|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The Great Transformation
ผู้เขียน: Karl Polanyi
ผู้จัดพิมพ์: Beacon Press
จำนวนหน้า: 315
ราคา: ฿1,527
buy this book
|
|
|
|
นักคิดจากฮังการีที่โด่งดังอย่างมากยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีสองคน คนหนึ่งชื่อ คาร์ล โปลันยี เป็นนักคิดทางด้านสังคมศาสตร์ อีกคนหนึ่งชื่อ คาร์ล เคเรนยี เป็นนักจิตวิทยา
โปลันยีมีชื่อเสียงโด่งดังจากหนังสือเล่มแรกและเล่มเดียวของเขาเล่มนี้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มมาก แม้จะไม่ได้เรียนหนังสือจบจากที่ไหนเป็นชิ้นเป็นอัน แต่การใช้วิธีการศึกษาที่เรียกว่า สหสาขาวิชา หรือ multidiscipline คนแรกๆ ของโลก ก็ทำให้เขาเป็นต้นแบบของแนวการเขียนทางด้านสังคมศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้
ความรอบรู้ของเขาทำให้หนังสือซึ่งพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ.1944 ยังคงไม่เคยล้าสมัย แม้ว่าข้อมูลบางอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าในสมัยนั้นมาก แต่วิธีการศึกษาและข้อสรุปบางอย่างของเขาที่ว่าด้วยพลวัตของเศรษฐกิจ-สังคม-การเมืองของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 ยังคงเป็นเรื่องท้าทายแนวคิดปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง
หนังสือเล่มที่จัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่นี้ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เป็นคนลงมือเขียนคำนิยมให้เลยทีเดียว ซึ่งเท่ากับยอมรับว่า งานเขียนนี้ยังคงทันสมัย
โปลันยีมีอาชีพผู้สื่อข่าวทางด้านธุรกิจของหนังสือพิมพ์ชั้นนำ ในเวียนนา ในขณะที่ลี้ภัยสงครามจากบ้านเกิดในฮังการี และอาศัย ประสบการณ์งานข่าวผสมเข้ากับเป็นนักอ่านตัวยง เขียนงานในระหว่างลี้ภัยครั้งต่อไปที่ลอนดอนและนิวยอร์ก ซึ่งทำให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ทั้งหลายต้องทึ่งไปตามๆ กัน โดยเฉพาะคำอธิบายปัจจัยการถือกำเนิดและล่มสลายของเศรษฐกิจการตลาดของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ด้วยตัวแปรหลายอย่าง
กุญแจหลักของแนวคิดโปลันยี อยู่ที่เรื่องของทวิลักษณ์ของ การเคลื่อนสังคม โดยสรุปว่า เมื่อใดที่การตลาดเสรีพยายามที่จะสลัดตัวเองออกจากองคาพยพอื่นในสังคม การปกป้องทางสังคมจะตามมาเป็นเงาตามตัวเพื่อถ่วงรั้งการเปลี่ยนแปลง
หนังสือนี้ตั้งคำถามแบบเดียวกับมาร์กซ์กันเลยทีเดียวว่า เศรษฐกิจทุนนิยมที่อาศัยกลไกตลาดอย่างเดียว ไม่สามารถทำงานเพื่อให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งได้ แต่กลับจะทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นเลวร้ายลงมากขึ้น เพียงแต่ทางออกของโปลันยี กลับไม่ใช่เสนอให้มีการต่อสู้ทางชนชั้นแบบมาร์กซิสต์ หากไม่ยอมสรุปอะไร เพราะยังมองเห็นว่า การหันไปหาระบบเศรษฐกิจที่ยอม ให้รัฐเข้าแทรกแซงอย่างมากอย่างคอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์ คือการเปิดช่องให้กลไกรัฐเข้ามาทำลายเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่ร้ายแรงทั้งในทางการเมืองและสังคม ซึ่งเป็นสภาพของทาสอีกแบบหนึ่ง
แน่นอนว่า หนังสือที่ไม่มีข้อสรุปอย่างนี้ย่อมขาดพลังสนับสนุนในระดับหนึ่ง เพราะไม่ได้ชี้ทางสว่างทางปัญญาแก่สังคม มากนัก แต่ข้อมูลและสาระที่โปลันยีได้นำเสนอมาก็สะท้อนให้เห็นชัดว่า การล่มสลายของรัฐที่ปฏิเสธกลไกตลาด และหันไปหาระบบการแทรกแซงโดยรัฐ ได้บ่งบอกถึงความบกพร่องของระบบดังกล่าวได้ดีเพียงใด
