|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The Number
ผู้เขียน: Lee Eisenberg
ผู้จัดพิมพ์: Free Press/Simon & Schuster
จำนวนหน้า: 268
ราคา: $26.00
buy this book
|
|
|
|
ทำไมคนจำนวนมากจึงละเลยการวางแผนชีวิตหลังเกษียณ
Lee Eisenberg ผู้แต่ง The Number เล่มนี้ เป็นอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Esquire มาถึง 20 ปี และเป็นนักเขียนให้แก่นิตยสาร Money และ Fortune เขาชี้ว่า คนอเมริกันหลายล้านคนจะมีชีวิตหลังเกษียณที่แย่ลงกว่าชีวิตก่อนเกษียณ แต่ Eisenberg ชี้ว่า ไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว
การวางแผนชีวิตหลังเกษียณเป็นสิ่งที่คนอเมริกันจำนวนมากหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง เพราะทำให้พวกเขารู้สึกเศร้า และวิตกกังวล แต่ผู้แต่งชี้ว่า การเลี่ยงที่จะพูดถึงการวางแผนชีวิตหลังเกษียณ เพราะไม่ต้องการที่จะรู้สึกเครียดในตอนนี้ อาจจะทำให้คุณต้องเครียดยิ่งกว่านี้ในอนาคต
ผู้แต่งชี้ว่า ไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องคิดถึงการวางแผน ชีวิตหลังเกษียณอย่างเคร่งเครียด สิ่งที่คุณต้องการสำหรับการคิดวางแผนการเกษียณอายุ มีเพียงความเอาใจใส่ และความคิดที่จะต้องซื่อสัตย์กับตัวคุณเอง ว่าสิ่งที่คุณต้องการในชีวิตคืออะไร
ด้วยมุมมองเช่นนี้ หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้เป็นหนังสือ how to ที่สอนเรื่องการเงินหรือการลงทุน หากแต่กล่าวถึงการวางแผนชีวิตในวัยเกษียณอย่างที่คุณต้องการ ซึ่งการวางแผนดังกล่าวมักจะนำไปสู่การมีฐานะทางการเงินที่ดีกว่า เมื่อชีวิตคุณต้องเข้าสู่วัยเกษียณจริงๆ ดังที่ Eisenberg ผู้แต่งกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า หนังสือของเขาไม่ได้เกี่ยวกับ เรื่องเงิน แต่เกี่ยวกับชีวิตที่คุณต้องการกับชีวิตที่คุณไม่ต้องการ และสิ่งที่คุณทำนั่นเอง ที่จะนำคุณไปสู่สภาพชีวิตที่คุณต้องการ หรือสภาพชีวิตที่คุณไม่ต้องการเมื่อถึงคราวที่คุณต้องเกษียณอายุการทำงาน
คุณต้องการอะไรจากครึ่งหลังของชีวิตคุณ
Eisenberg ผู้แต่งไม่ใช่นักวางแผนทางการเงินหรือที่ปรึกษาด้านการลงทุน แต่เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ หนังสือเล่มนี้จึงปราศจากศัพท์แสงทางเทคนิคทั้งปวง ทั้งในด้านการลงทุน หรือสูตรการคำนวณต่างๆ ที่น่าปวดหัว นอกจากนี้ยังเป็นหนังสือที่อ่านง่าย ตรงไปตรงมา และสมเหตุสมผล ผู้แต่งระบุจำนวนเงินที่ชัดเจนที่ผู้เกษียณอายุควรจะต้องเก็บออมให้ได้ตามจำนวนนั้น เพื่อเตรียมตัวสำหรับวัยเกษียณที่จะต้องเลิกทำงานและไม่มีรายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งเห็นว่า ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ยังสำคัญกว่าเรื่องเงิน
