|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The Lugano Report
ผู้เขียน: Susan George
ผู้จัดพิมพ์: Pluto Press
จำนวนหน้า: 213
ราคา: ฿811
buy this book
|
|
|
|
ผู้เขียน ซึ่งมีชื่อซ้ำกับดารานักแสดงชาวอังกฤษในอดีต แต่เป็นคนละคนชัดเจน สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักจากการเป็นหนึ่งในผู้นำเสนอแนวคิดสุดโต่งเรื่องต่อต้านโลกาภิวัตน์ และเป็นหนึ่งในหัวขบวนที่มีคนยินดีเชื่อฟังมากมายพอสมควรทีเดียว
การจะอ่านหนังสือเล่มนี้อย่าง "รู้ทัน" จึงเป็นภารกิจของผู้อ่านที่จะต้องผูกความรู้พื้นฐานเรื่องของโลกาภิวัตน์กับการต่อต้านโลกาภิวัตน์ อย่างเข้าถึงกึ๋นเสียก่อน ไม่อย่างนั้นก็จะเสียอรรถรสในการอ่านและขบประเด็นที่เสมือนหนึ่งระเบิดเวลาทางความคิดที่ผู้เขียนวางเอาไว้ชนิดปูพรมตลอดทั้งเล่มเลยทีเดียว
ปรัชญาเบื้องหลัง กระแสโลกาภิวัตน์ ได้แก่ แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลัก เสรีนิยมใหม่ หรือ neo-liberalism ที่นำเสนอโดยอเมริกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศยึดถืออยู่ ซึ่งเรียกกันว่า ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน หรือ Washington consensus อันโด่งดังนั่นเอง
ลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ มีความแตกต่างจากแนวคิดเรื่อง laissez-faire ของอาดัม สมิธ ในอดีตอย่างมาก โดยอาศัยพื้นฐานแนวคิดของเฟรดริก เฮเยก นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรีย แห่งสำนักเวียนนา เจ้าของหนังสือคลาสสิก Road of Serfdom ซึ่งมีจุดยืนตรงข้ามแนวคิดแบบมาร์กซิสม์ และเคนส์อย่างสุดขั้ว นั่นคือ ทำให้รัฐมีบทบาทน้อยที่สุดในการแทรกแซงธุรกิจ
เสรีนิยมใหม่ ก่อตั้งโดยกลุ่มนักคิด ที่เรียกตัวเองว่า Mont Pelerin Society ในสหรัฐฯ ที่นำโดยนักเศรษฐศาสตร์การเมืองชื่อดัง เฟรดิก เฮเยก มิลตัน ฟรีดแมน และไมเคิล โปลานยี เน้นลดการแทรกแซงของอำนาจรัฐในธุรกิจภายในลดข้อจำกัดในการแข่งขันของตลาด เปิดตลาดค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้นโดยผ่านการเจรจาต่อรอง เพื่อให้เกิดการแบ่งงานระหว่างประเทศ และเน้นการที่โลกแบ่งออกเป็นหลายขั้วอำนาจเพื่อสร้างข้อตกลงระหว่างประเทศในรูปพหุภาคี กระตุ้นให้รัฐบาลทุกประเทศ แปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชนหรือเอกชนเสียให้หมด ฯลฯ ด้วยความเชื่อพื้นฐานว่า การปล่อยให้ทุนและทรัพยากรทางเศรษฐกิจไหลเวียนโดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด พลังการตลาดจะยิ่งทำให้สังคมสามารถผลิตสินค้าทางสังคม ทางการเมือง และทางเศรษฐกิจได้ตรงความต้องการมากที่สุด
เสรีนิยมใหม่ เชื่อในระบบค่าจ้างลอยตัวตามความต้องการของตลาดแรงงาน จึงอยู่คนละฟากกับลัทธิสหภาพ แรงงาน ลัทธิปกป้องทางการค้า ลัทธิสังคมนิยม แนวคิดอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งหลายในโลก ซึ่งเชื่อว่า กระแสโลกาภิวัตน์เป็นการขูดรีดแบบใหม่หลังสงครามเย็น เพราะทำให้ทุนเคลื่อนย้ายไปทั่วโลกอย่างเสรี เพื่อใช้ประโยชน์จากแรงงานราคาต่ำ วัตถุดิบ และตลาดอย่างรุนแรงกว่าในอดีตมาก
