Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Battle for God
ผู้เขียน: Karen Armstrong
ผู้จัดพิมพ์: Ballantine
จำนวนหน้า: 449
ราคา: ฿571
buy this book

คาเรน อาร์มสตรอง โด่งดังกับหนังสือวิเคราะห์มนุษย์กับพระเจ้า A History of God เกือบ 20 ปีก่อนที่มีข้อสรุปว่า วิวัฒนาการของมนุษย์ในการสร้างอัตลักษณ์ของพระเจ้า (โดยเฉพาะพระเจ้าในศาสนา ที่นับถือเทพสูงสุดองค์เดียว) ก็ทำให้พระเจ้ามีบุคลิกภาพแกว่งไกวไปมาตามจิตสำนึกของมนุษย์

ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงถือเป็นตอนต่อของหนังสือเล่มเก่า แต่ย้ายการวิเคราะห์เทพ มาเป็นวิเคราะห์ผู้นับถือ หรือคนที่เคร่งศรัทธา ผู้พยายามอ้างว่าต้องการฟอกขาวความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณด้วยการ "กลับไปสู่พื้นฐาน" โดยเฉพาะ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ คนยิว คนมุสลิม และคริสเตียน ซึ่งมีรากเหง้าของศาสนาที่คล้ายคลึงกัน

งานเขียนที่เกิดขึ้น ผู้เขียนยอมรับกันตรงๆ ว่า เกิดจากความไม่สบายใจที่เห็นว่า แม้จะด้วยเจตนาที่ดีของนักเคร่งศรัทธาที่ต้องการ ทำให้โลกสะอาด และปลอดจากการควบคุมของพลังชั่วร้ายนอกศาสนาที่ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในลักษณะบ่อนทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ แต่ท่าทีที่ไม่ประนีประนอม ปฏิเสธคนนอกกลุ่ม และพร้อมจะใช้ความรุนแรงทางโลกีย์ กำลังทำให้ขันติธรรมในศรัทธาลดน้อยถอยลง อาจจะเข้าข่าย "หวังดี ประสงค์ร้าย" ได้ง่ายมาก

งานเขียนท้ายเล่มที่น่าสนใจก็คือแบบประเมินตนเองให้ผู้อ่าน ได้สำรวจว่า หลังจากอ่านหนังสือนี้แล้ว ยังมีลักษณะเป็นพวกเคร่งศรัทธามากน้อยเพียงใด ถือว่าน่ารักน่าหยิกไม่น้อย เป็นอารมณ์ขันแบบแปลกและน่าทึ่งในการเขียนหนังสือทีเดียว

ผู้เขียนให้ข้อสังเกตว่า คนที่ปฏิเสธศาสนา โดยอ้างว่า ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็เสมือนกับการประเมินค่ามนุษย์สูงเกินจนผิดปกติ ในขณะที่นักเคร่งศรัทธา ก็เป็นคนประเภทตรงกันข้ามคือ ประเมินค่ามนุษย์ต่ำเกินจริง

โดยเฉพาะข้อสรุปหยาบๆ ที่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ซึ่งไม่ว่าอย่างไหน ก็ล้วนเป็นการผสมผิดสูตรทั้งสิ้น

ปัญหาที่น่าสนใจก็คือ การถือกำเนิดของนักเคร่งศรัทธาร่วมสมัยนั้น เฉกเช่นเดียวกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั่นเอง กล่าวคือ มองเห็นแง่มุมที่เลวร้ายของการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และความทันสมัยทางวัตถุ

ผู้เขียนค้นคว้ารายละเอียดของที่มาและปรากฎการณ์ของนักเคร่งศรัทธาด้วยข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจทั้งเรื่องของชาวยิว คริสเตียน และมุสลิม ซึ่งเผชิญสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปจนกระทั่งส่งผลให้กระบวนทัศน์ของคนเหล่านี้มีการย้อนรอยกลับมาสู่ความเข้มแข็งครั้งใหม่ ในยุคที่เรียกว่า สังคมนับถือศาสนาครั้งที่สอง ซึ่งขัดกับข้อสรุปของนักสังคมวิทยาจำนวนมาก