เศรษฐกิจเสรีนิยมที่รัฐเข้าแทรกกลไกน้อยที่สุด อาจจะไม่ใช่เศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการกระจายความมั่งคั่งสูงสุด แต่ก็เป็นเศรษฐกิจที่มีกลไกยอมรับธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ได้ดีพอสมควร ในขณะที่กลไกเสริมซึ่งคิดค้นขึ้นมาชดเชยข้อบกพร่องก็จะต้องไม่รบกวนการทำงานเสียจนทำให้กลไกนั้นไม่ทำงานได้เต็ม ประสิทธิภาพ
ข้อเท็จจริงในหนังสือของโปลันยี จึงเป็นข้อมูลที่ควรแก่การ ตั้งคำถามและท้าทาย
การที่หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน แม้จะมีความลึกซึ้ง แต่การที่ไม่มีตัวเลขหรือการคำนวณมากมาย แถมแต่ละบทก็ยังสั้นๆ ไม่ซับซ้อนมากนัก ทำให้หนังสือนี้น่าอ่านอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่สนใจเศรษฐศาสตร์การเมืองและไม่เชื่อ ในเรื่อง economic determinism
หากจะให้ดีละก็ลองอ่านหนังสือของนีโอมาร์กซิสต์ระดับ อันโตนิโอ กรัมซี่ ที่ลึกซึ้งซึ่งว่าด้วยสงครามอุดมการณ์ประกอบด้วย อีกเล่ม ก็คงจะช่วยทำให้การอ่านมีอรรถรสมากขึ้น
แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะราคาแพงไปสักนิด แต่ก็ถือว่าเกินคุ้ม เพราะเรื่องของการออกแบบสังคมนั้น ไม่เคยล้าสมัยอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเมืองไทยยามนี้ ซึ่งยังคงวนเวียนกับการหาคำตอบที่ไม่รู้จบว่า การเมือง สังคมและเศรษฐกิจแบบไหนจึงจะเหมาะกับคนไทย และสอดคล้องกับพลวัตของโลกพร้อมกันไป
รายละเอียดในหนังสือ
Part One : The International System
1. The Hundred Years' Peace กล่าวถึงช่วงเวลาของความก้าวหน้าของแนวคิดแบบสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาความสงบ (แม้จะมีสงครามเล็กๆ น้อยๆ และการปฏิวัติ ทั่วไป) หลังสงครามนโปเลียน ซึ่งเป็นผลพวงให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองทั่วยุโรปและทุนนิยมเฟื่องฟูอย่างมาก และมีฐานะครอบงำเศรษฐกิจโลกอย่างแท้จริง
2. Conservative Twenties, Revolutionnary Thirties กระแสนิยม ที่ขัดแย้งกันหลังสงครามโลกครั้งแรก เมื่อมีความพยายามจะนำเอา มาตรฐานทองคำมาใช้ในการกำกับเสถียรภาพการเงินโลกครั้งใหม่ โดยไม่มีรัสเซียซึ่งกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้วอยู่ด้วย ผลลัพธ์ของการใช้แนวทางเศรษฐกิจที่แปลกแยกจากการเมืองและสถาบัน ทางสังคม คือเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกครั้งใหญ่ และจุดประกายความคิดใหม่ที่นำไปสู่ลัทธิเสรีนิยมที่ปฏิเสธการแทรกแซงของอำนาจรัฐ
Part Two : Rise and Fall of Market Economy
I. Satanic Mill
3. "Habitation versus Improvement" ว่าด้วยแรงขับเคลื่อนของ เศรษฐกิจอาศัยตลาดเป็นหลัก ทำการเปลี่ยนสถาบันทางสังคมอย่างลึกซึ้ง และเคลื่อนย้ายความมั่งคั่งจากมือคนยากจนในชนบท มาสู่ทุนอุตสาหกรรมและบริการในเขตเมืองใหญ่ พร้อมกับทำลาย สถาบันครอบครัวในชนบทอย่างรุนแรง
4. Societies and Economic Systems วิเคราะห์แนวคิดเรื่องแบ่งงานกันทำตามความถนัดระหว่างประเทศ ได้ทำลายกลไกหรือ โครงสร้างทางสังคมของผู้ที่เสียเปรียบในการแข่งขันลงไป เนื่อง จากทำให้กระบวนการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน และกระบวนการ ผลิตซ้ำ โดยเฉพาะในสังคมที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้เงินตรา ต้องล่มสลายลงในเกือบทุกส่วนของโลก