Eisenberg ชี้ว่า ยังมีคำถามยากๆ อีกมากมายที่คุณจำเป็นจะต้องตอบ "ก่อน" ที่ชีวิตคุณจะก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ ไม่ใช่หลังจากนั้น แน่นอน จำนวนเงินที่คุณมีจะเป็นตัวกำหนดว่า คุณสามารถจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ แต่สิ่งที่ไม่มีใครสามารถบอกคุณได้คือ คุณจะต้องมีเงินจำนวนมากเท่าใด จึงจะทำให้คุณมีความสุขในช่วงครึ่งหลังของชีวิต หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นทั้งสอง ซึ่งจะช่วยให้คุณมั่นใจว่า คุณจะมีทั้งเงินที่เพียงพอกับการดำรง ชีวิตในวัยเกษียณ และสามารถใช้ชีวิตในช่วงครึ่งหลังของชีวิต อย่างมีความสุขไปพร้อมๆ กัน
คุณเป็นคนประเภทใด
Eisenberg แบ่งคนออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ นักผัดวันประกันพรุ่ง นักเดาสุ่ม นักวางแผน และนักสอบสวน พร้อมทั้งระบุลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของบุคคลแต่ละประเภท คนประเภทที่เป็นนักเดาสุ่ม จะไม่คิดทบทวนเป้าหมายของชีวิตหลังเกษียณอย่างละเอียดรอบคอบ แต่ชอบใช้วิธีการเดาสุ่ม ซึ่งผู้แต่งเรียกคนที่จัดอยู่ในประเภทนี้ ว่าเป็น กลุ่มที่ใช้สมองแบบวุ่นวาย
กลุ่มนักสอบสวน เป็นพวกชอบใช้สมองด้านขวา ซึ่งผู้แต่งชี้ ทำให้พวกเขาอาจจะมีความคาดหวังที่สูงเกินไปสำหรับ ชีวิตหลังเกษียณ สำหรับกลุ่มนักวางแผนเป็นพวกชอบใช้สมอง ซีกซ้าย ทำให้มักจะพลาดหรือมองไม่ออกว่า สิ่งใดกันแน่ที่เป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตอย่างแท้จริง เนื่องจากมักมัวแต่ให้ความ สนใจกับกระบวนการขั้นตอนและข้อมูลมากเกินไป
ส่วนประเภทสุดท้าย คือพวกที่ชอบผัดวันประกันพรุ่งซึ่ง Eisenberg ชี้ว่า เป็นกลุ่มที่ไร้สมอง และเป็นกลุ่มที่อาการ น่าเป็นห่วงที่สุด อย่างไรก็ตาม คนทุกกลุ่มที่กล่าวมาสามารถ ที่จะเรียนรู้ เพื่อที่จะปรับปรุงการวางแผนชีวิตหลังเกษียณของตนได้
การหลงผิดเกี่ยวกับหนี้
Eisenberg ระบุว่า สิ่งที่อาจเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้คนส่วนใหญ่ล้มเหลวในการเก็บออมเงิน ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับชีวิตหลังเกษียณก็คือ ภาระหนี้สิน ซึ่งเขาอธิบายว่า ไม่เกี่ยวกับความล้มเหลวในการควบคุมการใช้จ่ายเงิน หรือการวางแผนการใช้จ่ายเงิน แต่ปัญหาการใช้จ่ายเกินตัวของคนอเมริกัน มีสาเหตุมาจากทัศนคติที่ได้รับมาจากสังคมและคนรอบตัว
ตามความเห็นของ Eisenberg สังคมอเมริกันไม่มีธรรมเนียมการชื่นชมยกย่องคนที่ไม่มีหนี้ เนื่องจากเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยกระแสกระตุ้นการบริโภค โดยที่แม้แต่ตัวผู้บริโภคเองก็อาจจะไม่รู้ตัวหรือมีความตระหนักรู้ เพราะสื่อต่างๆ และผู้ค้าปลีก รวมทั้งแหล่งข้อมูลอื่นๆ ต่างพยายามที่จะทำให้คนรู้สึกว่า มีวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้คุณสามารถได้มาซึ่งความสุขในทันที โดยไม่เคยที่จะกล่าวถึงผลกระทบของการ ได้รับความสุขอย่างง่ายๆ นั้น ที่จะส่งผลกระทบถึงอนาคต
ตัวเลขที่น่าแปลกใจ
คนที่ร่ำรวยที่สุดในอเมริกาซึ่งมีจำนวนเพียงร้อยละ 1 มีหนี้สินเพียงร้อยละ 6 ของหนี้ทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่ คนที่จนที่สุดในอเมริกา ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 90 กลับแบกภาระ หนี้ถึงร้อยละ 70 ของหนี้บัตรเครดิตทั้งหมดของสหรัฐฯ แต่อย่าลืมว่า คนที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งมีเพียงร้อยละ 1 นั้น มีทรัพย์สิน มากกว่าไม่รู้กี่เท่า ของหนี้สินที่พวกเขามีอยู่เพียงน้อยนิดแค่ร้อยละ 6 ของหนี้ทั้งหมดของประเทศ
