|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The Structural Transformation of the Public Sphere
ผู้เขียน: Jurgen Habermas
ผู้จัดพิมพ์: Polity Press
จำนวนหน้า: 300
ราคา: ฿1,211
buy this book
|
|
|
|
ชื่อของเจอร์เก้น ฮาเบอร์มาส เป็นที่น่าขนพองสยองเกล้าสำหรับนักเรียนทางด้านปรัชญาสังคมมากพอสมควร เพราะนอกจากสไตล์คิดแบบเยอรมันแล้ว การใช้ภาษาที่ค่อนข้างซับซ้อน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้งานเขียนและวิธีคิดของเขาเปรียบเหมือนอาหารที่มีคุณค่าสูงแต่ไม่อร่อยชวนให้คายทิ้งเสียมากกว่า
หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือที่ง่ายที่สุดของฮาเบอร์มาส แต่ยังเป็นหนังสือที่จำต้องอ่าน ด้วยเหตุผลว่า แนวคิดเรื่อง "ประชาสังคม" หรือ "พื้นที่สาธารณะ" นับวันจะมีความสำคัญ และนำมาอ้างอิงผิดๆ ถูกๆ กันในบ้านเมืองเรายามนี้กันเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังยุคของทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นมา
กลุ่มที่ชอบอ้างถ้อยคำเรื่องพื้นที่สาธารณะมากกว่าใครหนีไม่พ้นกลุ่มขบวนการสังคมใหม่ หรือเอ็นจีโอทั้งหลาย เพื่อยืนยัน สิทธิของกลุ่มพลังนอกอำนาจรัฐที่สำคัญ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นความคิดที่มากับความก้าวหน้าทางสังคมที่นับวันจะมีบทบาทมากขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามเย็น
โดยพื้นฐานฮาเบอร์มาส เป็นฝ่ายซ้าย หรือมาร์กซิสต์ที่เรียกว่า นีโอมาร์กซิสต์ แต่เขากลับไปย้อนรอยศึกษางานเก่าแก่ของเจอเรมี เบนแธม เจ้าลัทธิอรรถประโยชน์นิยม และเฮเกล เพื่อเอามาเติมต่อความบกพร่องของแนวคิดมาร์กซ์ในบางส่วนซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีลักษณะรวบอำนาจมากเกินขนาดโดยเฉพาะแนวคิดเรื่องเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ที่ปัจจุบันไม่มีใครเล่นด้วยแล้วเพราะสยดสยองเกินรับได้
ด้วยการผสมผสานแนวคิดที่ไม่น่าจะไปกันได้ของมาร์กซ์ กับเฮเกลเข้าด้วยกัน ฮาเบอร์มาสเสนอปรัชญาใหม่ ด้วยการแยกสังคมออกจากรัฐ และแรงจูงใจให้มนุษย์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ไม่ได้เกิดจากความต้องการอยู่รอดทางวัตถุในกระบวนการ ผลิตเท่านั้น หากเกิดจากแรงจูงใจเพื่อสร้างการกระทำเชิงสื่อความหมายด้วย
ข้อสรุปหลักนำไปสู่การแบ่งการกระทำของมนุษย์ในสังคม ออกเป็น 5 ส่วน คือ การกระทำเชิงสื่อความหมาย การกระทำเชิงผลประโยชน์ การกระทำเชิงจริยธรรมเพื่อเฉลี่ยคุณค่า การกระทำเพื่อให้คนอื่นยอมรับ และการกระทำเชิงอำนาจ
กุญแจสำคัญที่ฮาเบอร์มาสต้องการไขในหนังสือเล่มนี้คือ ทางเลือกของสังคมที่ปราศจากรัฐ โดยพยายามวิเคราะห์ว่า การสร้างมติมหาชนเพื่อให้เกิดฉันทามติร่วม โดยปราศจากการครอบงำ ทั้งจากเสียงส่วนใหญ่ หรือการให้อำนาจจูงใจนั้น สามารถจะยืนยันเจตจำนงที่แท้จริงของสังคมได้มากน้อยเพียงใด
โดยนัยนี้ เท่ากับว่าการใช้อำนาจรัฐ (องค์กรรัฐ กฎหมาย ระเบียบ ภาษี หรือเงินงบประมาณ) จะถูกตั้งคำถามตามมาว่าเป็นองค์กรที่สะท้อนความต้องการของประชาชนร่วมยุคได้ดีเพียงใด หรือจะเป็นแค่องค์กรกดขี่ประชาชน ซึ่งสามารถนำมาวินิจฉัยภายใต้ทฤษฎีสวัสดิการสังคมว่ามีความเหมาะสมเพียงใด
