|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The Greed Merchants
ผู้เขียน: Phillip Augar
ผู้จัดพิมพ์: Penguin
จำนวนหน้า: 240
ราคา: ฿546
buy this book
|
|
|
|
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นอดีตผู้บริหารบริษัทวาณิชธนกิจในลอนดอน ที่ลาออกจากงานหลังจากร่ำรวยมาพอสมควรแล้ว เมื่อบริษัทที่เขานั่งบริหารถูกซื้อกิจการโดยบริษัทอเมริกัน ลงมือนั่งเขียน "คำสารภาพบาป" เกี่ยวกับพฤติกรรมของวาณิชธนกิจจากมุมมองของ "คนใน" ในหนังสือชื่อดัง The Death of Gentle-manly Capitalism เมื่อ ค.ศ.2001 จนโด่งดังไปแล้ว
หนังสือเล่มข้างต้นนั้น อธิบายถึงที่มาของหายนะเบื้องหลังการล่มสลายของวาณิชธนกิจบางรายในลอนดอน ที่เกิดจากการจัดการที่ฉ้อฉล และเรื่องอื้อฉาวที่ตามมา
หนังสือเล่มใหม่นี้จึงถือเป็นภาคต่อของเล่มแรก โดยอาศัยแนวคิดเดียวกันแต่อาศัยข้อมูลที่ข้ามฟากมาศึกษาอีกฝั่งหนึ่งของแอตแลนติก โดยใช้นิวยอร์กเป็นศูนย์กลางการศึกษา แต่คราวนี้มาด้วยคำอธิบายที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมคือ การมุ่งวิเคราะห์ว่า เหตุใดยักษ์ใหญ่ทางด้านวาณิชธนกิจอเมริกันที่มีชื่อเสียงอย่าง มอร์แกน สแตนเลย์ โกลด์แมน ซาคส์ หรือเมอร์ริล ลินช์ ทำไมจึงอยู่ยงคงกะพันเสียจนกระทั่งผูกขาดตลาดนี้ชนิดที่หาคู่แข่งมาทาบได้ยากมาก
นอกจากนั้นยังมีคำถามว่า บริษัทวาณิชธนกิจที่เคยซวดเซ เพราะปัญหาภายในอย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส ซาโลมอน บราเธอร์ส หรือเฟิร์สท์ บอสตัน ทำไมจึงตายยากเสียเหลือเกินมีปัญหาทีไร มีคนโดดเข้าอุ้มเสมอ
ความพยายามที่จะตอบคำถามเหล่านี้ พร้อมกับบทสัมภาษณ์ของคน "วงใน" ด้วยคำถาม "ถึงกึ๋น" ของคนที่รู้จริง ทำให้หนังสือนี้มีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษ ถึงบางครั้งจะทำให้เกิดข้อสงสัยในระหว่างการอ่านขึ้นมาว่า คนที่พูดออกมานั้นจริงใจมากมายแค่ไหน จนกระทั่งยอมเอ่ยปากบอกถึง "บาป" ของตนเอง?
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่อ่านหนังสือนี้ต้องกลับมาไตร่ตรองซ้ำอีกหนหนึ่งว่า สมควรเชื่อข้อมูลดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน
สิ่งที่เราได้เห็นจากหนังสือเล่มนี้คือ ธุรกิจวาณิชธนกิจหรือที่ปรึกษาการเงินนั้น เป็นธุรกิจที่ค่อนข้างซับซ้อน และเกี่ยวพันกับการไต่เส้นลวดทางจริยธรรมอย่างมากทีเดียว บางครั้งก็ผิดพลาด บางครั้งก็นำตัวไปสู่ความยุ่งยาก แต่ทั้งหมดนี้เกิดจากการทำงานหนัก และการใช้ประโยชน์จากการข้ามสาขาความรู้เพื่อโยงใยความรู้อันหลากหลายให้แปลงสภาพเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างทุนให้กับลูกค้า
ปัญหาที่ท้าทายก็คือ การใช้ความสามารถเหล่านี้หลายต่อหลายครั้ง ไม่ได้อยู่บนฐานรากของความมีเหตุมีผลและกติกา หากอาศัยความโลภ และการหลอกลวง ซึ่งทำให้ระบบทุนนิยมไม่ใช่การค้าเสรีภายใต้มือที่มองไม่เห็นอีกต่อไป หากเป็นเรื่องของการฉ้อฉลโดยคนเจ้าเล่ห์มืออาชีพมากกว่า
ระหว่างบรรทัดของการอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้อดนึกถึงภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ของโอลิเวอร์ สโตน เรื่อง Wall Street เมื่อหลายปีก่อนไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วนที่บอกว่าความโลภขับเคลื่อนโลก