เรื่องของชาวยิวในสเปนที่ถูกคำสั่งของพระเจ้าเฟอร์ดินันด์ และราชินิอิซาเบลล่า ให้ต้องการเป็นคนที่ถูกปฏิเสธจากทั่วยุโรป จนกระทั่งแรงบีบคั้นให้คนยิวจำนวนหนึ่งกลายสภาพเป็นนักเคร่งศรัทธาที่รุนแรง

เรื่องของชาวมุสลิมที่ความหยิ่งผยองในความยิ่งใหญ่ ทำให้ปฏิเสธความคิดเสรีนิยม หันกลับเข้าหาจารีตและแรงบันดาลใจของยุคทองในอดีตอย่างเข้มงวดหลายศตวรรษ

แม้จะมีการปฏิรูปและฟื้นฟูศาสนาอิสลามหลายครั้ง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้โลกมุสลิมถอยห่างจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคมตะวันตกอย่างแปลกแยก

เรื่องของชาวคริสต์ที่มีลักษณะปฏิเสธศาสนาอย่างรุนแรง หันเข้าหาทฤษฎีความก้าวหน้า จนกระทั่งเริ่มตระหนักดีว่า การพูดหรือรักษาศรัทธาในศาสนานั้น ไม่เพียงพอจะป้องกันโลกไม่ให้ตกในกำมือคนชั่วร้ายได้

ทั้งหมดนี้นำเสนอออกมาอย่างมีรสชาติ เพลิดเพลิน และลึกซึ้ง พร้อมกันไปในตัวเอง ก่อนที่จะนำมาสู่ประเด็นสำคัญว่า อะไรคือแรงบันดาลใจให้พวกเขาย้อนกลับมาเคร่งศรัทธากันอีก และทำไมสาระของศาสนาในมุมมองของพวกเขา จึงแตกต่างจากศาสนาในอดีตหลายเท่า

หนังสือเล่มนี้ สมัยก่อนอาจจะไกลตัวเกินไปสักนิดสำหรับคนไทยที่นับถือพุทธศาสนา แต่มาถึงยุคสมัยที่พระสงฆ์ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้บรรจุคำว่า "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย" เรื่องนี้ก็ไม่ไกลตัวอีกแล้ว หากอยู่ในจิตสำนึกทั่วทุกคนอยู่แล้วเป็นธรรมดา เว้นแต่พวกที่ "เห็นพระ ไม่เห็นธรรมะ" เท่านั้นเอง

หนังสือไม่แพงเลย และก็ไม่หนักหนาสาหัสจนต้องปีนกระไดอ่านกัน

รายละเอียดในหนังสือ

Part One : The Old World and The New

1. Jews : The Precursors (1492-1700) หนึ่งในสามของเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์สเปน ค.ศ.1492 ได้แก่ Edict of Expulsion หรือที่รู้จักกันในนาม Alhambra Decree ซึ่งประกาศล้างศาสนายิวและคนยิวให้ออกจากสังคมสเปนด้วยทางเลือก 2 ทาง คือ เปลี่ยนเป็นคริสเตียนใหม่หรืออพยพออกไป เริ่มต้นศาลศาสนาที่เข้มงวดกว่าเดิม เพื่อสร้างเอกภาพทางอำนาจให้กับกษัตริย์สเปน ทำให้คนยิว บางส่วนที่กลายเป็นคริสเตียนใหม่ กลายเป็นผู้มั่งคั่งทางสังคม และเป็นที่อิจฉาของคนสเปนที่เป็นคริสต์เดิม เริ่มการฆ่าล้างบางพวกยิวอย่างกว้างขวาง ทำให้พวกยิวอพยพหนีตายไปทั่วยุโรป แต่ก็ยังไม่ได้รับฐานะเท่าเทียม เพราะถูกห้ามศึกษาแนวคิดเสรีนิยมและวิทยาศาสตร์ เป็นแค่พลเมืองชั้นสอง ยังผลให้เกิดคลื่นสำนึกใหม่ริเริ่มโดยพวกเซฟาดิกส์ ที่สร้างกระแสความคิดให้ชาวยิว กลับไปอยู่ในดินแดนพันธะสัญญาในปาเลสไตน์ เป็นจุดเริ่มต้นของท่าทีไม่ประนีประนอมกับกลุ่มคนนอกที่ชัดเจนต่อมา