ภาระหนี้สินเกินตัว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการใช้เงินซื้อ ความสุขอย่างผิดๆ นี่เอง ที่ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในอเมริกา ล้มเหลวในการเก็บออมเงินให้ได้ตามจำนวนที่จำเป็น สำหรับการมีชีวิตหลังเกษียณที่ประสบความสำเร็จ
คุณอาจจะยิ่งประหลาดใจหากได้รู้ว่า ร้อยละ 80 ของคนทำงานทั้งหมดในอเมริกา ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมในการ วางแผนการเกษียณอายุ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท แต่กลับเจียดเงินให้กับแผนการเก็บออมทรัพย์สินเพื่อการเกษียณเพียงร้อยละ 5-6 ของรายได้ของพวกเขาเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งชี้ว่า คนทำงานส่วนใหญ่ยังคงไม่อาจจะมีชีวิตหลังเกษียณที่มีทรัพย์สินในการดำรงชีพเพียงพอ แม้ว่าอาจจะสามารถเก็บออมเงินตามแผนเกษียณอายุได้สูงก็ตาม ประเด็นที่ผู้แต่งต้องการชี้ก็คือ แม้ว่าหลายคนอาจจะเดินไปถูกทางแล้วในการเตรียมตัวเพื่อชีวิตในวัยเกษียณ แต่ก็ยังคงทำสิ่งที่ผิดพลาด อย่างเช่นการไม่รู้จักเลือกทรัพย์สินที่เหมาะสม การมีภาระหนี้สินมาก และการที่ไม่รู้ว่าเรื่องใดสำคัญกว่าเรื่องใดในชีวิต
Eisenberg ให้ข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจต่อไปว่า อย่างน้อยร้อยละ 50 ของผู้ที่เกษียณอายุไม่ได้เก็บออมทรัพย์สินอย่างเพียงพอที่จะดำรงชีวิตในช่วงครึ่งหลังของชีวิต และ 4 ใน 10 ของคนทำงานในสหรัฐฯ ไม่ได้เก็บออมทรัพย์สินใดๆ สำหรับการเกษียณเลย นอกจากนี้ จำนวนของคนอเมริกันที่เก็บออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และมีคนทำงานเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น ที่มีทรัพย์สินมูลค่า มากกว่า 100,000 ดอลลาร์ ที่จะเก็บไว้เลี้ยงตัวหลังจากที่ไม่ได้ทำงานแล้ว
การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 2000 ทำให้การก่อหนี้ทำได้อย่างง่ายดาย แต่ผลกระทบของการที่ดอกเบี้ยถูก ทำให้ในช่วงระหว่างปี 2000 ถึง 2006 เงินกู้ซื้อรถและหนี้บัตรเครดิตในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 33 ในขณะที่เงินกู้ซื้อบ้านเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ข้อมูลตัวเลขที่ Eisenberg ยกมาเหล่านี้ จะไม่ทำให้ผู้อ่านปวดหัว เพราะเขาเลือกยกแต่ตัวเลขที่สำคัญๆ และเป็นข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้ผู้อ่าน สามารถประเมินสถานการณ์ทางการเงินของตนได้อย่างตรงไปตรงมา
หลักแห่งความไม่แน่นอน
Eisenberg ชี้ว่า มีเหตุผล 6 ข้อที่ทำให้คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ยอมวางแผนเพื่ออนาคต ซึ่งเขาเรียกเหตุผลเหล่า นั้นว่า "หลักการแห่งความไม่แน่นอนของ Eisenberg" พร้อม กับระบุถึงผลกระทบที่ความไม่แน่นอนเหล่านี้ จะส่งผลต่อสุขภาพทางการเงินในระยะยาวของคุณ
