Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Creating a World Without Poverty
ผู้เขียน: Muhammad Yunus
ผู้จัดพิมพ์: BBS Publications
จำนวนหน้า: 261
ราคา: ฿544
buy this book

สี่สิบปีก่อน จอห์น เคนเนธ กาลเบรธ นักเศรษฐศาสตร์ที่ปรึกษาประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ เปิดตัวบทแรกในหนังสือชื่อ The Affluent Society ของเขาว่า "ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของโลก เป็นประวัติศาสตร์ของความยากจนและขาดแคลน ในขณะที่ความร่ำรวยและความเหลือเฟือ เป็นข้อยกเว้น"

วันนี้งานเขียนดังกล่าวไม่เพียงแต่เกือบจะถูกลืมเท่านั้น หากยังมีคนสวนกระแสออกมากันอย่างต่อเนื่องว่า ความยากจนอาจจะเป็นแค่มายาคติของนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้น ความจริงแล้ว สังคมมนุษย์สามารถสร้างความมั่งคั่งและจัดสรรกันได้ หากเข้าใจวิธีการจัดการและเปิดกว้างทางความคิดมากพอ

มุมมองแบบสุขนิยมอย่างนี้ได้รับการนำเสนอล่าสุดเมื่อเจ้าของและผู้ก่อตั้งธนาคาร Grameen Bank ของบังกลาเทศ ชื่อมูฮัมหมัด ยูนัส ได้รับการยกย่องรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะผู้คิดค้นและดำเนินการสินเชื่อรายย่อยสำหรับคนยากจน ที่ประสบความสำเร็จและเปลี่ยนกระบวนทัศน์เก่าแก่ของวงการเงินที่เคยเชื่อฝังหัวกันมายาวนานว่า หนี้ของคนจนนั้นนอกจากจะมีต้นทุนสูงแล้วเป็นหนี้ที่มีโอกาสถูกเบี้ยวมากที่สุด และกลายเป็นหนี้ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่สถาบันการเงินมากที่สุดด้วย

ธุรกิจไมโครเครดิต หรือสินเชื่อเพื่อรายย่อยของ Grameen Bank สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการธนาคารตะลึง เมื่อพบว่าเป็นหนี้ซึ่งมีอัตราเสียหายต่ำที่สุด และธนาคารดังกล่าว ก็เป็นธนาคารที่ทำกำไรสูงต่อเนื่อง ไม่มีการสะดุดแม้จะมีคนคาดหมายดังกล่าวหลายครั้งหลายหน

ธนาคาร Grameen Bank จึงกลายเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงแต่สร้างมิติใหม่ให้กับธนาคารทั่วไปเท่านั้น หากยังสร้างมิติใหม่ให้กับธนาคารอิสลามอีกด้วย

ความสำเร็จของ Grameen Bank กลายเป็นที่มาของคำถามว่า เขาทำมันได้อย่างไร? เรื่องนี้ มูฮัมหมัด ยูนัส ทำการเฉลยเอาไว้ในหนังสือของเขาหลายเล่มที่ออกมาหลังจากได้รับรางวัล เพื่อเผยแพร่และอธิบายเบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวว่า ไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า หรือไม่ได้เกิดจากโชคลาภที่บังเอิญ หากเกิดจากการประเมินสถานการณ์ที่เป็นจริง ผสมกับนวัตกรรมทางปัญญา ผสมกับความเข้าใจจารีตทางสังคมของลูกค้าอย่างถ่องแท้ รวมถึงการใช้รูปแบบการจัดการอย่างยืดหยุ่นในการสร้างลูกค้าและการติดตามหนี้สินอย่างมีประสิทธิผล

หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนึ่งในหนังสือที่ให้คำอธิบายได้แจ่มชัด ถึงปรัชญาธุรกิจ และจุดเริ่มต้นของการจัดการที่มีลักษณะจำเพาะสำหรับสังคมบังกลาเทศ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสังคมที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ความสำเร็จของยูนัสที่เริ่มต้นเมื่อตอนที่เขาเป็นอาจารย์ตัวเล็กในมหาวิทยาลัยด้วยคำถามว่า ในสังคมที่ยากจน ธนาคารพาณิชย์ทำไมจึงร่ำรวยโดยไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม

คำถามดังกล่าวค่อนข้างแปลก เพราะอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีว่า ระบบธนาคารพาณิชย์เป็นหนึ่งใน "ฟันเฟือง" สำคัญของระบบทุนนิยม เพราะการกู้เงินมาลงทุนในกิจการต่างๆ เป็นหนึ่งในกลไกหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสมัยใหม่ทั้งระบบในฐานะสะพานเชื่อมระหว่างนักลงทุน (ผู้ฝากเงิน) กับผู้ต้องการทุน (ผู้กู้เงิน)