แต่ก็นั่นแหละ หากเรายอมรับว่า โลกนี้คือโลกมนุษย์ (City of Man) แบบที่แมคเคียเวลลีสรุปเมื่อหลายร้อยปีก่อน ไม่ใช่โลกของพระเจ้า (City of God) แบบที่นักบุญออกัสตินสรุปเอาไว้ก่อนเมื่อเกือบสองพันปี และนำยุโรปเข้าสู่ยุคมืดบอดทางปัญญา เราก็คงต้องยอมรับกันว่า งานเขียนเล่มนี้ต้องได้รับการประเมินอย่างใจเป็นกลางพอสมควร
หนังสือแบ่งออกเป็นจตุรภาค ภาคแรกเป็นการเกริ่นนำให้ทราบถึงธรรมชาติและโครงร่างทางวัฒนธรรมของธุรกิจที่ปรึกษาการเงิน หรือวาณิชธนกิจ ซึ่งเป็นรากเหง้าของที่มาแห่งยุคของการเล่นเกมทางตัวเลขกับงบการเงินเสียจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงอย่างมืออาชีพ
ภาคที่สอง คือความพยายามที่จะตอบคำถามท้ายภาคแรก เป็นเรื่องของธุรกิจที่จำกัดความช่ำชองเฉพาะบุคคลเสียจนกระทั่งคนนอกยากจะเข้าไปสู่วงจรได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องอุทิศหรือจ่ายต้นทุนอะไรบางอย่างที่แสนแพงให้
ภาคที่สาม เป็นกระบวนการฉ้อฉลที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติการให้คำปรึกษาทางการเงินซึ่งถือคติ "ทำทุกอย่างให้ถูกกฎหมาย และอย่าให้ถูกจับได้"
ภาคสุดท้าย เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและแนวโน้มของธุรกิจที่ปรึกษาการเงินในอนาคต
อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกว่า โลกทำไมจึงไม่โสภาเอาเสียเลย ก็ต้องหาหนังสืออีก 2 เล่มที่ใกล้เคียงกัน ชื่อ Inside the House of Money : Top Hedge Fund Traders on Profiting in the Global Markets เขียนโดย Steven Drobny และ The Accidental Investment Banker : Inside the Decade that Transformed Wall Street เขียนโดย Jonathan A. Knee มาอ่านเปรียบเทียบ เพื่อจะได้เข้าใจว่า ความดีและความเลวกับความมั่งคั่งนั้น จะมีจุดตัดที่ลงตัวได้ที่ไหนบ้าง
ใครที่พบแล้ว ช่วยบอกต่อๆ กันได้จะเป็นบุญใจแก่โลกอักโขทีเดียว
รายละเอียดในหนังสือ
Part 1 Introduction
๏ Chapter 1. The Trusted Adviser Takes a Fall ความยิ่งใหญ่ของธุรกิจวาณิชธนกิจอเมริกา นับแต่ยุคของเศรษฐีนักปล้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งแม้จะถูกมองด้วยความสงสัยและกังขาในความสุจริตของพฤติกรรมมาโดยตลอด แต่นับวันก็จะเติบโตขึ้น แต่ที่น่าประหลาดคือ ผลกำไรของธุรกิจนั้นจำกัดวงอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดยักษ์ไม่กี่รายเท่านั้น แม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไม่ให้มีการผูกขาดน้อยรายก็ตามที และที่สำคัญ เจ้าของธุรกิจนี้ต่างก็เป็นที่ชื่นชมของผู้มีอำนาจรัฐเสมอในฐานะคนชั่วที่จำเป็นต้องพึ่งพา
๏ Chapter 2. The Age of Deception พฤติกรรมฉาวของวาณิชธนกิจที่เกี่ยวกับตลาดหุ้นและตราสารหนี้ นับแต่การใช้ข้อมูลวงในซื้อขาย การครอบงำราคา การทำข้อตกลงที่ผิดกติกา การตีความระเบียบเพื่อหาประโยชน์ส่วนตน ความละโมบเอาแต่ได้ ผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อคติเลือกปฏิบัติต่อลูกค้า และการทำธุรกรรมใต้โต๊ะ ทำให้มีความพยายามที่จะทำความสะอาดธุรกิจนี้รอบแล้วรอบเล่า แต่ก็ยังคงมีคำถามเดิมซ้ำซาก 5 ข้อ ปรากฏให้เห็นต่อไปคือ 1) ทำไมจึงมียักษ์ใหญ่น้อยรายครอบงำตลาดต่อไป 2) ทำไมผลกำไรธุรกิจนี้สูงมากกว่าปกติ 3) ทำไมลูกค้าบริษัทจึงไม่ได้ประโยชน์มากนัก 4) ทำไมราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้จึงสูงกว่าพื้นฐานเสมอ 5) มีการฮั้วธุรกรรมกันมากน้อยแค่ไหน
Part 2 Is There a Cartel?
