Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Revolutionary Wealth
ผู้เขียน: Alvin Toffler, Heidi Toffler
ผู้จัดพิมพ์: Doubleday
จำนวนหน้า: 490
ราคา: ฿552
buy this book

ใครที่ยังไม่เคยอ่านหรือรู้จักงานของสามีภริยาที่กลายเป็นคู่หูเขียนหนังสือแนวอนาคตวิทยากระแสนิยมขายดีเกือบทุกเล่มมาก่อน ไม่ต้องเสียเวลากับการค้นหาอดีตอีกแล้ว เพราะในหนังสือเล่มนี้ อัลวินและไฮดี้ จัดการ "ยำใหญ่" งานเก่าๆ หลายเล่มมารวมไว้ที่เดียวกันอย่างย่นย่อและเป็นระบบ

สำหรับคนที่หวังจะได้อ่านงานที่เป็นระเบิดเวลาลูกใหม่จาก สามีภริยาทอฟเลอร์ อาจจะรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เพราะงานคราวนี้ แม้จะยังคงเฉียบคมแต่มีข้อเสนอใหม่ๆ ไม่มากนัก แต่พูดถึงความ ลึกซึ้งและการทบทวนข้อบกพร่องจากการคาดเดาที่เคยผิดพลาดเพราะข้อมูลไม่สมบูรณ์มาก่อน ก็ถือว่าชดเชยกันได้ไม่เลวเกินไปนัก

แม้จะมีเสียงค่อนขอดจากคนอวดรู้ว่า ข้อสรุปล่าสุดของทอฟเลอร์เป็นสิ่งที่คนร่วมสมัยตามทันหมดแล้วก็ตามที

เช่นเดียวกันงานเก่าอย่าง Future Shock (ที่ไม่เคยมีแปลเป็นภาษาไทย) ตามมาด้วย War and Anti-war ต่อมาด้วย Power Shift และ The Third Wave สาระในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดนี้ (ซึ่งขายดีอีกตามเคย) ยังคงเน้นหนักกับการวิเคราะห์พลวัตของสังคมโลก (ระดับโลกาภิวัตน์) โดยผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงของความรู้ (เทคโนโลยี) อำนาจ และความมั่งคั่งที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมมนุษย์และสังคมหรือกลับกัน โดยถือว่า 3 ตัวแปรดังกล่าวคือเป้าหมายหลักของมนุษย์ที่ต้องหาทางบรรลุให้ได้

ข้อสรุปดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทอฟเลอร์เป็นนักคิด ทุนนิยมเสรี ที่มองเห็นมิติของความสำเร็จทางวัตถุเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งว่าไปแล้วก็ยากจะปฏิเสธได้เช่นกัน ตราบใดที่มนุษย์เราไม่หลอกตัวเองโดยพยายามใช้จิตวิทยาแบบองุ่นเปรี้ยวมาเที่ยวป่าว ประกาศในเรื่อง "คุณธรรมนำสังคม" หรืออะไรที่เลื่อนลอยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ส่วนตัวหลอกคนปัญญาเบา

ทอฟเลอร์แบ่งสาระของหนังสือเล่มนี้ออกเป็น 10 ภาค มีทั้งหมด 50 บท ซึ่งส่งผลให้แต่ละบท มีสาระค่อนข้างน้อย แต่ก็ช่วยให้เข้าใจประเด็นต่างๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเยิ่นเย้อเหมือนเล่มก่อนๆ โดยระบุตั้งแต่เกริ่นนำแล้วว่า มุ่งเน้นไปที่เรื่อง ของความมั่งคั่ง โดยลดฐานะของความรู้และอำนาจ เป็นพลังขับเคลื่อน

ภาคที่โดดเด่นสุด คือ ภาคแรก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่จริงๆ เพราะทอฟเลอร์พยายามจัดเรียงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเวลาเสียใหม่ โดยมองภาพรวมไปที่โครงสร้างเชิงสถาบัน เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า การเคลื่อนตัวที่ไม่เท่าเทียมกันของสถาบันต่างๆในสังคม ทำให้เกิดแรงขับการกระตุ้น และถ่วงรั้งสังคมได้แตกต่าง กันอย่างมีนัย

ตัวอย่างที่เปรียบเทียบนับแต่สถาบันที่เคลื่อนตัวเร็วสุดคือบริษัทธุรกิจเอกชน ไล่เรียงลงไปเป็นกลุ่มประชาสังคม ครอบครัว แรงงาน ระบบบริหารรัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ การเมือง และกฎหมาย ตามลำดับ

