|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Matisse the Master
ผู้เขียน: Hilary Spurling
ผู้จัดพิมพ์: Penguin
จำนวนหน้า: 512
ราคา: ฿834
buy this book
|
|
|
|
หนังสือสำหรับชนชั้นกลาง ที่บังเอิญร่ำรวยขึ้นมา และชมชอบให้ใครเข้าใจว่าตนเองเข้าใจและชื่นชอบศิลปะ เพื่อจะได้ตระหนักว่า การเสพและผลิตงานศิลปะนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเงิน แต่เกิดขึ้นเพราะแรงบันดาลใจ และการถอดรหัสชีวิตกับจิตสำนึกของยุคสมัยที่ถูกต้อง
อังรี มาติสส์ ศิลปินผู้ก่อตั้งลัทธิโฟเวอ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังร่วมยุคกับปาโบล ปิกาสโซ่ เป็นหนึ่งตำนานของศิลปะวิจักษ์ยุคใหม่ที่ควรแก่การศึกษา และทำความเข้าใจ และที่น่าสนใจมากขึ้นก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่มีคนเขียนถึงชีวประวัติของเขาละเอียดรอบคอบ เพื่อหาว่าเบื้องหลังวิวัฒนาการของผลงานตลอดชีวิตของเขานั้น มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร
ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์นั้นไม่สามารถอยู่เหนือยุคสมัยของตนเองได้ แต่สามารถเอาชนะข้อจำกัดของตนเองได้หากมุ่งมั่น
ผู้เขียนแบ่งหนังสือชีวประวัติชุดนี้ออกเป็น 2 เล่ม เล่มแรกว่าด้วยชีวิตปฐมวัยของศิลปินนักวาดภาพ ส่วนเล่มสองนี้ เป็นชีวิตนับแต่การเริ่มต้นปฏิวัติสไตล์การวาดภาพของตนเองขึ้นมาอย่างโดดเด่นและพัฒนาการต่อเนื่องจนสิ้นอายุขัย ดังนั้น จึงไม่ต้องลงลึกไปดูหนังสือเล่มแรกเลยก็ไม่เสียอรรถรสแต่อย่างใด
สาระในหนังสือนี้ผสมปนเปไประหว่างการใช้ชีวิตส่วนตัวของมาติสส์ คู่กับการสร้างผลงานของเขาในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะต่างให้อิทธิพลแก่กันและกัน
ชีวิตของศิลปินที่ยิ่งใหญ่แต่ละคนนั้น เปรียบได้ดังเรื่องราวของวีรชนที่ด่างพร้อยทั้งหลาย ซึ่งมีทั้งจุดเด่นและด้อย แต่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ก็สามารถขุดคุ้ยทำออกมาได้ตามสูตรดียิ่ง อย่างน้อยที่สุดก็ได้ภาพที่ชัดเจนว่า เบื้องหลังนวัตกรรมของภาพเขียนหรืองานศิลปะที่ยิ่งใหญ่นั้น มาจากการเคี่ยวกรำทางความคิด อารมณ์และชีวิตปนเปกันอย่างหลากหลาย กว่าจะคั้นกลั่นและแปลงรูปออกมาเป็นงานที่ประทับใจโดดเด่นระดับโลกได้
สาระที่น่าสนใจก็คือ ความสำเร็จกะทันหันที่ทำให้ศิลปินระดับยาจกกลายเป็นเศรษฐีขึ้นมาอย่างรวดเร็วนั้น ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างมากมายอย่างมหาศาล และกลายเป็นภาระให้ต้องแบกไปตลอดชีวิต ซึ่งหากใครทนแรงเสียดทานไม่ไหว ก็อาจจะทำให้ผลงานเสื่อมทรุดลงได้ไม่ยาก