๏ Chapter 3. The Blessing of the Leviathans ความพยายามอธิบายที่มาที่ไปของการที่ธุรกิจวาณิชธนกิจมีขนาดที่ต่างกันมาก อยู่ที่ข้อเรียกร้องตามธรรมชาติของลูกค้าที่ต้องการคำปรึกษาการเงิน "ครบวงจร" เกี่ยวกับการระดมทุน บริหารทุน และแก้ปัญหาทุนเพื่อการลงทุนในอนาคต ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ตลาดมีการเฉลี่ยผลประโยชน์ระหว่างบริษัทต่างๆ อย่างทั่วถึง และมีคนใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากกว่าธุรกิจอื่นๆ เพราะมันเป็นเกมกินรวบผ่านความช่ำชองเฉพาะอย่าง ไม่ใช่กินแบ่งแบบเหมารวม ซึ่งทำให้รายใหม่เข้ามาในตลาดได้ยากมาก โดยไม่อาศัยรายเก่าซึ่งมีประสบการณ์ผ่านร้อนหนาวมาก่อนนำร่อง
๏ Chapter 4. Heads We Win มีความเข้าใจผิดเสมอมาว่าธุรกิจวาณิชธนกิจนั้น มีกำไรสูงกว่าปกติในกลุ่มการเงินเสมอ ความจริงแล้วก็ตกอยู่ใต้วงจรขึ้นลงเหมือนกัน โดยเฉพาะหลังจากยุคใหม่ในอเมริกานับแต่ ค.ศ.1975 เป็นต้นมา ซึ่งมีการแข่งขันรุนแรงในเรื่องค่าธรรมเนียมเสรีและวงจรธุรกิจที่หดสั้นลงจาก 7 ปีรอบ เป็น 3 ปีรอบ แต่เมื่อพิจารณาสถิติย้อนหลังในรอบ 30 ปี แล้วก็ถือว่าเป็นธุรกิจที่กำไรสูงสุดในโลกอยู่ดี ซึ่งเป็นภาพลวงตา เพราะจริงๆ แล้วธุรกิจที่ขาดทุนก็มีเยอะมาก
๏ Chapter 5. Tails You Lose บรรยากาศโลกาภิวัตน์ ทำให้วาณิชธนกิจสามารถทำธุรกรรมข้ามชาติสร้างรายได้มากขึ้น โดยการให้บริการแก่กองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคลทั้งหลายที่ต้องการข้ามชาติเก็งกำไรทั่วโลก และการระดมทุนข้ามชาติในตลาดหุ้นสำคัญๆ ของโลก รวมทั้งธุรกรรมผนวก-ควบรวมกิจการ และล่าสุด ตลาดตราสารอนุพันธ์ที่กำลังมาแรงสุดๆ
๏ Chapter 6. The Sound of Silence การเปิดเสรีตลาดหุ้นและตลาดทุนทั่วโลกมากขึ้น ทำให้การแข่งขันนำไปสู่สงครามรุนแรงที่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับกำไรที่เสื่อมค่าลง จนต้องมีการทบทวนว่า ธุรกรรมส่วนไหนบ้างที่ควรเป็นจุดแข็งเฉพาะบริษัท เพื่อจะใช้ประโยชน์จากตลาดเสรีได้ นับแต่การอันเดอร์ไรต์หุ้น การให้คำปรึกษาทางการเงิน และการทำดีลใต้โต๊ะ ซึ่งทำให้มีข้อสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการสมรู้ร่วมคิดในการแหกกติกาตลาดเสมอมา
Part 3 What Really Goes On
๏ Chapter 7. The Edge ความรู้ลึก-รอบด้าน และบริการอย่างบูรณาการผ่านสายสัมพันธ์แบบเครือข่าย คือกุญแจไขความลับของตลาดทุน และวาณิชธนกิจที่เป็นการยกระดับให้เหนือกว่าคำว่า การเก็งกำไรแบบนักพนัน ทั้งหมดนี้ผ่านกระบวนการสำคัญ คือ การจัดการความเสี่ยง ซึ่งวาณิชธนกิจจะต้องนำเสนอให้ลูกค้าพอใจอย่างถึงที่สุด หากต้องการได้ความน่าเชื่อถือตอบแทน