แนวคิดที่ซับซ้อนของฮาเบอร์มาสนี้ มีลักษณ์สองด้านกล่าว คือ ด้านหนึ่งปฏิเสธอำนาจรัฐและแสวงหาสังคมที่เอื้อประโยชน์ คนส่วนมาก ด้วยการกลับไปสู่หลักการของเจอเรมี เบนแธม ที่ว่า อะไรทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่ในสังคมเจ็บปวด ย่อมไม่ถูกต้อง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ยอมรับว่า พื้นที่ซึ่งปราศจากการครอบงำนั้น เป็นอุดมคติที่ค่อนข้างยากจะเกิดขึ้นในความเป็นจริง โดยเฉพาะ การที่ฮาเบอร์มาสดูเบาพลังความสามารถอันซับซ้อนของพัฒนาการ ของความรู้ในการโฆษณาชวนเชื่อที่พยายามครอบงำสังคมมนุษย์เพื่อสร้างสิ่งที่โนม ชอมสกี้ แห่งอเมริกาเรียกว่า "เจตนารมณ์ที่ถูก ผลิตขึ้น" ด้วยพลังอันแข็งแกร่งของสื่อมวลชนร่วมสมัยที่กระจุกตัว กันผลิตสาระที่สนองตอบผู้มีอำนาจรัฐ ไม่ใช่เพื่อเจตจำนงสาธารณะ
ข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่าแนวคิดของฮาเบอร์มาสเป็นอุดมคติมากเกิน เพราะเงื่อนไขของพื้นที่สาธารณะที่ดีนั้น จะต้องมีองค์ประกอบสำคัญให้ครบถ้วน 5 อย่าง คือ 1) ใครก็เข้าถึงได้ง่ายๆ 2) การปราศจากอำนาจบังคับในกระบวนการตัดสินใจ 3) การไม่มีลำดับชั้นทางสังคม 4) ประชาชนอยู่ใต้กฎหมายที่ยุติธรรมอย่างเสมอภาค 5) การทำข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกด้วยตรรกะ และความรู้เท่าเทียมกัน
เงื่อนไขแบบยูโทเปียอย่างที่ว่ามานี้ ทำให้ฮาเบอร์มาสพาผู้คนย้อนกลับไปสู่กระบวนทัศน์แบบจิตนิยม เพราะการเน้นความสำคัญของเจตจำนงที่จะสื่อสารของมนุษย์ขึ้นมาให้เท่ากับ หรือมากกว่า ความจำเป็นเพื่อการผลิตเพื่ออยู่รอดในทางวัตถุ คือ การเอาเหตุเป็นผล และเอาผลเป็นเหตุ
แนวคิดของฮาเบอร์มาสจึงถูกวิจารณ์ว่า "ซ้ายบนหอคอยงาช้าง" แต่คำอธิบายของเขาและถ้อยคำใหม่ที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมา ถูกนำไปใช้อย่างแพร่เป็นวงกว้างในลักษณะที่เป็นประโยชน์ในการสร้างประชาสังคม เนื่องจากการตีความใหม่ของวิชาการด้านสังคมวิทยาและรัฐศาสตร์ร่วมสมัย ได้พยายามแยกสังคมและรัฐ ออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แนวคิดของฮาเบอร์มาส ดูไม่ล้าสมัย
แม้ว่าฮาเบอร์มาสจะถูกวิจารณ์อย่างมาก แต่การที่ได้รับยกย่องว่าเป็นนักคิดร่วมสมัยที่โดดเด่นสุดของเยอรมนีในยุคหลังสงคราม ก็ทำให้หนังสือนี้เป็นคัมภีร์สำคัญที่บรรดาคนที่แสวงหาสิ่งที่เรียกว่า ประชาสังคม หรือต้องการเข้าร่วมในขบวนการสังคม ใหม่ (NSM) ควรต้องอ่าน เพราะเป็นการเปิดทางเลือกใหม่ให้กับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งหมายถึงพื้นที่ซึ่งไม่มีใครครอบงำซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะเนื้อหาสำคัญในบทที่ 5 และ 6 ซึ่งว่าด้วยบทบาทของเทคโนโลยี และสื่อในพื้นที่สาธารณะ
อย่างน้อยก็จะไม่ต้องอ้างผิดๆ และตีความผิดๆ แบบเอาสีข้างเข้าถู
แม้ว่าราคาของหนังสือเล่มนี้ออกจะแพงไปสักนิด แต่ก็เป็น ธรรมดาของหนังสือที่ไม่เน้นยอดขาย เพราะเอาคุณภาพของสาระและผู้อ่านเป็นหลัก
รายละเอียดในหนังสือ
Introduction
1. Preliminary Demarcation of a Type of Bourgeois Public Sphere ว่าด้วยโจทย์พื้นฐานของขอบเขตคำว่า สาธารณะ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า ส่วนตัว และพื้นที่สำหรับประชาชนผู้ถูกปกครอง ที่จะได้มีโอกาสแสดงตนออกมา แม้จะในฐานะเสียงข้างน้อย ในสังคมที่ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสะท้อนความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างการครอบงำในทางส่วนตัวกับสิทธิที่จะเป็นอิสระในเวทีสาธารณะ
2. Social Structure of the Public Sphere รากฐานเบื้องต้นของเวทีสาธารณะในมิติโครงสร้างของสังคม ซึ่งเพี้ยนไปจากความหมายแรกเริ่มที่ว่า ซึ่งต้องถูกตรวจสอบได้โดยรัฐ มาเป็นพื้นที่ ซึ่งปราศจากการครอบงำโดยรัฐ เนื่องจากมีพัฒนาการที่สอดคล้อง กับการแยกคำนิยามของรัฐ ออกจากสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งยังผลให้กระบวนทัศน์เกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะในมิติสังคม และพื้นที่สาธารณะในมิติทางการเมือง-รัฐแยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง
