Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Old Money
ผู้เขียน: Nelson W. Aldrich, Jr.
ผู้จัดพิมพ์: Alworth Press
จำนวนหน้า: 309
ราคา: ฿750
buy this book

ความซ่าจนหยดสุดท้ายของปารีส ฮิลตัน ทายาทเศรษฐีเจ้าของโรงแรมระดับโลก ซึ่งอยากเป็นดาราและศิลปินจนเกินงาม ที่เป็นข่าวอื้อฉาวได้ตลอดหลายปีนี้ ทำให้คำถามเกี่ยวกับคนหนุ่มสาวที่คาบช้อนเงินช้อนทองออกมาตั้งแต่กำเนิด แล้วทำอะไรไม่เป็น กลายเป็นปมประเด็นทางจิตวิทยา และสังคมวิทยาที่เหมาะกับการขุดค้นออกมาตีแผ่ยิ่งนัก

หนังสือเล่มนี้ก็มีเป้าหมายเช่นกัน และดูเหมือนจะทำได้ดีกว่าปกติ แม้ว่ากรอบของการศึกษาจะจำกัดเฉพาะในสังคมอเมริกันเป็นหลัก แต่ก็ไม่น่าเป็นข้อบกพร่อง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ความร่ำรวยของเศรษฐีอเมริกันนั้น มหึมาเพียงใด

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นแต่ตัวผู้เขียน ซึ่งเป็นคนที่เคยอยู่ในแวดวงและมีรากเหง้าของ "เศรษฐีเก่า" ที่สืบสาแหรกได้ยาวนานพอสมควร แถมยังมีคนในครอบครัวเคยเป็นทั้งนักการเมืองและมืออาชีพ หรือผู้ประกอบการในแวดวงไฮโซของอเมริกันมาแล้ว จึงสามารถใช้ถ้อยคำแบบลงลึกด้วยความเข้าใจถึงพฤติกรรมแบบคนวงในได้ถึงพริกถึงขิงทีเดียว

สาระของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การทำความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมบางประการซึ่งคนนอกอาจจะมองข้ามไป และก้าวข้ามเส้นวิจารณ์แบบสื่อมวลชนที่มักจะมองอย่างผิวเผินเกี่ยวกับพฤติกรรมประหลาดของบรรดาลูกเศรษฐีเก่า ที่มักจะถูกมองอย่างน่าสมเพชว่า ต้องแบกรับภารกิจของครอบครัวที่เกินตัวตั้งแต่เยาว์วัย แล้วประสบปัญหาทางด้านอารมณ์ และบุคลิกภาพจนชีวิตเสียศูนย์ เพราะไม่เข้าใจว่าจะรับมือกับความมั่งคั่งที่เกินตัวสักเพียงใด

หนังสือพยายามหลีกเลี่ยงการมองโลกในแง่ร้ายแบบอัลเฟรด โนเบล เจ้าของรางวัลโนเบลชาวสวีดิช ที่เคยบอกเอาไว้ว่า การยกมรดกมหาศาลให้ลูกหลาน นอกเหนือจากการให้การศึกษาและความรู้ที่จำเป็น คือการทำร้ายทายาทของตนเองอย่างไม่เจตนา เพราะทำให้พวกเขาเกียจคร้าน และขาดแรงจูงใจในการต่อสู้กับอุปสรรคของชีวิต

ประเด็นที่ท้าทายลูกหลานของเศรษฐีเก่าทั้งหลายก็คือ พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับสภาพ "ไม่เหมือนใคร" มาตั้งแต่กำเนิด แต่การดำรงสภาพชีวิตแบบไม่เหมือนใครนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย เต็มไปด้วยแรงกดดันมหาศาลรอบด้าน ทั้งจากความคาดหวังของบรรพชนในครอบครัว ความคาดหวังของสังคม และความคาดหวังของชนชั้นเดียวกัน

เคยมีนักปราชญ์จีนกล่าวเอาไว้ว่า ความมั่งคั่งของครอบครัว จะสูญสิ้นภายใน 3 ชั่วคน แต่นักคิดตะวันตกอย่างโธมัส มานน์ กลับเขียนเอาไว้เป็นทฤษฎีว่า ความมั่งคั่งจะกินเวลาไม่เกิน 4 ชั่วอายุคน ซึ่งเรื่องนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของบรรดาเศรษฐีเก่าทั้งหลาย ซึ่งต้องดิ้นรนหาทางหลุดออกจากความเชื่อที่ไม่มีข้อพิสูจน์ดังกล่าวให้ได้

บางคนก็สำเร็จ บางคนก็ล้มเหลว

หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นรากเหง้าและความจำเป็นของชนชั้นเศรษฐีเก่าอเมริกัน ที่เกิดจากความวิตกกังวลในเรื่องถ่ายโอนความร่ำรวยจากรุ่นก่อตั้งครอบครัว ซึ่งสร้างความร่ำรวยส่วนตัวจาก "ความฝันแบบอเมริกัน" และสร้างอุดมคติที่เป็นต้นแบบขึ้นมาให้เดินตาม