5. Evolution of Market Pattern เมื่อกลไกตลาดเป็นเครื่องจักร ที่ทำงานด้วยตัวของมันเองในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ มันก็ทำให้ฐานะของมนุษย์ถูกลดทอนลงไปกลายเป็นแค่ปัจจัยการผลิต ไม่ใช่ฐานะสมาชิกของสังคมที่เท่าเทียมกันอีกต่อไป ในขณะที่ตลาดกลายเป็นองค์กรควบคุมสังคมไปโดยปริยาย และอาจจะเหนือกว่าอำนาจรัฐด้วยซ้ำ ข้อสรุปที่น่าสนใจก็คือการค้า ภายในทำให้ก่อรูปเป็นรัฐประชาชาติขึ้นมาแข็งแกร่ง แต่การค้าระหว่างประเทศทำลายอำนาจรัฐให้อ่อนด้อยลง เหลือสภาพ เพียงแค่สถาบันทางการเมือง
6. The Self-Regulating Market and the Fictitious Commodities : Labor, Land, and Money กลไกตลาดที่ปฏิเสธรัฐ ได้เปลี่ยนรูป แรงงาน ที่ดิน และเงินให้กลายเป็นสินค้าเชิงจินตภาพได้อย่างเป็น ระบบ เพื่อสะดวกแก่การคำนวณมูลค่าทางการตลาด ภายใต้ความ เชื่อว่า ทุกสรรพสิ่งสามารถซื้อขายกันได้ และรายได้ของการลงทุน ล้วนเกิดจากมูลค่าเพิ่มในตลาดเป็นสำคัญ นั่นหมายความว่า กลไกตลาดกำลังยื่นมือเข้ามาแทรกและบีบรัดชีวิตประจำวันของปัจเจก บุคคลอย่างล้ำลึก
7. Speenhamland, 1795 กรณีศึกษาว่าด้วยกฎหมายปลดปล่อยแรงงานให้เคลื่อนที่อย่างเป็นอิสระของอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นแบบของการผลักดันให้เกิดแรงงานสำรองราคาถูกสำหรับอุตสาหกรรมและ ภาคบริการในเขตเมืองใหญ่ ภายใต้คำพูดสวยหรูว่า ตลาดแรงงาน ที่มีการแข่งขันเสรี เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะไม่มีการขาดแคลนแรงงานในการผลิต
8. Antecedents and Consequences ผลพวงของการมีแรงงาน สำรองราคาถูก ได้ถูกซ้ำเติมมากขึ้นโดยการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ที่ลดการพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือน้อยลง แต่หันไปใช้ทุนและแรงงานฝีมือสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้ความแตกต่างของรายได้ของแรงงานเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นต้นกำเนิดของชนชั้นกลางในเวลาต่อมา
9. Pauperism and Utopia การก่อรูปของขบวนการต่อต้านการทำให้แรงงานเป็นสินค้าที่กลายเป็นกระบวนการยูโทเปียทางสังคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20 โดยหวังจะทำให้คนยากจนหลุดพ้นจากสภาพอเนจอนาถในชีวิต เป็นขบวนการสังคมและการเมืองที่แข็งแกร่งมากขึ้น
10. Political Economy and the Discovery of Society เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยสังคมใหม่ กลายเป็นขบวนการเฟื่องฟู ของยุโรปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19-ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นปฏิกิริยาตอบโต้เศรษฐกิจการตลาดอย่างเปิดเผย การต่อสู้นี้ มีทั้งชนะและพ่ายแพ้ แต่ก็ก่อรูปเป็นแนวทางใหม่ๆ ที่ผ่านการสังเคราะห์แล้ว
II. Self-Protection of Society
11. Man, Nature, and Productive Organization การเคลื่อนตัวของสังคมจากแนวคิดใหม่ๆ ที่ต่อต้านเศรษฐกิจการตลาด ทำให้ สังคมเคลื่อนตัวรวดเร็วมากขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมือง รับกับความแตกต่างทางชนชั้นที่ชัดเจนขึ้น ทำให้ประวัติศาสตร์สังคมของโลกเปลี่ยนไป
12. Birth of the Liberal Creed ความเฟื่องฟูของลัทธิเสรีนิยมที่เกิดจากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างค่ายทุนนิยมกับค่ายคอมมิวนิสต์-สังคมนิยม ทำให้มีการปฏิรูปแนวคิดในเรื่องเศรษฐกิจ การตลาดใหม่ที่มีลักษณะก้าวหน้ากว่าเดิม ทั้งในการจัดการแรงงาน การจัดสวัสดิการสังคม และการจัดการคุณภาพชีวิต-การศึกษา
13. Birth of the Liberal Creed (Continued) : Class Interest and Social Change ข้อเรียกร้องใหม่ของเสรีนิยมว่าด้วยการรวมกลุ่มประสานประโยชน์หลากชนชั้น เป็นการปรับแนวทางให้สังคมเกิดการเคลื่อนตัวระลอกใหม่ที่ใหญ่โต โดยที่พุ่งความสนใจไปที่คุณภาพชีวิตของปัจเจกบุคคลมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ดูเฉพาะความมั่งคั่งรวมของสังคมอย่างเดียวแบบในอดีต แต่ก็ตามมาด้วยรูปแบบใหม่ของการขูดรีดทางชนชั้นในเวลาต่อมา