มาติสส์เองก็หนีไม่พ้นวงจรชีวิตดังกล่าว โชคดีอย่างยิ่งที่ความมุ่งมั่นของเขานั้น มีมากเกินกว่าจะหยุดได้ แต่ก็ทำให้คนในครอบครัวและเพื่อนฝูงเข้าใจผิดกันมากมายว่า เป็นคนแข็งกระด้าง อำนาจนิยม เอาแต่ใจตัวเอง และหลงในด้านมืดจากอัจฉริยภาพของตนเองเกินขนาด
ไม่เพียงพูดถึงการคลี่คลายของผลงานที่ก้าวหน้าไม่หยุดยั้งของศิลปินใหญ่ผู้สร้างลัทธิโฟเวอ แล้วต่อมาปฏิเสธมันหันเข้าหางานนามธรรมที่เรียกว่า สีเคลื่อนที่ได้ และท้ายสุดคืองานตัดกระดาษกับงานกระจกสีเท่านั้น ผู้เขียนยังเล่าถึงบรรยากาศแวดล้อมที่ทำให้ศิลปินต้องปรับเปลี่ยนท่าทีและสไตล์อย่างสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งแรก การปฏิวัติรัสเซีย สงครามโลกครั้งที่สอง และการล้มป่วย ซึ่งช่วยให้มองเห็นภาพและเข้าใจว่า ศิลปินที่ยิ่งใหญ่นั้น อย่างไรเสียก็ไม่อาจจะอยู่เหนือกาลเวลาได้
นอกจากนั้น สิ่งที่โดดเด่นของหนังสือก็คือการแสดงภาพความสัมพันธ์ในเชิงแข่งขันทางผลงานในฐานะศัตรู-มิตรภาพส่วนตัว ระหว่าง 2 ศิลปินระดับโลกของปารีส คือ มาติสส์ กับปาโบล ปิกาสโซ่ เจ้าของลัทธิคิวบิสม์ ที่มีนิสัยส่วนตัวคล้ายคลึงกันที่เอาเป็นเอาตาย แต่ก็ยอมรับซึ่งกันและกัน
เสน่ห์ที่โดดเด่นของหนังสืออีกอย่างหนึ่งคือการแสดงพัฒนาการทางความคิดและทัศนคติของมาติสส์ผ่านทางจดหมายในรูปโปสต์การ์ดที่มาติสส์ส่งถึงภรรยาและครอบครัว ซึ่งมีทั้งตัวอักษรและรูปภาพที่สะท้อนถึงจิตสำนึกแต่ละช่วงได้อย่างละเอียด ช่วยให้ผู้อ่านมองเห็นภาพว่า ความสำเร็จของศิลปินระดับโลกที่กลายเป็นตำนานนี้ ไม่ได้เกิดมาเพราะโชคช่วยหรือบังเอิญแต่อย่างใด
การเปิดเผยความกังวลลึกในจิตใจของมาติสส์ที่กลัวว่า โลกจะลืมชื่อตนเองเมื่อตายไปแล้ว เป็นเรื่องน่าขบขันสำหรับคนนอก แต่สำหรับคนที่มุ่งมั่นสร้างผลงานเพื่อหวังเป็น "ตำนาน" นั้น เรื่องนี้ ไม่ถือว่าไร้สาระแต่อย่างใดเลย
ยิ่งไปกว่านั้น การได้รับรู้ว่า ที่มาของคำอธิบายว่าเหตุที่ภาพเขียน ประติมากรรม และงานอื่นๆ ของมาติสส์ มักจะเป็นภาพของผู้คนที่ดูกระวนกระวายกับความทุกข์ทรมานทั้งวันและคืน ก็เพราะเขาเชื่อว่าเป็นเพราะกิเลสตัณหาที่รุมเร้าอยู่ภายในตัวนั่นเอง และความสุขที่เกิดขึ้นจากสีสันหรือลายประดับรอบตัวนั้น เป็นแค่มายาชั่วขณะที่ปลอบประโลมเอาไว้เท่านั้น ก็ยิ่งทำให้เราสามารถเข้าถึงพลังที่ซ่อนอยู่ในภาพ 2 มิติที่เต็มไปด้วยสีสันแผดร้อนของเขาได้ดื่มด่ำยิ่งขึ้น
ใครที่คิดว่าตัวเองยังไม่รู้เรื่องศิลปะจริงจัง ควรหาซื้อมาอ่านก่อนที่จะเสียเงินซื้องานศิลป์รสนิยมดาดๆ ของศิลปินขี้โม้ในเมืองไทยมาให้รกบ้านและเสียค่าโง่ เพราะจะได้รู้ว่าควรเลือกเสพอะไรบ้าง? และศิลปินแท้กับเทียมนั้น ต่างกันอย่างไร?