ปัญหาก็คือ ทุกคนที่ต้องการเงินทุนไม่สามารถเข้ามาใช้บริการของธนาคารได้เพราะขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตามคติยิวเก่าแก่ที่ว่า "คุณต้องมีเงินในการหาเงิน" กลายเป็นวัฏจักร "โง่-จน-เจ็บ"

ตั้งแต่ก่อตั้งธนาคารเมื่อปี 2519 กรามีนปล่อยเงินกู้ไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาทให้กับ 4.4 ล้านครอบครัวผู้ยากไร้ในชนบทของบังกลาเทศ ปัจจุบันมีสาขากว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการครอบคลุมหมู่บ้านกว่า 51,000 แห่ง หรือกว่าสามในสี่ของหมู่บ้านทั่วประเทศ มีหนี้เสียต่ำกว่า 2% ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับที่วงการธนาคารสากลถือว่า "ดีมาก" ภายใต้ปรัชญาที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ยามตกทุกข์ได้ยาก ช่วยให้เขาแข็งแรงขึ้นและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ โดยที่ไม่ว่าลูกหนี้จะผิดนัดชำระอย่างไรก็ไม่มีทางที่ดอกเบี้ยจะมีจำนวนสูงกว่ายอดเงินต้น ภายใต้โมเดลธุรกิจที่สร้างบนรากฐานความเชื่อมั่นในลูกค้า

ความสำเร็จของยูนัสมาจากปัจจัยหลักสองประการ คือ การตั้งสมมุติฐานที่ถูกต้องเกี่ยวกับศักยภาพของคนจน และการใช้กระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างแรงจูงใจให้ชำระหนี้ได้ ซึ่งจำต้องรวมกระบวนการให้การศึกษาคนจนเกี่ยวกับวิธีบริหารเงิน และปรับปรุงคุณภาพชีวิต

ความสำเร็จของยูนุส เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า นักธุรกิจที่มีสำนึกทางสังคม (social entrepreneur) นั้น มีบทบาทสำคัญยิ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เพราะเป็นคนเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถจะใช้ทักษะทางธุรกิจตามระบบทุนนิยม แต่บังคับทิศทางของผลกำไรที่เกิดขึ้นให้นำมาซึ่งประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว

หนึ่งในบทที่น่าสนใจก็คือ ท่าทีของยูนัสที่มีต่อกระแสโลกาภิวัตน์เห็นได้ชัดในบทที่ 11 ของหนังสือเล่มนี้ว่า เขาไม่ได้ต่อต้านแข็งขืนกับมัน แต่ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ภายใต้การเฟื่องฟูของเทคโนโลยีสารสนเทศ การหยุดยั้งโลกาภิวัตน์ยากจะทำได้ แต่ลักษณะสองด้านของโลกาภิวัตน์ซึ่งมีทั้งการครอบงำท้องถิ่นโดยยักษ์ทุนข้ามชาติ ก็ยังมีช่องทางเปิดกว้างสำหรับการสร้างเวทีใหม่ให้กับกลุ่มทุนท้องถิ่นสำหรับยืนอยู่ได้มากขึ้น เพราะเวทีที่เปิดกว้างกว่าเดิม ท่าทีเช่นนี้บรรดานักต่อต้านโลกาภิวัตน์ คงต้องทบทวนบทเรียนกันได้ หากไม่ดื้อรั้นแบบคนใจคอคับแคบ

เป็นหนังสือที่อ่านแล้วทำให้มองเห็นความหวังว่าสังคมมนุษย์นั้น ไม่เคยสิ้นคนดีและความหวัง หากเราพยายามเปิดใจให้กว้างต่อกันและกัน คุ้มค่าเหมือนอ่านหนังสือของมหาตมะ คานธี ประเภท "เราทั้งผอง พี่น้องกัน" เลยทีเดียว

รายละเอียดในหนังสือ

Part I : The Promise of Social Business

Chapter 1 A New Kind of Business

ว่าด้วยโครงสร้างทุนนิยมในประเทศยากจนที่บิดเบี้ยว เพราะเหตุหลายประการ เช่น พึ่งพารัฐบาลมากเกินขนาด กดบทบาทของภาคประชาชนต่ำเกินไป ขาดสถาบันที่มีความหลากหลายและขาดธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้ยูนัสตัดสินใจสร้างระบบธุรกิจทุนนิยมรูปแบบใหม่

Chapter 2 Social Business : What It Is and What It Is Not

จำแนกประเภทต่างๆ ของธุรกิจเชิงสังคมออกมาซึ่งบางอย่างก็ผิดพลาด บางอย่างก็ไปได้ดีพร้อมด้วยบทเรียนที่เป็นจริงว่า อะไรควรกระทำ อะไรไม่ควรกระทำ เพื่อที่จะผสมผสานเป้าหมายทางสังคม เข้ากับการทำธุรกิจแบบจารีต โดยตั้งบนฐานความเชื่อมั่นว่า มนุษย์มีหลายมิติที่ต้องเรียนรู้กันและกัน