1. ความไม่แน่นอนจากการอยู่ในสังคมและวัฒนธรรม ที่สนใจแต่ความพอใจในปัจจุบันมากเกินไป กระตุ้นการก่อหนี้ เป็นสังคมที่คนในสังคมไม่ได้รับการส่งเสริมหรือกดดัน ให้มีความต้องการที่จะจัดระเบียบสถานการณ์ทางการเงินของตน
2. ความไม่แน่นอนและการขาดแรงจูงใจ ซึ่งเกิดจากการไม่มีความรู้ว่า จะใช้เงินทำงานได้อย่างไร
3. ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการที่ได้รู้ว่า ระบบสนับสนุนการเกษียณอายุที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม ถึงคราวเสื่อมและไม่สามารถให้หลักประกันแก่ผู้เกษียณอายุได้อีกต่อไป
4. ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการที่อาจมีปัญหา ที่จะคุกคามให้คุณไม่สามารถได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากทรัพย์สินของคุณ ที่คุณเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ
5. ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการมองไม่เห็นภาพใหญ่ หรือภาพรวมของความไม่แน่นอนทั้งหมดข้างต้น
6. ความไม่แน่นอนที่เกิดจากการไม่รู้ว่า สิ่งใดที่สำคัญ อย่างแท้จริง
หลักการแห่งความไม่แน่นอนทั้งหกนี้ คือแก่นแกนของหนังสือเล่มนี้ ความไม่แน่นอนข้อแรกของ Eisenberg สะท้อนว่า สังคมอเมริกันเป็นสังคมหรือวัฒนธรรมที่เน้นแต่การสนองตอบความพอใจให้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด และเป็นสังคมวัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมให้คนในสังคมตัดสินใจเรื่องการเงินอย่างชาญฉลาด
ส่วนความไม่แน่นอนจากการที่ระบบสนับสนุนการเกษียณอายุที่เคยมีมาแต่ดั้งเดิม อย่างเช่นกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ หรือสถาบันที่สนับสนุนการมีรายได้หลังเกษียณ กำลังเป็นระบบที่ล้มเหลว ผู้แต่งแนะนำว่า ไม่ควรเชื่อถือกองทุนเพื่อการเกษียณที่น่าสงสัย เพราะเมื่อถึงเวลาที่คุณต้องการพึ่งพากองทุนเหล่านั้นจริงๆ ก็มักจะไม่สามารถพึ่งพา ได้ ผู้แต่งย้ำว่า การควบคุมโชคชะตาทางด้านการเงิน ควรจะอยู่ในมือของคนแต่ละคนเอง
ผู้แต่งชี้ด้วยว่า หลักความไม่แน่นอน 6 ข้อของเขานี้ เป็นหัวใจของปัญหาการที่คนอเมริกันล้มเหลวในการวางแผน สำหรับชีวิตหลังเกษียณ
บัญญัติ 10 ประการเกี่ยวกับการลงทุน
ทุกคนที่ต้องการจะเก็บออมทรัพย์สินให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับชีวิตหลังเกษียณ สามารถจะนำหลักการลงทุน 10 ข้อของ Eisenberg ไปใช้อย่างได้ผล หลักการลงทุน ของ Eisenberg เป็นสิ่งที่รู้กันอยู่แล้วและไม่มีข้อใดเลยที่แปลกประหลาด แม้กระทั่งกับผู้ที่ไม่เคยเป็นนักลงทุนมาก่อน
ยกตัวอย่างเช่น Eisenberg แนะนำว่า นักลงทุนควรเลียนแบบความอดทนของนกที่กำลังสร้างรัง คำแนะนำบางข้อก็เป็นคำแนะนำง่ายๆ คือ หลีกเลี่ยงการที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่านายหน้า
นักลงทุนทุกคนรู้ดีว่า การปฏิบัติตามกฎง่ายๆ ของการลงทุนระยะยาวนั้น กลับเป็นเรื่องที่ยากลำบากเพียงใดในการทำใจ หากสิ่งที่คาดหวังไว้ไม่เป็นไปตามที่คาดในระยะสั้น และนี่ก็คือเหตุผลหนึ่งใน 4 ข้อที่ผู้แต่งชี้ว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนไม่สามารถปฏิบัติตามกฎการลงทุนระยะยาวได้ตลอดรอดฝั่ง
เหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้นักลงทุนไม่อาจรักษากฎการลงทุนของตัวเองไว้ได้ก็เช่น การที่มีทางเลือกในการลงทุนมากเหลือเกิน จนไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร เมื่อถูกกดดันให้ต้องเลือกระหว่างการลงทุนในหุ้นหรือกองทุน การลงทุนแบบเสี่ยงสูงหรือแบบอนุรักษนิยม นักลงทุนก็มักจะรู้สึกปั่นป่วนสับสนไปหมด วิธีที่ง่ายที่สุดในกรณีนี้ Eisenberg แนะนำว่า อาจจะเป็นการไม่ต้องทำอะไรเลย
ปัญหาที่รบกวนจิตใจ
Eisenberg กล่าวต่อไปถึงปัญหาที่เขาเชื่อว่า เป็นปัญหาที่รบกวนจิตใจของคนจำนวนมากเสมอมา เป็นปัญหาที่ทำให้คุณต้องตื่นขึ้นมากลางดึกพร้อมกับเหงื่อกาฬที่แตกพลั่ก เนื่องจากฝันร้ายไปถึงชีวิตหลังเกษียณที่คุณอาจจะต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างยากจน หลังจากที่คุณมองเห็นตัวเลขในบัญชีที่เก็บสะสมเพื่อการเกษียณกำลังหดหายไป หรือมิได้ให้ดอกผลมากเท่ากับที่คุณคาดหวัง ซึ่งทำให้คุณรู้สึกกลุ้มใจ และวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา
มาถึงตอนนี้ Eisenberg พาผู้อ่านเดินเข้าไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน โดยการเล่าถึงการที่เขาไปเยือนบริษัท Fidelity Investments ใน Boston ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่รายหนึ่งในอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงิน เขาพาผู้อ่าน เข้าไปสัมผัสบรรยากาศการทำงานจริงๆ ภายในบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนรายใหญ่ และพาผู้อ่านเข้าไปนั่งคุยกับ Bob Reynolds เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงในตำแหน่ง COO ของ Fidelity ซึ่งเชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในด้านการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการเกษียณอายุในอเมริกาที่มีชื่อว่า 401(k) อยู่ในบริษัทแห่งนี้มาถึง 20 ปี
Reynolds ให้ข้อมูลที่น่าสนใจต่อ Eisenberg เกี่ยวกับพฤติกรรมในการเตรียมตัวเพื่อการเกษียณอายุของคนอเมริกัน ตามความเห็นของ Reynolds คนอเมริกันส่วนใหญ่ มองการวางแผนเกษียณอายุ เป็นสิ่งที่พวกเขาจะต้องลงมือทำเองเพียงลำพัง เป็นเหมือนโครงการขนาดยักษ์มหึมาที่พวกเขาจะต้องลงมือทำด้วยตัวเองทั้งหมด
ในสมุดปกขาวของ Fidelity ซึ่งศึกษาเรื่องคนอเมริกัน กับการวางแผนการเกษียณระบุว่า แม้เมื่อคนอเมริกันเริ่มหันมาเห็นความสำคัญของการเตรียมตัวเพื่อการเกษียณ พวกเขา ก็ยังคงรับมือกับเรื่องนี้แบบตามมีตามเกิด แทนที่จะให้ความ สำคัญกับการวางแผนล่วงหน้า
ในการไปเยือน Fidelity นี้ Eisenberg ไม่ได้กำลังชี้นำเกี่ยวกับการใช้บริการอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน แต่เขาต้องการให้ผู้อ่านได้รับฟังข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
ชีวิตขาลง