๏ Chapter 8. Voodoo Management การบริหารธุรกรรมให้กับลูกค้าในธุรกิจ ทำให้วาณิชธนกิจกลายเป็นผู้ให้บริการที่หาช่องทางที่ล่อแหลมต่อกติกาต่างๆ เพื่อสบช่องในการจัดการความเสี่ยง การพัฒนาสินค้าทางการเงินใหม่ๆ เพื่อระดมทุนและลดภาระหนี้ ตลอดจนลดต้นทุนการเงิน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ยืนยันให้เห็นว่า ความยิ่งใหญ่ของวาณิชธนกิจนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะบังเอิญ แต่ด้วยความสามารถแบบพ่อมดโดยแท้จริง
๏ Chapter 9. The Big Squeeze 3 กลยุทธ์ที่วาณิชธนกิจขนาดใหญ่สร้างขึ้นมาเพื่อทำให้คู่แข่งขันยากที่จะตามรอยเอาชนะได้ และเป็นการป้องกันตัวที่สำคัญสุดได้แก่ 1) สร้างโมเดลธุรกิจที่มีต้นทุนแพงมากหากต้องการเลียนแบบ 2) ทำให้คู่แข่งหลุดออกจากวงจรการแข่งขัน โดยตัดกำไรด้วยการจ้างพนักงานเก่งแพงลิ่วเสียจนคู่แข่งหมดกำลังใจ 3) ดูแลเอาใจใส่ซีอีโอของบริษัทรายใหญ่ๆ ที่พร้อมจะจ่ายเงินเป็นลูกค้า ทิ้งรายเล็กๆ เป็นเศษซากให้คู่แข่งบริการ
Part 4. Whatever Happened to the Invisible Hand?
๏ Chapter 10. Does in Matter? เปิดโปงผลสะเทือนจากพฤติกรรมทางลบของวาณิชธนกิจที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนซ้ำซากหลายประการ นับแต่ผลทางตรง การทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้น พฤติกรรมฉ้อฉลในบัญชีบริษัท การควบรวมกิจการที่สำเร็จในระยะสั้นแต่ทำให้บริษัทหลังควบรวมพังพินาศ การทำให้กองทุนรวมมีผลประกอบการต่ำกว่ามาตรฐาน และการโยกย้ายเงินทุนผิดเป้าหมายทางเศรษฐกิจมหภาค โดยมีผลทางอ้อมอื่นๆ อีก ล้วนมาจากความไม่โปร่งใสและความไม่รับผิดชอบที่เกิดจากฝีมือวาณิชธนกิจ ซึ่งขัดแย้งกับหลักการ "มือที่มองไม่เห็น" ของอาดัม สมิธ อย่างมีนัย
๏ Chapter 11. The Greed Merchants สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทั้งที่รู้ว่าโอกาสที่วาณิชธนกิจสามารถก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจการเงินโดยรวมได้ไม่ยากจากพฤติกรรม "เลี่ยงกติกา" ต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีลูกค้าเหนียวแน่น นั่นเป็นเพราะฝีมือของวาณิชธนกิจ สามารถสะท้อนความ ละโมบของคนอย่างซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ คณะกรรมการบริษัท ผู้ออกตราสารระดมทุน หน่วยงานรัฐที่ไม่โปร่งใส ผู้ควบคุมกติกาที่ฉ้อฉล และผู้จัดการกองทุนที่อยากมีผลงานดีกว่าปกติด้วยวิธีพิเศษ พร้อมกับสมอ้างด้วยวลีที่สวยหรู ซึ่งฉาบหน้าความไม่ชอบมาพากลเอาไว้
๏ Chapter 12. Here's to the Next Time ทางเลือกเพื่อที่จะหลุดพ้นจากวังวนของความชั่วร้ายที่ก่อขึ้นมาโดยวาณิชธนกิจ เช่น การแบ่งหน้าที่ธุรกิจให้คำปรึกษาออกจากธุรกิจการตรวจสอบ แบ่งธุรกิจที่ปรึกษาการเงินออกจากธุรกิจนายหน้าค้าหุ้น และปล่อยสินเชื่อ ซึ่งก็มีเสียงโต้แย้งว่า อาจจะเป็นการฉีดยาผิดขนานและรักษาผิดโรคได้
|
|
|
|