|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The Rise and Decline of Nations
ผู้เขียน: Mancur Olson Jr.
ผู้จัดพิมพ์: Yale University Press
จำนวนหน้า: 273
ราคา: ฿850
buy this book
|
|
|
|
ความรู้ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์สถาบัน หรือ institutional economics ไม่ค่อยเป็นที่สนใจของบ้านเรากันนัก แต่ในโลกของวงการนี้แล้ว โอลสัน จูเนียร์ ชาวอเมริกัน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตองอูเลยทีเดียว
หนังสือของโอลสันมีมุมมองที่น่าสนใจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มหภาคมักจะมองข้ามไปเสมอ นั่นคือ บทบาทของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรของสังคมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าสาธารณะบางอย่าง เช่น ป่าไม้ ที่ดินว่างเปล่า ถนน ฯลฯ ในขณะที่ยังเกี่ยวโยงไปถึงกระบวนการเก็บภาษีอากร การจัดผังเมืองและการใช้ประโยชน์จากที่ดินในเขตเมือง ตลอดจนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่
กุญแจสำคัญในมุมของโอลสันที่โดดเด่นมากคือเรื่องว่าด้วยการกระทำร่วม หรือ collective actions ของผู้คนในสังคม ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับสถาบันการใช้อำนาจหรือรัฐ ผลลัพธ์คือทำให้ทฤษฎีของเขามีลักษณะเป็นเศรษฐศาสตร์การเมืองมากกว่าเศรษฐศาสตร์ธรรมดา
กุญแจที่โอลสันพิจารณาก็คือ การกระทำของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่นั้น จะไม่อาศัยความสัมพันธ์ในรูปแบบสังคมจารีตในอดีต เช่น เครือญาติ หรือความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ เช่น เพื่อน หรือคนบ้านเรือนเคียงกัน แต่จะเป็นความสัมพันธ์เชิงสถาบันแบบเป็นทางการเป็นหลัก
ความสัมพันธ์แบบใหม่นี้ใช้เงื่อนไขสำคัญคือ เรื่องของแรงจูงใจในการเข้าเป็นสมาชิกเป็นสำคัญ แรงจูงใจนี้มีรากฐานจากความมีเหตุมีผลทางเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ ความเห็นแก่ตัว และผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก นั่นคือหากสมาชิกคนใดเสียประโยชน์จะถอนตัวออกมา แต่ถ้ายังมีประโยชน์ก็จะยังคงสร้างพฤติกรรมรวมหมู่ต่อไปได้
นั่นคือ แท้ที่จริงแล้วการกระทำร่วม คือ การที่ปัจเจกบุคคลเข้าร่วมกระทำเพื่อสร้างสินค้าส่วนตัวในรูปสินค้าสาธารณะเท่านั้น
จากมุมมองทางทฤษฎี ช่วยไขข้อข้องใจในเรื่องนโยบายสาธารณะต่างๆ ได้ดีว่า หากเราถือว่านักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกลุ่มพลังใดๆ ที่ชอบอ้างเหตุผลแห่งรัฐ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้วไซร้ ก็ให้ถือเสมือนว่าเป็นถ้อยคำที่ไร้ความหมาย เพราะความจริงแล้วเบื้องหลังคือความเห็นแก่ตัวธรรมดา
ชนชั้นนำ หรือกลุ่มจัดตั้งทางสังคมที่อ้างถึงคุณธรรม จริยธรรม และความปรารถนาดีทั้งหลาย เป็นอัตวิสัยที่เชื่อถือไม่ได้ ไม่ใช่ตัวแปรหรือปัจจัยที่นำมาคำนวณในการสร้างทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์การเมือง หรือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
หนังสือเล่มนี้ก็ตั้งบนพื้นฐานทฤษฎีดังกล่าว โดยเป็นการพยายามค้นหาแรงจูงใจจำเพาะของกลุ่มพลังที่มีส่วนในการกระทำร่วมที่แตกต่างกัน ซึ่งเรียกว่า “พันธมิตรที่เข้ายึดกุมอำนาจจัดสรรความมั่งคั่งของทรัพยากรทางสังคม”
ด้วยพื้นฐานดังกล่าว โอลสันสรุปว่า สังคมที่มีเสถียรภาพจะถูกทำลายลงไปทีละน้อยด้วยจำนวนของกลุ่มพันธมิตรที่ยื้อแย่งกันเข้ายึดกุมอำนาจรัฐเพื่อกลุ่มของตนเอง พร้อมกับปล่อยให้การเติบโตของความมั่งคั่งถดถอยลง เกิดปรากฎการณ์ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ และเกิดการแข็งขืนต่อการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสังคม พร้อมกับเป็นต้นกำเนิดของการว่างงานโดยไม่สมัครใจที่แก้ไม่ตก
