|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
เอเชียตะวันออกยุคใหม่
ผู้เขียน: John K. Fairbank, Edwin O. Reischauer, Albret M. Craig
ผู้จัดพิมพ์: มูลนิธิโครงการตำราฯ
จำนวนหน้า: 1,033
ราคา: ฿1,700
buy this book
|
|
|
|
หนังสือเล่มนี้พิมพ์เป็นครั้งที่สามในสำนวนแปลของไทย หลังจากที่พิมพ์ครั้งสุดท้ายเมื่อ 24 ปีก่อน แต่ว่าพิมพ์ใหม่คราวนี้ ผู้อุปถัมภ์ทางการเงินคือ มูลนิธิโตโยต้าจะเอาใจขึ้นทำให้รูปเล่มที่เคยแบ่งออกเป็น 4 เล่มของเดิม ย่นย่อลงมาเหลือ 2 เล่ม ชุดมีการจัดทำเป็นปกแข็งสวยงามขึ้น ทำให้มีราคาจำหน่ายแพงขึ้นโดยไม่จำเป็นเช่นกัน
แฟร์แบงก์และไรชาวเออร์นั้นเป็นนักประวัติศาสตร์รุ่นเก่า เสียชีวิตไปนานแล้ว โดยคนแรกเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน มีหนังสือประวัติศาสตร์จีนหลายเล่มที่บุกเบิกเรื่องจีนศึกษา เพียงแต่ไม่ยิ่งใหญ่หรือสร้างเป็นทฤษฎีน่าทึ่งเท่ากับโจเซฟ นีดแฮมของอังกฤษ (เจ้าของทฤษฎี Grand Theory อันโด่งดัง) ส่วนคนหลังนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องญี่ปุ่นลึกซึ้ง แถมยังเคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่นอยู่ช่วงหนึ่งอีกด้วย มีหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่นออกมาหลายเล่ม เข้าข่ายคลาสสิกเช่นกัน
มาครั้งนี้จับมือรวมเล่มกันโดยอาศัยความถนัดของแต่ละคน แต่ดูเหมือนจะเกรงอกเกรงใจกันมากทีเดียวจนกระทั่งทำให้หนังสือมีเนื้อหาแต่ละบทกระโดดไปมา ซึ่งหากแยกออกมาจะทำได้ดีกว่ารวมกัน
สาระของหนังสือเล่มนี้เป็นไปตามแบบแผนของนักประวัติศาสตร์เชิงอรรถาธิบาย (descriptive historian) นั่นคือ เอาเนื้อหารายละเอียดที่สำคัญในประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน โดยเรียงลำดับเหตุการณ์ตามห้วงเวลาในรูปแบบอะนาล็อก ซึ่งแตกต่างจากนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังๆ ที่มักจะนำเอาแนวคิดเชิงสังคมศาสตร์อื่นๆ มาประยุกต์ โดยเรียงเนื้อหาตามประเด็นที่ต้องการหาคำตอบ (content-oreinted historian)
การอ่านหนังสือเล่มนี้ผู้อ่านต้องเข้าใจกรอบวิธีคิดของผู้เขียนประกอบไปด้วยว่า หนังสือประวัติศาสตร์ทำนองนี้อ่านไปได้เรื่อยๆ เหมือนคนที่สังเกตการณ์อยู่วงนอก ไม่มีส่วนร่วมมากนัก เข้าข่ายที่ภาษิตจีนเรียกว่า "ขี่ม้า ชมสวน" นั่นเอง หาความลึกซึ้งไม่ได้มากมายนัก
เพียงแต่เมื่อดูจากต้นฉบับภาษาอังกฤษแล้วก็เข้าใจได้ว่า เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น เพราะได้มีการเกริ่นนำกันตั้งแต่ต้นว่า หนังสือเล่มนี้ต้องการให้นักเรียนมัธยมต้นหรือปลายของตะวันตกอ่านกัน เพื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับรากเหง้าการเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออก เพื่อให้สืบค้นให้ลึกซึ้งกว่าในงานอื่นๆ ต่อไป
ประเด็นที่ผู้เขียนทั้งสามคนต้องการย้ำให้เห็นก็คือ การเข้ามาของชาติตะวันตกและวัฒนธรรมตะวันตก ในฐานะพลังจากภายนอก ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออาณาจักรและสังคมจารีตของเอเชียตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ และสังคมปิดที่อยู่ชายขอบอย่างมองโกเลีย ซินเจียง หรือทิเบต มากเพียงใด และทำให้รัฐและสังคมจารีตต้องล่มสลาย หรือปรับตัวอย่างไรบ้าง
ขณะเดียวกันในการปรับตัวเหล่านี้ รัฐหรือสังคมของเอเชียตะวันออกก็ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของอำนาจทางการเมืองและทางทหารในโลกอย่างไรบ้าง โดยตัวอย่างสำคัญคือ กรณีของญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จเร็วเกินคาดในการปรับตัวให้ทันสมัยตามรอยตะวันตก จนกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางทหารช่วงเวลาหนึ่ง จนเป็นต้นเหตุของสงครามมหาเอเชียบูรพา