รายละเอียดในหนังสือ
๏ Chapter One. 1909 : Paris, Cassis and Cavaliere จุดเริ่มต้นผกผันของผลงานวาดรูปของศิลปินหนุ่มที่ผิดหวังกลับมาจากการแสดงภาพเขียนที่ล้มเหลวในเบอร์ลิน และได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนของพอล เซซานน์ ศิลปินโพสท์-อิมเพรสชั่นนิสม์รุ่นก่อนหน้าว่า การเสนอสาระที่ลึกซึ้งกว่าตาเห็นผ่านโครงสร้างภาพเขียนที่ง่ายๆ แต่ด้วยฝีแปรงที่รุนแรง และสีที่โดดเด่น เป็นทางออกใหม่ของศิลปะวิจักษ์ ที่ทำให้ศิลปะยุคโพสท์-อิมเพรสชั่นนิสม์ล้าหลังในทันที พร้อมกับเริ่มต้นสร้างโรงเรียนสอนวาดภาพด้วยทฤษฎีใหม่ของตนเอง พร้อมกับสร้างมิตรภาพกับวาสิลี คานดินสกี้ นักวาดภาพแอ็บสแตร็กชาวรัสเซียผู้ก้าวหน้า ชื่อเสียงมาติสส์กระฉ่อนอย่างทันตา แต่ก็ช้าเกินไป เพราะเขาถูกกลบด้วยการปฏิวัติของกลุ่มคิวบิสม์ที่นำโดยปาโบล ปิกาสโซ่
๏ Chapter Two. 1910 : Issy-les-Moulineaux, Collioure and Spain การค้นหาแนวทางตอบโต้ความเฟื่องฟูของมาติสส์อย่างดื้อรั้นท่ามกลางปัญหาการเงินที่สุมรุม ทำให้เขาค้นพบแนวทางใหม่ของการปฏิวัติศิลปะวิจักษ์ที่เป็นของตนเอง โดยยืมเอารูปแบบของศิลปะตะวันออกทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และอาหรับในสเปน มาดัดแปลงใช้เพื่อรองรับแนวคิดแบบนามธรรมผ่านรูปแบบและสีสันที่เจิดจ้าตามทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ตะวันตก เป็นการเริ่มต้นของลัทธิโฟเวออันโด่งดังต่อมา
๏ Chapter Three. 1911 : Seville, Paris, Collioure and Moscow แม้จะเริ่มมีชื่อเสียง แต่ชีวิตในสเปนของมาติสส์ที่ขะมักเขม้นสร้างงานใหม่ซึ่งพยายามส่งความหมายที่ก้ำกึ่งของปรัชญาของสังคมร่วมสมัยอย่างมุ่งมั่น ก็ลำบากสาหัส แม้ว่าในเชิงสร้างสรรค์แล้ว มันคือยุคทองของการคิดค้นใหม่ๆ ทางศิลปะซึ่งถือว่าล้ำยุคที่มีเพื่อนร่วมคิดอย่างดูปี่ และเดอแรงมาร่วมวงด้วย
๏ Chapter Four. 1912-1913 : Tangier and Paris ชื่อเสียงที่โด่งดังอย่างมากในรัสเซียก่อนสงครามโลกครั้งแรก ทำให้มาติสส์เริ่มเป็นที่จับตา และมีรายได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น ทำให้เขาเปิดโลกให้กว้างขึ้นด้วยการเดินทางไปหาสีสันใหม่จากทะเลทรายในแทนเจียร์ โดยการผสมผสานท่วงท่าบุคคลจากงานเขียนทางศาสนาในรัสเซียผสมกับสีสันเจิดจ้าเร้าอารมณ์ในบรรยากาศตะวันออก และลวดลายของอาราเบสก์แบบอาหรับเข้าด้วยกัน ซึ่งทำให้งานของเขาแตกต่างจากยุคเก่าของเดอลาครัวซ์
๏ Chapter Five. 1913-1915 : Paris and Tangier ความกระหายงานศิลปะวิจักษ์จากยุโรปที่เฟื่องฟูในอเมริกา ทำให้ภาพเขียนมาติสส์มีราคาพุ่ง ทำให้ฐานะเขาร่ำรวยขึ้นมาอย่างมาก หลุดพ้นจากความยากจน แม้จะไม่รวยเท่าภาพแบบคิวบิสม์ที่เป็นที่ต้องการรุนแรง ยิ่งปิกาสโซ่เอ่ยปากออกมาว่า มาติสส์คือคู่แข่งที่น่ากลัวทางศิลปะของเขา ก็ยิ่งทำให้ราคาของงานมาติสส์แพงขึ้นเท่านั้น แม้คนทั้งคู่เป็นศัตรูเฉพาะในงานเท่านั้น ก็มีผลให้มาติสส์ต้องปรับตัวเปลี่ยนสไตล์ของผลงานอีกครั้งหนึ่งให้ใกล้เคียงกับงานแบบคิวบิสม์มากขึ้น
๏ Chapter Six. 1916-1918 : Paris and Nice ความพยายามทดลองเพื่อสร้างแนวทางใหม่ของศิลปะช่วงสงครามโลกครั้งแรก ทำให้มาติสส์โดดเดี่ยวตัวเองจากคนรอบข้างมากขึ้น ผลงานช่วงนี้ หลีกหนีลัทธิโฟเวอมากขึ้นอย่างชัดเจนหันมาเน้นองค์ประกอบที่สมดุล เน้นความต่อเนื่องของท่วงทำนอง-จังหวะ เพิ่มการควบคุมมิให้แสดงอารมณ์เกินเหตุ ทำให้งานของเขาลึกซึ้งมากขึ้น และตีความยากขึ้น ในขณะที่ชีวิตส่วนตัวในครอบครัวกำลังแตกร้าวเพราะนิสัยใช้อำนาจข่มขู่ของเขารุนแรงมากขึ้นกับสมาชิกในบ้าน
