Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Modern Man in Search of a Soul
ผู้เขียน: Carl Gustav Jung
ผู้จัดพิมพ์: Routledge Classics
จำนวนหน้า: 250
ราคา: ฿857
buy this book

ข้อสรุปที่ว่า ยิ่งเทคโนโลยีทันสมัยและก้าวหน้ามากเท่าใด มนุษย์กลับยิ่งสูญเสียจิตวิญญาณของตนเองมากขึ้นเท่านั้น ได้รับการพิจารณาจนกระทั่งกลายเป็นกระแสใหญ่กระแสหนึ่ง แต่ที่น่าสนใจก็คือ แม้กระแสจะแรงเท่าใด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกลับยิ่งเข้มข้นมากเท่านั้น

ความขัดแย้งในตัวเองของมนุษย์อย่างนี้มีการวิเคราะห์มากมาย นับแต่คาร์ล มาร์กซ์ ที่ว่าด้วยจิตสำนึกเทียมและสงครามอุดมการณ์ มาจนถึงเอ็นจีโอร่วมสมัยในปัจจุบัน แต่ก็ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ กลายเป็นแค่ความเชื่อและศรัทธาเท่านั้น

กระแสการกลับมาค้นหาจิตวิญญาณ ระลอกแล้วระลอกเล่า ไม่ใช่เรื่องของตะวันออกหรือตะวันตกอย่างที่ชอบอ้างกัน แต่เป็นการกลับไปสู่รากฐานของการค้นหาเป้าหมายชีวิตของตนเอง ซึ่งศาสนาในอดีตล้วนเคยผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกมา คำถามใหญ่ก็คือ อะไรคือแรงจูงใจให้คนกลับไปกระทำสิ่งที่เรียกว่า "การกลับมานับถือศาสนาครั้งที่สอง" หลังจากที่นิทเช่เคยประกาศคำอันโด่งดังว่า "ศาสนาตายแล้ว" และ "คริสเตียนที่แท้จริงมีคนเดียวเท่านั้นในโลก คือ คนที่ถูกตรึงไม้กางเขนเท่านั้น"

หนังสือของนักจิตวิทยารุ่นเก่า คาร์ล ยุง แม้จะเขียนเก่านานแล้ว และเจ้าตัวก็เสียชีวิตไปนานแล้วเช่นกัน ยังคงทันสมัยเสมอกับการตอบคำถามเรื่องแรงจูงใจถึงเหตุผลที่มนุษย์ยุคใหม่กลับมาสู่การนับถือศาสนาครั้งใหม่ ทั้งที่คนเหล่านี้จำนวนมากกลับมีชีวิตประจำวันอยู่กับเทคโนโลยีร่วมสมัยรอบตัว

เล่มนี้ยุงพยายามศึกษาแรงขับของมนุษย์สมัยใหม่โดยใช้ทฤษฎี จิตวิเคราะห์ของเขาที่แตกต่างออกไปจากของฟรอยด์ (รายละเอียดอยู่ในบทที่ 6 ของหนังสือ) เพื่อชี้ให้เห็นรากเหง้าของบุคลิกภาพของมนุษย์ที่มีส่วนสร้างจิตและบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน โดยข้อเท็จจริงจากการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ว่า รูปการจิตสำนึกของมนุษย์ถูกหล่อหลอมจากสภาพแวดล้อม และเป็นกุญแจชี้ขาดความแตกต่างเนื่องจากมนุษย์นั้นมีจิตสำนึกในตัว 2 แบบซ้อนกันคือ แบบธรรมชาติ และแบบที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ยอมรับ จิตสำนึกของมนุษย์จึงถูกสร้างผ่าน 2 ปัจจัยหลักคือผลผลิตตามธรรมชาติผ่านพันธุกรรมและโอกาส ในการดำรงชีวิตที่มีสภาพแวดล้อมต่างกัน

ยุงสรุปว่า ประสบการณ์รูปธรรมของมนุษย์ที่ถูกแปลงรูปเป็นสัญญะต่างๆ แล้วแสดงออกมาในรูปศิลปะ แม้จะมีรากฐานจากประสบการณ์จริง แต่ก็ผ่านกระบวนการสังเคราะห์จนกระทั่งยากจะสอบค้นความเร้นลับได้อย่างแม่นยำได้ เพราะว่ามนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงนั้น เป็นผลของการสังเคราะห์ความขัดแย้งของความชำนาญในตัวเอง ซึ่งสามารถทวนร่องรอยกลับไปถึงยุคมนุษย์โบราณได้

สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีส่วนทำให้ ความศักดิ์สิทธิ์และต้องห้ามถูกกระบวนวิธีศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ กระชากลงมาติดดิน กลายเป็นสาระที่จับต้องและอธิบายได้ แม้จะไม่ทั้งหมด ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงก็คือ มนุษย์สมัยใหม่สูญเสียศรัทธาที่มีต่ออภิปรัชญาทางศาสนาและต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย พากันมุ่งเข้าหาคำตอบจากวัตถุที่เป็นรูปธรรมที่จะให้ความมั่นคงปลอดภัยได้ หมายถึงการสูญเสียจินตนาการส่วนตนอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการที่อัตวิสัยและภววิสัยของมนุษย์หันมาต่อสู้กันเอง

แม้ยุงจะไม่ได้ให้ข้อสรุปอะไรที่ชัดเจนซึ่งกล่าวถึงอนาคตและทางออกจากความขัดแย้งในตัวเองหรือกับดักทางจิตวิญญาณของมนุษย์ เหมือนตำราศาสนาทั้งหลาย แต่การที่เขาจำแนกแยกแยะปมประเด็น ต่างๆ ที่ค้างคาใจจิตของมนุษย์ที่ร่านทุรน ก็ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงประเด็นต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เหมือนถนนประเภททางด่วนที่สร้างเรียบร้อยแล้ว รอแต่มนุษย์จะขับเคลื่อนรถเข้าไปค้นหาหรือบรรลุจุดหมายกันเอาเอง

ที่สำคัญอย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดมนุษย์ทั้งหลายโดยเฉพาะชนชั้นกลางในวัยทำงาน จึงหันกลับมานับถือศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันอย่างแพร่หลาย (ไม่นับพวกที่อยากสร้างภาพคนมีคุณธรรมเอาหน้า เพื่อซ่อนเร้นบาปของตนเอง)

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วหากจะให้เกิดการเถ่วงดุลกัน ควรอ่านหนังสือของออสวาลด์ สเปงเลอร์ The Decline of the West และ หนังสือของ Richard Dawkins ชื่อ The God Delusion พร้อมไปด้วย เพื่อให้จิตวิญญาณได้รับการชั่งน้ำหนัก ก่อนที่จะมีข้อสรุปว่าควรจะเอียงไปทางไหน

รายละเอียดในหนังสือ

Chapter 1. Dream-Analysis in its Practical Application การวิเคราะห์ความฝัน (ไม่ใช่เพื่อทำนายโชคชะตา) เพื่อค้นหาแรงขับและการแปลงสภาพของจิตสำนึกหลายระดับของผู้ที่ฝัน เพื่อจะค้นหาว่าการแปลงประสบการณ์รูปธรรม ให้กลายเป็นสัญญะทางจิตใต้สำนึกนั้น เป็นกระบวนการที่เข้าถึงและตรวจสอบได้ ไม่ใช่แค่มายาคติ หรือเป็นไปโดยธรรมชาติ

Chapter 2. Problems of Modern Psychotherapy ว่าด้วยการสร้าง 3 ขั้นตอนของการรักษาหรือวิเคราะห์ปัญหาทางจิตของคน ประกอบด้วยการทำความเข้าใจ 1) การวิเคราะห์ทางจิตวิทยาคือการค้นหาสัจจะเก่าแก่ที่ถูกซ่อนเอาไว้ใต้จิตสำนึกของมนุษย์แต่ละคนออกมาเพื่อจัดการเสียใหม่เป็นระบบ 2) กระบวนการให้ผู้ที่ถูกตรวจสอบจิตสารภาพออกมาซึ่งมักจะปิดบังซ่อนเร้นหรือเกินจริงไปบ้าง แต่ก็ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติเพื่อค้นหาจิตสำนึกด้านมืดที่ถูกซ่อนอยู่ 3) ให้มิติทางสังคมเพื่อทำความเข้าใจรากฐานปัญหาทางจิต โดยเฉพาะคุณค่าทางจิตที่ขัดแย้งและสับสน ซึ่งเป็นกระบวนการซับซ้อนกว่าทางด้านกายภาพมาก