ทอฟเลอร์บอกว่า หากสถาบันที่เคลื่อนตัวช้าแสดงบทบาทครอบงำสังคมมาก สังคมนั้นมีแนวโน้มจะถูกถ่วงรั้งไม่ให้สร้างความมั่งคั่งได้ตามต้องการและเพราะศักยภาพในการแข่งขันถูกกด เอาไว้

ในทางตรงกันข้าม หากสถาบันที่เคลื่อนตัวเร็วครอบงำสังคม โอกาสในการสร้างความมั่งคั่งย่อมถูกกระตุ้นอย่างเข้มข้น

ประเด็นสำคัญก็คือ สังคมจะมีกลวิธานในการสร้างเกราะกำบังอย่างไรเพื่อให้สถาบันต่างๆ เคลื่อนตัวไปข้างหน้าโดยไม่ให้เสียสมดุลในกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งหากทำได้ เขาถือว่า นั่นเป็นกระบวนการ "สอดรับสร้างความมั่งคั่ง" (synchronization) แต่หากทำไม่ได้ ก็จะเกิดการลักลั่นขลุกขลักเป็นกระบวนการ "ประสานงา" (de-synchronization) ซึ่งจะทำให้สังคมถอยหลังเข้าคลองได้ง่าย

ไม่เพียงเท่านั้น ทอฟเลอร์ยังก้าวไปไกลถึงขั้นการนำเอาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ "สถานที่" (เทศะ) เข้ามา

กุญแจสำคัญที่ทอฟเลอร์มองเห็นก็คือว่า การพยายามทำให้ ขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความมั่งคั่งของสถาบันต่างๆ มีน้อยที่สุด เพื่อที่จะทำให้แผนที่สู่อนาคตมีความคล่องตัว ไม่งุ่มง่าม จนเสียขบวนและเป็นปัญหาภายหลัง

ข้อมูลที่อัดแน่นในหนังสือจากสหสาขาความรู้ ทั้งแนวโน้มเทคโนโลยี ภูมิศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ทำให้หนังสือนี้มีข้อมูลสนับสนุนมากมายเพียงพอต่อข้อสรุปถึง "การเปลี่ยนแปลงรากฐาน" ที่ทำให้กระบวนทัศน์ของมนุษย์ต่อกาละ-เทศะ-ปัญญา เปลี่ยนไปอย่างไม่มีทางหวนกลับคืนสู่อดีตได้อีก และส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมในทุกด้านของมนุษย์ โดยเฉพาะกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างความมั่งคั่ง

แน่นอนว่า เพื่อให้ทันสมัย หนังสือเล่มนี้ก็หันเหความสนใจ มาวิเคราะห์ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะจีนเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยหาคำอธิบายว่า เกิดอะไรขึ้นกับตัวแปรที่ขับเคลื่อน พลวัตทางความรู้ อำนาจ และความมั่งคั่ง

แม้ทอฟเลอร์จะไม่ได้พูดชัดเจนนัก แต่ก็เห็นได้ชัดว่า พวกเขามีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า สังคมจะก้าวไปข้างหน้าได้ จำต้องลดบทบาทการครอบงำสังคมของระบบการเมือง และกฎหมาย พร้อมกับยกระดับระบบการศึกษาเพื่อสนองตอบความต้องการของสถาบันที่เคลื่อนตัวเร็วอย่างกลุ่มประชาสังคมและธุรกิจเอกชน ซึ่งชัดเจนว่า นี่คือรากปรัชญาของเสรีนิยมใหม่อย่างแท้จริง

กระนั้นก็ตาม แม้จะมุ่งไปที่ความมั่งคั่งเป็นสาระหลัก แต่ทอฟเลอร์ก็ไม่ละเลยที่จะพูดถึงความยากจนเอาไว้ในภาคที่ 9 ของหนังสือด้วย ซึ่งทำให้ถ่วงดุลและให้ภาพรอบด้านมากขึ้น โดย เฉพาะการพูดถึงรหัสของความยากจนนั้น ถือว่าแหลมคมอย่างมากตอนหนึ่ง

