|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Boob Jubilee
ผู้เขียน: Thomas Frank, David Mulcahey
ผู้จัดพิมพ์: W W Norton & Co. Inc.
จำนวนหน้า: 404
ราคา: ฿702
buy this book
|
|
|
|
นิตยสาร The Baffler มีสาระเจาะลึกทางด้านวัฒนธรรมร่วมสมัยของอเมริกาในชิคาโก ที่ชอบประดิษฐ์คำใหม่ๆ ให้คนอ่านสะใจกับบทวิเคราะห์ที่เจ็บแสบ และโด่งดังพอสมควร เพราะใช้วิธีการขายตรงไปยังจุดขายเฉพาะ โดยไม่ต้องพึ่งเครือข่ายจัดจำหน่ายปกติ
เพราะแหวกตลาดอย่างนี้นี่เอง นิตยสารเล่มนี้จึงวางแผงอย่างหาความแน่นอนไม่ได้ เรียกว่าตามใจบรรณาธิการกันเลยทีเดียว และดูเหมือนว่าช่วงนี้จะหายไปยาวนานพอสมควร หรืออาจจะล้มหายตายจากไปแล้วก็เป็นได้
สาระของการเสียดสีและวิจารณ์วัฒนธรรมร่วมสมัยของอเมริกันนี้ถูกรวบรวมมาเป็นชื่อหนังสือที่เห็นทีแรกก็น่าตกใจทีเดียว เพราะบอกว่าเป็นการเฉลิมฉลองความงี่เง่าแบบอเมริกันทีเดียว
ข้อความในหนังสือนี้รวบรวมมาจากบทความโดดเด่นในนิตยสารดังกล่าวมาประมวลไว้เป็น 7 หมวด มีทั้งหมด 31 บทความ ซึ่งแม้จะไม่ได้มีเนื้อหาตรงตามที่ระบุเอาไว้ในหัวรองของหนังสือ เนื่องจากมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ new economy ค่อนข้างน้อย แต่ ก็พอให้อภัยได้
สาระหลักของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การวิพากษ์วัฒนธรรมแบบ ฉาบฉวยและดัดจริตของอเมริกันในยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับ การรวยทางลัด วิศวกรรมการเงิน ความสัมพันธ์ชั่วคราวบนพื้นฐาน ผลประโยชน์เป็นหลัก และการเชื่อมั่นในเทคโนโลยีเกินขนาด
กล่าวโดยย่นย่อ บทความในหนังสือนี้มีเนื้อหาที่มุ่งเสนอไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพวกนิยมทางสายกลาง ค่อนข้างอนุรักษ์ มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ เพราะค่อนข้างต่อต้านเรื่องของ technology determinism ค่อนข้างมากอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะเรื่องของความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมเก็งกำไรที่เกิดจากการเติบโตต่อเนื่องของตลาดทุนที่ทำให้ผู้คนจำนวนมาก กลายเป็นนักลงทุนเก็งกำไรไปทั่วประเทศอเมริกา
บรรณาธิการทั้งสองคนที่ทำหน้าที่รวบรวมบทความ ให้ความสำคัญกับการกลับไปสู่พื้นฐานของคุณค่าแบบอเมริกันดั้งเดิม ที่เน้นการทำงานหนัก เสรีนิยม และความใฝ่รู้ ไม่ใช่ตกจมอยู่กับวัฒนธรรมจอมปลอมและนำไปสู่หายนะทั้งหลายแหล่ โดยมีสื่อที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก เป็นตัวกระตุ้น และตัวการสร้างความชอบธรรมให้กับความสับปลับของสังคม
ในบทที่ 6 มีสาระน่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของรากเหง้าที่ตกค้างของวัฒนธรรมแบบคาวบอยอเมริกันที่กลายพันธุ์มาเป็นจุดขายที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกของนักการเมืองและนักธุรกิจอเมริกัน โดยความช่วยเหลือของฮอลลีวูด