Part II : The Grameen Experiment

Chapter 3 The Microcredit Revolution

เล่าถึงบทเรียนจากข้อบกพร่องที่เป็นด้านมืดของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนจนที่ยูนัสได้เห็นก่อนตัดสินใจก่อตั้งธนาคารเพื่อคนจนขึ้นมา พร้อมด้วยอุปสรรคที่ขวางหน้าให้ต้องฝ่าฟันมากมาย แต่ด้วยความมั่งมั่นก็สามารถทะลุกรอบคิดออกมาได้พร้อมกับการค้นพบระบบไมโครเครดิตบนฐานรากของความเชื่อมั่นในลูกค้าที่เป็นคนยากจน กลายมาเป็นกฎ 16 ข้อของพนักงาน Grameen Bank ที่ยืดหยุ่น

Chapter 4 From Microcredit to Social Business

ว่าด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ของธนาคารภายใต้ไมโครเครดิต ซึ่งมุ่งตอบสนองความต้องการแบบจำเพาะในแต่ละกลุ่มลูกค้า และท้องถิ่นที่ต่างกัน กลายมาเป็นธุรกิจเชิงสังคมที่ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย โดยเฉพาะความสำเร็จในการสร้างลูกค้าให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆต่อเนื่องในหลากธุรกิจ รวมทั้งในธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจเพื่อสุขภาพ ถือเป็นการเปิดพรมแดนใหม่ๆ ตามความต้องการของลูกค้า

Chapter 5 The Battle against Poverty : Bangladesh and Beyond

การออกแบบใหม่ที่เหมาะสมเพื่อสร้างสถาบันสำหรับคนยากจนในการเพิ่มโอกาสในการดำรงชีวิตใหม่ๆ ผ่านไมโครเครดิต ในการต่อสู้กับความยากลำบากที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง การสร้างโปรแกรมทางธุรกิจใหม่ๆ เป็นการเพิ่มโอกาสที่ซื้ออนาคตได้อย่างดี โดยไม่ต้องหวังพึ่งเงินบริจาคที่หมดไปอย่างรวดเร็ว

Chapter 6 God Is in the Details

ว่าด้วยกระบวนการในการออกแบบสร้างลูกค้าเพื่อให้โครงการสินเชื่อสู่คนยากจนบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง การจัดชุมนุมระดมสมองเพื่อให้การศึกษา และสอบถามความต้องการ พร้อมกับการปล่อยสินเชื่ออย่างยืดหยุ่น ทำให้กระบวนการสร้างโอกาสและกระจายความมั่งคั่งเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ผลลัพธ์ที่สุดคือสูตรที่เหมาะสมในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ

Chapter 7 One Cup of Yogurt at a Time

กระบวนการสื่อสารกับลูกค้าด้วยผลิตภัณฑ์และวิธีการประชาสัมพันธ์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นใหม่ๆในการทำธุรกิจ โดยอาศัยบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติที่มีเทคโนโลยีการผลิตซึ่งสามารถทำให้คนยากจนเข้าใจได้ กลายเป็นรูปแบบที่ลึกซึ้งของธุรกิจเพื่อสังคมไปอย่างสอดคล้อง

Part III : A World Without Poverty

Chapter 8 Broadening the Marketplace

การเปิดตัวเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความสำเร็จร่วมกับผู้ที่สนใจจากแหล่งต่างๆ ทำให้ค้นพบนวัตกรรมใหม่พร้อมกันไปในตัว ซึ่งช่วยให้เกิดการประเมินโครงการใหม่ๆ มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ผลลัพธ์คือความฝันที่กลายเป็นจริง ในขณะที่ขนาดของตลาดใหญ่โตอย่างรวดเร็ว

Chapter 9 Information Technology, Globalization, and a Transformed World

การเรียนรู้พลวัตของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง คือการทำความเข้าใจ ไม่ใช่ต่อต้าน เพียงแต่ต้องรู้จักที่จะดัดแปลงมันให้เข้ากับวัตถุประสงค์หลักของธุรกิจในการให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงความรู้อย่างกว้างขวางและเท่าเทียมกันเท่านั้น

Chapter 10 Hazards of Prosperity

การรับมือกับความสำเร็จและอุปสรรคที่เป็นจริงของสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ด้วยการสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เหมาะสมเพื่อเป้าหมายสำคัญคือขจัดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการแย่งทรัพยากรที่นับวันจะขาดแคลน พร้อมไปกับการสร้างกลไกระวังการเติบโตที่ควบคุมไม่ได้

Chapter 11 Putting Poverty in Museums

ทัศนะส่วนตัวของ ผู้เขียนที่เชื่อว่าด้วยจินตนาการที่มุ่งมั่น มนุษย์สามารถจะเอาชนะอุปสรรคในการต่อสู้กับความยากจนได้ หากสามารถค้นหาก้าวย่างที่เป็นจริงและเหมาะสมในการบรรลุความใฝ่ฝัน



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us