อ่านจบทั้งเล่มแล้ว บรรดาพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ คงจะรู้สึกฮึดฮัดพอสมควร โดยเฉพาะสาระของหนังสือเกือบทั้งหมด ยืนยันชัดเจนว่า หากต้องการความมั่งคั่งในยุคฐานความรู้ได้แล้ว การจะเอาสถาบันคร่ำครึมาขวางหรือครอบงำการเคลื่อนตัวทางสังคม เพื่อขัดขวางพลวัตของโลก ย่อมทำให้กลไกเชิงโครงสร้างพังพินาศโดยไม่จำเป็นและอาจจะนำไปสู่ความยากจนได้ง่ายมาก

คนไทยที่กำลังสับสนในทางเลือกสู่อนาคต เหมาะจะอ่านหนังสือเล่มนี้กันให้มากเป็นพิเศษ เพื่อจะได้ทบทวนกันเสียใหม่ว่า โรค "คลั่งจริยธรรม" ของตนเองยังกำเริบหรือบรรเทาลงไปแล้ว

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ก็อย่าพลาดหยิบฉวยมาอ่านกัน หากไม่อยากตกหรือหลงยุคสมัย

อ่านฉบับภาษาอังกฤษดีที่สุด เพราะศัพท์ใหม่ที่ทอฟเลอร์ คิดขึ้นมานั้น หากบังเอิญแปลเป็นภาษาไทยแล้วอาจทำให้เข้าใจ ผิดเพี้ยนได้ไม่ยาก

รายละเอียดในหนังสือ

Part One : Revolution

1. Spearheading Wealth ว่าด้วยการสร้างความมั่งคั่งในอนาคต ในยามที่สังคมกำลังถูกปรับโฉมอย่างรุนแรงด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ จนกระทั่งนิยามเดิมของความมั่งคั่งที่เคยยึดถือมาในสังคมเกษตรและอุตสาหกรรมใช้การไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากความรู้กลายเป็นกุญแจหลักของความมั่งคั่ง

2. The Child of Desire ว่าด้วยพลวัตของความหมายเรื่องความมั่งคั่งที่เปลี่ยนยุค แม้จะยังใช้ถ้อยคำเดิม แต่สัญญะไม่ใช่อย่างเดิมอีก แต่แรงขับของความมั่งคั่งเป็นเรื่องต้องเรียนรู้กันใหม่

Part Two : Deep Fundamentals

3. Waves of Wealth ว่าด้วยวิวัฒนาการของการสร้างความมั่งคั่ง นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับคลื่นล่าสุด ของการเปลี่ยนแปลงที่มีเทคโนโลยีดิจิตอลเป็นเครื่องมือ พร้อมกับ ทำให้สังคมโลกถูกแบ่งออกเป็นเสี่ยงๆ ที่ไม่เท่าเทียมกัน

4. Deep Fundamentals การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ และวิถีของการผลิต-บริโภคในยุคใหม่ที่ไม่สามารถย้อนหลังกลับคืนไปได้เหมือนเดิม ทำให้มนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนทัศนะและกระบวนการทำงานเสียใหม่ ก่อนจะถูกบังคับให้ต้องกระทำ

Part Three : Rearranging Time

5. The Clash of Speeds มนุษย์กับความสัมพันธ์เชิงคุณค่ากับเวลา ซึ่งส่งผลให้พลวัตของสังคมเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเหลื่อมล้ำ กัน โดยเฉพาะสถาบันต่างๆ ของสังคมที่นำไปสู่ความปริร้าวทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากขั้นตอนของความต้องการที่มีต่อสถาบันถูกนำไปเทียบกับเงื่อนเวลา ซึ่งหากจำแนกจะทำให้มองเห็นจุดบกพร่องที่เป็นวิกฤติสถาบันที่ต้องปรับปรุงได้ชัดเจนขึ้น

6. The Synchronization Industry ความเฟื่องฟูของธุรกิจที่รับบทบาทในฐานะตัวเชื่อมร้อยเพื่อให้พลวัตของสถาบันทางสังคมเติบโตอย่างมีดุลยภาพ และพ้นจากข้อจำกัดภายใน โดยไม่เกิดเป็น ภาวะทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ เป็นการสร้างโอกาสจากวิกฤติอย่างชัดเจน

7. The Arrhythmic Economy ปัญหาใหญ่สุดของการเปลี่ยนแปลง ทางเทคโนโลยีของสังคมก็คือ ปริมาณและคุณภาพของรางวัล (ผลประโยชน์) และการลงโทษ (ต้นทุน) ทำให้เกิดได้ทั้งความร่วมมือ และการต่อต้านที่แตกต่างกันไป กลายเป็นประเด็นให้ต้อง ขบคิดเกี่ยวกับช่องว่างทางสถาบันขึ้นมา โดยมีเป้าหมายสำคัญคือสร้างดุลยภาพให้กับการเปลี่ยนแปลง

