Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Sociology of Religion
ผู้เขียน: Max Weber
ผู้จัดพิมพ์: Beacon Press
จำนวนหน้า: 304
ราคา: ฿1,130
buy this book

ชื่อของแมกซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาชื่อดังชาวเยอรมัน อาจจะทำให้ผู้หยิบหนังสือเล่มนี้ผวาไม่อยากแตะตั้งแต่เริ่มต้น เพราะชื่อเสียงในเรื่องความยากและลึกซึ้งของภาษานั้น พอๆ กับการปีนกระไดฟังเพลงคลาสสิกของบาค หรือบราห์ม กันเลยทีเดียว

เพียงแต่ว่าในยุคที่คนเชื่อกันว่า เป็นห้วงเวลาของการกลับมา สู่ศาสนาครั้งที่สองของมนุษย์กำลังเกิดขึ้นให้ปรากฏเป็นจริงยามนี้ หนังสือที่ลึกซึ้งอย่างนี้ทำให้สติของคนเราที่ฟุ้งซ่านด้วยอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอน กลับมาเยือกเย็นได้ไม่ยากนัก

ไม่ได้หมายความว่า อ่านหนังสือเล่มนี้เสมือนยาช่วยนอนหลับหรอกนะ

สิ่งที่เวเบอร์พยายามค้นขึ้นมาเพื่อกระตุ้นปัญญาของมนุษย์ ก็คือ การหาคำตอบแบบเดียวกับที่นักคิดเยอรมันร่วมสมัยในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อีกคนหนึ่งคือ แมกซ์ มึลเลอร์ได้กระทำมาพร้อมกัน นั่นคือ ความหมายของศาสนาต่อจิตวิญญาณต่อสถาบัน ทางสังคมและต่อพฤติกรรมในชีวิตของมนุษย์อย่างไรและระดับใด

พร้อมกับเสนอภาพทั้งด้านบวกและลบของศาสนาหรือลัทธิพิธีต่างๆ ออกมาอย่างรอบด้าน เพื่อจุดประกายปัญญาออกไป ว่านอกเหนือจากศรัทธาแล้ว ศาสนายังมีพันธกิจที่โยงใยกับมนุษย์ ในหลายมิติ

รากฐานของการผลิตงานแบบนี้เกิดจากแรงกระตุ้นจากอิทธิพลทางปัญญาสำคัญของเฟรดริก นิทเช่ เจ้าของวลี "พระเจ้า ตายแล้ว เหลือแต่องค์กรนักบวช" หรือ "คริสเตียนคนเดียวและคนสุดท้ายในโลกนี้ คือคนที่ถูกตรึงไม้กางเขนนั่นแหละ" ซึ่งทำให้ ศรัทธาของมนุษย์ในยุโรปสั่นสะเทือนอย่างหนัก จนต้องพยายามแสวงหาทางออกใหม่อย่างมะงุมมะงาหรามาจนกระทั่งทุกวันนี้

ชัยชนะของวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ทำให้จินตนาการทางวิญญาณของมนุษย์หดสั้นลงเรื่อยๆ ปรัมปราคติทางศาสนาที่เคยถือเป็นแรงบันดาลใจเพื่อยกระดับจิตวิญญาณ กลายเป็นแค่ "นิทานเก่า" หรือ "นิยายโกหก" ของนักบวช และผู้นำศาสนาที่รับใช้อำนาจรัฐในสายตาของคนทั่วไปที่สิ้นความนับถือศาสนาเป็น สรณะ

ความก้าวหน้าและแนวคิดเชิงตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ ทำให้คุณค่าเดิมในเรื่องความใกล้ชิดธรรมชาติ กลายเป็นความดิบเถื่อน สิ่งมหัศจรรย์กลายเป็นเรื่องเพ้อฝัน และไม่ได้มีมนต์ขลังอีกต่อไปเพราะถือเป็นมายาที่ไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้า

ท้ายสุด ศาสนาก็ถูกถือเป็นแค่โรคติดต่อทางด้านภาษา หรือ a disease of language เท่านั้น

เวเบอร์จัดระบบข้อเขียนของเขาให้อ่านง่ายแต่มีพลังด้วยข้อมูลที่อัดแน่นนับแต่ปฐมบทของศาสนาในยุคก่อนศาสนา และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในความง่ายก็ถือว่าเป็นยาขมสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย

ความโดดเด่นของหนังสือนี้อยู่ที่มุมมองปฐมบทของศาสนา นับแต่การใช้ประโยชน์รูปธรรมทางโลกิยะ ทั้งในเรื่องของธรรมะ และไสยศาสตร์ แล้วกลายเป็นระบบความเชื่อทางจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยผ่านกระบวนการแห่งสัญญะ ต่างๆ แล้วกลายมาเป็นเทพและพระเจ้า พร้อมกับพิธีกรรมต่างๆรวมถึงสาเหตุและคำอธิบายเบื้องหลังเหตุพฤติกรรมที่โหดร้ายของเทพและการสังเวยเทพในลัทธิและศาสนาต่างๆ บางแห่ง พร้อมกับ บทบาทหน้าที่ทางสังคมในหลายรูปแบบ

