|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Discipline & Punish
ผู้เขียน: Michel Foucault
ผู้จัดพิมพ์: Vintage
จำนวนหน้า: 333
ราคา: ฿572
buy this book
|
|
|
|
เอ่ยชื่อนักคิดฝรั่งเศสชื่อดัง มิเชล ฟูโกท์ หนึ่งในนักคิดสำนักรื้อโครงสร้าง หรือ Deconstruction Theory หลายคนอาจจะมีมุมมองสยดสยองพอสมควร แต่ความจริงแล้ว นั่นเป็นเพราะความผิดพลาดของนักวิชาการบ้านเราที่เผยแพร่แนวคิดของฟูโกท์แล้วเทิดเอาไว้บนหิ้งเสียจนกระทั่งยากจะเข้าถึงเป็นหลัก
ความจริงแล้ว หากเราอ่านฟูโกท์แบบอ่านหนังสือปรัชญา ทั่วๆ ไปก็คือ ต้องหัดกระโดดข้ามเรื่องที่ไม่เข้าใจ และไม่ชอบหรือไม่สนใจเสียบ้าง เราก็จะสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากนัก
หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่สร้างชื่ออย่างมาก แถมยังมีข้อความอันวกวนตามประสานักคิดในยุโรป ซึ่งมีจารีตการเขียนในลักษณะ "ทำให้ยาก" ขัดแย้งกับจารีต "ทำให้ง่าย" ของคนทางเอเชีย เราก็คงจะไม่ต้องขัดเขิน มากมายที่จะทำความเข้าใจกับสาระที่คนเขียนต้องการสื่อให้เข้าใจ
สาระหลักของฟูโกท์อยู่ที่การวิเคราะห์ การลงโทษในฐานะกระบวนการของการใช้อำนาจของมนุษย์ต่อกันและกัน ที่มีพลวัตจากการลงโทษทางร่างกายและชีวิตอย่างโหดร้ายและดิบเถื่อนในยุคโบราณ มาสู่กระบวนการลงโทษในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปของสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ในทุกระดับและในด้านเนื้อหา ซึ่งเขามองว่า ไม่ควรจะหยุดเพียงแค่ การตั้งคำถามที่ยุ่งยากดั่งเขาวงกตในเรื่องแรงจูงใจ ซึ่งไม่สามารถ ที่จะตอบคำถามได้ แล้วหันมาหากระบวนการว่า สิ่งต่างๆ มันทำงานอย่างไรในเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษหรือการทำให้เชื่อฟัง ทั้งการควบคุมร่างกาย จิตวิญญาณ อากัปกิริยา และพฤติกรรม
นั่นคือ ฟูโกท์ขยายพรมแดนแห่งความรู้ว่าอำนาจได้ถูกสถาปนาให้เป็นแนวคิด บรรทัดฐาน และสถาบันอย่างไร เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าอำนาจ แปลงรูปเป็นอิทธิพลครอบงำที่มีผลกระทบ ต่อสังคม เพื่อให้สิ่งที่ผิดแปลกมาตรฐาน (ถือว่าผิดปกติ) ถูกนำไปกักขังควบคุม เพื่อให้กลับสู่ปกติ
ที่โดดเด่นคือ เขาชี้ว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั่นแหละ คือตัวร้ายในระบบคิด ที่แม้ด้านหนึ่งจะช่วยโค่นล้มกระบวนทัศน์เก่าในเรื่องความเชื่อ ศรัทธา หรืออำนาจทรราชย์ลงไป แต่อีกด้านหนึ่งก็ได้สถาปนาระบอบใหม่ของอำนาจโดยผ่านกลไกต่างๆของระเบียบวินัย และการสร้างเงื่อนไขที่เป็นบรรทัดฐานต่างๆสำหรับพฤติกรรมของมนุษย์ รุกล้ำเข้าไปในโลกส่วนตัว แล้วจัดการแปลงให้เป็นคุกที่มองไม่เห็น ทั้งในที่ทำงาน, ห้องเรียน, โรงพยาบาล สถานบันเทิง พักผ่อนหย่อนใจในครัวเรือน แม้กระทั่งศาลสถิตยุติธรรม เพื่อวินิจฉัยออกมาเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับความเป็นปกติ และผิดปกติ หรือปทัสถานทางสังคมอื่นๆ สุดแท้จะนิยามกันออกมา