8. The New Timescape ความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภาพมนุษย์ที่ถูกโยงเข้ากับเงื่อนเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว นับแต่ยุคอุตสาหกรรมที่ราคาของแรงงาน และราคาของทุนถูกตีคุณค่าเข้ากับเวลา แต่กำลังถูกรุกล้ำด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ที่เรียกว่า "เวลาส่วนตัว" (personalized time) ซึ่งเวลางานกับเวลาว่างกลับเคลื่อน เข้าเหลื่อมทับกันมากขึ้นทุกขณะ และคำว่าตรงต่อเวลา กลายเป็น ถ้อยคำล้าสมัย

Part Four : Stretching Space

9. The Great Circle เมื่อเทศะหรือพื้นที่ถูกลดความสำคัญในแง่ การผลิตลงเพราะการสื่อสารที่รวดเร็วแค่กระดิกนิ้วไปทั่วโลก เส้น แบ่งระหว่างโลกตะวันตก-ตะวันออก ย่อมมีความหมายไม่เหมือน เดิมอีกต่อไปในกระบวนการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งระดับโลก

10. Higher-Value-Added Places ว่าด้วยการเคลื่อนที่เข้าทับซ้อน กันของทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งผลักดันให้เกิดการ ปรับขบวนของสถาบันทางสังคมอย่างขนานใหญ่ในทุกสังคม โดย ข้อเรียกร้องต่ำสุดคือ ระบบปกครองกึ่งอิสระเพื่อให้เกิดการปรับขบวนใหม่ รองรับโครงสร้างการเมืองข้ามรัฐที่เกิดขึ้น ในขณะที่สังคมกำลังเคลื่อนไปสู่ยุคของธุรกิจบริการที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น

11. Spatial Reach แผนที่ภูมิศาสตร์ของสังคมที่จำต้องเปลี่ยน แปลงเพราะการสื่อสารยุคดิจิตอลส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางพื้นที่ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมไม่สามารถคงสภาพเดิมเอาไว้ได้ และ มีทิศทางเป็นอาณาจักรเคลื่อนที่เร็วในสัดส่วนสูงขึ้นตามการเคลื่อน ตัวของทุน และทรัพยากร แม้จะมีแรงต้านของข้ออ้างกลุ่มอำนาจ เก่าว่าด้วยความสุขุมรอบคอบถ่วงรั้งเอาไว้

12. An Unready World ว่าด้วยผลผลิตของกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่มีลักษณะสองด้านที่ก่อให้เกิดปีศาจและเทพร่วมสมัยขึ้นมาเป็นข้อถกเถียงกันและต่อสู้กันเอง กลายเป็นสงครามอุดมการณ์ แนวใหม่ระบบโลกกับระบบรัฐท้องถิ่น ในขณะที่กระแสของการผนึก รวมธุรกรรมข้ามรัฐดำเนินไปอย่างแข็งขัน

13. Thrust Reversers พัฒนาการและการคลี่คลายของกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่ก่อตัวและเติบโต เป็นแรงต้านการเปลี่ยนแปลง และบางครั้งนำไปสู่การนำรัฐรูปแบบล้าสมัยกลับมาใช้ ในขณะที่รูปธรรมของธุรกรรมกลับเกิดปรากฏการณ์การส่งออกสินค้าล้นเกินทั่วโลก และพึ่งพาสินค้าน้อยชนิดมากขึ้น ในขณะที่เริ่มมีการจับขั้วสร้างกลุ่มเศรษฐกิจจำเพาะในภูมิภาคให้เห็นชัดเจนมากขึ้น

14. The Space Drive การสื่อสารดิจิตอลไร้สายได้กลายเป็นพลัง ขับเคลื่อนโลกเกินกว่าที่คาดคิดล่วงหน้า โดยเฉพาะมีผลทำให้ต้นทุน ของการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารต่ำลง และเกิดกระบวนการเชื่อมประสานโครงสร้างทางสถาบันชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมกับสร้างหรือขยายพรมแดนแห่งความมั่งคั่งใหม่ๆ ขึ้นมา