บทที่น่าอ่านชนิดมิควรพลาดในหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ข้อสรุปอันน่าสนใจบทที่ 8 ตรงที่ว่า แม้บทบาทของปัญญาชนในการยกระดับปรัชญาและปัญญาของคนในองค์กรศาสนาจะถือเป็นคุณูปการ ใหญ่หลวงก็จริง แต่ภาพด้านลบก็เกิดขึ้นได้เป็นประจำ นั่นคือ อัตตา และอหังการของปัญญาชนที่ขัดแย้งไม่ยอมลงรอยให้กันเองในศาสนจักร ก็ส่งผลให้มักมีนิกายใหม่เกิดขึ้นได้ง่าย

ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การที่นักสังคมวิทยาชื่อดัง ทาลคอทท์ พาร์สัน ชาวอเมริกัน ได้ลงมือเขียนบทนำในหนังสือนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้หนังสือนี้ทรงคุณค่าอย่างมาก

การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงต้องเริ่มนับแต่บทนำเป็นต้นไปเลยด้วยซ้ำ แต่ต้องขอเตือนเอาไว้ก่อนว่า หนังสือแบบนี้ไม่ใช่มีไว้เพื่ออ่านรวดเดียวจบแบบนวนิยายหรือหนังสือประเภทฮาวทูทั้งหลายแหล่ เนื่องจากมีไว้เพื่อประดับสติปัญญา เวลาที่หาทางออกในคำตอบของ ชีวิตจากหนังสือเล่มอื่นๆ ไม่ได้ หรือไม่ดีเพียงพอ

ราคาแม้จะดูแพงเกินสมควรมาก เมื่อเทียบกับจำนวนหน้า แต่การได้อ่านหนังสือแบบนี้ถือเป็นบุญตาและบุญสมองมากเพียงพอ ไม่ต้องคิดมากเรื่องราคาให้ยุ่งยาก เพราะการได้อ่านและลิ้มรสสำหรับงานระดับโลกก็เกินคุ้มค่าแล้ว

รายละเอียดในหนังสือ

Introduction by Talcott Parsons การตีความอย่างสรุปเพื่อความเข้าใจรากฐานความคิดก่อนจะเข้าถึงงานของเวเบอร์ เป็นการปูทางก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการคิดซึ่งถือได้ว่าซับซ้อนทางด้านสังคมวิทยาของนักคิดที่ยิ่งใหญ่แต่เข้าใจยากและอาจตีความผิดบ่อยๆ

1. The Rise of Religion ปฐมบทศาสนาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ รูปธรรมทางโลกิย์ทั้งในเรื่องของธรรมะ และไสยศาสตร์ที่เป็นแรงจูงใจหลักในการก่อกำเนิดเป็นชุมชนขึ้นมา แล้วกลายเป็นระบบความเชื่อทางจิตวิญญาณที่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติ โดย ผ่านกระบวนการแห่งสัญญะต่างๆ แล้วกลายมาเป็นเทพและพระเจ้า พร้อมกับพิธีกรรมต่างๆ

2. God, Magician, and Priests บทบาทเชิงสัญญะของเทพในโครงสร้างของการเมืองในชุมชนมนุษย์ซึ่งพัฒนามาสู่ระบบพระเจ้า องค์เดียวในปัจจุบัน รวมถึงสาเหตุและคำอธิบายเบื้องหลังเหตุพฤติกรรมที่โหดร้ายของเทพ และการสังเวยเทพในลัทธิและศาสนา ต่างๆ บางแห่ง รวมถึงภารกิจของนักบวชหรือพ่อมดหมอผี

3. The Idea of God, Religious Ethics, and Taboo คุณค่าทางจริยธรรมและนิติธรรมของความศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพ และการสร้างบุคลาธิษฐานให้กับเทพตลอดจนการสร้างความสำคัญทางสังคมให้กับสิ่งต้องห้ามทางศาสนา ซึ่งจะก่อรูปขึ้นเป็นโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องสำนึกในบาป และการหลุดพ้นทางวิญญาณ

4. The Prophet ว่าด้วยรากฐานและความหมายของผู้พยากรณ์หรือนำสารแห่งเทพ ที่มีคุณสมบัติแตกต่างจากนักบวช หมอผี และมายากร รวมทั้งบทบาททางสังคมในฐานะผู้สร้างกติกาสังคมใหม่ๆ พร้อมกับเป็นครูผู้ให้ความรู้เพื่อเปิดทางสู่การหลุดพ้น รวมทั้งคุณลักษณะเด่นของคำพยากรณ์แห่งอนาคต

5. The Religious Congregation, Preaching, and Pastoral Care ความหมายของพิธีกรรมการชุมนุมของสาวกศาสนา การสวดมนต์ และการเลี้ยงฉลองเพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในชุมชนศาสนา ตลอด จนการเล่าตำนานหรือนิทานเพื่อเสริมศรัทธาให้แก่กล้า และการเอื้ออาทรผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า