การเน้นไปที่บทบาทอันสูงยิ่งของพลังรุกของชาติและวัฒนธรรมตะวันตกแม้จะไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ก็ทำให้เกิดการ "ดูเบา" กับพลังภายในของสังคมเอเชียตะวันออกที่สั่งสมแรงปะทุรอวันสำหรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ก่อนแล้วอย่างเห็นได้ชัด เสมือนหนึ่งว่า สังคมเอเชียทั้งหลายที่กล่าวถึงล้วนแต่ "ถูกกระทำ" แต่ฝ่ายเดียว ซึ่งหาได้เป็นความจริงแต่อย่างใดไม่
ความจริงแล้ว สังคมจารีตทุกสังคม ล้วนแล้วแต่มีปัญหาและความขัดแย้งในตัวเองเพื่อรอการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เพียงแต่ปัจจัยภายนอกถือเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญทำให้ตัวแปรภายในได้ระบายพลังออกมาตามที่ควรจะเป็น ทั้งการทำลายล้างและสร้างสรรค์
ตัวอย่างที่โดดเด่นก็คือ กลุ่มขุนนางไดเมียวของญี่ปุ่นที่สะสมแรงไม่พอใจและต่อต้านตระกูลโตกุกาว่ามายาวนาน ได้ถือโอกาสจากการเพลี่ยงพล้ำต่อตะวันตก ทำการเคลื่อนไหวโค่นล้มระบบขุนนางเก่าลงไป พร้อมกับสร้างมิติใหม่ของการปฏิรูปสังคมให้เป็นแบบตะวันตก โดยอาศัยปัจจัยภายในที่รองรับการเข้าสู่วิถีการผลิตแบบอุตสาหกรรมอยู่เดิมให้เป็นพลังใหม่ขึ้นมา แต่ก็ยังหนีไม่พ้นกรอบจำกัดโครงสร้างอำนาจที่ถูกสร้างมาใหม่ ทำให้กองทัพหยิบฉวยประโยชน์ตั้งตัวขึ้นเป็นรัฐฟาสซิสต์ใหม่จนนำชาติไปสู่สงครามอย่างไร้แรงต้าน
อีกมุมหนึ่งนั้น การสร้างอาณานิคมของตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ การทำลายรากวัฒนธรรมของสังคมเดิม และไม่ได้สร้างสังคมใหม่ที่ดีเพียงพอขึ้นมารองรับ ผลลัพธ์ก็คือ สังคมของชาติอาณานิคมเหล่านี้ในภายหลัง จึงเกิดสภาพ"แตกกระจายไม่มีชิ้นดี" มาจนถึงปัจจุบัน
แน่นอนว่าจุดอ่อนเหล่านี้ไม่ได้ทำให้งานระดับมหึมาของนักประวัติศาสตร์อเมริกันทั้งสามคนเสียหายมากนัก เพราะจุดอ่อนเหล่านี้แหละทำให้เกิดช่องว่างสำหรับนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังๆ ต่อมาได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดทางปัญญาขึ้นมาใหม่ที่ลึกซึ้งกว่าเดิม เนื่องจากประวัติศาสตร์นั้นคือข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อการคิดต่อยอดปัญญาเพิ่มเติมอยู่แล้ว
จุดอ่อนที่น่าจะเป็นของทีมผู้แปลหนังสือเล่มนี้ ทั้งที่ได้เกริ่นนำไปว่า ได้ปรับปรุงแก้ไขไปอย่างมากแล้ว ก็คงเป็นเรื่องชื่อต่างๆ ของบุคคล สถานที่ หรือเมือง ซึ่งในปัจจุบันสามารถที่จะใช้เรียกอย่างถูกต้องได้ไม่ยาก แต่ก็ยังมีให้เห็นเกลื่อนไปหมด ซึ่งถือว่าน่าเสียดายอย่างยิ่งกับความพยายามที่ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ
สำหรับคนที่สนใจหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในเรื่องประเด็น หรือรายละเอียด ปัจจุบันสามารถหาอ่านได้เบื้องต้นจาก wikipedia.org แบบฟรีๆ อยู่แล้ว หากจะให้ลึกซึ้งมากขึ้นก็ต้องติดตามทฤษฎีของโจเซฟ นีดแฮม ที่สรุปอย่างฟันธงเลยว่า ความเสื่อมสลายและชะงักงันกะทันหันของวิทยาการของจีนในอดีตนั้นมาจากการเฟื่องฟูของลัทธิเต๋า ที่มีกรอบคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ
รายละเอียดในหนังสือ
บทที่ 1 ชาวยุโรปมายังทวีปเอเชีย ว่าด้วยการปะทะกันทางวัฒนธรรมแบบจารีตของเอเชียแปซิฟิก นับแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นอันมาจากการเข้ามาของเทคโนโลยีการเดินเรือ และอาวุธสมัยใหม่ของยุโรป นำโดยโปรตุเกสและสเปน โดยเฉพาะการรุกเข้ามาพร้อมกันสองด้านทั้งการค้าและศาสนาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างสังคมเก่าในเอเชียอย่างรุนแรงและรอบด้าน