Part Five : Trusting Knowledge

15. The Edge of Knowledge ว่าด้วยการให้คำนิยามของความรู้ ซึ่งเป็นสิ่งจับต้องไม่ได้ มีคุณสมบัติ 10 ประการทางด้านเศรษฐ-ศาสตร์การเมืองพร้อมคุณค่าของข้อมูลข่าวสารซึ่งมุ่งใช้ประโยชน์ได้ เพิ่มพูนความพึงพอใจและยกระดับแรงกระตุ้นทางจิตใจ

16. Tomorrow's "Oil" ความรู้ (ทั้งที่เป็นความรู้ทั่วไป ความรู้เพื่อ การทำมาหารายได้ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นใหม่ๆ และทางคุณธรรม) คือพลังงานรูปแบบใหม่ของยุคอุดมปัญญา เสมือนหนึ่งน้ำมันคือพลังงานในยุคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้จะมีอุปทานและอุปสงค์ไม่จำกัด แต่มีข้อจำกัดของช่องทางเข้าถึงความรู้ ซึ่งต้องอาศัยกุญแจสำคัญคือ การตั้งคำถาม เพื่อเปลี่ยนให้โกดังเก็บความรู้กลายเป็นที่ทดสอบ ปัญญาโดยผ่านระบบย่อยความรู้ที่มีประสิทธิภาพ

17. The Obsoledge Trap ความไม่ลงร่องแนบสนิทระหว่างอุปทาน ของข้อมูลข่าวสาร-ความรู้ และความสามารถย่อยแยกข้อเท็จจริงออกจากมายาคติของมนุษย์ ทำให้ฐานความรู้ที่เคยมีมาแต่เดิมเกิด การเคลื่อนย้ายอย่างสับสนและสูญเปล่ามากมาย ต้องอาศัยกระบวน การกำกับดูแลเพื่อให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

18. The Quesnay Factor 3 เหตุผลที่อธิบายว่าเหตุใด นักเศรษฐ-ศาสตร์จึงทำนายอนาคตผิดพลาดเสมอ และกลายเป็นความรู้ที่ตายซาก ประกอบด้วย

1) กรอบความรู้เดิมไม่สามารถแยกแยะข้อมูลที่พรั่งพรูเพิ่มทวีขึ้นอย่างท่วมท้น
2) ธุรกรรมและการแปรรูป ความรู้ที่ไม่สามารถควบคุมได้
3) ไม่สามารถคิดหรือสร้างกระบวน ทัศน์ที่ไกลกว่ายุคสมัยของตนเองได้

19. Filtering Truth เกณฑ์วัดข้อเท็จจริงอันเป็นสูตรพื้นฐานที่ถูกนำไปใช้วัดผลการใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งของสังคมโดยรวม 6 ประการอย่างซ้ำซาก
1) ฉันทามติร่วม หรือจิตสำนึกยุคสมัย
2) ความสม่ำเสมอของผลลัพธ์
3) อำนาจบงการอันชอบธรรม
4) การเปิดเผยตัวของอำนาจศักดิ์สิทธิ์
5) ความคงทนเหนือกาลเวลา
6) ข้อพิสูจน์ว่าเป็นศาสตร์ ทั้งหมดนี้มีคำถามตามมาว่าจะยัง คงสามารถท้าทายต่อข้อเท็จจริงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้กี่มากน้อย

20. Trashing the Lab วิวาทะว่าด้วยข้อจำกัดและบทบาทของวิทยาศาสตร์ โดยมีแรงขับสำคัญคือความพยายามที่จะลดคุณค่าของวิทยาศาสตร์

21. The Truth Managers การทดสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งข้อขัดแย้ง ระหว่างความเชื่อกับความจริงในระหว่างการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า ซึ่งนวัตกรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนทำให้อำนาจของผู้ชำนัญการ นับวันยิ่งถูกท้าทายรุนแรงในอัตราเร่ง

22. Coda : Convergence 3 ปัจจัยหลักของกระบวนการไม่ลงร่องทางสถาบันสังคมประกอบด้วย 1) เงื่อนเวลาแบบเต่าของบางสถาบัน 2) ข้อเปรียบเทียบที่เคยเกิดขึ้นอย่างซ้ำซากจำเจ 3) แผนที่ประดิษฐ์ทางความคิดที่ยึดถือกันเป็นจารีต รวมทั้งวิธีออกจากกรอบจำกัดดังกล่าว

