Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Asian Mystique
ผู้เขียน: Sheridan Prasso
ผู้จัดพิมพ์: Public Affair
จำนวนหน้า: 437
ราคา: ฿631
buy this book

มุมมองของคนเอเชียในสายตาตะวันตก ยังคงเป็นจุดขายที่นำมากล่าวถึงกันได้เรื่อยๆ หนังสือหรือสารคดีเพื่อสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติของคนตะวันตกให้ถูกต้อง ผลิตขึ้นมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ในขณะที่หนังสือหรืองานที่หลอกขายเรื่อง "แปลกแต่จริง" ของคนตะวันตกก็ยังคงผลิตขึ้นมาหาเงินได้เรื่อยพร้อมกันไป

หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของฝ่ายแรก โดยผู้เขียนซึ่งมีประสบการณ์ใช้ชีวิตในสังคมเอเชีย ตระเวนทำข่าวในฐานะผู้ผลิตสารคดี และบทความ รวมทั้งข่าวเชิงวิพากษ์ในหลายประเทศของเอเชียมากกว่า 15 ปี จนเชื่อว่าตัวเองจะทำหน้าที่ให้คำอธิบายเรื่องราวต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้

สาระของหนังสือก็คือ การพยายามชี้ให้เห็นภาพที่แท้จริง เพื่อที่จะลบมายาคติที่ถูกปลอมแต่งขึ้นมาโดยชาวตะวันตกรุ่นเก่าๆ ที่ตกค้างในตะกอนความรับรู้ไม่เสื่อมคลาย โดยให้เหตุผลว่า ทำให้จิตที่มืดบอดของคนตะวันตกจะได้เปิดออกเสียที ถือเป็นหนังสือมุมมองเอเชียในสายตาตะวันตก เพื่อให้คนตะวันตกด้วยกันอ่านโดยเฉพาะ

แม้ความพยายามของผู้เขียน จะเปี่ยมด้วยความหวังดีแบบเดียวกับมนุษย์ถ้ำของพลาโตที่บังเอิญหลุดรอดออกมาพบ "สัขจะ" ภายนอกถ้ำ แต่ดูเหมือนว่าเป้ามายของผู้เขียนจะยังไม่บรรลุได้ดีนัก

ความพยายามสำรวจการตระหนักรู้ที่ผิดพลาดของคนตะวันตกที่มีต่อความลึกลับของเอเชีย เพื่อค้นหา "สำนึกที่หล่นหาย" เพื่อจะสร้างภาพ "สัจจะของเอเชีย" ขึ้นมา ค่อนข้างผิวเผินเกินไป เพราะอาศัยแค่กรณีศึกษาที่ไม่ลึกซึ้งเท่าใดนักของหญิงสาวเอเชียร่วมสมัยเป็นต้นแบบ โดยไม่พยายามเจาะลึกลงไปถึงรากเหง้าของทัศนคติที่แท้จริง ทำให้ได้แต่กระพี้มากกว่าแก่นของปมปัญหา

แม้ว่ากรณีศึกษาของผู้เขียนที่ยกมา จะสะท้อนความพยายามในการสร้างประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์หญิงเกอิชาหรืออดีตในญี่ปุ่น นักการเงินหญิงชาวจีนในฮ่องกงผู้แข็งขัน หญิงขายบริการในฟิลิปปินส์ และเอเชียอาคเนย์ฯ แต่ก็ยังไม่ถือว่าเพียงพอจนจุใจ เมื่อเทียบกับหัวเรื่องที่ตั้งประเด็นเอาไว้

จุดอ่อนด้อยอย่างมากของหนังสืออยู่ที่การกล่าวถึงภาพลักษณ์ของชายเอเชีย (โดยเฉพาะจีนกับญี่ปุ่น) ในมุมของภาพยนตร์ตะวันตก ซึ่งมีภาพลักษณ์ค่อนข้างลบมากเกินขนาด ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า นี่คือการแก้ต่างที่ประนีประนอมเกินจริง หรือการกล่าวถึงอย่างเสียไม่ได้ หรือเพราะผู้เขียนมือไม่ถึงในการใช้ทรัพยากรที่มีค่าเหล่านั้นเอาออกมาเป็นงานที่ดีขึ้น