บทที่ 2 การบุกรุกและการจลาจลในประเทศจีน ว่าด้วยการแข็งขืนต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม-วัฒนธรรม-การเมืองจีนที่มีต่อการเข้ามาของตะวันตก จนกระทั่งได้รับความเสียหาย หลังจากพ่ายสงครามฝิ่นเป็นต้นมา แม้จะมีความพยายามปฏิรูปหลายครั้งภายใต้กรอบ "เปิดประตู แต่ปิดตา" แต่ก็สายเกินไปที่จะรับมือโดยไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น
บทที่ 3 ญี่ปุ่นตอบโต้อิทธิพลตะวันตก กระบวนการตอบโต้วัฒนธรรมต่างชาติที่แปลกของญี่ปุ่น ซึ่งใช้วิธีการรวบอำนาจสู่ส่วนกลาง ปฏิรูปสังคมภายในเสียใหม่ และปิดประเทศค้ากับต่างชาติภายใต้กรอบนโยบาย "ปิดประตู แต่เปิดตา" แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถเลี่ยงพ้นเมื่อกองเรือของสหรัฐฯ ที่มีแสนยานุภาพเหนือกว่ามาก มาบีบบังคับให้เปิดประเทศจนได้
บทที่ 4 ความเจริญของญี่ปุ่นสมัยเมจิ ว่าด้วยเหตุและผลของ การเปลี่ยนประเทศด้วยกระบวนทัศน์ปรับให้ทันสมัยแบบตะวันตกอย่างจริงจังและรอบด้านในสมัยเมจิที่เป็นรากฐานให้สังคมจารีตเดิมล่มสลายและเข้าสู่ยุคใหม่พร้อมกับกระโจนเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด
บทที่ 5 ปฏิกิริยาของจีนต่ออิทธิพลตะวันตก ว่าด้วยความล้มเหลวของจีนในการรับมือการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยอย่างเชื่องช้า ซึ่งตามมาด้วยความวุ่นวาย สงครามกลางเมือง และความอ่อนแออย่างถึงที่สุดเมื่อย่างเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20
บทที่ 6 เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคจักรวรรดินิยม ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สมดุลของอาณาจักรจารีตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทำให้ส่วนใหญ่ของอาณาจักรเดิมต้องตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก พร้อมกับถูกบังคับให้ปรับตัวทันสมัยแบบตะวันตกอย่างไม่มีทางเลือกอื่นใด
บทที่ 7 จักรวรรดิญี่ปุ่น : จากชัยชนะไปสู่หายนะ ผลพวงของการปฏิรูปเมจิ และการเถลิงขึ้นสู่อำนาจของกองทัพ ที่ชักนำให้ชาติอุตสาหกรรมใหม่ต้องกลายสภาพเป็นนักล่าอาณานิคมแบบเดียวกับตะวันตกภายใต้การปกครองภายในแบบฟาสซิสต์นิยมทหารเต็มรูป และนำประเทศเข้าสู่สงครามอย่างไม่มีทางเลือก
บทที่ 8 กำเนิดของสาธารณรัฐจีน เมื่อไม่มีทางเลือกสำหรับการปฏิรูป แรงขับเคลื่อนสังคมก็ทำให้จีนตกอยู่ในกำมือของนักปฏิวัติที่ต้องการสร้างสังคมใหม่แบบตะวันตก พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากทั่วด้าน ซึ่งทำให้สังคมแตกร้าวและวุ่นวายกับความปั่นป่วนภายใน จนกระทั่งอ่อนแอไม่สามารถต่อกรกับกองทัพญี่ปุ่นผู้รุกรานได้ดีพอ
บทที่ 9 ลัทธิอาณานิคมและลัทธิชาตินิยมในอาณาบริเวณรอบนอกเอเชียตะวันออก ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของอาณาจักรและอาณานิคมอื่นๆ ที่อยู่ชายขอบของจีนและญี่ปุ่น ทั้งที่อยู่ภายใต้อาณานิคม และในแผ่นดินที่เคยปิดตัวเองอย่างมองโกเลีย ทิเบต หรือเกาหลี ซึ่งล้วนแล้วแต่ถูกกระแสปรับให้เป็นตะวันตกก้าวล่วงเข้าไปอย่างหนีไม่พ้น
บทที่ 10 เอเชียตะวันออกในโลกนานาชาติ ผลพวงของสงครามเอเชียบูรพาที่นำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งมาสู่เอเชียตะวันออก พร้อมกับการปรากฏตัวของรูปแบบการปกครองสังคมนิยมในจีน และการเข้าสู่ยุคสงครามเย็นที่ทำให้เอกภาพของเอเชียตะวันออกเกิดขึ้นไม่ได้ (รวมทั้งการแบ่งแยกเกาหลี และเวียดนาม)
|
|
|
|