Part Six : Prosuming

23. The Hidden Half ข้อเท็จจริงว่าด้วยเศรษฐกิจของภาคที่ไม่ใช่เงิน ซึ่งถูกมองข้ามโดยนักเศรษฐศาสตร์และนักสถิติเสมอมา ซึ่งหากสำรวจอย่างลงรากลึก จะได้ข้อมูลที่นำไปสู่การนิยามใหม่ว่าด้วยมูลค่าของเศรษฐกิจมนุษย์ เพื่อจะเข้าใจถึงที่มาของข้อสรุป ในเรื่องผู้ผลิต-บริโภคได้ง่ายขึ้น

24. The Health Prosumers กรณีศึกษาว่าด้วยเรื่องของระบบสุขภาพที่ล้มเหลวในสังคมต่างๆ เนื่องจากทัศนคติอันคร่ำครึที่ยังถือว่าหมอคือ "ผู้ให้บริการ" และคนไข้คือ "ลูกค้า" ทั้งที่กระบวนคิดใหม่จะต้องทำให้คนไข้ดูแลตนเองและผู้อื่นพร้อมกันไป ในขณะที่หมอก็ต้องรักษาตัวเองไปด้วย

25. Our Third Job ทางเลือกที่สามในการลดความสับสนในชีวิตเพื่อให้ลูกค้ากลายเป็นผู้ผลิตและหุ้นส่วนธุรกิจ ในห้วงเวลาที่ความแตกต่างลดลงระหว่างงานที่ได้รับรายได้ งานบ้านที่ไม่ได้รับ รายได้ และงานภายนอกบ้านที่ไม่ได้รับรายได้

26. The Coming Prosumer Explosion กรณีศึกษาเงื่อนไขที่ทำให้เศรษฐกิจใช้เงินตรา กลายเป็นการเคลื่อนไหวที่สอดรับกันอย่างมีจังหวะราบรื่น ซึ่งอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว

27. More "Free Lunch" ว่าด้วยกระบวนการ presuming ในขอบเขตของตลาดสินค้าบริโภคหลายชนิด

28. The Music Storm กรณีศึกษาว่าด้วยตลาดดนตรีซึ่งผู้บริโภคถูกชักนำให้กลายเป็นผู้ผลิต โดยการกระโดดแบบไม่เป็นเส้นตรง ซึ่งให้คำตอบสำเร็จรูปในตัวเอง

29. The "Productivity" Hormone ผลต่อเนื่องของโปรซูเมอร์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งรวมถึงการสร้างความมั่งคั่งในเศรษฐกิจแบบไม่ใช้เงิน โดยอัดฉีดฮอร์โมนเพื่อการเติบโต

30. Coda : Invisible Channels 12 ผลกระทบของวัฒนธรรมผู้บริโภค-ผลิต ทั้งที่เป็นบวกและลบ ซึ่งยืนยันว่าความมั่งคั่งในยุคใหม่ไม่ได้ตัดสินกันที่จำนวนเงินเสมอไป

Part Seven : Decadence

31. The Gospel of Change กรณีศึกษาเกี่ยวกับพลวัตของสังคมอันเนื่องจากเทคโนโลยี เพื่อสลัดมายาภาพที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น มาว่า โลกาภิวัตน์มีอเมริกาอยู่เบื้องหลัง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว อเมริกาทำได้ดีมากเพียงเรื่องการผลิตวัฒนธรรมกระแสนิยมให้กลายเป็นความมั่งคั่งได้

32. Implosion แรงระเบิดจากการสะสมของปัญหาที่ตกค้างระหว่างรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอเมริกาในไม่กี่ปีมานี้หลายเรื่อง

33. Corroding the Wires ปมประเด็นเรื่องการทำงานไม่ปกติของสถาบันสังคมต่างๆ เมื่อเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงทั้งจากภายในและภายนอก เช่น ระบบราชการที่งุ่มง่ามและฉ้อฉล ธุรกิจที่ถูกตราประทับว่า/ละโมบ และการเมืองที่จับขั้วรุนแรงสะท้อนความเสื่อมโทรมก่อนการแปรสภาพครั้งใหญ่อย่างถึงรากถึงโคนเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่

34. Complexorama ภาวะที่สับสนของการเปลี่ยนแปลงที่ทับถมสังคมมนุษย์ เนื่องจากสภาวะซับซ้อนที่ล้นเกิน จนกระทั่งมีเสียงป่าวร้องว่า ความซับซ้อนคือศัตรูหมายเลข 1 ของความมั่นคงปลอดภัยจากสมาชิกสถาบันที่กำลังมึนงงต่อสถานการณ์