ในขณะที่บทเด่นอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ บทที่ว่าด้วยเรื่องตลกล้อเลียนการฉ้อฉลแบบอเมริกันของนักธุรกิจ โดยนำกฎของเมอร์ฟี่ และทฤษฎีคาร์ล มาร์กซ์ มาสร้างกรอบว่าด้วยการตกแต่งบัญชีและวาดแผนธุรกิจที่สวยหรูเกินจริง ซึ่งบังเอิญกับกรณีเอนรอนที่กลายเป็นตำนานของการโกงมโหฬารในประวัติศาสตร์ธุรกิจอเมริกัน เข้าพอดี
นอกจากนั้นในบทที่ 19 ก็ยังมีเรื่องราวเจาะลึกวัฒนธรรมขายตรงสไตล์แอมเวย์ ที่พยายาม "จัดตั้ง" ผู้บริโภคเป้าหมายโดยสร้างเรื่องเล่าใหม่ๆ ขึ้นมากระตุ้นอุปสงค์เทียมของผู้บริโภคด้วยวิธีการซับซ้อน เพื่อสมอ้างว่าเป็นชุมชนธุรกิจที่ให้โอกาสแก่ผู้คนมาก มองจากมุมหนึ่งก็เป็นกระบวนการสร้างความฝันที่เป็นระบบ โดยอาศัยพลังของการร่วมชุมนุมของคนที่มีเป้าหมายผลประโยชน์ใกล้กัน แต่มองจากอีกมุมหนึ่ง ก็การสร้างอุปสงค์เทียมเพื่อทำให้มีการบริโภคที่เกินจริงขึ้นมา
โรคอ้วนที่ชาวอเมริกันประสบกันในทุกวันนี้ก็เป็นกรณีศึกษา ที่เห็นได้ง่ายเป็นรูปธรรม
หนังสือประเภทนี้ไม่พยายามจะชี้ทางออกให้ผู้คน ดังนั้น คนที่แสวงหาทางออก จึงพึ่งพาไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่า เพียงแค่การชี้ให้เห็นรากเหง้าของปัญหา ก็คุ้มค่ากับการอ่านมากพออยู่แล้ว ดังนั้นจึงน่าจะถือเป็นความใจกว้างของบรรณาธิการซึ่งให้ความเคารพกับผู้อ่านอย่างมาก
สำหรับคนไทยที่คลั่งไคล้กับวัฒนธรรมอเมริกัน และอยากเข้าถึงแนวคิดแบบป๊อปที่มีรสนิยมของแท้ ต้องไม่พลาดหนังสือเล่มนี้ เพราะจะได้มองเห็นว่า ในความฉาบฉวยที่เราเห็นกันอยู่นั้นมีความลึกซึ้งซ่อนอยู่ในสังคมอเมริกันที่คาดไม่ถึงอยู่อีกมาก
ที่สำคัญ อ่านหนังสือนี้แล้วได้ศัพท์ใหม่ภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเยอะมาก
รายละเอียดในหนังสือ
Overture
Chapter 1 This Car Climed Monut Nasdaq ว่าด้วยคำกล่าว อ้างที่เกินจริงเกี่ยวกับความเพ้อพกในเรื่องความร่ำรวยกะทันหันของธุรกิจดอทคอมและอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันยุค Y2K กำลังระบาดอย่างหนัก พร้อมกับนิยาม new economy
Chapter 2 The God That Sucked ว่าด้วยเทพจอมปลอมที่สร้าง และโปรโมตตัวเองว่าสามารถกำหนดกติกาสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง และหุ้นส่วนได้ทางลัดจากอัจฉริยะทางเทคโนโลยีสื่อสาร และโมเดล ธุรกิจแปลกๆ โดยอ้างถึงเสรีภาพในการเลือกและอธิปไตยใหม่ของ ผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนด้านมืดของสงครามวัฒนธรรมแบบอเมริกันที่ต้องการรวยทางลัด
Chapter 3 Successtitudes การล้อเลียนด้วยอารมณ์ขันเกี่ยวกับ กระบวนการสร้างทัศนคติมุ่งความสำเร็จทางลัด
Cyclorama of the Great Debauch