หนังสือเล่มนี้เน้นไปที่การเผยให้เห็นการที่มนุษย์ยุคใหม่ได้สร้าง กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้วยการปฏิรูปคุกขึ้นมา แล้วทดแทนระบบเก่าด้วยกระบวนการสอบสวน การควบคุม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นำไปสู่การเบี่ยงเบนและการออกนอกลู่นอกทางไปจากมาตรฐานปกติ กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ชอบธรรม
พูดง่ายๆ ฟูโกท์บอกว่า คนเราอย่ายัดเยียดมาตรฐานส่วนตัว หรืออย่าเพิ่งด่วนตัดสินคนอื่นๆ ที่ไม่เหมือนเราว่าผิดปกติ ซึ่งนัยของความหมายคือ การส่งเสริมปัจเจกชนนิยมนั่นเอง
หากมองข้าม หรือแหวกว่ายป่าแห่งสำนวนอันรกรุงรังของฟูโกท์ไปได้ ผู้อ่านหนังสือจะได้พบว่า มันเป็นหนังสือที่ไม่ควรพลาดอย่างแท้จริง เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เราเห็นว่า ความปกติที่เราเห็นทุกเมื่อเชื่อวันนั่นแหละคือความไม่ปกติ และในความไม่ปกตินั้น หาก ตัวเราไม่ปกติเสียเอง ก็ต้องเป็นสังคมหรือคนอื่นนั่นแหละที่ไม่ปกตินั่นหมายความว่า หากเป็นอย่างแรก เราเป็นส่วนแปลกประหลาดของ สังคม ที่ต้องปรับปรุงตัวเอง แต่หากเป็นอย่างหลัง เราก็คงต้องหาทาง ช่วยกันเยียวยาสังคมรอบข้าง ก่อนที่เราจะกลายเป็นเหยื่อของสังคมที่แสนจะไม่ปกติ
คนเรา หากอยู่ถูกที่ แต่เราเป็นคนประหลาดหรือไม่ปกติ หรือ อยู่ผิดที่ มันก็เหมือนอยู่ในนรกเหมือนกันทั้งนั้น
หนังสือเล่มนี้แม้จะเขียนนานมากแล้ว แต่ถือว่าเหมาะกับคนไทย ที่อยู่ในสังคมยุคหลังทักษิณยามนี้อย่างมาก เพราะสังคมที่เดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังไม่เป็นอย่างนี้ เรียกร้องสติและปัญญามากพอๆ กัน ดังกรณี หมอเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาดังถูกจับเข้าโรงพยายาลบ้าให้เห็นล่าสุด
ถึงแม้ว่าสำนวนลีลาหนังสือเล่มนี้จะเคี้ยวยากไปสักนิด ก็ยังน่าเคี้ยวอยู่ดี
รายละเอียดในหนังสือ
Part 1 : Torture ประเด็นว่าด้วยการทรมาน
๏ Chapter 1 The body of the condemned ว่าด้วยวิธีวิทยาของ การศึกษาเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ต่อผู้กระทำผิดซึ่งมีกติกาหลัก 4 ข้อคือ
1) ไม่ได้เน้นศึกษาเรื่องกระบวนการลงโทษอย่างเป็นเอกเทศ แต่เป็นชุดของกระบวนการทางสังคมอื่นๆ
2) วิธีการลงโทษมีความซับซ้อนมากกว่าที่เห็นด้วยตาหรือสัมผัส แต่เชื่อมโยงกับเรื่องของอำนาจ
3) รวมเอาประวัติศาสตร์ของสังคมและเทคโนโลยี ประมวลไว้เป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจในระบบการลงอาญา และการสร้างความรู้ของมนุษย์
ซึ่งทำให้กระบวนการลงโทษแบบ "วิทยาศาสตร์" ย้ายจากการ ลงโทษทางร่างกาย เป็นทางจิตวิญญาณ
