Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
A Brief History of the Smile
ผู้เขียน: Angus Trumble
ผู้จัดพิมพ์: Basic Books
จำนวนหน้า: 226
ราคา: ฿524
buy this book

ผู้เขียนหนังสือเป็นผู้บริหารพิพิธภัณฑ์งานศิลปะและเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะด้วย ดังนั้นจึงช่วยให้คนอ่านสามารถเข้าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาว่าด้วยรอยยิ้มของมนุษย์ที่ปรากฏในงานศิลปะสำคัญของยุโรปและโลกในอดีตได้ละเอียดดีมาก ใครอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วไม่ยิ้มตามไปด้วยกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ยกมาประกอบข้อเขียน ก็คงต้องตรวจสุขภาพจิตกันสักหน่อยแล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นการสำรวจแง่มุมต่างๆ ของรอยยิ้มที่มนุษย์ได้แสดงออกมาซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์ จิตสำนึก ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม รวมทั้งพฤติกรรมเกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งช่วยให้เราสามารถอ่านหรือตีความรอยยิ้มของมนุษย์ที่พบเห็นได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็เข้าใจว่า รอยยิ้มนั้นไม่ได้มีมิติเดียว

ตัวอย่างเช่น รอยยิ้มของภาพเขียนโมนาลิซ่า โดยลีโอ นาร์โด ดา วินซี ซึ่งโด่งดังระเบิดโลกนั้น จนถึงวันนี้ก็ยังมีคนตีความสารพัดรอยยิ้มหลายอารมณ์ของเธอนั้น ตีความในทฤษฎี ประสาทวิทยาได้ว่าอย่างไรกันแน่ ในขณะที่นักทฤษฎีจิตรกรรมก็เถียงกันว่า ระหว่างอุบัติเหตุจากฝีแปรงกับเล่ห์กลสร้างภาพลวง ของดา วินซี นั้น อย่างไหนเป็นจุดหลักกันแน่

ในขณะที่คำถามอื่นก็ตามมาเช่น ทำไมเด็กทารกแรกเกิดบางคนจึงยิ้ม เป็นเพราะเส้นกระตุกเอง หรือเพราะรู้จักแสดง อารมณ์เมื่อเห็นหน้าแม่ ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พยายามจะตอบโจทย์เสียทุกเรื่อง แต่เลือดเอาหัวข้อที่ผู้คนสนใจเอามาตั้งเป็นประเด็นเพื่อจะหา ความสัมพันธ์ของรอยยิ้มมนุษย์ ที่เชื่อมโยงกับสัญชาตญาณธรรมชาติหรือวัฒนธรรมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาผ่านกาลเวลายาวนาน

ข้อสรุปที่เห็นได้ชัดเจนคือ ทุกรอยยิ้มของมนุษย์ (หากไม่นับรอยยิ้มตามธรรมชาติของทารกแรกเกิด) ล้วนมีความหมาย และมีกรอบกำหนดจากปัจจัยหลากหลายพอสมควร ทั้งจากมารยาททางสังคม จากสัญชาตญาณทางโลกียวิสัย จากการพุ่งพรูของภูมิปัญญา หรือจากความสุข หรือจากการปะทะสังสรรค์เพื่อผูกมิตรกับมนุษย์อื่นๆ หรือแม้กระทั่งเพื่อสร้างภาพลักษณ์ทั้งส่วนตัว และเพื่อหวังผลทางธุรกิจ

ความซับซ้อนที่เกิดขึ้นนี้ เห็นได้ว่า รอยยิ้มสารพัด ไม่ว่าจะจริงใจ หรือเสแสร้ง จะเปิดเผยหรือซ่อนเร้น ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องการให้มีคน "อ่าน" และ "ตีความ" อย่างรอบคอบ เพื่อจะได้ไม่หลงผิด หรือเกิดเข้าใจไขว้เขวไปจนกระทั่งสื่อสารผิดๆ กัน

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ช่วยแยกแยะอีกว่า เสียงหัวเราะและรอยยิ้มนั้น ก็มีความหลากหลาย และมีลักษณะจำเพาะเช่นกัน แถมยังถูกกำหนดให้มีลักษณะทางชนชั้นในบางสังคมเข้าไปอีก เช่น ในอังกฤษ ยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม มีข้อกำหนดทางจารีตว่า ไพร่หยาบช้าเท่านั้นที่หัวเราะ ส่วนผู้ดีนั้น ไม่ควรหัวเราะเสียงดัง แต่ต้องยิ้มไม่ให้เห็นไรฟัน เป็นต้น