สำหรับทัศนคติของชายตะวันตก ที่รู้สึกว่าตัวเองได้รับการปฏิบัติอย่างผู้ทรงเกียรติเมื่อเดินทางมายังเอเชีย เสมือนหนึ่งเป็นลอร์ด จิม หรือ อัลฟ่า เมย์ ตัวละครในภาพยนตร์ฮอลลีวูด ก็เป็นสิ่งที่กล่าวถึงได้อย่างตรงเป้า และชัดเจนอย่างดีทีเดียว

แม้จะมีจุดอ่อนให้เห็นอยู่บ้าง แต่หนังสือที่พยายามอย่างมากในการเชื่อมต่อความเข้าใจที่ถูกต้องของคนข้ามวัฒนธรรมอย่างนี้ ก็ถือเป็นหนังสือที่ควรอ่านเพื่อพิจารณาไม่น้อย เพราะในความแตกต่างอย่างมากนี้แหละ คือโอกาสที่นักการตลาด และนักการเงิน หรือนักการเมือง สามารถนำไปฉกฉวยใช้ประโยชน์ได้เสมอมา หากสามารถถอดรหัสได้เข้าใจและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในยามที่พลวัตของการเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นรวดเร็วตามกระแสโลกาภิวัตน์

รายละเอียดในหนังสือ
Part One : The Asian Mystique

ว่าด้วยการรับรู้ที่ทำให้เกิดทัศนคติแบบแฟนตาซีระหว่างคนเอเชียกับคนตะวันตก ซึ่งดูเหมือนว่าคนเอเชียนั้นตระหนักในความต่ำต้อยของตนเอง โดยเฉพาะเพศหญิงที่ปฏิบัติกับชายตะวันตกเหมือนราชา ในขณะที่คุณค่าอันหลากหลายของเอเชียก็ทำให้คนตะวันตกรู้สึกว่ามีความลึกลับแอบแฝงอยู่ตลอดเวลา

1. Mystery, Sex, Fear, and Desire : A Brief History งานเขียนทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชสำนักเก่าแก่ในเอเชีย ที่กล่าวถึงความขัดแย้งในตัวเองของเอเชียนับแต่ความประณีตของศิลปะ และความโหดร้ายที่คนในสังคมเอเชียปฏิบัติต่อกัน ตลอดจนวัฒนธรรมแปลกประหลาดซึ่งเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของยุคล่าอาณานิคม ได้กลายเป็นตราประทับความเป็นเอเชียที่ก่อให้เกิดมายาคติขึ้นมาได้ในกลุ่มชาวตะวันตก

2. Hollywood, Burbank, and the Resulting Imaginings ภาพลักษณ์เอเชียในสายตาที่ฮอลลีวูดใช้เป็นจุดขายเกี่ยวกับเอเชียที่ยาวนานหลายทศวรรษ ทำให้แม้จะมีมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น แต่ก็หนีไม่พ้นกรอบใหญ่ที่ตราตรึงต่อมาได้แก่ เอเชียมีสังคมที่ต่างชนชั้นกันรุนแรง ต่อต้านสิทธิสตรี กดศักยภาพของปัจเจกบุคคล พร้อมกับความสัมพันธ์ที่ไร้น้ำใจ สมาคมลับแบบมาเฟีย และกังฟู

3. Matters of Men and Country : The Incredible Lightness of Being Portrayed ภาพลักษณ์ผู้ชายเอเชียยิ่งถูกมองในเชิงลบจากสื่อต่างชาติมากกว่าหญิง เพราะหมายความถึงคนตัวเล็ก มีพฤติกรรมลับๆ ล่อๆ ก้าวร้าว ไร้หลักการด้อยความสามารถ และไร้เสน่ห์ดึงดูดใจหญิงให้พึงพอใจ ในขณะที่มุมมองของชาติในเอเชียที่สัมพันธ์กับตะวันตกนั้น ยังถูกตราประทับเรื่องของ "พี่น้องผิวสีน้ำตาลตัวเตี้ย" (หมายถึงชาติที่ด้อยพัฒนากว่าที่ต้องคอยดูแล) ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