๏ Chapter 2 The spectacle of the scaffold ว่าด้วยวิวัฒนาการ ของกระบวนค้นหาความผิดและการลงโทษซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างอำนาจดิบ หรือสิทธิที่จะลงโทษ มาสู่กระบวนการที่แนบเนียน และซับซ้อนมากขึ้นเพื่อช่วงชิงความคิด จากบังคับสารภาพมาสู่การสืบสวน จากการค้นหาความจริงมาสู่การเอาชนะด้วยกฎกติกาและเงื่อนไข ทำให้บรรดาวีรชนทั้งหลายกลายเป็นคนนอกสังคมได้ง่ายมาก
Part 2 : Punishment ประเด็นว่าด้วยการลงโทษ
๏ Chapter 1 Generalized punishment ว่าด้วยการปฏิรูปกระบวน การลงโทษจากทางร่างกาย มาสู่กระบวนการใหม่ที่ "อารยะ" มากขึ้นภายใต้กติกาใหม่ 6 ข้อ คือ
1) กฎว่าด้วยปริมาณการลงโทษที่น้อยที่สุด
2) กฎว่าด้วยอุดมคติที่เพียงพอ
3) กฎว่าด้วยผลกระทบคู่ขนาน
4) กฎว่าด้วยความแน่นอนที่สมบูรณ์
5) กฎว่าด้วยสัจจะทั่วไป
6) กฎว่าด้วยการจำแนกบทลงโทษที่สมเหตุสมผล ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ได้มีส่วนสร้างอำนาจเชิงอุดมคติขึ้นมาในรูปแบบใหม่ที่แนบเนียนและมีประสิทธิผลมากขึ้น
๏ Chapter 2 The gentle way in punishment ศิลปะของกระบวนการลงโทษผู้กระทำผิดยุคใหม่ที่ถูกพัฒนาการขึ้นให้ดูโหดร้าย น้อยลงจากการปฏิรูปจะเป็นประโยชน์กับผู้ถูกลงโทษและสังคมหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขบางประการเช่น มีการประดิษฐ์ผิดธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน มีความเชื่อมโยงกับกลไกของการใช้กำลังมากน้อยแค่ไหน
การใช้บทลงโทษแต่ละชนิดอย่างจำแนกเป็นการชั่วคราว การคำนึงถึง สัญลักษณ์ในมิติทางสังคมและผลประโยชน์ของผู้ถูกลงโทษและผู้ที่เกี่ยวข้อง การกระทำให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายในยุคที่สังคมเปิดกว้าง มากขึ้นและการใส่กับจารีตเก่าของคนบางกลุ่มในสังคม ทั้งนี้เพื่อจัดลงตัวที่เหมาะสมระหว่างการลงโทษถึงชีวิต (รุนแรงเกินไปและไม่ได้ ประโยชน์) กับลหุโทษ (เบาเกินไปจนไม่เกรงกลัวที่จะกระทำผิดอีก)
Part 3 : Discipline ว่าด้วยวินัยและการคุมประพฤติ
๏ Chapter 1 Docile Bodies การประดิษฐ์กระบวนการลงโทษที่เปี่ยมด้วยศิลปะหลายรูป นับแต่การกระจายที่อยู่ของผู้ต้องหา/นักโทษ การควบคุมพฤติกรรม การสร้างองค์กรที่เป็นระบบเพื่อสร้างพฤติกรรม จำเพาะ การใช้องค์ประกอบด้านพละกำลังเสริม ทำให้เกิดกระบวนการ ล้วงลึกไปสู่การลงโทษทางจิตวิญญาณของผู้กระทำผิด ส่งผลล้ำลึกต่อผู้ถูกลงโทษให้เชื่องและสมยอมมากกว่าในอดีต
๏ Chapter 2 The means of correct training การสร้างวินัยที่เข้มงวดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาทิ ใช้ระบบอาวุโสกำกับ การสร้างความคุ้นเคยให้กับการพิพากษา และการทดสอบบ่อยครั้ง ไม่ได้ ใช้กับการลงโทษเท่านั้น หากถูกกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นำมาสร้างเป็นสถาบันทางสังคมทั่วไปด้วย