เจตนารมณ์ดังกล่าวทำให้พวกเขาต้องแสดงละครตีสองหน้าในหลายๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องของการมีชื่อปรากฏในสื่ออยู่ต่อเนื่องโดยไม่ตกเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ การแสดงความร่ำรวยที่ไม่อวดรวย และการแสดงอำนาจ โดยไม่ต้องโอ้อวดอำนาจ และที่สำคัญสุดคือ พวกเขาต้องไม่ประกอบอาชีพที่สังคมถือว่าไร้เกียรติ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาจำต้องเลือกที่จะเป็นนักธุรกิจในธุรกิจที่มีลักษณะกึ่งผูกขาด ซึ่งเป็นที่มาของคำกล่าวหา จากสื่อมวลชนว่า เป็นพวกเศรษฐีนักปล้น หรือนายทุนสามานย์

บททดสอบสำคัญที่จะบ่งบอกว่า ทายาทของเศรษฐีเก่าที่ประสบความสำเร็จตามแบบแผนอเมริกันนั้น ประกอบด้วยปัจจัย 3 ประการ คือ การศึกษาและสถานศึกษา ท่าทีต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยเฉพาะปรัชญาของเดวิด ธอโร และเฮอร์แมน เมลวิลล์ และท้ายสุด การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคม เช่น ร่วมสงคราม หรือเข้าช่วยเหลือทุพภิกขภัย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ยืนยันว่า การดำรงชีวิตของเศรษฐีเก่านั้น จำต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนความมั่งคั่งทางการเงินและวัตถุ ให้กลายเป็นความมั่งคั่งทางสังคม เพื่อให้ครบแปดสาแหรกมิให้บกพร่อง ซึ่งมีส่วนทำให้สถานภาพทางสังคม มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับผดุงความสำเร็จในอดีตให้ยาวนานออกไปเท่าที่กระทำได้ พร้อมกับสร้างจารีตใหม่ที่กระตุ้นให้ทายาทรุ่นต่อๆ ไปตระหนักถึงความจำเป็น เพื่อปกป้องมิให้สัญชาตญาณแห่งทำลายตัวเองเข้ามาครอบงำมากจนนำไปสู่ความล่มสลายของความมั่งคั่งและสถานภาพในที่สุด

แล้วหากจะให้รุ่งโรจน์สุดๆ ก็อาจจะแถมพ่วงด้วยการก้าวไปให้ไกลมากขึ้น ด้วยการเข้าสู่วงการเมือง แบบที่ธีโอดอร์ รุสเวลท์ และจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เคยทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ อาจจะไม่ถูกใจพวกนักคิดแบบสังคมนิยม หรือต่อต้านทุน แต่หากอ่านด้วยความต้องการเข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์อีกหนึ่งชนชั้นที่มีบทบาทสำคัญในโลกทุนนิยมแบบอเมริกัน ก็จะทำให้เราได้ข้อคิดอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับการเข้าถึงสังคมมนุษย์

อย่างน้อยบางครั้งก็เพื่อจะได้ตระหนัก หรือซึมซับว่าชนทุกชั้นล้วนมีสุขและทุกข์ของตนเองแทรกอยู่ตลอดเวลา ต่างกันที่รายละเอียดและต้นทุนของทรัพยากรทางสังคมที่ใช้ไป

เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับคนที่อยากเข้าถึงธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ด้วยความหยั่งรู้ และเมตตาธรรมอย่างแท้จริง แม้จะไม่ได้ชื่นชม หรือกล่าวหากันสุดขั้วเหมือนหนังสือโฆษณาชวนเชื่อทั่วๆ ไป

รายละเอียดในหนังสือ

Chapter 1. My Founding Father ความวิตกกังวลในเรื่องถ่ายโอนความร่ำรวยของเศรษฐีอเมริกันรุ่นก่อตั้งครอบครัว ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "ความฝันแบบอเมริกัน" ที่กลายมาเป็นอุดมคติของคนรวยในการสร้างค่านิยมให้บุตรหลานเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการต่อยอดความมั่งคั่งให้ยาวนานที่สุด เป็นที่มาของวัฒนธรรมชนชั้นมหาเศรษฐีเก่าอเมริกัน

Chapter 2. The Composition of Old Money พฤติกรรมของเศรษฐีรุ่นรับมรดกตกทอดที่ต้องแบกรับภารกิจ ซึ่งตนไม่ได้ก่อขึ้นต่อไป โดยมีโจทย์หลัก 2 เรื่องคือ ความมั่งคั่ง และเวลา ซึ่งทั้งสองอย่างล้วนเป็นคำนามธรรม แต่เป็นข้อสรุปที่มีรากฐานรูปธรรมรองรับ ผลลัพธ์ก็คือ เศรษฐีอเมริกันรุ่นรับมรดกตกทอด กลายเป็นสาวกของลัทธิอนุรักษนิยมใหม่กันอย่างไม่มีทางเลือกอื่น นั่นคือ ด้านหนึ่งแสวงหาโอกาสในการสร้างความมั่งคั่งจากตลาดใหม่ๆ อีกด้านหนึ่งต้องลงทุนสร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มผลประโยชน์อนุรักษนิยมที่ครอบงำเศรษฐกิจของประเทศซึ่งถือเป็นความมั่งคั่งทางสังคมของเศรษฐีเก่า ที่ต้องจ่ายแม้จะมีต้นทุนสูง เพื่อสร้างหลักประกันในเรื่องความมั่นคงทางจิตวิญญาณในระยะยาว

