Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Chinese in America
ผู้เขียน: Iris Chang
ผู้จัดพิมพ์: Penguin
จำนวนหน้า: 496
ราคา: ฿615
buy this book

คนที่เกิดมาในครอบครัวที่บรรพชนเป็นผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย มักจะมีความรู้สึกเก็บกดเสมอมาว่า ต้องค้นหารากเหง้าของตนเองให้เจอ เพื่อเชื่อมโยงโลกของปัจจุบันเข้ากับอดีตให้ได้

เหตุผลเบื้องหลังจิตสำนึก "ค้นหารากเหง้า" ก็เพื่อชดเชยความแปลกแยกในจิตวิญญาณของตนเอง เรื่องนี้นักปรัชญายุโรปอย่างเฮเกล เคียเกการ์ด และมาร์กซ์ เรื่อยมาถึง โคล้ด เลวี่-สเตร๊าส มิเชล ฟูโกต์ และ ฌอง ปอล ซาตร์ เขียนเอาไว้ละเอียดยิบ

หนังสือเล่มนี้ก็มีเค้าโครงและเป้าหมายเช่นเดียวกัน

ผู้เขียน นักเขียนสตรีชาวอเมริกันเชื้อสายจีนที่ไม่มีพื้นทางด้านประวัติศาสตร์มาก่อน แต่ฝึกฝนด้วยตนเอง มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากกับหนังสือเรื่องราวของการรุกรานนานกิงของทหารญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา ชื่อ Rape of Nanking และทุ่มเทให้กับงานเขียนเล่มนี้อีกเล่มหนึ่งจนกลายเป็นงานที่ได้รับยกย่องอย่างมาก ก่อนที่เธอจะจบชีวิตลงเร็วเกินคาดด้วยการฆ่าตัวตายหลังจากมีอาการโรคประสาทผิดปกติ

หนังสือเกี่ยวกับคนจีนอพยพในอเมริกา หรือเรื่องราวของคนอเมริกันเชื้อสายจีน มีคนเขียนมาพอสมควรแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้ถือกันว่าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์มหภาคอย่างสมบูรณ์แบบเกี่ยวกับเรื่องนี้

ผู้เขียนบอกไว้ในคำนำถึงเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ต้องการที่จะบอกให้คนเข้าใจว่า คนอเมริกันเชื้อสายจีนนั้น มิใช่ "คนอื่น" แต่เป็นส่วนหนึ่ง เหมือนชนอเมริกันเชื้อสายอื่นๆ ที่มี รากเหง้าเป็นพวกอพยพเช่นกัน หรือ "แปะเอีย" มาก่อนทั้งนั้น ดังนั้น การถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะรูปร่างหน้าตาเป็นอเมริกันผิวเหลือง จึงไม่ถูกต้อง และไม่สมควร

วิธีคิดเช่นนี้เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง โดยไม่ปฏิเสธอคติส่วนตัวอย่างกล้าหาญไม่น้อย ทำให้หนังสือเล่มนี้ลดสภาพ "วิชาการ" ลงไป กลายเป็นการเล่าเรื่องที่มีชีวิตชีวาแทน

ภยาคติแบบเสรีนิยม และเสมอภาคนิยมของผู้เขียนพาผู้อ่านย้อนกลับไปสู่กระบวนการสืบค้นหารากเหง้าของคนอเมริกันเชื้อสายจีน ในฐานะ "คนใน" โดยเริ่มนับแต่การอพยพรุ่นแรกจนถึงปัจจุบันของคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ เพื่อไปต่อเติมความฝันแบบอเมริกันอย่างลองผิดลองถูก ทั้งประสบความสำเร็จ ล้มเหลว และ ฯลฯ อย่างครบรสชาติของชีวิต

สาระหลักของหนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า คนจีนที่หนีความแร้นแค้นของการปกครองยุคปลายราชวงศ์ชิง มาสู่อเมริกานั้น (ไม่นับพวกที่ไม่สมัครใจ แต่ถูกลักพาตัวจากโรงยาฝิ่นในหัวเมืองชายทะเลซึ่งมีเกินครึ่งทีเดียว) มีเป้าหมายนอกจากเพื่อแสวงหารายได้มาจุนเจือคนในบ้านเกิดผ่านขบวนการโพยก๊วนของนายหน้าแล้ว ยังมาช่วยให้ "ความฝันแบบอเมริกัน" เป็นจริงอีกด้วย นับแต่ยุคตื่นทองในภาคตะวันตกของอเมริกา เคลื่อนย้ายมาสู่ยุคของการสร้างทางรถไฟข้ามประเทศ และการเป็นแรงงานภาคเกษตรที่แข็งขัน

ความอ่อนด้อยเรื่องการสื่อสาร ความขยันอดทน และวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของแรงงานจีนยุคแรก กลายเป็นจุดเริ่มของไชน่าทาวน์ที่แข็งแกร่ง ผ่านขบวนการจัดตั้งเพื่อปกป้องตนเอง ผสมโรงกับวิธีจัดการแบบอั้งยี่ที่ผสมโรงตามมา กลายเป็นความโดดเด่นเมื่อชุมชนจีนเริ่มลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง

และเมื่อปรากฏการณ์เลิกทาส-สงครามกลาง เมืองเกิดขึ้นในอเมริกา แรงงานจีนได้กลายเป็นสินค้าที่เฟื่องฟูไปทั่วประเทศ ทำให้กระแสต่อต้านคนจีนที่ก่อตัวในภาคตะวันตก กลายเป็นความได้เปรียบของผู้ประกอบการในภาคตะวันออกและภาคใต้ของอเมริกา ชุมชนจีนกลายเป็นชุมชนที่กระจายไปทั่วประเทศ

พร้อมกันนั้น เมื่อหญิงและเด็กจีนในบ้านเกิดเมืองนอน เริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในอเมริกามากขึ้น การลงหลักปักฐานพร้อมกับเปลี่ยนฐานะจากแรงงานเป็นผู้ประกอบการก็กลายเป็นพลังใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าในเมืองขนาดกลางของอเมริกาอย่างกว้างขวาง

หนังสือเล่มนี้เล่าถึงกระบวนการที่ลูกจีนที่เกิดในอเมริกาได้กลายเป็นพลังสำคัญในสังคมอเมริกาทุกระดับได้อย่างไร และสงครามมหาเอเชียบูรพา ทำให้ฐานะของคนอเมริกันเชื้อสายจีนยกระดับขึ้นมาเสมอภาคได้อย่างไร และที่สำคัญ สงครามเย็นได้ส่งผลร้ายต่ออเมริกันเชื้อสายจีนจากภัยของลัทธิแมคคาร์ธีอย่างไร

ท้ายสุด เมื่อจีนเปิดประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกาหลังสงครามเย็นเปลี่ยนไป พร้อมกับคลื่นอพยพครั้งใหม่ของคนจีนไปยังอเมริกาเกิดขึ้นอีก การปรับความสัมพันธ์และท่าทีต่อกันของคนอเมริกันเชื้อสายจีนกับประเทศของบรรพชนจะเป็นไปอย่างไร เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่ง

น่าเสียดายที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พบโศกนาฏกรรมของชีวิตเร็วก่อนวัยอันสมควร ทำให้ไม่มีใครล่วงรู้ว่า หนังสือที่เกิดจากการค้นคว้าอย่างมุ่งมั่นแม้จะเปี่ยมด้วยอคติมากพอสมควร จะมีการเพิ่มพูนหรือต่อยอดกันอย่างไรต่อไป

แต่เพียงแค่นี้ก็สมควรกับคุณค่าของหนังสือแล้ว เพราะอย่างน้อยที่สุด การได้รู้ว่าตนเองนั้นมีรากเหง้าอย่างไร ก็ทำให้โลกไม่ว้าเหว่จนเกินไปมิใช่หรือ?