Chapter 4 Give the Millionaire a Drink เรื่องสั้นประดิษฐ์เพื่อเสียดสีการส้องเสพทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนร่วมเสี่ยง (เวนเจอร์ แคปิตอล) กับเด็กหนุ่มผู้มีแต่ความฝันว่า คล้ายกับจำลองฉากมั่วโลกีย์และยาเสพติดของซูเปอร์โมเดลกับหนุ่มบาร์ในซอกหลืบของ เมืองบ้านนอก
Chapter 5 American Heartworm เรื่องเปรียบเทียบความฝันแบบอเมริกันที่ถูกปลูกฝังมายาวนานของสังคม ซึ่งกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวทะเยอทะยานให้เกินจริงเพื่อบรรลุฝันที่ใหญ่โตกว่าความสามารถของตนเอง
Chapter 6 A Partial History of Alarms ว่าด้วยวิถีชีวิตแบบปากกัดตีนถีบของสังคมอเมริกันที่สอนให้คนหนุ่มสาวเรียนรู้ที่จะปกป้องสิทธิ เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น และมุ่งเอาชนะ ด้วยกรอบคิดของปัจเจกชนนิยม ซึ่งยังผลให้เกิดความตื่นตัวต่อความผันผวนของ อนาคตรุนแรงและกลายเป็นคนหัวหมอทุกหนแห่ง
Chapter 7 Dead Travels West วัฒนธรรมไล่ล่าพรมแดนใหม่แบบอเมริกันคาวบอยที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุค "มุ่งตะวันตก" ของคน ซึ่งไม่มีอดีต และอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างเดียว ซึ่งกลายเป็นจุดขายที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำอีกของนักการเมืองและนักธุรกิจอเมริกัน โดยความ ช่วยเหลือของฮอลลีวูด
Who Move My Civility
Chapter 8 Certainty โฆษณาล้อตัวเองของนิตยสารที่บรรณาธิการ หนังสือนี้ลงมือเขียนเกี่ยวกับความแน่นอนของการพนัน-เดิมพันของ คนอเมริกันร่วมสมัย
Chapter 9 I, Faker เรื่องตลกล้อเลียนการฉ้อฉลแบบอเมริกันของนักธุรกิจ โดยนำกฎของเมอร์ฟี่ที่ว่า "อะไรที่ดีเกินจริง แสดงว่า มันผิดปกติ" และทฤษฎีคาร์ล มาร์กซ์ มาสร้างกรอบว่าด้วยการตกแต่งบัญชีและวาดแผนธุรกิจที่สวยหรูเกินจริง ซึ่งมาบังเอิญกับกรณี เอนรอนที่กลายเป็นตำนานของการโกงมโหฬารในประวัติศาสตร์ธุรกิจอเมริกัน
Chapter 10 Cold Warrior in a Cold Country ว่าด้วยการใช้ความร่ำรวยพลิกแพลงยกระดับฐานะทางสังคมในพริบตาอย่างผิดธรรมชาติของคอนราด แบล็ก ราชาสื่อยุคหนึ่งของแคนาดาที่มีอดีต เป็นเศรษฐีอเมริกัน แล้วหลบหนีคดีฉ้อโกงไปโอนสัญชาติเป็นแคนาดา แล้วก็สร้างเรื่องอื้อฉาวเพราะได้ที่นั่งในสภาขุนนางของอังกฤษอย่างแยบยล
Chapter 11 A Sell-Out's Tale ล้อเลียนเบื้องหลังความสัมพันธ์อันฉาบฉวยระหว่างเซลส์แมน นักประชาสัมพันธ์สินค้า และผู้สื่อข่าว ที่เล่นละครหลายบทบาทพร้อมกัน เพื่อหาประโยชน์จากการเล่นซ่อนหาความจริง โดยเฉพาะในช่วงตลาดเป็นขาขึ้น
Chapter 12 The Eyes of Spiro Are Upon You ล้อเลียนบทบาท ของสื่อเสรีซึ่งคนอเมริกันเชื่อว่า จะช่วยสร้างฉันทามติแบบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมได้ แต่ความจริงแล้ว สื่อเสมือนหนึ่งกล่องแห่งความโง่เขลา เป็นสิ่งที่ควรได้รับความน่าเชื่อถือต่ำที่สุดเพราะตกเป็นเครื่องมือของชนชั้นสูง อคติส่วนตัว และกรอบความเชื่อใดๆ เสมอ
Authenticity, Inc.