Chapter 3. Class Acts ว่าด้วยรายละเอียดของพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของชนชั้นเศรษฐีเก่าที่ปัจเจกต้องทำตัวให้สอดคล้องกลมกลืนกับพื้นที่ทางสังคมเพื่อเปลี่ยนเลือดสีแดงให้กลายเป็น "เลือดสีน้ำเงิน" หากไม่ต้องการถูกโดดเดี่ยวและแปลกแยก กล่าวคือ ด้านหนึ่งต้องแสวงหาช่องทางประสบความสำเร็จในงานอาชีพ และอีกด้านหนึ่ง ต้องรักษาความต่อเนื่องของสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เอาไว้ให้ยืนยาว

Chapter 4. The Revenge of Market Man กระบวนการรุกเข้ามาของเศรษฐีใหม่ ไม่เพียงแต่ทำให้เศรษฐีเก่าได้รับความเสียหายทางด้านความมั่งคั่งเท่านั้น แต่การป้องกัน และดูดกลืนเศรษฐีใหม่ให้กลายเป็นเศรษฐีเก่าครั้งใหม่ ก็เป็นภารกิจอันใหญ่หลวงในการป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เสียสถานภาพทางสังคม เพื่อดำรงสภาวะ "เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ"

Chapter 5. Three Ordeals บททดสอบสำคัญสามประการที่จำแนกชนชั้นเศรษฐีอเมริกันเก่าออกจากเศรษฐีใหม่ คือ

1) การศึกษาและสถานศึกษา เพื่อกล่อมเกลานิสัยไม่ให้หยาบกระด้าง และเข้าใจมารยาททางสังคม
2) ท่าทีต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติว่าสำคัญกว่าอารยธรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะปรัชญาของเดวิด ธอโร และเฮอร์แมน เมลวิลล์
3) การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในห้วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคม อาทิ สงคราม การเสียสละเพื่อชาติ คนยากไร้ และสังคมยามเศรษฐกิจผันผวน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ได้อย่างเดิมหลังจากห้วงเวลาดังกล่าว

Chapter 6. Hazards of Old Fortunes ภารกิจสองด้านในเวลาเดียวกันของเศรษฐีเก่า ทำให้พวกเขาต้องแสดงละครตีสองหน้าในหลายๆ ด้าน รวมทั้งเรื่องของการมีชื่อปรากฏในสื่ออยู่ต่อเนื่องโดยไม่ตกเป็นพาดหัวข่าวใหญ่ การแสดงความร่ำรวยที่ไม่อวดรวย และการแสดงอำนาจ โดยไม่ต้องโอ้อวดอำนาจ ซึ่งพฤติกรรมเสแสร้งนี้ ทำให้พวกเขาใกล้ชิดกับพวกศักดินายุโรปในอดีต แต่ที่สำคัญสุดคือ พวกเขาต้องไม่ประกอบอาชีพที่สังคมถือว่าไร้เกียรติ ผลลัพธ์คือพวกเขามักจะมุ่งสู่ธุรกิจกึ่งผูกขาดเสียเป็นส่วนใหญ่

Chapter 7. The Prince and the People บทเรียนจากประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงเศรษฐกิจผันผวนของอเมริกาบอกให้รู้ว่า การรักษาดุลระหว่างศักดิ์ศรีของตนเอง และการอยู่ร่วมกับสังคม เป็นพรสวรรค์และพรแสวงที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับชนชั้นเศรษฐีเก่า เพื่อป้องกันการถูกโจมตีจากกลุ่มเศรษฐีใหม่และนักการเมืองประชานิยมทั้งหลายที่พุ่งเป้ามาที่กลุ่มนี้ก่อนใคร

Chapter 8. Hemingway's Curse ว่าด้วยกระบวนการที่เศรษฐีใหม่ทำการแปลงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กลายเป็นความมั่งคั่งทางสังคม และการเมือง เพื่อให้เป็นเศรษฐีเก่า เป็นการลงทุนอย่างสำคัญเพื่อละทิ้งการให้อภัยตนเอง การละโมบเพื่อรวยในระยะสั้น และการครอบงำตลาด ซึ่งสรุปก็คือ การลบด้านมืดออกจากประวัติของตนเอง แบบที่กษัตริย์ไมดาสเคยต้องคำสาปของตนเอง เพื่อให้สังคมมองเห็นแต่ความมั่งคั่ง ไม่มองถึงที่มาของความมั่งคั่ง ผลพวงที่ได้รับก็คือ ความชอบธรรม และการยอมรับของสังคมที่พร้อมจะลืมความเลวร้ายของเศรษฐี



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us