2. Muslim : The Conservative Spirit (1492-1799) ชัยชนะของมุสลิม ในการยึดครองคอนสแตนติโนเปิล เพื่อสร้างอาณาจักรออตโตมัน และตามมาด้วยการก่อตั้งอาณาจักรมุสลิมในอินเดียและอิหร่าน ทำให้อาณาจักรมุสลิมแสดงปฏิกิริยาปฏิเสธความคิดเสรีนิยม หันกลับเข้าหา จารีตและแรงบันดาลใจของยุคทองในอดีตอย่างเข้มงวด หลายศตวรรษ แม้จะมีการปฏิรูป และฟื้นฟูศาสนาหลายครั้ง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้โลกมุสลิมถอยห่างจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีและสังคมตะวันตกอย่างแปลกแยก

3. Christians : Brave New World (1492-1870) สงครามและความขัดแย้งในลักษณะวิภาษของคริสเตียนในยุโรป ทำให้เกิดการปลดปล่อย ทางปัญญาและจิตใจ รวมทั้งการสร้างอำนาจใหม่ที่แซงหน้าอารยธรรม อื่นๆ อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีกระแสบางอย่างที่เกินเลยจากศาสนาไปมาก โดยเฉพาะแนวคิดตรรกะที่ก้าวหน้าแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งต่อต้านศาสนาโดยตรง นับแต่ช่วงเวลาของ Age of Enlightenment ที่ถือว่าเหตุผลสำคัญกว่าศรัทธา จนกระทั่งถึงยุคของนิทเช่

4. Jews and Muslim Modernize (1700-1870) ความแตกต่างในเส้นทางที่นักปฏิรูปศาสนายิวและอิสลามในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็น ต้นมาเผชิญในความพยายามประนีประนอมกับหลักวิทยาศาสตร์ นักปฏิรูปยิวมีข้อสรุปว่า ศาสนาแยกไม่ออกจากความทันสมัย และตรรกะทางวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถทำให้มนุษย์เข้าถึงสัจจะได้โดยตรง หลังจากที่สังคมยุโรปหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเปิดกว้างมากขึ้นกับยิว แต่ในโลกอิสลามความพยายามผลักดันสังคมให้ทันสมัย โดยชนชั้นปกครองที่มีผลประโยชน์กับจักรวรรดินิยมตะวันตก กลับสร้างความแตกร้าวอย่างรุนแรง ทำให้โลกอิสลามมองจากมุมของการปกป้องตัวเอง อย่างรุนแรงกว่าเดิม โดยเชื่อมความทันสมัยและความเลวร้ายเป็นเรื่อง เดียวกัน

Part Two : Fundamentalism

5. Battle Lines (1870-1900) ความขัดแย้งระหว่างศาสนากับโลกเทคโนโลยีที่รุนแรงขึ้นในยุคจักรวรรดินิยม และสงครามย่อยครั้งแล้วครั้งเล่า โดยทั้งผู้ที่เชื่อในความทันสมัยและคนที่มีศรัทธามั่น มีมุมมอง อีกฝ่ายหนึ่งในเชิงลบ จนยากจะประนีประนอมได้

6. Fundamentals (1900-25) กระบวนการสร้างนักเคร่งศรัทธาในศาสนายิวและอิสลามซึ่งถือเป็นการทำให้โลกิย์เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน เกิดเป็นการปฏิรูปสังคมควบคู่กับจิตสำนึกที่มีลักษณะ ประนีประนอมน้อยลงมาก ทั้งไซออนนิสม์ และวาฮาบี

7. Counterculture (1925-60) ผลพวงของการสังหารหมู่ยิวโดยพวกเผด็จการยุโรป ได้ทำให้ทั้งพวกยิว คริสเตียน และมุสลิม เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นต้องสร้างเอกภาพทางจิตสำนึกและเครือข่ายสังคมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมกว่าในอดีต ผลลัพธ์คือการต่อสู้ทางการเมืองและทางศาสนาถูกพ่วงเข้าด้วยกัน เกิดการจับขั้วกันทางอำนาจครั้งใหม่ ท่ามกลางสงครามเย็นซึ่งดำเนินร่วมกันไป