35. The Sepulveda Solution ทางเลือกออกจากความซับซ้อนหลายทางนับแต่การลดขนาดองค์กร การเปลี่ยนสภาวะภายในองค์กรในลักษณ์แปลงรูปโฉมใหม่ การโยกย้ายตำแหน่งทีมงาน การตั้งกติกาลงโทษผู้ฝ่าฝืน การสร้างสถาบันใหม่ การเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และสร้างทีมนักคิดเพื่อนำเสนอการเปลี่ยนแปลง

36. Coda : After Decadence 3 คำถามหลักเพี่อทบทวนบทบาท และธรรมชาติของความมั่งคั่งของสังคมมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลง

1) ทุนนิยมที่เราคุ้นเคยกัน จะรอดพ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความมั่งคั่งครั้งล่าสุดได้เพียงใด
2) คนเราที่ไม่สังกัดองค์กรระหว่างประเทศ จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนร่วมได้อย่างไร
3) ทำอย่างไรจึงแพร่กระจายเศรษฐกิจฐานความรู้เพื่อวาดแผนที่อำนาจของโลกใหม่

Part Eight : Capitalism's Future

37. Capitalism;s End Game รูปแบบของเศรษฐกิจทุนนิยมที่กำลังแปลงโฉมไปสู่องค์ประกอบใหม่ๆ เนื่องจากกระบวนการการ แปลงรูปเข้าสู่ยุคของสังคมฐานความรู้จะเกิดการเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เสียใหม่อย่างทั่วด้าน

38. Converting Capital กระบวนการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินจากมือของผู้ใช้แรงงานไปสู่การเป็นหุ้นส่วนผลประโยชน์โดยกระบวน การแปลงทรัพย์สินให้เป็นทุน ทำให้สภาพความสัมพันธ์ของคนในองค์กรเท่าเทียมกันมากขึ้น และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งปัจจุบันกำลังเดินหน้ามาสู่ระดับที่ยากจะเปลี่ยนแปลงได้อีกแล้ว

39. Impossible Markets เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดกระบวน การสร้างเงื่อนไขใหม่ให้กับผู้คนเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่การทำงานสอดรับกันในระดับต่างๆ ของทุกสถาบัน ซึ่งทำให้ชีพจร ของตลาดเปลี่ยนไปและวงจรของสินค้าโดยทั่วไปจะหดสั้นลง ในขณะที่ต้นทุนต่ำลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะต้นทุนการสื่อสาร

40. Running Tomorrow's Money การนำเอาคุณสมบัติของเงินเข้ามาเพื่อลดความขัดแย้งของคนในครอบครัว โดยมีระบบให้รางวัล และลงโทษที่ชัดเจน และไม่เลือกปฏิบัติ ในขณะที่ทางเลือกแนวโน้ม การใช้เงินหลักไม่กี่สกุล ก็เริ่มบรรลุให้เห็นโดยไม่ต้องยากลำบาก สิ่งที่ยังค้นหากันไม่เจอ คือเหตุใดจึงต้องมีความพยายามเปิดตลาด เงินเพื่อนำไปสู้ความผันผวนมากขึ้น

Part Nine : Poverty

41. The Old Future of Poverty ความยากจนในฐานะศัตรูหมายเลข 1 ของมนุษย์ทุกคน และการที่อนาคตไม่มีหลักประกัน ความมั่นคงแบบให้เปล่าอีกต่อไป ทำให้ความพยายามที่จะลดช่องว่างระหว่างชาติยากจนกับชาติมั่งคั่ง เกิดขึ้นมากแต่ได้ผลน้อย โดยเฉพาะคน 500 ล้านคนในโลกนี้ยังคงใช้ชีวิตต่ำกว่าเส้นยากจน

42. Twin Tracks to Tomorrows การต่อสู้ 3 แนวทางเพื่อมุ่งสู่อนาคตของชาติกำลังพัฒนาต่างๆ ในปัจจุบันอยู่ที่จะเลือกเอาการ เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม หรือก้าวกระโจน เข้าใส่ยุคของฐานความรู้ หรือเลือกเอาทั้งสองทางพร้อมกันไป