ผลการศึกษาของโอลสันได้ทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักข้อเท็จจริงว่า การยอมให้สังคมถูกครอบงำโดยพันธมิตรที่เห็นแก่ตัวมากเกินไปดังกล่าว ทำให้พลวัตของสังคมถูกถ่วงให้เคลื่อนตัวช้าลง แม้จะไม่ถึงกับแน่นิ่งเหมือนระบบจารีต เช่น ระบบวรรณะของสังคมอินเดีย แต่ก็มีผลทำให้ศักยภาพในการสร้างความมั่งคั่งช้าลดทอนลงไป
ที่น่าสนใจก็คือ โอลสันพบว่าการขับเคลื่อนของสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้กลุ่มพันธมิตร “โจรพเนจร” (พวกอนาธิปัตย์) สูญเสียการยึดกุมอำนาจให้แก่ “โจรตั้งมั่น” และกลุ่มหลังนี้ต่อมาก็สูญเสียให้กับกลุ่มพลังประชาธิปไตย ซึ่งจำต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผลประโยชน์ส่วนตัวสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชน
มองจากมุมนี้ กลุ่มจัดตั้งของนักประชาธิปไตยทั้งหลาย ก็มีสภาพเสมือนหนึ่ง “โจรประชาธิปไตย” ดีๆ นี่เอง
มุมมองเช่นนี้ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความแปลกใหม่น่าจับต้องอย่างยิ่ง เพียงแต่คนอ่านต้องถอดรหัสนิยามของคำต่างๆ ที่โอลสันเขียนถึงเอาไว้ให้ชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็น “ยาขม” สำคัญของหนังสือดีเยี่ยมชิ้นนี้เลยทีเดียว
โดยเฉพาะในบทที่ 2 ซึ่งเป็นบทสำคัญอย่างมากของหนังสือนี้
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของหนังสือนี้ก็คือ ไม่มีสูตรหรือการคำนวณมากมายจนต้องปีนกระไดอ่าน
..............
รายละเอียดในหนังสือ
Chapter 1 The Questions, and the Standards a Satisfactory Answer Must Meet ปัญหาหลัก 3 ข้อ ของคำอธิบายในอดีตที่ใช้ตอบคำถามร่วมสมัยไม่ได้โดยเฉพาะเรื่องของ Stagflation นั่นคือ 1) เหตุใดกลไกรัฐที่มีอยู่จึงไม่สามารถรับมือกับภาวะดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิผล 2) เหตุใดสังคมจึงยอมให้มีแนวโน้มของโครงสร้างที่เปิดช่องให้องค์กรหรือครอบครัวขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ครอบงำกลไกลเศรษฐกิจได้ และ 3) เหตุใดโครงสร้างทางชนชั้นในบางสังคมจึงแข็งกระด้างไม่ยืดหยุ่นตัวมากกว่าสังคมอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ทางเลือกของสังคมในการใช้ทรัพยากรถูกบิดเบือน และไม่เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด
Chapter 2. The Logic กล่าวถึงกระบวนการของสังคมประชาธิปไตย ที่กลุ่มพลังต่างๆ ล้วนต้องการผลักภาระในการอุทิศตัวให้กับส่วนรวมภายใต้กรอบของแรงจูงใจจำเพาะเผื่อเลือก ซึ่งท้ายสุดนำไปสู่กระบวนการบิดเบือนทรัพยากร และการกระจายความมั่งคั่งทางสังคม และสร้างปรากฏการณ์ “คนกัดหมา” ซึ่งสะท้อนความไม่สม่ำเสมอของการจัดการทางสังคม เนื่องจากการคำนวณหาต้นทุนและผลตอบแทนของแต่ละกลุ่มคนทำได้ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะมวลชนส่วนใหญ่ที่ไม่มีการจัดตั้งที่ดีเพียงพออย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งมักจะเสียเปรียบกลุ่มอื่นๆ
Chapter 3. The Implications ประเด็นเรื่องต้นทุนของการต่อรองทางสังคม ทำให้เกิดความไร้ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรหรือสินค้าสาธารณะ สามารถหาข้อสรุปที่แยกย่อยออกได้ 9 ประเด็นคือ 1) ไม่เคยมีสังคมใดที่สามารถสร้างองค์กรต่อรองที่มีดุลยภาพกันได้ดีเพียงพอ 2) สังคมที่มีเสถียรภาพ มีแนวโน้มทำให้เกิดการฮั้วและกระจุกตัวทางเศรษฐกิจได้เข้มแข็งกว่าสังคมที่มีพลวัตสูง 3) กลุ่มชนในสังคมที่มีขนาดเล็กจะมีอำนาจต่อรองต่ำในการเรียกร้องผลประโยชน์ 