๏ Chapter 3 Panopticism การสร้างวินัยที่เป็นระบบและดูเปิดเผย จนเป็นปกติ เป็นกระบวนการสร้างเครือข่ายการควบคุมพฤติกรรม ทางสังคมที่ล้ำลึกได้แก่ 1) กระบวนการกลับขั้วจากวินัย 2) การ สร้างกระแสกลไกของวินัยโดยอาศัยข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งท้ายสุด นำไปสู่กระบวนการพื้นฐานของระบบยุติธรรมของประเทศทั่วโลก กลายเป็นระเบียบที่มองไม่เห็นทางสังคม และกลายเป็นสัจจะไปในที่สุด
Part 4 : Prison ว่าด้วยคุกและสถานกักกันหรือดัดสันดาน
๏ Chapter 1 Complete and austere institutions การปฏิรูป คุกและสถานกักกัน ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สถานที่น่าอยู่มากขึ้น แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นการสร้างสถาบันให้เข้มแข็งมากกว่าเดิมอย่างมาก เนื่องจากได้สร้างกระบวนการ 1) ทำให้นักโทษโดดเดี่ยวโดยระบบขังแยก 2) สร้างพฤติกรรมซ้ำซากระหว่างการกักขัง (กินอาหาร ทำงาน ออกกำลัง พักผ่อนฯ) 3) พฤติกรรมจำเพาะของผู้ต้องโทษติดตัวไปอีกยาวนานตลอดชีวิต ซึ่งมีส่วนทำให้กระบวนการยุติธรรมมีด้านมืดของการใช้อำนาจอย่างเงียบเชียบไม่เป็นที่สังเกต
๏ Chapter 2 Illegalities and delinquency นิยามของคำว่าละเมิดกฎหมาย และการกระทำความผิด ได้มีการเปลี่ยนรูปในเชิง สัญลักษณ์เสมือนหนึ่งการผ่าเหล่าทางเทคนิค จากคำสาปแช่งของ นักบวชหรือแม่มดในยุคโบราณมาสู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุผลและคำอธิบายโดยเงื่อนไขทางกฎหมาย หากวิเคราะห์แล้ว จะเป็นการย้อนรอยของจารีตเก่าๆ ที่ถูกดัดแปลงในรูปแบบใหม่ ซึ่งผลลัพธ์คือ 1) คุกไม่เคยลดสถิติอาชญากรรม 2) ผู้ต้องโทษที่พ้นโทษมีโอกาสกลับเข้ามาครั้งใหม่สูงมาก 3) คุกเป็นแหล่งเผยแพร่การกระทำผิดอย่างมีนัย 4) ผู้ต้องโทษจะคุ้นเคยกับการถูกจับตามองตลอดเวลา เมื่อพ้นโทษไปแล้วพวกเขาจะรู้สึกหงุดหงิด ยามไม่มีคนจับตามอง 5) ครอบครัวของผู้ต้องโทษ (ที่เคยเป็นหัวหน้าครอบครัว) จะถูกบีบคั้นให้ประกอบอาชญากรรมง่ายขึ้น ซึ่งทำให้มีข้อถกเถียงกันมากขึ้นในเรื่องความเหมาะสม
๏ Chapter 3 The carceral การส่งคนเข้าสู่สถานดัดสันดานซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการลงอาญา ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญ ดังนี้ 1) ทำให้เกิดการปรับระดับอย่างช้าๆ เพื่อให้ความผิดธรรมชาติของการคุมขังมนุษย์กลายเป็นความถูกต้อง 2) เร่งสร้างมนุษย์และองค์กรชำนาญพิเศษที่คุมประพฤติผู้คนอย่างกว้างขวาง 3) ทำให้กระบวนการลงโทษกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย และชอบธรรมทุกเรื่อง 4) สร้างรูปแบบของการบังคับใช้กฎหมาย ใหม่ๆ ที่บีบรัดมนุษย์ให้ตกเป็นทาสง่ายขึ้น 5) มนุษย์ปัจเจกจะตกเป็นทาสที่สมยอมให้กับคุกรูปใหม่อย่างไม่มีทางเลือก เพราะไม่สามารถต้านทานเครื่องมือที่ทรงพลังได้ 6) ความแข็งแกร่งของ อำนาจยุคใหม่ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างยืดหยุ่นเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้
|
|
|
|