แนวคิดเสรีนิยมใหม่ เป็นแนวคิดที่ถูกมองว่า คนที่อยู่เบื้องหลังได้แก่กลุ่มปัญญาชน และทุนใหญ่ที่ก่อตั้งสมาคม The Council on Foreign Relations หรือ CFR ที่มีการประชุมลับกันทุกปีเพื่อกำหนด "แนวทางโลก"และอยู่เบื้องหลังผู้นำการเมืองในทำเนียบขาวมายาวนานหลายทศวรรษ
คนที่ทำให้โลกคุ้นเคยกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่โด่งดังที่สุด ได้แก่ นางมาร์กาเรต แทตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ซึ่งทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของสหราชอาณาจักรอย่างขนานใหญ่เป็นที่เลื่องลือเป็นตำนาน
ในมุมกลับกัน แนวคิดต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งต่อสู้กับเสรีนิยมใหม่ ก็ถูกโจมตีเช่นกันว่า เป็นลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัยเช่นกัน
ซูซาน จอร์จ ก็เป็นเช่นนี้ และหนังสือเล่มนี้ก็สะท้อนจุดยืนชัดเจน โดยใช้สำนวนทิ่มแทงกันอย่างรุนแรง แม้จะสนุกด้วยลีลา แต่เนื้อหานั้นเข้าข่ายกล่าวหา และเย้ยหยันความเลวร้ายของลัทธิโลกาภิวัตน์อย่างสุดขั้ว
เรียกว่า หากคุณต้องการกล่าวหา ด่าว่า หรือโจมตีโลกาภิวัตน์แล้ว เลือกเอาถ้อยคำในหนังสือนี้ไปผสมกับถ้อยคำในพี่น้องคารามาซอฟของดอสตอยเยฟสกี้ (ซึ่งเป็นนักต่อต้านโลกาภิวัตน์ยุคเก่า) ใช้ได้สบายๆ เลย
อ่านแล้ว ไม่ชอบมาก ก็เกลียดมากไปเลย
แนวคิดหลักของผู้เขียน เห็นชัดว่า ได้รับอิทธิพลจากนักเศรษฐศาสตร์รุ่นเก่า มัลธัสอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ปัญหาประชากรล้นโลก ซึ่งเป็นข้อเสนอหลักของหนังสือ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว หากยังไม่รู้สึกว่าโลกเอียง แสดงว่า คุณเป็นพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์เต็มตัวเข้าไปแล้ว แต่ถ้ารู้สึกว่าโลกเอียง และต้องการกลับสู่สมดุลครั้งใหม่ หาหนังสือของ Thomas L. Friedman เรื่อง The World is Flat หรือที่เก่ากว่านั้นคือ The Lexus and The Olive Tree มาอ่านเพื่อถ่วงดุล นั่นแหละของจริงเลยเพราะเป็นโฆษกสำคัญของลัทธิโลกาภิวัตน์ทีเดียว
อ่านแล้ว จะได้ไม่ทำผิดอย่างดื้อรั้น เหมือนพวกคิดห้ามโฆษณาขายเหล้า (เพราะต้องการไถ่บาปที่เคยดื่มเหล้าจนถูกห้ามมาแล้ว) บางคน
รายละเอียดในหนังสือ
Part 1
๏ Chapter 1.1 Dangers ว่าด้วยเภทภัยของการปล่อยให้ทุนเคลื่อนไหวเสรีตามกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของทุนนิยมอันธพาล (gandster capitalism) 3 ประเด็นหลักคือ
1) การคุกคามของลัทธิตลาดเสรีต่อคนส่วนใหญ่ของโลก
2) ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากโลกาภิวัตน์
3) กลยุทธ์ที่กลุ่มทุนโลกเลือกใช้เพื่อขูดรีดความมั่งคั่ง