3. Political Function of the Public Sphere ว่าด้วยกรณีศึกษาในบางสังคมที่มีความหลากหลายของขบวนการประชาสังคม และ พื้นที่สาธารณะกลายเป็นเขตปกครองตนเองอย่างไม่เป็นทางการของชุมชน ทั้งในด้านการสร้างกติกาจำเพาะ และการเปิดตลาดเสรีที่ไม่ผิดแปลกสภาวะ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็กลายเป็นโครงสร้างที่ขัดแย้งในตัวเองของสังคมที่ต้องการรัฐที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องมีกฎหมายส่วนกลางใช้บังคับซ้อนกันอยู่ ทำให้มีคำถามว่าแท้จริงแล้วกฎหมายคือการแสดงออกที่แท้ของเจตจำนงประชาชนในนามมติมหาชน หรือเครื่องมือแสดงอำนาจครอบงำของรัฐกันแน่
4. The Bourgeois Public Sphere : Idea and Ideology ทบทวนพัฒนาการของนิยามคำว่า มติมหาชน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะความแตกต่างที่ยากจะประนีประนอมกันระหว่างประเด็น ที่หาข้อยุติไม่ได้ ได้แก่ รากเหง้าของการโฆษณาที่อ้างว่าเป็นสะพานเชื่อมการเมืองเข้ากับจริยธรรมที่ขัดแย้งกับวิภาษวิธีของพื้นที่สาธารณะในความหมายของมาร์กซ และพื้นที่สาธารณะที่ไร้รัฐของพวกเสรีนิยมที่เน้นปรัชญาของสิทธิประชาชนสำคัญกว่ารัฐ
5. The Social-Structural Transformation of the Public Sphere ว่าด้วยการแทรกซึมเข้าหากันระหว่างพื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัว ตลอดถึงการจับขั้วของพื้นที่ทางสังคม และพื้นที่คุ้นเคยซึ่งเคยเป็นแกนกลางของพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งทำให้ครอบครัวกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว และที่ทำงานเป็นพื้นที่สาธารณะ ทั้งที่ความจริงแล้ว น่าจะเป็นตรงกันข้าม เพราะเทคโนโลยีกำลังทำให้พื้นที่ส่วนตัวกลายเป็นพื้นที่สาธารณะมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะในเขตจิตวิทยาที่การโต้แย้งทางวัฒนธรรม กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของ การบริโภควัฒนธรรม เพราะการขยายอิทธิพลของสื่อมวลชน ทั้งหมดนี้ ทำให้พื้นที่สาธารณะแตกกระจายจนไร้ทิศทางจนยากจะประเมินได้
6. The Transformation of the Public Sphere's Political Function ว่าด้วยบทบาทของสื่อในการแปลงพื้นที่ส่วนตัวให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะโดยผ่านบริการบริโภคข่าวสาร บนพื้นฐานการโฆษณา และการเผยแพร่ข่าวสารที่ทำกันเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้มวลชนเกิดการเบี่ยงเบนพฤติกรรมการออกความเห็นสาธารณะ ซึ่งอำนาจรัฐจะยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น
7. On the Concept of Public Opinion มติมหาชนมีหลากหลายความหมายขึ้นกับบทบาทที่จะนำมาใช้ประโยชน์ภายใต้กรอบอาณัติทางจริยธรรมของสังคม แต่ในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดหน้าที่ของรัฐ และเสรีภาพของประชาชน มีปัญหาให้ครุ่นคิดในเรื่องความจริง ที่เป็นรูปธรรมกับอุดมคติที่คาดหวังเสมอ และทำให้เกิดความขัดแย้งในการให้คำนิยามเสมอ มาต่อเนื่อง ซึ่งการจำแนกเพื่อให้แม่นยำ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและต้องพึ่งพาการกระทำเพื่อสื่อความหมายในทุกพื้นที่ของสังคมอย่างรอบด้านและละเอียดถี่ถ้วน เพื่อมุ่งไปสู่ฉันทามติ และระงับข้อขัดแย้งลงไป
|
|
|
|