เกินคุ้มสำหรับการซื้อหาหนังสือเล่มนี้มาไว้อ่านประเทืองปัญญา โดยเฉพาะคนที่เป็นลูกหลานของจีนโพ้นทะเล ซึ่งไม่มีฐานะทางนิตินัยเป็นคนจีนอีกต่อไป แต่ยังต้องรับรู้และมีปฏิสัมพันธ์กับชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่กำลังเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจอย่างแรงยามนี้

หากต้องการลึกซึ้งทางอารมณ์มากยิ่งขึ้น หานวนิยายของเอมี ตัน เรื่อง Joy Luck Club และภาพยนตร์ซีรี่ส์ทางโทรทัศน์เรื่อง Kung Fu ว่าด้วยชีวิตของไกว เชง เคน มาเสพร่วมด้วย จะยิ่งได้รับอรรถรสเป็นทวีคูณเลยทีเดียว เพราะเนื้อหาสอดคล้องกันดีสำหรับคนที่แสวงหารากเหง้าเหมือนกัน

รายละเอียดในหนังสือ

Introduction ผู้เขียนกับแรงบันดาลใจให้เขียนถึงประวัติการอพยพและดำรงชีวิตของจีนในอเมริกานับแต่ระลอกแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเกิดจากการไหลบ่าของกระแสตื่นทองในแคลิฟอร์เนีย และการสร้างทางรถไฟข้ามประเทศ ที่ต้องเผชิญกับแรงบีบคั้นและโอกาสหลากหลาย จนกระทั่งถึงการเคลื่อนย้ายในยุคโลกาภิวัตน์ครั้งใหม่ ที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยที่ทรงพลังในอเมริกา พร้อมกับคำถามทางวัฒนธรรมที่ยังไม่มีคำตอบ

๏ Chapter One. The Old Colony : Imperial China in the Nineteenth Century ว่าด้วยการอพยพครั้งใหญ่เพื่อหนีความแร้นแค้นและอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมจีนยุคราชวงศ์ชิงครองอำนาจ และการไล่ล่าอาณานิคมของตะวันตกหลังสงครามฝิ่น ซึ่งเน้นหนักที่คนจากมณฑลกว่างตง และฟูเจี้ยน ที่ตามกลิ่นทองมายังอเมริกา ทั้งโดยสมัครใจ และโดยบังคับ พร้อมกับสร้างธรรมเนียมใหม่ แต่งงานและมีลูกก่อนเดินทาง โดยถือเป็นเงื่อนไขให้ส่งเงินกลับบ้าน

๏ Chapter Two. America : A New Hope พูดถึงสภาพสังคมอเมริกายุคกลางและปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเมืองส่วนใหญ่ของอเมริกายังเป็นเมืองขนาดเล็ก และคลื่นการอพยพไปทางตะวันตกกำลังไหลบ่ารุนแรง เพื่อหาที่ดิน และความมั่งคั่ง โดยกฎหมายนั้นให้อภิสิทธิ์กับคนขาวอย่างอิสระแต่ชนชาติอื่นนั้น ไม่อยู่ในฐานะต่อรองได้ ต้องเป็นเบี้ยล่างตลอด

๏ Chapter Three. "Never Fear, and You Will Be Lucky" : Journey and Arrival in San Francisco ว่าด้วยการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนเป็นกลุ่มก้อนครั้งแรกที่ซาน ฟรานซิสโก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของนักตื่นทองในภาคตะวันตกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภ ด้วยการมีอาชีพกุลี ที่ต้องตรากตรำอย่างแสนสาหัสในการหาเลี้ยงชีพ และหาเงินมาป้อนโรงยาฝิ่นของนายหน้าแรงงาน (เถ้าแก่) ที่มอมเมาอยู่ ท่ามกลางบรรยากาศของความอลหม่านของสังคมที่ยังไม่ลงตัว

