียว แต่กุญแจอยู่ในการเปลี่ยนมุมมองของเรื่องเล่า เพื่อดัดแปลงมัน เสมือนหนึ่งการดัดแปลงชะตาชีวิตของเราเอง

เขามองว่า หากสามารถทำได้สำเร็จ นั่นแหละคือความสามารถที่ซ่อนอยู่ภายในจะเป็นที่ประจักษ์แก่คนอื่นๆ และทำให้ศักยภาพในการทำงานเพิ่มพูนขึ้นไปด้วย เพราะกุญแจสำคัญของการเล่าเรื่องอยู่ที่การใช้ประโยชน์จากรูปแบบที่พลิกแพลงของวิวาทะทางกระบวนทัศน์ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดความเหนือกว่าในการนำเสนอเพื่อตีความทางด้านธุรกิจอย่างมีนัย

เขามองว่า โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยกับดัก และโชคเคราะห์ ซึ่งทำให้คนสับสนและหลงประเด็นไปใส่ใจกับรายละเอียดที่ด้อยค่าซึ่งไม่ได้กำหนดชะตากรรมของชีวิตมากนัก และหลงในกับดักนั้น สิ่งที่ต้องเร่งกระทำก็คือ แต่ละคนต้องขุดลึกเข้าไปในจิตใจของตนเอง ด้วยการตั้งคำถามที่ซื่อตรง และตอบอย่างตรงไปตรงมาด้วย เพื่อจะฟื้นคืนความภาคภูมิใจในตัวเองกลับมาให้ได้ การเล่าเรื่อง ซึ่งถูกซุกซ่อนเอาไว้ คือปมเงื่อนสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้

ข้อสรุปข้างต้นนี้ ว่าไปแล้วก็มิใช่เรื่องใหม่ เพราะโดยข้อเท็จจริง มนุษย์ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ของตนเอง และเรื่องเล่าของตนเองที่ไม่ซ้ำกับใคร (ยกเว้นจะเป็นความบังเอิญในบางครั้ง และบางสถานการณ์) ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า ใครก็เป็นนักเล่าเรื่องได้ ประเด็นปัญหาก็อยู่ที่ว่า เรื่องเล่าที่ดีเด่นกว่าคนอื่นๆ นั้น จะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

สำหรับบางคน ชีวิตอาจไม่ยิ่งใหญ่ดุจขุนเขา แต่อาศัยความเป็นนักเล่าเรื่องที่ยอดเยี่ยม ก็ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ แต่บางคนน่าเสียดาย มีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ แต่หมดความสามารถที่จะเล่าเรื่อง และไม่ยอมให้ใครถ่ายทอดเรื่องของตน ผลสุดท้ายเรื่องราว อันน่าสนใจก็กลายเป็นแค่ธุลีของอดีตที่ไร้ค่า

หนังสือนี้แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกว่าด้วยเรื่องเล่าเก่าๆ สำหรับคนที่ยังไม่เคยเล่าเรื่อง มีบทที่น่าสนใจอย่างมากคือ บทที่ 4-5 ซึ่งพลาดไม่ได้ เพราะชี้ให้เห็นว่า การเล่าเรื่องกับศรัทธาต่อชีวิตนั้นมีความหมายต่อปัจเจกบุคคลอย่างไรบ้าง

เช่นเดียวกันหนังสือประเภทปรับปรุงตนเองทั้งหลาย ข้อแนะนำของผู้เขียนด้วยกฎตายตัว 10 ประการในการพัฒนาตนเองเป็นนักเล่าเรื่องชั้นดี ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ก็เชื่อว่า ไม่เพียงแต่จะทำให้มีความสุขเท่านั้น แต่ยังทำให้สามารถร่ำรวยจากความสามารถในการสื่อสารกับคนอื่นที่ดีเยี่ยมขึ้นมาได้ ดังนี้

- ปรับทิศทางของความสนใจเสียใหม่ จนสามารถพูดคุยกับตัวเองอย่างสงบได้
- สรุปจิตสำนึกของตนเองได้อย่างมีสัมปชัญญะ สามารถ ถามและตอบตัวเองได้ในทุกๆ เรื่องอย่างจริงใจ
- สรุปเสียงแห่งเหตุผลและปัญญาในตัวเองให้ชัดเจน
- สรุปเสียงแห่งการสนับสนุนและกระตุ้นตัวเองโดยไม่ต้องรอผู้อื่น
- สรุปเสียงเตือนตัวเองเพื่อไม่ให้หลงทาง
- สรุปสติของตนเองเพื่อรับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
- สรุปเสียงแห่งพลังภายในตัวเองเพื่อกระตุ้นให้ไม่ยอมแพ้
- สรุปเสียงแห่งความจริงใจของตนเอง เพื่อความเป็นตัวเอง
- สรุปเสียงแห่งญาณสังวรของตนเอง เพื่อจะได้ไม่หลงไปกับกระแสสังคมที่เพ้อคลั่ง