บทที่น่าสนใจก็คือ ว่าด้วยรอยยิ้มกับภูมิปัญญา ซึ่งทำการวิเคราะห์รอยยิ้มของงานศิลปะเอเชียทั้งจีน อินเดีย และเขมรโบราณ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สะท้อนให้เห็นการหลุดพ้นทางจิตที่ลึกซึ้งและแยบคาย

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับงานเขียนของอังเดร มาลโรซ์ นักเขียนดังฝรั่งเศสในอดีตเรื่อง The Voice of Silence ที่ยืนยันว่า งานศิลปะทางศาสนานั้น รอยยิ้ม เป็นเครื่องหมายที่แสดงฝีมือสุดยอดของภูมิปัญญา มนุษย์เลยทีเดียว โดยเฉพาะปฏิมาของพระพุทธองค์ที่ปรากฏในอินเดีย เอเชียกลาง จีน และไทย

ท้ายสุดของหนังสือเล่มนี้ยืนยันว่า รอยยิ้มอาจจะไม่ได้แสดงออกซึ่งความสุขเสมอไปก็จริง แต่มนุษย์ก็สามารถใช้รอยยิ้มเป็นเครื่องมือสร้างมิตรภาพและสื่อสารทางบวกแก่กันและกันได้

ประเด็นท้ายสุดที่ผู้เขียนทิ้งเอาไว้เป็นการบ้านสำหรับคนอ่านก็คือ ปัจจุบันมีการนำรอยยิ้มมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดและโฆษณาอย่างมาก จนกระทั่ง ต้องถามกันอีกว่า อนาคตของรอยยิ้มจะมีความหมาย ซับซ้อนกว่าที่เป็นอยู่มากน้อยเพียงใด

อ่านหนังสือเล่มนี้ช่วยให้มีความสุขและคลายเครียดดีแล้ว โดยที่ไม่ต้องไปใส่ใจกับปกหนังสือที่เป็นรูปเจ้าแมวเชสเชอร์เจ้าเล่ห์ในนิทานเด็ก Alice in Wonderland เจ้าของประโยคเด็ด "ถ้าฉันยิ้ม แสดงว่า โกรธมาก"

ไม่แพงเลยสำหรับหนังสือที่ทำให้อารมณ์แจ่มใส เล่มนี้

รายละเอียดในหนังสือ

Introduction ที่มาของข้อเขียนที่พยายามวิเคราะห์หา "สัดส่วนทอง" (ของการคำนวณทางคณิตศาสตร์) ของปากและฟัน เพื่อบรรยายให้กับทันตแพทย์เข้าใจ ก่อนที่จะกลายมาเป็นการวิเคราะห์รอยยิ้มที่ปรากฏในภาพเขียน portrait โด่งดังต่างๆ ของโลกว่า รอยยิ้มที่แสดงบุคลิกภาพของบุคคลนั้น มีความหมายซ่อนเร้นอะไรบ้าง และอย่างไหนปกติ อย่างไหนผิดปกติ

1. Decorum มารยาททางสังคมของชนเผ่าและเชื้อชาติ ต่างๆ ทั่วโลก มีความหลากหลาย รอยยิ้มของคนแต่ละที่ จึงถูก กำกับโดยวัฒนธรรมมากพอสมควร ว่าควรจะเปิดริมฝีปากบน มากกว่า หรือริมฝีปากล่างมากกว่า นอกจากนั้นรอยยิ้มของคนแต่ละวัย ก็ยังบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของการแสดงอารมณ์ที่แตกต่างกันด้วย ปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษย์คือ รอยยิ้มตามมารยาท นี้ซ่อนความจริง เสมือนหน้ากากที่สวมปิดบังโฉมจริงเอาไว้ ต้องถอดรหัสออกมา ยิ่งเป็นรอยยิ้มของโมนาลิซ่าด้วยแล้ว ยิ่งต้องตีความกันมากเป็นพิเศษ

2. Lewdness การแสดงออกซึ่งโลกียวิสัยผ่านรอยยิ้มที่เสแสร้งว่าเป็นมิตร ซึ่งแฝงคติผ่านสัญลักษณ์และอากัปกิริยาบางประการของยุคสมัย เช่นการเล่นดนตรี ไกวชิงช้า หรือยิ้มโดยไม่เห็นไรฟัน เป็นการส่งสัญญาณแห่งตัณหาลอดช่องโหว่ทางศีลธรรมของศาสนาหรือกฎหมาย เพื่อให้คนอื่นเข้าไปค้นหา โดยไม่ต้องแสดงตัวเปิดเผยแบบพวกชอบแสดงออก ซึ่งถูกลงโทษง่ายมาก แต่ปัจจุบันเมื่อข้อห้ามหมดไป รอยยิ้มแบบนี้ ก็กลายเป็นจุดขายของบรรดาคนวงการบันเทิงที่พร่ำเพรื่อ