๏ Chapter Four. Gold Rushers on Gold Mountain ว่าด้วยชีวิตของคนงานจีนที่ทำงานร่อนและขุดทองในเหมืองต่างๆ ทั่วแคลิฟอร์เนีย ด้วยชื่อเสียงว่า ขยัน ไม่เกะกะ ไม่เมามาย และไม่พูดมาก แต่ต้องเผชิญกับการขูดรีดภาษีและเอารัดเอาเปรียบสารพัดจากคนขาวทั้งที่เป็นเอกชน และเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่มีคนจีนไม่มากนักกลายเป็นเศรษฐีซึ่งเป็นแกนทำให้ชุมชนจีนแข็งแกร่งเป็นปึกแผ่นขึ้นมา

๏ Chapter Five. Building the Transcontinental Railroad การเติบโตของชุมชนเมืองในภาคตะวันตก ทำให้มีการพยายามสร้างทางรถไฟจากภาคตะวันออกของอเมริกาข้ามประเทศมายังตะวันตก ทำให้กุลีจีนที่พร้อมทำงานหนัก 6 วันพัก 1 วัน (เพื่อเล่นการพนันอันเป็นของโปรด) กลายเป็นที่ต้องการอย่างมหาศาล เพราะมักจะยอมทำงานหนักรับค่าแรงต่ำมากกว่าร่วมนัดหยุดงานเรียกร้องค่าแรงเพิ่มเหมือนคนงานผิวขาว และทำให้กระแสต่อต้านกุลีจีนของคนขาวเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่นั้นอย่างฝังราก จนกระทั่งคนงานจีนเริ่มเรียนรู้ที่จะนัดหยุดงานนับแต่ ค.ศ.1867 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้นายทุนอเมริกันตื่นกลัวเป็นครั้งแรก

๏ Chapter Six. Life on the Western Frontier ว่าด้วยความมั่งคั่งที่แรงงานจีนส่งไปหล่อเลี้ยงครอบครัวในบ้านเกิด มีการอพยพครอบครัวมาอยู่ด้วยกันในอเมริกาพร้อมกับการที่แรงงานอพยพจำต้องโยกย้ายจากกุลีก่อสร้าง กลายมาเป็นคนงานในไร่นา และประมงทั่วภาคตะวันตกที่เป็นกระดูกสันหลังสำคัญให้เกษตรกรรมอเมริกาภาคนี้แข็งแกร่งขึ้นมา โดยมีเศรษฐีใหม่เชื้อสายจีนเกิดขึ้นจากการเป็นนายหน้าจัดหางาน การค้า การทำโพยก๊วนจัดการเรื่องส่งเงินกลับบ้าน และ เปิดบ่อนการพนัน กลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของกลุ่มทุนผิวขาวโดยตรงมากขึ้น ที่สำคัญมาเฟียจีนก็เริ่มก่อตัวขึ้นมาในซานฟรานซิสโก ทำธุรกิจลักลอบพาโสเภณีจีนมายังซ่องในอเมริกา

๏ Chapter Seven. Spreading Across America การเลิกทาสและสงครามกลางเมืองในอเมริกาส่งผลให้มีการแก้ไขกฎหมายให้คนกลุ่มน้อยที่เกิดในอเมริกามีสิทธิเลือกตั้งได้ ทำให้ชาวจีนสัญชาติอเมริกันเคลื่อนย้ายถิ่นฐานทั่วอเมริกาอย่างสะดวก โดยเฉพาะในภาคใต้ และตะวันออก ซึ่งฟื้นตัวจากสงครามกำลังต้องการแรงงานจีนมหาศาลแทนที่การหายไปของแรงงานทาสนิโกร และมีกฎหมายที่ผ่อนปรนให้สิทธิทางกฎหมายมากกว่าภาคตะวันตก พร้อมกับที่คนจีนเริ่มรู้สึกว่าอเมริกาเป็นประเทศของตนเองมากขึ้น

๏ Chapter Eight. Rumbling on Hatred ความมั่งคั่งของคนจีน และความต้องการแรงงานจีนในเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกา ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านที่สั่งสมมากขึ้นในบรรดาคนขาวและเชื้อชาติอื่นๆ ต่อเนื่อง และในที่สุดก็กลายเป็นแพะรับบาปไปเมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำอีกครั้งหลัง ค.ศ.1870 เมื่อแรงงาน และชุมชนกลุ่มน้อยอื่นๆในภาคตะวันตกใช้ความรุนแรงกระทำต่อแรงงานจีน และพ่อค้าจีนอย่างไม่เป็นธรรมโดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐผิวขาว เกิดการอพยพสู่ตะวันออกของอเมริกาครั้งใหญ่ของคนจีน