Chapter 13 Babbott Rex บทบาทและอิทธิพลของวรรณกรรมทางนิตยสารและสื่อมวลชนร่วมสมัยที่ใช้คำแผลง สแลง และภาษา ใหม่ ซึ่งนำไปสู่วัฒนธรรมการสื่อสารใหม่ๆ ซึ่งกำหนดกรอบความคิดอย่างสำคัญว่า นักธุรกิจล้วนเบาปัญญาและละโมบ และกลายเป็นตราประทับในสมองของผู้คนยาวนาน
Chapter 14 Zoned Bohemian ว่าด้วยความเฟื่องฟูของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างของวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองใหญ่ของอเมริกา และกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ๆ โดยมีสื่อช่วยประโคมว่าเป็นการสร้างชุมชนที่มีรสนิยมทางศิลปะใหม่ ซึ่งความจริงตรงกันข้าม
Chapter 15 McSploitation ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพของการบริหารในร้านอาหาร-ภัตตาคารที่เป็นกันเองในอดีต เคลื่อนมาสู่รูปแบบ "แดกด่วน" ที่นำทางโดยแมคโดนัลด์
Chapter 16 Rockerdammerung ว่าด้วยประวัติแห่งความเสื่อม ของดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ในอเมริกายุคหลังทศวรรษ 1990 เป็นต้น มา เพื่อเปิดทางให้กับอัลเทอร์เนทีฟ และป๊อปที่กลับมาใหม่
Chapter 17 The Brand Called Shmoo การเปลี่ยนสาระของหนังสือการ์ตูนภาพชื่อดังของอเมริกา Li'l Abner จากเรื่องราวล้อเลียนคนระดับรากหญ้าในสังคม มาเป็นการเอ่ยถึงเรื่องของชนชั้นสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลทางการตลาด สะท้อนความเสื่อมถอยของพลังเสรีนิยมที่ชัดเจน
Chapter 18 I'd Like to Force the World to Sing การอธิบาย อย่างย่นย่อของความเฟื่องฟูของกลุ่มคนหนุ่มสาวนีโอคอนส์อเมริกัน ที่ครอบงำสังคมอเมริกันหลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ด้วยการหนุนช่วยอย่างแข็งขันของกลุ่มทุนอนุรักษนิยมขนาดใหญ่ เพื่อครอบงำและยัดเยียดหวังครอบสังคมให้อยู่หมัด ในห้วงเวลาที่ตลาด หุ้นกำลังบูมต่อเนื่อง
Chapter 19 Dreams Incorporated เจาะลึกวัฒนธรรมขายตรง สไตล์แอมเวย์ที่พยายาม "จัดตั้ง" ผู้บริโภคเป้าหมาย โดยสร้างเรื่องเล่าใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นอุปสงค์เทียมของผู้บริโภคด้วยวิธีการซับซ้อนกว่าในอดีต เพื่อสมอ้างว่าเป็นชุมชนธุรกิจที่ให้โอกาสแก่ผู้คนมากที่สุดในโลก ถือเป็นกระบวนการสร้างความฝันที่เป็นระบบ โดยอาศัยพลังของการร่วมชุมนุมของคนที่มีเป้าหมายผลประโยชน์ใกล้กัน
A Bull Market in Bullshit
Chapter 20 Three Scenes from a Bull Market เจาะลึกแรงกระพือของความละโมบเพื่อรวยทางลัดจากตลาดทุนขาขึ้นของคนอเมริกัน นับแต่บริษัทที่มุ่งดูดเงินจากกระแสดอทคอมในตลาดแนสแดค สื่อธุรกิจที่ช่วยปั่นราคาหุ้น และวัฒนธรรมรวยลัดของนักลงทุนที่แพร่กระจายที่เข้าข่าย "ความคลั่งของฝูงชน"
Chapter 21 Ursus Wallstreetus ว่าด้วยมนุษย์พันธุ์ประหลาดแห่งวอลล์สตรีท ซึ่งชอบเชื่อมโยงและตีความเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกให้กลายเป็นองค์ประกอบในแนวโน้มของการเก็งกำไรที่โยงเข้ากับภาวะหมีและกระทิง