โดยข้อเท็จจริงหนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ถึงกับ "อ่านแล้วรวย" ได้อย่างแท้จริงเหมือนชื่อรองของหนังสือ แต่มุมมองของจิตวิทยา ถือว่า เป็นการกระตุ้นเตือนอย่างมีนัยสำคัญพอสมควรก็ยังถือว่าคุ้มค่าน่าอ่านสมราคาอยู่

รายละเอียดในหนังสือ

Part 1 : Old Stories

Chapter 1. That's Your Story?
เรื่องเล่าของแต่ละคน ล้วนมีความหมายกับชีวิตของตนเอง แต่ที่มากกว่านั้นคือมันสามารถถ่ายทอดประสบการณ์สู่คนอื่นๆ และกันไปมาได้ในหลากลักษณะ ปัญหาก็คือ คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ต่างหลงผิดไปว่า ตนไม่มีความพร้อม (ด้วยสาเหตุต่างๆ กัน) สำหรับการเป็นนักเล่าเรื่อง ผลลัพธ์คือ ทุกคนไม่สามารถเปลี่ยนชะตาชีวิตของตนเองได้ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในเรื่องของตนเองได้ ผู้เขียนมีคำแนะนำให้ทุกคนเริ่มต้นหัดเล่าเรื่องเก่าจากประสบการณ์ของตนเองอย่างง่ายๆ 3 ขั้นตอนคือ

1) หาให้ได้ว่า ส่วนใดของชีวิตสำคัญที่สุดที่อยากเล่าออกมา
2) แปลความหมายให้ชัดออกมาเท่าที่จะเป็นไปได้ จากนั้นก็ทยอยลงมือเล่าเรื่อง ผลลัพธ์คือเรื่องที่คิดว่าเล่าไม่ได้ จะทยอยถ่ายทอดออกมาทีละน้อย
3) ตั้งคำถามเพื่อค้นหาจุดอ่อนในเรื่องเล่าของตนเอง เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นในคราวต่อไป

Chapter 2. The Premise of Your Story, The Purpose of Your Life
ข้อสรุปเบื้องต้นของเรื่องที่เล่า เป็นส่วนหนึ่งของเป้าประสงค์ของชีวิตคนเล่าเรื่อง ดังที่นิทเช่เคยบอกเอาไว้ว่า คนที่รู้ว่ามีชีวิตทำไม จะสามารถรับเรื่องร้ายได้ทุกเรื่อง ดังนั้น การหาเป้าหมายเล่าเรื่อง จึงมีความสำคัญอันดับแรกสุด เสมือนหนึ่งถ้อยคำสลักบนหินหน้าหลุมศพตัวเอง

Chapter 3. How Faithful a Narrator Are You?
ศรัทธาใน ชีวิต เป็นสิ่งที่เสริมแรงให้เราต้องการสื่อสารกับผู้อื่นผ่านการเล่าเรื่อง ไม่ว่ามันจะเป็นจริงทั้งหมดหรือบางส่วน และบางส่วนของเรื่อง อาจจะไม่เกิดจากประสบการณ์ด้วยตัวเองของผู้เล่า แต่มนุษย์จำนวนมากเลือกจะปฏิเสธศรัทธาด้วยการตั้งสมมุติฐานผิดๆ เกี่ยวกับชีวิตด้วยความสงสัย และหวาดกกลัวคำตอบที่ตนไม่อยากได้ยินหรือรับรู้ ซึ่งส่งผลเชิงทำลายล้างต่อชีวิตอย่างคาดไม่ถึง เพราะทำให้มุมมองต่อแผนสำหรับชีวิตในอนาคตบิดเบี้ยวได้

Chapter 4. Is It Really Your Story You're Living?
ปัญหาเรื่องการปฏิเสธที่จะปลูกฝังความเชื่อ ได้ส่งผลพวงให้มนุษย์ไร้ความสุขในชีวิต เพราะเท่ากับเขาปฏิเสธคุณค่าในตัวเองกลายเป็นคนเสื่อมศรัทธาในชีวิตที่มองโลกในแง่ร้ายอย่างรุนแรง นั่นหมายถึงชีวิตได้สูญสลายไปแล้ว และทำให้ความเป็นมนุษย์ในตัวเสื่อมค่าลงไป พร้อมจะตกเป็นเหยื่อของการล้างสมองของสถาบันทางสังคมต่างๆ อาทิ การศึกษาชั้นสูง การแพทย์ การฝึกทางทหาร การอบรมของศาสนจักร และการอบรมของบริษัทเอกชน ซึ่งปฏิเสธการดำรงอยู่ของปัจเจกบุคคล

Chapter 5. The Private Voice
การฟื้นคืนความเป็นปัจเจกชน ด้วยการเรียกเอาเสียงส่วนตัวกลับคืนมา ด้วยการค้นหาวิธีการเล่าเรื่องของตนเองคือการประกาศอิสรภาพจากเสียงของสาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างกันให้เหมาะสม ซึ่งมีสูตรให้ทดลองปฏิบัติอยู่ทั้งหมด 10 ข้อ