๏ Chapter Nine. The Chinese Exclusion Act การออกกฎหมายห้ามการจ้างงานและห้ามการเข้าเมืองเพิ่มชาวจีนอพยพโดยรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งมีรากฐานจากความบ้าคลั่งทางชนชาติ ถือเป็นมาตรการเลวร้ายที่ส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อแรงงานจีนแผ่นดินเกิดที่มีจำนวนผู้อพยพเข้ามายังอเมริกาลดลงอย่างชัดเจน เพราะสอบไม่ผ่านเรื่องภาษา และอคติทางเชื้อชาติของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

๏ Chapter Ten. Work and Survival in the Early Twentieth Century การปรับตัวอย่างยากลำบากของคนจีนในอเมริกาต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ต้องเผชิญภาวะกดดันทางวัฒนธรรม ทั้งถูกรังเกียจจากคนขาว ไม่สามารถส่งเงินกลับบ้านเกิด และ ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเกิดที่กำลังวุ่นวายเพราะสงคราม กลางเมืองได้ ส่งผลให้คนจีนค้นพบทางเลือกใหม่ของชีวิต ประกอบธุรกิจร้านอาหารจีนรสชาติอเมริกัน หรืออาหารอเมริกันรสชาติจีนในเมืองขนาดกลางและเล็กทั่วอเมริกา กลายเป็นจุดเริ่มความมั่งคั่งครั้งสำคัญต่อมา รวมทั้งประกอบธุรกิจยาสมุนไพรและซักรีดสำหรับคนชั้นล่างผิวดำและขาวที่เติบโตเร็วมาก

๏ Chapter Eleven. A New Generation in Born คนจีนที่เกิดในอเมริกา โดยไม่สัมพันธ์กับเมืองแม่ ต่างค้นพบเส้นทางใหม่ของชีวิตในฐานะพลเมืองเต็มรูปอเมริกัน และต้องมี 2 วิถีชีวิตท่ามกลางสองวัฒนธรรมที่ขัดแย้งในตัวเอง ระหว่างที่โรงเรียน-ที่ทำงาน กับที่บ้าน แต่ด้วยความขยันและฉลาด ทำให้คนเหล่านี้ไต่บันไดความฝันแบบอเมริกันได้อย่างน่าทึ่ง

๏ Chapter Twelve. Chinese America During the Great Depression อเมริกันเชื้อสายจีนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งแรกน้อยกว่าคนทั่วไป และได้รับประโยชน์มหาศาลจากการมีโอกาสเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐอเมริกามากขึ้นจากโครงการนิวดีลของรุสเวลท์ และสมาคมจีนในหลายเมืองต่างกลายเป็นศูนย์กลางกระตุ้นโอกาสสร้างความมั่งคั่งครั้งใหม่จากเทศกาล "ตะวันออก" ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

๏ Chapter Thirteen. "The Most Important Historical Event of Our Times" : World War II สงครามโลกครั้งที่สองในเอเชีย และการรุกรานจีนของญี่ปุ่น ทำให้ชุมชนจีนในอเมริกาตระหนักถึงภาระหน้าที่ของตนเองในฐานะพลเมืองอเมริกันเต็มตัวอย่างแท้จริง นอกจากเข้าร่วมรบในสงครามแล้ว ยังถือว่านี่คือการช่วยบ้านเกิดบรรพบุรุษด้วย เนื่องจากมีศัตรูร่วมกัน ที่สำคัญทำให้ภาพลักษณ์ของคนจีนในอเมริกาสวยงามขึ้นชัดเจน