๏ Chapter 1.2 Control การที่เศรษฐกิจโลกถูกคุกคามจากกลุ่มทุนข้ามชาติจนกระทั่งเกิดวิกฤติถล่มทลาย (landslide effect) ภายใต้คำอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุระดับโลก แสดงให้เห็นว่า ระบบโลกไม่ได้มีการป้องกันที่ดีพอ และสถาบันที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพียงพอรับภารกิจอันท้าทายจากการคุกคามของทุนข้ามชาติในรูปมือที่มองไม่เห็น
๏ Chapter 1.3 Impact สมการผลกระทบต่อโลกของลัทธิโลกาภิวัตน์ ได้แก่ การบริโภค คูณด้วยเทคโนโลยี คูณด้วยจำนวนประชากร ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน ด้วยอำนาจของทุนในกระบวนการของเสรีภาพในการสืบพันธุ์ที่ทำให้ประชากรเติบโตเร็วกว่าการผลิตอาหาร
๏ Chapter 1.4 Conclusions ผลพวงของการต่อสู้ระหว่างสินค้า บริษัทธุรกิจ และปัจเจกบุคคล ทำให้มีคนจำนวนน้อยที่ได้รับความมั่งคั่งอย่างกระจุกตัว ในยามที่รัฐบาลท้องถิ่นมีอำนาจลดลง และการครอบงำวัฒนธรรมเกิดขึ้นทั่วโลก
Part 2
๏ Chapter 2.1 Goals ความผิดพลาดของยุทธศาสตร์พัฒนาภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์จะต้องได้รับการแก้ไขในหลายแนวทาง อย่างทั่วด้าน และลึกซึ้ง โดยกำหนดเป้าหมาย 3 ประการคือ 1) สร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจให้เปิดช่องปัจเจกรับโอกาสในความสำเร็จ และความสุข 2) สร้างเกราะป้องกันมนุษย์และสัตว์ให้ปลอดภัยจากการคุกคาม
3) กระตุ้นให้เกิดสังคมอารยะ ซึ่งทั้งหมดนี้ให้ประสานไปกับการหาทางคุมกำเนิดประชากรอย่างเข้มงวด
Chapter 2.2 Pillars กำหนด 4 เสาหลักของการลดการเพิ่มจำนวนประชากรในโลกได้แก่ 1) กรอบทางจริยธรรม 2) กรอบเศรษฐกิจ 3) กรอบทางการเมือง 4) กรอบทางจิตวิทยา
๏ Chapter 2.3 Scourges
Introduction
กรณีศึกษาปัจจัย 4 ประการหลักที่เป็นตัวทำลายล้างมนุษยชาติโดยรวมอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์
I Conquest การรุกรานกันเองด้วยสงคราม เพื่อครอบงำอาณาจักรอื่น เนื่องจากพลังของความต้องการอำนาจที่เกินเลย
II War สงครามกับคำขวัญฆ่าทุกคนที่อยู่ตรงกันข้าม เกิดจากความหลงผิดในตัวเองของมนุษย์ สร้างประโยชน์ให้แก่พวกเดียวคือนักค้าอาวุธ และไม่สามารถสร้างสังคมอารยะหลังสงครามขึ้นมาได้
III Famine ความไม่เพียงพอ และการกระจายอาหารที่ไม่ยุติธรรมเพื่อการครอบครองที่ดิน ทุนและน้ำไม่เท่ากัน คือต้นเหตุของความอดอยากที่เลวร้าย
IV Pestilence โรคระบาด การแปรรูปกิจการสาธารณสุข ไม่ใช่คำตอบที่ดี เพราะนำไปสู่การหาความร่ำรวยจากภัยจากโรคร้ายมากกว่าการป้องกัน
๏ Chapter 2.4 Prevention ข้อเสนอในการป้องกันปัญหาเก่าแก่ของมัลธัส เกี่ยวกับการควบคุมการเกิดของประชากรโลก ด้วยวิธีต่างๆ
๏ Chapter 2.5 Puzzles ปมประเด็นตกค้างที่ยังแก้ไม่ตก และต้องช่วยกันระดมหาทางออก เช่น จำนวนประชากรของจีนที่มากเกินขนาด การขาดแคลนน้ำสะอาด กรณียาเสพติดแพร่ระบาด
Annexe ข้อเสนอของผู้เขียนว่าด้วยการป้องกันการเติบใหญ่ของ ทรราชข้ามชาติ ด้วยการที่ผู้คนในโลกสร้างพันธมิตรข้ามชาติ เพื่อต่อรองอย่างรู้ทันต่อบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่
|
|
|
|