43. Cracking Poverty's Code การถอดรหัสความยากจน เพื่อออกแบบใหม่ให้กับสังคมฐานความรู้โดยอาศัยเครื่องมือทรงประสิทธิภาพใหม่ๆ ไปเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางความก้าวหน้าได้แก่ 1) จารีตที่แข็งแกร่ง 2) ระบบการศึกษาที่ไม่ยังมีคุณภาพเพียงพอ 3) ความแร้นแค้นพลังงานในชนบท

Part Ten : The New Tectonics

44. China's Next Surprise? บทบาทและความสำคัญของจีนในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสถาบันให้สอดรับกับความต้องการสร้าง ความมั่งคั่งในอนาคตในยุคฐานความรู้ แต่ก็ยังคงปล่อยให้ยุคสังคมเกษตร และอุตสาหกรรมเติบโตพร้อมกันไปด้วย แต่ยังยืนกรานเน้นหลักการ "เสถียรภาพรัฐ เป็นความจำเป็นประกันความ มั่นคงของประชาธิปไตย"

45. Japan's Next Bamboo Ring วิเคราะห์โครงสร้างที่พิกลพิการของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่แข่งขันอย่างดีเยี่ยมในเวทีโลก แต่ล้มเหลวในการปรับเปลี่ยนสถาบันในประเทศ ทำให้การทำงานของสถาบันต่างๆ ผิดปกติ

46. Europe's Lost Message การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสถาบันยุโรปเพื่อรวมตัวเป็นสหภาพ ทำให้แม้ดูเหมือนยุโรปจะอ้างคำพูดของอเมริกันมาใช้ แต่ความเข้าใจถ้อยคำ กลับแตกต่างกันออกไป อย่างมาก ผลลัพธ์คือ ยุโรปและสหรัฐฯ เหินห่างกันมากขึ้นทุกขณะ ด้วยเหตุของความแตกต่างที่ซับซ้อนจากประวัติศาสตร์ แต่ที่สำคัญ ที่สุดคือ ยุโรปมีท่าทีต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ต่ำกว่าปกติมาก

47. Inside America ถึงแม้ว่าอเมริกาจะมีจุดอ่อนของสถาบันสังคม มากมายให้เห็น แต่จุดโดดเด่นที่เป็นลักษณะจำเพาะ นั่นคือ เป็นประเทศซึ่งเหมาะจะใช้เป็นห้องปฏิบัติการทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพราะเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้กับการค้นคว้าใหม่ๆ โดยเฉพาะความสามารถในการทำให้ข้อมูล ข่าวสาร และความรู้กลายเป็นความมั่งคั่งขึ้นมา

48. Outside America อคติทางชนชาติและสังคมของชาวโลก โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านอเมริกัน และต่อต้านโลกาภิวัตน์ในสหรัฐฯ ที่ถูกมองว่าเป็นผีสูบเลือดตัวสำคัญของชาติต่างๆ ในโลก ความจริงแล้วมีแค่บางส่วนเท่านั้น การพยายามเข้าสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ ทำให้สถาบันของสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับตัวเพื่อเตรียมเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการลดกระบวนการแบบแมสลงไป โดยมีเทคโนโลยีดิจิตอลขับเคลื่อน

49. The Unseen Game of Games เกมการต่อสู้ระดับโลกเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ มีหลายแนวรบที่ต้องกระทำพร้อมกันไป โดยมีกลุ่มธุรกิจและเอ็นจีโอทำงานอย่างเร่งรีบ เพื่อออกแบบสังคมอนาคตที่ตนต้องการ ในขณะที่อิทธิพลครั้งใหม่ของศาสนาที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมา จะเป็นตัวแปรสำคัญขับเคลื่อนทำให้เกิดการแตกกระจายของอำนาจ ชาติใหญ่ๆ เหนือชาติอื่น

50. Epilogue : The Prologue is Past ความหวาดวิตกต่ออนาคต ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความทันสมัย และการถวิลหาวันวานที่หวานแหววของแนวคิดโพสต์โมเดิร์น และศาสนาใหม่ ไม่ใช่คำตอบของยุคฐานความรู้ที่ต้องการมุ่งไปสู่โอกาสใหม่สำหรับชีวิตที่ดีกว่า แข็งแรงกว่า และมีความหมายทางสังคมมากกว่า ชีวิตที่อยู่ใต้กรอบของจารีตแห่งยุคอุตสาหกรรม เพียงแต่ยุคใหม่ที่เปิดกว้างกว่าเดิมนี้ ไม่มีหลักประกันสำหรับคนที่ยังยึดติดกับจารีตเก่าๆ เท่านั้น



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us