4) กลุ่มองค์กรจัดตั้งที่มีผลประโยชน์จำเพาะและฮั้วกันจะลดทอนประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรและความมั่งคั่งของสังคมลงอย่างเห็นได้ชัด 5) องค์กรที่สามารถโอบล้อมสังคมได้ จะสามารถสร้างแรงจูงใจทั้งในการขับเคลื่อนความก้าวหน้า และจัดสรรทรัพยากรใหม่ได้เข้มแข็งกว่าองค์กรเดิมที่มีอยู่ 6) กลุ่มพันธมิตรในการจัดสรรทรัพยากร แม้จะเคลื่อนตัวช้าในการตัดสินใจ แต่จะมีวาระทางสังคมโดยรวมดีกว่า และมีอำนาจต่อรองมากกว่ากลุ่มอื่นๆ 7) กลุ่มพันธมิตรในการจัดสรรทรัพยากรนี้มีส่วนทำให้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการจัดสรรทรัพยากรใหม่ๆ ของสังคมช้าลง แถมยังทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงด้วย 8) กลุ่มพันธมิตรในการจัดสรรทรัพยากร จะสร้างขีดจำกัดให้กับความหลายหลายของรายได้ และคุณค่าทางสังคม 9) การสั่งสมกำลังของกลุ่มพันธมิตรในการจัดสรรทรัพยากรจะเกิดขึ้นอย่างซับซ้อนผ่านกติกา และอำนาจรัฐตามวิวัฒนาการของสังคม
Chapter 4. The Developed Democracies Since World War พัฒนาการของการสร้างองค์กรประชาธิปไตยในยุโรปที่ประสบความสำเร็จในการสร้างกลไกโอบล้อมสังคม เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการจัดสรรความมั่งคั่งที่สอดรับกับความต้องการร่วมของคนส่วนใหญ่ ช่วยยืนยันทฤษฎีที่ว่า ผู้ที่เข้าร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรทางสังคมนั้น ล้วนทำไปเพราะแรงจูงใจด้านผลประโยชน์ส่วนตัวของตนและกลุ่ม ที่มุ่งมั่นมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และเมื่อใดที่กลุ่มนี้ถูกกีดกันออกไป ก็จะทำให้แรงขับเคลื่อนสร้างความมั่งคั่งโดยรวมถดถอยลงไป เพราะว่ากลุ่มพลังอื่นๆ ในพันธมิตรจะแย่งชิงการนำ ซึ่งท้ายสุดจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมลดลง
Chapter 5. Jurisdictional Integration and Foreign Trade ข้อมูลเชิงปริมาณที่ช่วยตอกย้ำเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสถาบันเชิงนิติธรรมของสังคม ที่เรียกว่า บูรณาการทางด้านนิติธรรม มีความสำคัญมากกว่าการขยายตัวของปริมาณการค้าระหว่างประเทศ ในการสร้างความมั่งคั่งของสังคม-เศรษฐกิจโดยรวม เพราะได้แผ้วถางทางใหม่ให้กับนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมกับพลวัตของชนชั้นล่างในสังคมอย่างมาก ที่สำคัญทำให้เกิดชุมชนเมืองขนาดใหญ่ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งและคมนาคมระหว่างกันมีแนวโน้มต่ำลง
Chapter 6. Inequality, Discrimination, and Development บทบาทของกลุ่มพันธมิตรในการจัดสรรทรัพยากรที่แย่งชิงการนำในสังคม แม้จะมีลักษณะขัดแย้งภายในตัวเอง และก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การเลือกปฏิบัติ ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบาด “นโยบายไร้เหตุผล” แต่ก็เป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจพร้อมกันไป ได้ยืนยันให้เห็นชัดว่า ปัญหาเรื่องสถาบันหรือโครงสร้างชั้นบนนั่นแหละคือปัจจัยหลักที่ชี้ขาดความรุ่งเรืองหรือถดถอยของความมั่งคั่งทางสังคมโดยรวม โดยเฉพาะในประเทศยากจนทั้งหลาย ซึ่งการค้าเสรีระหว่างประเทศไม่สามารถช่วยได้มากนัก
Chapter 7. Stagflation, Unemployment, and Business Cycles: An Evolutionary Approach to Macroeconomics ว่าด้วยข้อโต้แย้งทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ 2 เสาหลักที่ต่อสู้กัน ระหว่างสำนักการเงิน (เหตุผลนิยม) กับสำนักเคนส์ที่เน้นกระตุ้นอุปสงค์รวมของกลไกเศรษฐกิจ ในการรับมือกับปัญหาใหญ่ร่วมสมัยของโลกทุนนิยมปัจจุบัน ได้แก่ เรื่อง Stagflation หรือ การว่างงานโดยไม่สมัครใจ และวงจรธุรกิจที่ผันผวน
|
|
|
|