Chapter 22 Boom Crash Opera ว่าด้วยความผันผวนของการเก็งกำไรที่ระบาด และก่อให้เกิดชนชั้นใหม่ในสหรัฐฯ นั่นคือชนชั้นเก็งกำไรซึ่งกลายเป็นกลุ่มเศรษฐีใหม่ที่ไม่ได้ทำการผลิตและถนัดทางด้านวิศวกรรมการเงิน ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรมเนื่องจากการกระจายรายได้ที่เริ่มมีช่วงห่างมากขึ้น
Interns Built the Pyramids
Chapter 23 When Class Disappears พัฒนาการของสังคมและการตลาด ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคกลายเป็นคนกลุ่มเดียวกัน และความขัดแย้งระหว่างไลฟ์สไตล์กับการทำงานเลอะเลือนลงไปจนยากจะแยกออก กลายเป็นสังคมที่ไร้ชนชั้น
Chapter 24 The Intern Economy and the Culture Trust เมื่อการอบรมทางการศึกษา และทัศนคติของคนทำงานวัยหนุ่มสาวเปลี่ยนไปในลักษณะจับจดมากขึ้น แม้จะช่วยทำให้ธุรกิจไม่ต้องพะวงกับปัญหาสหภาพแรงงานเหมือนอดีต แต่ปัญหาเรื่องความ ภักดีต่อองค์กรกลับเพิ่มความสำคัญขึ้นมาแทนในตลาดแรงงาน
Chapter 25 Chapters of Eleven การที่ผู้บริหารและเจ้าของบริษัทจำนวนมาก หลบเลี่ยงการจ่ายหนี้ และหันไปยอมรับให้บริษัท ล้มละลายแทน กลายเป็นวัฒนธรรมด้านมืดของธุรกิจร่วมสมัยอเมริกัน และทำให้ธุรกิจการเงินเพิ่มความซับซ้อนและเสี่ยงภัยมากขึ้นอย่างชัดเจน
Chapter 26 Dilbert and Me ว่าด้วยพลวัตของการปรับเปลี่ยน โครงสร้างองค์กรที่มีลักษณะแบนราบลง ไม่เป็นลำดับชั้นเหมือนในอดีต เป็นผลมาจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศและความรู้ทางการจัดการ ทำให้การจัดองค์กรใกล้เคียงกับศาสนจักรมากขึ้นเรื่อยๆ
Chapter 27 Us Against Them in the Me Decade เมื่อจริยธรรมของผู้บริหารธุรกิจเปลี่ยนไปจากรูปของการจ้างงานระยะยาว เป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความมั่นคงน้อยลง ทำให้ความสัมพันธ์ชั่วคราวกลายเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ระหว่างนายจ้างและพนักงาน
Vox Populoid
Chapter 28 Birchismo การกลับมามีอิทธิพลเหนือสังคมอเมริกัน อีกครั้งของแนวคิดขวาจัดเคร่งศรัทธาที่มีลักษณะไม่ประนีประนอม ทำให้พรรครีพับลิกันครองความยิ่งใหญ่มากขึ้น
Chapter 29 Paradise Shot to Hell กรณีศึกษาเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพของปัจเจกชนอเมริกันที่มีลักษณะประนีประนอมกับความแตกต่างทางความคิดน้อยลง ก่อนให้เกิดความปริร้าวทางสังคมที่รุนแรงมากขึ้น
Chapter 30 Modernism as Kitsch เมื่อศิลปะถูกอ้างความทันสมัย ทำให้ความงามสามานย์ลงเพราะการกล่าวอ้างถึงเสรีภาพในการแสดงออกเปิดทางให้กับแนวคิดเรื่องการถอดรื้อคุณค่าแบบเดิมๆ ทิ้งอย่างไม่แยแส
Chapter 31 The Poetry of Commerce เมื่อความมั่งคั่ง (โดย มีเงินเป็นตัวแทน) กลายมาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือ การแย่งชิงกันในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา กลายเป็นสรณะของสังคม และเงินร้อนก็มีบทบาทในการทำให้มนุษย์ทะเยอทะยานไม่สิ้นสุด
Chapter 32 The Earl Butz Farm กรณีศึกษาสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของสังคมอเมริกันโดยยกเอาตัวอย่างบ้านเกิดของนักการเมืองใหญ่แห่งทำเนียบขาว ซึ่งเคยเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ต่อมาถูกเปลี่ยนมือด้วยเหตุผลทางธุรกิจ และกลายเป็นที่ร้างที่ไร้คนใส่ใจ
|
|
|
|