14. Market and Man เสรีนิยม และเศรษฐกิจการตลาดที่มีการปรับปรุงในยุโรป กลับสร้างปัญหามากขึ้นเมื่อนำไปจัดการกับอาณานิคมภายใต้จักรวรรดินิยม เพราะยิ่งทำให้เห็นสภาพการปฏิบัติที่เลวร้ายต่อแรงงานในอาณานิคมที่ทำการผลิตวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมในยุโรปจำนวนมหาศาล
15. Market and Nature การที่ที่ดินกลายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนมือได้คล่องตัว ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ทำการผลิตทาง การเกษตรลดถอยลง ผลที่ตามมาคือ ผลประโยชน์ที่แตกต่างกันระหว่างแรงงานภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม-บริการ และธุรกิจสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ กลายเป็นธุรกิจที่มีการปกป้อง สูงขึ้นต่อเนื่อง
16. Market and Productive Organization กลไกตลาดที่เน้นการใช้เงินเป็นเครื่องมือและสัญญะของความมั่งคั่ง ได้ทำให้ภาคการผลิตกลายเป็นภาคซึ่งถูกขูดรีด ในขณะที่ภาคบริการ ซึ่งมีชนชั้นพ่อค้าเป็นแกน (โดยเฉพาะพ่อค้าทางการเงิน) กลายเป็นกุญแจที่ผ่องถ่ายความมั่งคั่งได้มากที่สุดในทุกสังคม
17. Self-Regulation Impaired พัฒนาการของเศรษฐกิจการตลาดที่ลดคุณค่าลงเนื่องจากกระแสปฏิรูปสังคมที่มาแรงในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กลับนำสังคมไปสู่รูปแบบของลัทธิปกป้องทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า และแรงงานให้ช้าลง แต่กลับปล่อยให้ทุนเคลื่อนไหวเสรีมากขึ้น
18. Disruptive Strains การล่มสลายของมาตรฐานทองคำ นำมาซึ่งความวุ่นวายทางการเมืองของโลกต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่าง รุนแรงและสร้างปัญหาทางสังคม รวมทั้งปัญหาเชื้อชาติ และผิวสี เพิ่มเติมมากขึ้น
Part Three : Transformation in Progress
19. Popular Government and the Market Economy การเถลิงอำนาจของแนวคิดทุนนิยมโดยรัฐ (state corporatism) เช่น พวกนาซีเยอรมัน ฟาสซิสต์อิตาลี-สเปน-อาร์เจนตินา ทำให้สถาบัน ทางการเมืองและสังคมของยุโรปเปลี่ยนโฉมไปอย่างรุนแรง เพื่อช่วงชิงการสนับสนุนจากชนชั้นรากหญ้า บังคับให้ระบบการเงินโลกต้องเปลี่ยนโฉมรุนแรง
20. History in the Gear of Social Change อำนาจรัฐของกลุ่มต่อต้านเศรษฐกิจการตลาดในชาติใหญ่ของยุโรปหลังเศรษฐกิจ ตกต่ำ ทำให้สถาบันทางสังคมและชนชั้นเกิดการแปลงรูปขนานใหญ่ ซึ่งท้าทายแนวคิดเสรีนิยมให้ถดถอยลง และที่สำคัญทำให้กลไกการเงินของโลกไม่อาจทำงานได้ตามปกติ
21. Freedom in a Complex Society ปัญหาใหญ่ที่ตามมาหลังจากแนวคิดต่อต้านเสรีนิยมเฟื่องฟู ก็คือเสรีภาพของประชาชนและปัญญาชนถูกทำลายลงไปอย่างรุนแรงพร้อมกันไปด้วย เป็นคำถามที่ท้าทายว่า การต่อต้านเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ จะต้องแลกกับเสรีภาพทางการเมือง และสังคมตามไปด้วยเสมอหรือไม่ และทำให้ประเด็นเรื่องเสรีภาพ กลายเป็นปมใหญ่ที่ท้าทายนักคิดที่พยายามปฏิเสธเสรีนิยมทุกรูปแบบในเวลาต่อมา
Note on Sources ว่าด้วยข้อสรุปสั้นๆ เกี่ยวกับนิยามคำต่างๆ ในแต่ละบท ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรอบรู้ของผู้เขียนหนังสือ ว่าเป็นคนที่รอบรู้ในสหสาขาวิชาอย่างมากนับแต่เรื่องเศรษฐกิจ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ทุกแขนง และกระทั่งศิลปะวรรณกรรม รวมถึงการเมืองระหว่างประเทศ
|
|
|
|