Chapter 3. The Aims of Psychology การให้คำอธิบายสภาพทางจิตของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ค้นหาความมีเหตุผล แต่ยังต้องวิเคราะห์ความ ไม่มีเหตุผลโดยเฉพาะเรื่องของอภิปรัชญาในจิตไร้สำนึก ควบคู่ไปด้วย อย่างไม่แยกออกจากกัน และจิตสำนึกนั้นอยู่ล้ำลึกกว่าแค่พิจารณาจากสติหรือจิตรู้สำนึกอย่างเดียว เพราะส่วนใหญ่มันแสดงออกในรูปสัญญะที่ต้องถอดรหัสหรือตีความเสียก่อนเสมอ

Chapter 4. A Psychological Theory of Types บุคลิกภาพของมนุษย์แต่ละคน ต้องมองจากนอกสู่ใน แล้ววิเคราะห์ออกมาจากขั้นตอน รู้ไปสู่ไม่รู้ โดยไม่มีการแยกร่างกายและจิตใจออกจากกัน แต่ต้องหาทางแยกตัวตนทางจิตออกจากสาระของตัวตนที่ถูกตีความ โดยผ่านการศึกษาปมทางจิตต่างๆ ที่มนุษย์มักจะมีร่วมกัน เช่น ปมเกี่ยวกับพ่อแม่ ปมทางสังคม หรือ ฯ ซึ่งจะทำให้ทราบทัศนคติเบื้องหลังพฤติกรรมและบุคลิกภาพต่างๆ ของบุคคลได้อย่างถ่องแท้ ก่อนจะนิยามออกมา

Chapter 5. The Stage of Life ระดับขั้นของพัฒนาการทางจิตมนุษย์แบ่งออกได้หลายรูปแบบแล้วแต่สำนักต่างๆ ให้นิยามอย่างไร แต่โดยทั่วไปแล้วสามารถแบ่งหยาบๆ ได้แค่ 2 ส่วนเท่านั้นคือ ขั้นตอน การเติบโตของเด็ก และขั้นตอนทวิลักษณ์ของผู้ใหญ่ ซึ่งขั้นตอนหลังนี้ซับซ้อน และอาจจะมีการเปลี่ยนบทบาทกันได้มากขึ้นตามความซับซ้อนของสังคม

Chapter 6. Freud and Jung-Contrasts อธิบายความแตกต่างของ สองนักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ที่เริ่มจุดเดียวกันแต่ต่างกันภายหลัง โดยฟรอยด์ให้ความสำคัญกับสมมุติฐานเรื่องจิตไร้สำนึกในฐานะที่รองรับอารมณ์หรือกิเลสที่ถูกเก็บกดเอาไว้แล้วแปลงสภาพออกมา แต่ยุงเห็นว่าข้อสรุปนี้ไม่เพียงพอ เพราะอีกด้านหนึ่งจิตไร้สำนึกสามารถมีบทบาทสร้างสรรค์ในบุคลิกภาพของมนุษย์ได้ในฐานะจิตสำนึกร่วม และรูปจำลองทางจิตที่แปลงสภาพจนไม่เหลือเค้า โดยผ่านความฝัน ศิลปะ ปรัมปราคติ ศาสนา และปรัชญา เพื่อให้ชีวิตมนุษย์เกิดสมดุลใหม่ แต่ฟรอยด์ปฏิเสธอย่างหลังนี้สิ้นเชิง