สุดท้าย Eisenberg กล่าวถึงการปรับตัวเมื่อชีวิตเข้าสู่วัยเกษียณ ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นชีวิตขาลง การปรับตัวนี้ คือการที่ต้องเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวในระดับพื้นฐาน ที่ผู้เข้าสู่วัยเกษียณควรจะทำเมื่อถึงวัยเกษียณ Eisenberg ชี้ว่า โดยทั่วไป ผู้เกษียณอายุที่เก็บออมเงินหรือทรัพย์สินสำหรับชีวิตหลังเกษียณได้ไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการ มักจะคิดว่า พวกเขาคงจะต้องมีมาตรฐานชีวิตที่ตกต่ำลงหลังจากเกษียณ แต่ Eisenberg แนะให้ฉุกคิดว่า คำว่า "มาตรฐานชีวิต" นั้น เป็นคำที่คนอื่นเป็นคนคิดขึ้น และไม่จำเป็นที่คำคำนี้จะต้องหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างแท้จริงแต่อย่างใด
และสิ่งสำคัญที่ Eisenberg กล่าวก็คือ ชีวิตในช่วงครึ่งหลังของคุณนี้ เงินอาจไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดและไม่สำคัญ เท่ากับการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข เงินกับความสุข เป็นสองสิ่งที่ทำให้คนอเมริกันส่วนใหญ่ ทั้งที่ยังไม่ถึงวัยเกษียณและที่เกษียณอายุแล้ว ต้องคิดทบทวนถึงประเด็นทั้งสองนี้มาตลอดชีวิต
หนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้เห็นถึงจุดที่สำคัญอีกประการ เกี่ยวกับการเปลี่ยน แปลงการรับรู้ของคุณในเรื่องของเวลา และสิ่งที่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต เมื่อชีวิตของเราเข้าสู่วัยไม้ใกล้ฝั่ง แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเวลาและสิ่งที่สำคัญในชีวิต ย่อมจะไม่เหมือนกับวัยช่วงต้นของชีวิต
สำหรับ Eisenberg เขาเห็นว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับชีวิตในวัยเกษียณคือ การมีความสุขกับการหัวเราะมากๆ มีความสุขกับเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง และเป็นการช่วย เวลาของการให้กลับคืน เขายืนยันอย่างชัดเจนว่า เงินเพียงอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างมีคุณภาพ
หนังสือเล่มแรกของนักลงทุนหน้าใหม่
แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ใช่หนังสือ how to ที่แนะนำถึงวิธีการเก็บออมหรือลงทุนสำหรับการเกษียณอายุ แต่ยังคงเป็นหนังสือเล่มแรกที่นักลงทุนหน้าใหม่ควรจะอ่าน เพราะเป็นหนังสือที่ตอบคำถาม ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคำถามเรื่องเงิน ว่าเหตุใดคนจำนวนมาก ทั้งๆ ที่กลัวและวิตกถึงการมีชีวิตที่จะมีความสะดวกสบาย น้อยลงหลังเกษียณ แต่กลับล้มเหลวในการตัดสินใจแต่เนิ่นๆ ที่จะวางแผนการ เกษียณอายุ เพื่อที่จะทำให้สามารถใช้ชีวิต ในช่วงบั้นปลายอย่างประสบความสำเร็จ รวมทั้งอธิบายเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความล้มเหลวนั้น และแม้กระทั่งนักลงทุนที่พอมีประสบการณ์มาแล้วบ้างก็ยังสามารถจะอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกับเป็นหนังสือ ประเภท how to ที่แนะนำวิธีการวางแผน และตั้งเป้าหมายจำนวนเงินที่ชัดเจน ที่คุณ จำเป็นจะต้องมีสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างประสบความสำเร็จ
|
|
|
|