๏ Chapter Seven. 1919-1922 : Nice, Paris, London and Etretat ภาพเขียนยุคหลังสงครามโลกครั้งแรกของมาติสส์เปลี่ยนไปเป็นแนวสัญลักษณ์ เพื่อแสดงออกซึ่งความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตชีวามากขึ้นด้วยการประดับประดาลวดลายในภาพเขียนอย่างได้จังหวะ ซึ่งเขาเรียกว่า การเคลื่อนตัวของสีสัน สะท้อนความสุขุมลุ่มลึกทางปรัชญาที่ไตร่ตรองมาอย่างเป็นระบบโดยไม่ยึดติดกับข้อจำกัดของทฤษฎีศิลปะโลกตะวันตก ทำให้เขามีเครื่องมือแสดงออกมากขึ้น
๏ Chapter Eight. 1923-1928 : Nice and Paris ชื่อเสียงที่โด่งดังไปทั่ว 2 ทวีป (ยุโรปและอเมริกา) ทำให้มาติสส์พ้นจากภาระทางการเงิน สามารถสร้างงานได้อย่างต่อเนื่อง แต่เขาก็หันเหความสนใจใหม่ไปสู่การค้นคว้าผลงานจากการตัดกระดาษ เพื่อหาองค์ประกอบของงานศิลปะที่แปลกจากเดิม และมีลักษณะนามธรรมมากยิ่งขึ้น แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยและวิจารณ์อย่างมาก แต่เขาก็ไม่สนใจเสียงวิจารณ์อีกแล้ว โลกใหม่ของเขาเริ่มขึ้น จนลืมไปว่าการปฏิวัติศิลปะครั้งใหม่ของลัทธิเซอร์เรียลลิสม์กำลังเริ่มต้นขึ้น และทำให้งานของมาติสส์เริ่มพ้นสมัย
๏ Chapter Nine. 1929-1933 : Nice, Paris, America and Tahiti แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ตลกของชาร์ลี แชปลิน ที่นำเสนออย่างเรียบง่ายแต่ล้ำลึกทางปัญญา ทำให้เขาตัดสินใจปรับเปลี่ยนสไตล์การผลิตงานอีกครั้ง โดยหันความสนใจไปสู่ชีวิตในโลก ร่วมสมัย เช่น แข่งเรือ ขับรถ ท่องเที่ยว เล่นดนตรี และเต้นรำ พร้อมกับเริ่มวาดภาพน้อยลงเพราะปัญหาสุขภาพ แต่หันมาผลิตงานศิลปะรูปอื่นๆ แทน
๏ Chapter Ten. 1933-1939 : Nice and Paris ชีวิตผกผันยามชราของศิลปินเอก เมื่อครอบครัวเริ่มแตกร้าวด้วยความเห็นไม่ลงรอยกันและเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ทำให้ผลงานออกมาย่ำแย่ลงอย่างชัดเจน และมีเนื้อหาย้อนหลังกลับไปสู่ยุคของนางไม้และเทพารักษ์ ซึ่งพ้นสมัยไปแล้ว แต่เขาก็หลบหนีจากชีวิตที่เขาเรียกว่า "คุก" ด้วยการทุ่มเทตัวเองลงไปในการทำงานและการรณรงค์ทางการเมืองต่อต้านฟาสซิสม์ที่กำลังเฟื่องฟูก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
๏ Chapter Eleven. 1939-1945 : Ciboure, St-Gaudens and Vence ชีวิตและงานช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อภรรยาหนีออกจากชีวิต และต้องลี้ภัยหนีสงครามออกจากปารีส เพื่ออยู่ใต้การยึดครองของนาซีและอิตาลี แล้วล้มป่วยลง เมื่อหายแล้วเขาก็กลับมาทำงานเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเขียนงานง่ายๆ ก่อนจะล้มปวยอีกครั้ง ที่ทำให้เขาเดินไม่ได้อีก
๏ Chapter Twelve. 1945-1954 : Vence, Paris and Nice ชีวิตหลังสงคราม ที่แปลกใหม่ เพราะมาติสส์คิดค้นรูปแบบของงานใหม่ ทิ้งการวาดภาพด้วยพู่กันทั้งหมด หันมาตัดกระดาษเป็นภาพแทนด้วยสีสันและลวดลายที่ง่ายๆ และมีขนาดใหญ่โดยเน้นสาระเรื่องการประดับตกแต่งเป็นสำคัญ ถือเป็นการสร้างรูปแบบใหม่ของศิลปะอีกครั้ง ที่ต่อมากลายเป็นงานกระจกสีที่ยิ่งใหญ่อันเป็นผลงานทิ้งท้ายก่อนเสียชีวิต
|
|
|
|