Chapter 7. Archaic Man มนุษย์ปัจจุบันมักจะเชื่อว่าคนในยุคโบราณ หรือล้าหลัง มีจิตสำนึกที่หยาบและไม่ซับซ้อน ทั้งที่ผลจากการตรวจสอบทางวิชาการ พบว่า จิตสำนึกในการดำรงชีวิต ไม่มีความ แตกต่างกันในพื้นฐาน แต่เป็นเพราะรูปการจิตสำนึกที่ถูกหล่อหลอมจากสภาพแวดล้อมต่างหากที่เป็นกุญแจชี้ขาดความแตกต่างเนื่องจาก มนุษย์นั้นมีจิตสำนึกในตัว 2 แบบซ้อนกันคือ แบบธรรมชาติ และแบบที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ยอมรับ เช่น คุณไสยนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ของป่า นั่นคือจิตสำนึกของมนุษย์แต่ละยุคสมัยถูกสร้างผ่าน 2 ปัจจัยหลักคือ ผลผลิตตามธรรมชาติผ่านพันธุกรรม และโอกาสในการดำรงชีวิต ที่มีสภาพแวดล้อมต่างกัน

Chapter 8. Psychology and Literature จิตของมนุษย์คือครรภ์ของ ความคิดริเริ่มแห่งศาสตร์และศิลปะของมนุษย์ งานศิลปะของมนุษย์ทุกสาขาโดยเฉพาะวรรณกรรม ล้วนวนเวียนกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์รัก ภาวะเป็นอยู่ ครอบครัว อาชญากรรม สังคม ฯ ซึงเป็นผลพวงที่เบี่ยงเบนของประสบการณ์ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า รากฐานของพลังสร้างสรรค์ดังกล่าว ยังเป็นความเร้นลับ เหตุผลก็เพราะว่ามนุษย์ที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงนั้น เป็นผลของการสังเคราะห์ความขัดแย้งของความชำนาญในตัวเอง ซึ่งสามารถทวนร่องรอยกลับไปถึงยุคมนุษย์โบราณได้

Chapter 9. The Basic Postulates of Analytical Psychology ว่าด้วยกระบวนการศึกษาวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ นำมาซึ่งการทะลวงกรอบความรู้ทางจิตวิญญาณและทำให้ความศักดิ์สิทธิ์และต้องห้าม กลายเป็นสาระที่จับต้องได้ และอธิบายได้ แม้จะไม่ทั้งหมด

Chapter 10. The Spiritual Problem of Modern Man มนุษย์สมัยใหม่ เป็นคำนิยามที่ค่อนข้างยากลำบากเนื่องจากความรวดเร็วของ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์สูญเสียศรัทธาที่มีต่ออภิปรัชญาทางศาสนาและต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มุ่งเข้าหาคำตอบจากวัตถุที่เป็นรูปธรรมที่จะให้ความมั่นคงปลอดภัยได้ แต่ผลร้ายก็เฉกเช่นกับการพยายามปลูกต้นไม้ด้วยยอด คือ ทำให้มนุษย์สูญเสีย จินตนาการส่วนตนอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการทำลายตนเองและสร้างปีศาจในจิตของตนเองที่ทำให้สูญเสียความสุขสันติ ด้านกลับของปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เทพเจ้าที่ถูกมนุษย์ปฏิเสธแฝงเร้นเข้ามา กลายเป็นภาพอุดมคติอย่างเหนียวแน่น ปรากฏการณ์เช่นนี้เปรียบได้กับการพยากรณ์ฟ้าผ่าในวันที่ไร้ก้อนเมฆ นั่นคืออัตวิสัยและภววิสัยของมนุษย์หันมาต่อสู้กันเอง

Chapter 11. Psychotherapists or the Clergy ปมประเด็นของความสำเร็จและล้มเหลวของการวิเคราะห์ทางจิตของมนุษย์รายบุคคล เป็นเรื่องซับซ้อน เพราะขึ้นกับความเชื่อมั่น ความรู้ และการถอดรหัส ปัญหาที่ตกค้างในจิตไร้สำนึกที่แตกต่างกันอย่างหลากหลายและยากจะมีสูตรสำเร็จได้ ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับสมรรถภาพของนักจิตวิเคราะห์ไม่รู้จบ โดยเฉพาะในยุคที่มนุษย์ทั่วไปมีความเบี่ยงเบนออกจากคุณค่าทางจารีตและที่รับเป็นมรดกตกทอดมาจากอดีตอย่างรุนแรง ทำให้ความพยายามที่จะมองลึกกว่าปรากฏการณ์ที่เห็นได้เป็นเรื่องยากลำบาก แต่มนุษย์ก็ไม่เคยหยุดที่จะอยากรู้ความเร้นลับทางจิตของตนเอง ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us