Chapter 6. The Three Rules of Storytelling Purpose-truth-action
การเริ่มต้นเล่าเรื่องหรือเขียนชีวิตใหม่ จะต้องแอบอิงกับกฎพื้นฐาน 3 เรื่องหลักที่เป็นต้นแบบ ได้แก่ เป้าประสงค์ ข้อเท็จจริง และการกระทำ โดยแต่ละขั้นตอนต้องเข้าใจว่ามีความสำคัญและความหมายในตัวเองอย่างไร ซึ่งหากทำได้ในขั้นตอนนี้แล้ว ก็จะก้าวเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ นั่นคือการเขียนเรื่องใหม่ที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม

Part 2: New Stories

Chapter 7. It's not About Time
เรื่องเล่าที่ดี แม้จะมีฉากของยุคสมัย แต่แกนของเรื่องจะไม่ขึ้นกับเวลาหรือยุคสมัย หากจะต้องเป็น "อกาลิโก" เนื่องจากเรื่องเล่าสะท้อนพลังของชีวิต ซึ่งมีอยู่ 4 อย่างคือ กายภาพ อารมณ์ จิตสำนึก และวิญญาณ แม้ว่าในบางเรื่องอาจจะหมายถึงการมุสาจารของยุคสมัยก็ตาม ดังนั้น แนวคิดของการเล่นเรื่องจึงต้องโยงเข้ากับพลังงานของชีวิตในแต่ละขั้นตอนเสมอ

Chapter 8. Do You Have the Resources to Live Your Best Story?
แหล่งข้อมูลสำหรับเรื่องเล่าเป็นสิ่งที่หากไม่จากประสบการณ์ก็ต้องค้นหาและประดิษฐ์ขึ้นมา พร้อมกับการตอบคำถามสำคัญๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้สมเหตุสมผล

Chapter 9. Indoctrinate Yourself
การปฏิเสธศรัทธาต่อตัวเอง เพื่อค้นหามุมมองใหม่ๆ ของชีวิตในระหว่างกระบวนการเล่าเรื่อง จากมุมมองของผู้อื่นเพื่อให้รอบด้าน เพราะข้อเท็จจริงของชีวิตนั้นอาศัยประสบการณ์อย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีปัจจัยอื่นๆ เสริมด้วย เสมือนอยากรู้เรื่องทะเลก็ต้องลงไปดำน้ำค้นหาก้นทะเล เพื่อที่จะได้ดึงจิตใต้สำนึกขึ้นมากลายเป็นจิตรู้สำนึก และกลับไปกลับมา

Chapter 10. Turning Story into Action : Training Mission and Rituals
กระบวนการฝึกฝนเพื่อเล่าเรื่องอย่างพลิกแพลง ต้องผ่านขั้นตอนของการสร้างพิธีกรรมเพื่อให้เกิดกลเม็ดต่างๆที่จะทำให้เรื่องเล่าเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้น และผู้ที่รับมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น แต่พิธีกรรมเหล่านี้ก็ไม่ได้ตายตัวจนกระดิกไม่ได้

Chapter 11. More Than Mere Words : Finishing the Story Completing the Mission
การจบเรื่องอย่างสมเหตุสมผลในตัวมันเอง เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในกระบวนการเล่าเรื่อง เพราะความน่าเชื่อถือทั้งหลาย จะมาขมวดกันตรงตอนจบนี่เอง ซึ่งจะเป็นตัววัดความประทับใจของเรื่องได้ดีที่สุด

Chapter 12. Storyboarding the Transformation Process in Eight Steps
วิธีการสร้างสตอรี่บอร์ด เพื่อช่วยให้เค้าโครงเรื่องเกิดความสมเหตุสมผลและก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์อย่างไร้รอยตะเข็บ

1) การระบุเป้าประสงค์
2) การค้นหาข้อเท็จจริง
3) การเลือกสรรประเด็นที่จะเล่า
4) การแจกแจงประเด็นต่างๆ ในเรื่องเพื่อสร้างโครงและระเบียบในการดำเนินเรื่อง
5) การนั่งลงอ่านหรือทบทวนเมื่อเล่าเรื่องจบแล้ว เพื่อวิจารณ์หรือค้นหาความบกพร่องและปรับปรุง
6) การเขียนเรื่องใหม่ที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ในข้อแรก
7) ออกแบบใหม่เพื่อให้เรื่องใกล้เคียงกับความสมจริงมากที่สุด
8) ฝึกฝนความช่ำชองต่อเนื่องอย่าได้หยุด เพื่อเตรียมเรื่องเล่าต่อไป

Final Chapter: Raymond's Story
กรณีศึกษาความสำเร็จของคนที่เข้าร่วมโครงการฝึกเล่าเรื่องที่โดดเด่นเพื่อเอาไว้เป็นกำลังใจคนอ่านจะได้เดินรอยตาม



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us