๏ Chapter Fourteen. "A Mass Inquisition" : The Cold War, the Chinese Civil War, and McCarthyism ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเหนือพรรคก๊กมินตั๋ง และสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้คนจีนในอเมริกาถูกมองด้วยสายตาไม่เป็นมิตรอีกครั้ง ปัญญาชนจีนในหน่วยงานรัฐจำนวนมากต้องตกงาน เพราะถูกสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์จากลัทธิแมคคาร์ธี คนจีนจำนวนมากต้องทิ้งย่านไชน่าทาวน์ ย้ายไปอยู่เงียบๆ ตามชานเมือง

๏ Chapter Fifteen. New Arrivals, New Lives : The Chaotic 1960s ความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ ทำให้จีนผลักดันพลเมืองให้อพยพออกนอกประเทศ และเริ่มต้นการอพยพครั้งใหม่ของแรงงานเถื่อนจากจีนไปยังสหรัฐฯ ผ่านทางฮ่องกง ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ในขณะที่สงครามเวียดนามก็ทำให้คนอเมริกันศึกษาเรื่องของจีนอย่างจริงจังและเปลี่ยนมุมมองที่เป็นอคติเสียใหม่โดยเฉพาะหลังจากการทูตปิงปองเริ่มต้นขึ้น

๏ Chapter Sixteen. The Taiwanese Americans โดยอาศัยการเป็นพันธมิตรระหว่างอเมริกากับไต้หวัน ผสมกับการรับรองรัฐบาลปักกิ่ง ทำให้ชาวไต้หวันจำนวนมากพากันย้ายถิ่นฐานไปอเมริกาและกลายเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จดีเยี่ยม ในยามที่เกิดการปฏิวัติทางวัฒนธรรมของอเมริกาผ่านพวกฮิปปี้

๏ Chapter Seventeen. The Bamboo Curtain Rises : Mailanders and Model Minorities การปฏิวัติทางวัฒนธรรม ในจีน และการผ่อนคลายของสงครามเย็น รวมทั้งข้อตกลงเติ้ง-เรแกน ค.ศ.1979 ทำให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มต้นการอพยพผิดกฎหมายไปยังอเมริกาครั้งใหม่หลังทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา และคนจีนในอเมริกาก็เริ่มต้นเข้ามาเป็นนักลงทุนในจีนเนื่องจากนโยบาย 4 ทันสมัย ที่เปิดกว้างชาวจีนโพ้นทะเลมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจอเมริกันเริ่มผันผวนมากขึ้นเพราะขาดดุลการค้าเรื้อรัง

๏ Chapter Eighteen. Decade of Fear : The 1990s สิ้นสุดยุคของสงครามเย็น แต่นโยบายต่างประเทศอเมริกาที่มองเห็นจีนเป็นศัตรูในอนาคต รวมทั้งกรณีสังหารหมู่ เทียน อัน เหมิน ในปักกิ่ง ค.ศ.1989 ทำให้ชุมชนจีนในอเมริกามีความขัดแย้งซับซ้อนมากขึ้น และต้องจัดความสัมพันธ์กันใหม่

๏ Chapter Nineteen. High Tech vs. Low Tech ความเฟื่องฟูของธุรกิจไฮเทคในอเมริกาทศวรรษ 1990 และการโยกย้ายฐานผลิตอุตสาหกรรมพื้นฐานต้องการค่าแรงถูกเข้าจีน ทำให้คนจีนที่เป็นปัญญาชนหลั่งไหลไปอเมริกา และแรงงานจีนในประเทศกลายเป็นเครือข่ายร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นเครือข่ายแยกจากกันได้ยาก แม้ว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของอเมริกาจะเหยียดเชื้อชาติอย่างมากก็ตาม

๏ Chapter Twenty. An Uncertain Future ว่าด้วยอคติทางเชื้อชาติที่คนอเมริกันเชื้อสายจีนยังคงได้รับการปฏิบัติต่อไป แม้ฐานะเท่าเทียมกันทางกฎหมายจะได้รับการรับรองอย่างแท้จริงในปัจจุบัน ทำให้ยังคงมีคำถามในมิติทางสังคมเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเหยียดเชื้อชาติตามมาให้ขบคิดกันต่อไป



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us