8. Mobilization (1960-74) กระบวนการขบถของคนหนุ่มสาวในโลกตะวันตกและละตินอเมริกาอย่างกว้างขวาง ทำให้พวกเคร่งศรัทธาทั้งยิว คริสเตียน และมุสลิม ตระหนักดีว่า การจะต่อต้านอุดมการณ์ของมหา อำนาจในโลกนั้น จะต้องสร้างอุดมการณ์ของตนเองขึ้นมาใหม่ ผลลัพธ์คือ การผสมผสานความคิดเก่าแก่ในศาสนามาตีความใหม่เพื่อรับใช้ยุคสมัยอย่างทั่วด้าน ศาสนาเดิมถูกทำลายลงไป และศาสนาใหม่ในชื่อเดิมได้เริ่มแพร่พลังที่รุนแรงกว่าเก่า

9. The Offensive (1974-79) สมมุติฐานเก่าของนักสังคมวิทยาที่ว่า ศาสนากำลังหมดความหมายในทางการเมือง ได้รับการพิสูจน์ว่าผิดพลาด หลังจากที่อลาตอลยาห์ โคไมนี นำกลุ่มมุสลิมชีอะห์ ยึดครอง อิหร่านได้สำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลของการพัฒนาที่ก้าวกระโดดสู่คุณภาพใหม่ของนักเคร่งศรัทธามุสลิม และความสำเร็จ ก็แพร่กระจายให้กลุ่มนักเคร่งศรัทธาทั่วโลกได้ผนึกกำลังกันอย่างหวั่นกลัวมากกว่าอดีต นับแต่พวกยิวหลังสงคราม 1973 เป็นต้นมา และคนอเมริกันหลังสงครามเวียดนามและกรณีวอเตอร์เกตอันอื้อฉาว เพราะตระหนักดีว่า ลำพังความศรัทธานั้น ไม่สามารถป้องกันความชั่ว ได้ ต้องออกแรงที่เป็นรูปธรรมมากกว่า หากไม่อยากพ่ายแพ้ในสงคราม จริยธรรม

10. Defeat? (1979-99) ความพยายามที่จะลดช่องว่างระหว่างความก้าวหน้าของโลกีย์กับศาสนา ก่อให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ของนักเคร่งศรัทธาทั้งยิว คริสเตียน และมุสลิม ว่า มนุษย์นั้นต้องการทั้งเหตุผลและศรัทธาพร้อมกัน ทางเลือกที่ต้องกระทำคือ ทำให้เส้นแบ่งระหว่าง ทั้งสองส่วนรางเลือนที่สุด และในทางตรงกันข้าม นักการเมืองทางโลกีย์ ก็เริ่มยอมรับที่จะประนีประนอมกับอิทธิพลของนักเคร่งศรัทธามากขึ้น ทางออกที่เปิดไว้ ทำให้นักเคร่งศรัทธาหันมาใช้กระบวนการสื่อสารร่วมสมัยเพื่อสร้างพลังอย่างจริงจัง เพื่อต่อสู้กับความชั่วร้าย ซึ่งรัฐบาล ทุกชาติจำต้องร่วมมือ แม้จะด้วยความหวั่นกลัวก็ตาม

Afterword ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ที่กังวลว่า แม้ความต้องการย้อนกลับไปหาศาสนาครั้งใหม่ของนักเคร่งศรัทธา จะทำให้ด้านหนึ่งมนุษย์ไม่ตกเป็นทาสเทคโนโลยีเกินขนาด แต่ท่าทีของสังคมที่ย้อนกลับสู่ความศักดิ์สิทธิ์ ก็น่ากังวลด้วย เพราะทำให้เกิดการจับขั้ว ที่ประนีประนอมกันน้อยลง เพราะมีแนวโน้มในการปฏิเสธคนที่เห็นต่าง สร้างความเกลียดชัง และความรุนแรงตอบโต้กัน โดยขาดขันติธรรมกัน ซึ่งเป็นบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในยุคของสงครามครูเสดมาแล้ว



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us