3. Desire ทุกๆ รอยยิ้มของมนุษย์ เป็นปฏิกิริยาที่สอด คล้องกับการทำงานทางเคมีของสมอง การถอดรหัสรอยยิ้ม จะช่วยให้ตีความเพื่อเข้าใจความคิดและแรงขับทางอารมณ์ขณะนั้นของเจ้าของรอยยิ้มได้ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับความรัก ซึ่งรอยยิ้มที่เห็นไรฟันชัดเจนสามารถแสดงออกได้อย่างหลากหลายมาก นี่คือเหตุผลที่ทำให้ลิปสติกขายดีตลอดมา และนี่คือเหตุผลที่เหตุใดชนเผ่าในยุคโบราณถึงทำการให้หญิงสาวมีฟันดำ เพื่อปดปิดการแสดงออกในเรื่องความรัก

4. Mirth ความรื่นเริงใจกับรอยยิ้ม (รวมเสียงหัวเราะ) เป็นของคู่แฝดกัน และถือเป็นตัวช่วยสนับสนุนกันและกันอย่างดีเยี่ยม และจิตแพทย์ไม่น้อยเชื่อว่า การระเบิดเสียงหัวเราะและยิ้มแบบยิงฟัน ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น แต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ อาจจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกันได้ แต่ที่แน่นอนคือ เราสามารถจับเสียงหัวเราะแบบยิงฟันที่ไม่จริงใจได้ง่ายมาก ซึ่งช่วยเตือนเราได้ดีว่า เบื้องหลังรอยยิ้มและเสียงหัวเราะนั้น ไม่ใช่ความเปิดเผยจริงใจเสียทั้งหมด โดยเฉพาะของพวกติดยาเสพติด

5. Wisdom รอยยิ้มของผู้ทรงศีล นักปราชญ์ และชนชั้นสูง เป็นรอยยิ้มที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะ เป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณด้วย ประติมากรรมและจิตรกรรมทางศาสนาบ่งบอกถึงประกายปัญญาที่เหนือมนุษย์ และหลุดพ้นจากโลกียวิสัย มีความหมาย สูงส่ง และชวนให้เกิดศรัทธา แต่บางครั้งก็มีคนตีความ ว่าเป็นรอยยิ้มเย้ยหยันมนุษย์ที่กิเลสหนา ไม่ใช่ "รอยยิ้มที่แท้จริง" ตามธรรมชาติ

6. Deceit รอยยิ้มที่ไม่จริงใจ เป็นปกติของมนุษย์สามัญ ด้วยเหตุผลทางด้านภาพลักษณ์ เช่นรอยยิ้มของผู้ประกาศข่าว หรือผู้จัดการรายการ พิธีกรทางโทรทัศน์ ตลอดถึงรอยยิ้มของผู้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันทุกชนิด แต่นั่นไม่ได้หมาย ความในรอยยิ้มที่หลอกลวงนี้ เจ้าของจะเป็นบุคคลที่ปราศจากความจริงใจตลอดชีวิต อาจจะต้องการแค่กลบเกลื่อนการถูกจับผิดชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง

7. Conclusion : Happiness? ความสุขเป็นนิยามที่กำหนดมาตรฐานยากลำบาก รู้กันแต่เพียงว่า คนที่หมกมุ่นค้นหาความสุข คือคนที่ต้องการหลบหนี จากความวุ่นวายในชีวิต และรอยยิ้มก็ไม่ได้บ่งบอกถึงความสุขเสมอไป แต่ทุกๆ รอยยิ้ม เป็นหนทางสร้างมิตรภาพที่ดีและง่ายที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับการสื่อสาร ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนถูกแรงกดดันรอบด้าน ให้ต้องเคร่งเครียดกับชีวิตประจำวัน รอยยิ้มก็กลายเป็นจุดขายทางการตลาดและโฆษณา ซึ่งก็ยิ่งทำให้การอ่านและตีความรอยยิ้มยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น เกิดคำถามตามมาอีกว่า ในอนาคตรอยยิ้มจะเป็นตัวแทนของอะไรกันแน่



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us