4. "Race-ism," Fetish, and Fever แม้ตะวันตกจะมองคนเอเชียด้วยสายตาที่ต่างจากปมเรื่องเหยียดชาติพันธุ์หรือผิวสี แต่ก็ยังคงมองว่าเป็น "คนนอก" ไม่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าความนิยมของชายที่อยากแต่งงานกับหญิงเอเชียจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความกลัว "ไข้เหลือง" ก็ยังคงดำรงอยู่ในสังคมตะวันตกค่อนข้างเข้มข้น

Part Two : Ten People, Ten Colors
ความซับซ้อนของคุณค่าของสังคมเอเชีย เป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนตะวันตก โดยเฉพาะในยามที่วัฒนธรรมตะวันตกกำลังท่วมหลากเข้ามาสังคมเอเชียอย่างรุนแรง พร้อมกับคุณค่าทางสังคมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

5. The Real Memoirs of Geisha กรณีศึกษาชีวิตจริงของเกอิชาที่แตกต่างจากภาพลักษณ์ที่ปรากฏในโอเปร่า นวนิยาย หรือภาพยนตร์ตะวันตกอย่าง โจโจ้ซัง

6. The Other Side of Miss Saigon กรณีศึกษาชีวิตจริงของหญิงสาวเวียดนามในโฮจิมินห์ ซิตี้ ซึ่งแตกต่างจากชีวิตเชิงสัญลักษณ์ของหญิงสาวในนวนิยายเรื่อง Quiet American หรือ Miss Saigon เธอพบรักกับทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม แล้วแยกจากกัน โดยเผชิญชะตากรรมอย่างเข้มแข็ง

7. Glamour of the Skies, Sorority of Service ภาพลักษณ์ที่ถูกจงใจสร้างขึ้นมาเพื่อเป้าหมายทางการตลาดของสิงคโปร์แอร์ไลน์ ที่สร้าง "สาวสิงคโปร์" ซึ่งไม่มีตัวตนจริงในโลกจนโด่งดัง ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าต้องการดึงดูดให้คนตะวันตกมาใช้บริการสายการบินเป็นสำคัญ ซึ่งต่อมาสายการบินเอเชียอื่นๆ ก็เดินรอยตามและประสบความสำเร็จจากมายาคตินี้เช่นเดียวกัน

8. Screwing, Getting Screwed, and Getting Ahead ว่าด้วยการสำรวจทัศนคติของหญิงขายบริการทางเพศแก่ชาวตะวันตกในเอเชียหลายประเทศตามเมืองใหญ่ๆ ด้วยเหตุผลเรื่องเงินเป็นหลัก เพราะไม่สามารถเดินทางไปหารายได้ที่มากกว่าในต่างประเทศได้

9. Who's Playing Whom การแสดงบทบาทที่ผสมผสานของคนเอเชียที่ต้องสัมพันธ์กับคนตะวันตกอย่างใกล้ชิดกลายเป็นวัฒนธรรมแปลกปลอมจากอดีตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการแสดงออกทางเพศที่เปิดเผยขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นกระแสวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ปฏิเสธไม่ได้

10. China Doll, Dragon Lady ว่าด้วยทวิลักษณ์ของมุมมองตะวันตกกับหญิงเอเชีย ด้านหนึ่ง ในฐานะเครื่องเล่นทางเพศที่ไร้แรงต่อต้าน กับอีกด้านหนึ่งสตรีแกร่งที่ลึกลับยากจะเข้าถึง และความซับซ้อนนี้แหละคือเสน่ห์ที่ชวนให้คนตะวันตกอยากค้นหามากขึ้น

11. Power Women บทบาทของผู้หญิงเอเชียในฐานะช้างเท้าหน้าที่นับวันจะโดดเด่นมากยิ่งขึ้นในพลวัตของสังคมที่เป็นตะวันตกมากขึ้น พร้อมกับความเสมอภาคทางเพศที่เกิดขึ้นตามวิวัฒนาการทางสังคม โดยเฉพาะบทบาทในการดูแลอาณาจักรธุรกิจและการบริหารทุนที่แข็งขันยากจะปฏิเสธได้



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us