6. Castes, Estates, Classes, and Religion ความแตกต่างทางชนชั้น วรรณะ และฐานะทางสังคมซึ่งทำให้รูปแบบของศาสนามีระดับที่แตกต่างกัน ก่อรูปเป็นองค์กรและระบบจัดการสังคมที่แน่นอนในแต่ละชุมชน ซึ่งมีคำอธิบายจำเพาะที่สมเหตุสมผลในตัวเอง

7. Religion of Non-Privileged Classes ศาสนาของผู้ยากไร้ซึ่งเรียกร้องการแสวงหาความหลุดพ้นและการอุทิศตัวเพื่อคุณธรรมสูงกว่าปกติ ซึ่งก่อให้เกิดการกระจายตัวของศรัทธามากยิ่งขึ้น เพราะความต้องการแสดงตัวของบรรดาสาวกค่อนข้างสูงลิ่ว

8. Intellectualism, Intelectuals, and the History of Religion บทบาทของปัญญาชนในการยกระดับปรัชญาและปัญญาของคน ในองค์กรศาสนา นอกเหนือจากความเชื่อและศรัทธาอย่างพื้นๆ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้เกิดเป็นนิกายใหม่ๆ จากการที่ปัญญาชนขัดแย้งกันเอง

9. Theodicy, Salvation, Rebirth พัฒนาการของศาสนาที่ยกระดับ จากนับถือเทพหลายองค์เป็นเทพสูงสุดองค์เดียว พร้อมกับพัฒนาการ ของความคิดเชิงนามธรรมในเรื่องชีวิตหลังความตาย ชะตากรรมที่ถูกกำหนดล่วงหน้า และผลของกรรมเวร ตลอดจนความพยายาม ที่จะตอบคำถามหรืออธิบายเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์พร้อมของโลก เพื่อกรุยทางสู่การหลุดพ้นในอนาคต

10. The Different Roads to Salvation ความสำคัญของพิธีกรรม ในศาสนาเพื่อที่จะทำให้สาวกอุทิศตัวในด้านต่างๆ แก่ศาสนจักร ส่งผลให้เกิดเป็นกระบวนการสร้างระบบและให้เหตุผลแก่กรรมวิธีในการกำหนดวิถีชีวิตให้เหมาะสม

11. Asceticism, Mysticism, and Salvation Religion การบำเพ็ญ เพียร-ถือสันโดษในระดับที่แตกต่างกัน การสร้างพิธีกรรมหรือรหัสเร้นลับเพื่อไปสู่การหลุดพ้นอย่างสัมบูรณ์ พร้อมกับเปรียบเทียบความ แตกต่างระหว่างศาสนาตะวันตกที่เน้นภราดรภาพระหว่างสาวก และเอเชียที่เน้นการหลุดไปจากข้อจำกัดของโลกิยะ

12. Soteriology, and Types of Salvation กระบวนการประกอบ ศาสนกิจเพื่อไปสู่ความหลุดพ้นสัมบูรณ์ผ่านการอุทิศตัวเอง เพื่อติดต่อกับเทพหรือเป้าหมายแห่งธรรมะ และยกระดับศรัทธาให้แก่กล้าโดยผ่านทางภูมิปัญญา และสมาธิแน่วแน่

13. Religious Ethics, the World Order, and Culture ความตึงเครียดระหว่างจริยธรรมทางศาสนาที่ขัดแย้งกับวิถีแห่งโลกิยะ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์กันมนุษย์ในชุมชน หรือความสัมพันธ์ เชิงผลประโยชน์ หรือความมีเหตุผลของปุถุชนที่ไปด้วยกันไม่ได้กับศรัทธาทางศาสนา ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนได้ง่ายมาก

14. The Relationship of Religion to Politics, Economics, Sexuality, and Art ความสัมพันธ์หลากมิติระหว่างศาสนากับโครงสร้างหรือปรัชญาของการเมือง เศรษฐกิจ เพศสัมพันธ์ และ ศิลปะ ซึ่งหลายครั้งทำให้เกิดคำถามตามมาโดยเฉพาะเรื่องของการใช้ความรุนแรง บทบาทของศาสนาในรัฐ และรัฐในศาสนา เรื่อง สุนทรียะซึ่งมีทั้งสอดคล้องกันและขัดแย้งกัน

15. Judaism, Christianity, and the Socio-Economic Order ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา นิกาย และกรอบกติกาทางสังคมที่เข้ามาโยงใยอย่างแยกไม่ออก และก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่บางครั้งร่วมมือกันและต่อสู้กัน

16. The Attitude of the Other World Religions to the Social and Economic Order ว่าด้วยการถือกำเนิดของศาสนาระดับโลก หลายศาสนา ซึ่งมีส่วนกำหนดหรือขับเคลื่อนระเบียบทางสังคมและเศรษฐกิจของมนุษย์ในโลกอย่างซับซ้อน



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us