|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Wall Street
ผู้เขียน: Steve Fraser
ผู้จัดพิมพ์: Faber & Faber
จำนวนหน้า: 632
ราคา: ฿940
buy this book
|
|
|
|
มุมมองเกี่ยวกับวอลล์สตรีท ในฐานะศูนย์กลางของตลาดเงินตลาดทุนอเมริกาและของโลก ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มุมมองว่าด้วยฐานะของวัฒนธรรมในหนังสือเล่มนี้ กลับไม่มีใครพูดถึงมาก่อน จึงถือว่าเป็นการบุกเบิกที่สำคัญทีเดียว
หนังสือเล่มนี้ยืนยันว่า นักเก็งกำไร นักเล่นหุ้น และตลาดทุน แม้จะเกิดขึ้นโดยแรงขับดับจากความละโมบของผู้คนที่เกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นองคาพยพทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ และมีฐานะในการร่วมขับเคลื่อนสังคมโดยรวม สอดคล้องกับที่นักสังคมวิทยากลุ่มโครงสร้างนิยมพยายามพูดถึงนั่นเอง
การสืบค้นของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาในฐานะที่เป็นสถาบันทางวัฒนธรรมของวอลล์สตรีท ไม่ใช่เรื่องน่าผ่านเลยแม้แต่น้อย เพราะข้อมูลที่ค้นหามานำเสนอนี้ทำให้สามารถมองเห็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา มากกว่าเรื่องอำนาจ ประชาธิปไตย หรือรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อันเป็นเปลือกนอกของชีวิตผู้คนที่เกี่ยวข้อง
ภาพของวอลล์สตรีทที่โยงเข้าและควบคู่ไปกับการสร้างเศรษฐกิจใหม่ของอเมริกา นับแต่ยุคประกาศเอกราชจากอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทำให้เรามองเห็นว่า โครงสร้างของตลาดทุนและเศรษฐกิจระดับมหภาคนั้น เชื่อมโยง และขัดแย้งกันอย่างเข้มข้นเพียงใด
การต่อสู้ระหว่างกลุ่มนักเก็งกำไรค่าเงิน กับอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน การขับเคี่ยวกันของประธานาธิบดีแอนดรู แจ็คสันในการต้านอำนาจผูกขาดของกลุ่มธนาคารเลือดดัตช์ที่ครอบงำประเทศ และการปฏิรูปต่อต้านการผูกขาดในยุคของรุสเวลท์ให้ภาพพลวัตของเศรษฐกิจการเมืองอเมริกาได้ดี
ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมกระฎุมพีของชนชั้นนักการเงินในนิวยอร์กหลายยุค นับแต่ศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาถึงยุคของแวนเดอร์บิลท์ ถึงเจ.พี.มอร์แกน ถึงยุคเจย์ แกตสบี้ และยุคของหุ้นกู้ขยะ เมื่อไม่นานมานี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า มีที่มาและที่ไปอย่างไรบ้าง
นอกจากนั้น การให้ภาพความผันผวนของวอลล์สตรีททั้งขาขึ้นหลายรอบ และหายนะหลายรอบ ก็เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า ก่อให้เกิดการไหลเวียนของกลุ่มนักลงทุนอย่างไรบ้าง
ข้อมูลที่ไม่เคยมีใครกล่าวถึงอย่างหนึ่งก็คือ การที่วอลล์สตรีทได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองและความสำเร็จของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ในช่วงสงครามเย็นก็เป็นมุมมองอีกมุมหนึ่งที่เคยมีคนผ่านเลยไป
ข้อมูลข้างต้นที่ว่ามานี้ ถือว่า ผู้เขียนได้ทำหน้าที่ทะลวงลึกเข้าไปถึงแก่นแท้ของพลวัตทางประวัติศาสตร์ที่ถึงเลือดเนื้อ และมีสีสันอย่างยิ่ง เหมาะสำหรับคนที่สนใจความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่เชื่อมโยงเรื่องราวของเศรษฐกิจ-วัฒนธรรม-การเมือง เข้าด้วยกัน ผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ด้วยมุมมองอย่างบูรณาการอย่างยิ่ง
อ่านหนังสือเล่มนี้ ควบคู่กับหนังสือคลาสสิกอีกเล่มหนึ่งของ Charles P. Kindleberger ชื่อ Manias, Panics, and Crashes : A History of Financial Crisis ก็จะทำให้เข้าใจภาพของตลาดทุนยิ่งใหญ่สุดของโลกอย่างดีเยี่ยมและลึกซึ้งไม่แพ้ใครอีกต่อไป
พร้อมกับได้เข้าใจมากขึ้นว่า เวลาพูดถึงตลาดหุ้น ตลาดเงิน และเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้น มีใครบ้างที่พูดด้วยความรู้แท้ หรือพูดมั่วๆ ไปอย่างนั้นเอง
เกินคุ้มสำหรับคนที่อยากรู้เรื่องตลาดทุน และคนที่อยากเข้าใจว่า ทุนนิยมนั้น เขาขับเคลื่อนกันอย่างไร ไม่ใช่แค่ยอมรับระบบทุนนิยม แต่พานหลงรักแนวคิดแบบอนาธิปไตยอย่างพวก NGO's บางกลุ่มที่พยายามปฏิเสธไม่ยอมรับว่าตนเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ "ผู้ประกอบการทางสังคม" ที่ไม่ใช่ศาสดาหรือนักพรตผู้แสวงหาอมตภาพทางคุณค่า
รายละเอียดในหนังสือเล่มนี้
Introduction ความสำคัญของตลาดทุนวอลล์สตรีทในฐานะสถาบันทางสังคม และวัฒนธรรมอเมริกัน ที่นอกเหนือไปจากบทบาทในการระดมทุน และเก็งกำไรตามกลไกเศรษฐกิจทุนนิยม
Part 1 Buscaneers and Confidence Men on the Financial Reform
1. Revolution and Counter-Revolution การต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างอเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน รมว.คลังสหรัฐฯ คนแรก กับกลุ่มนักเก็งกำไรละโมบในนิวยอร์กที่สร้างกลุ่มทุนวอลล์สตรีท นำโดย วิลเลียม ดูเออร์ ที่นำมาซึ่งความพยายามครั้งแรกในการจัดระเบียบตลาดเก็งกำไรของอเมริกายุคหลังประกาศเอกราช ค.ศ.1767 ก่อนที่เศรษฐกิจจะล้มละลายเพราะการเก็งกำไร ซึ่งยังผลให้แฮมิลตัน และเจฟเฟอร์สัน กลายเป็นศัตรูที่ยาวนาน
2. Monsters, Aristocrats, and Confidence Men ฐานะของวอลล์สตรีท ซึ่งถูกบันทึกไว้โดยงานเขียนที่โดดเด่นมากมายในระหว่างการต่อสู้ที่รุนแรงของประธานาธิบดีวิลเลียม แจ็คสัน เพื่อปลดอำนาจการครอบงำของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เชื้อสายดัตช์-อเมริกันละโมบที่คิดจะผูกขาดเศรษฐกิจอเมริกา ด้วยการตั้งธนาคารกลางแห่งชาติขึ้นมากำกับดูแล
3. From Confidence Man to Colossus บทบาทอันโดดเด่นของคอร์เนเลียส แวนเดอร์ บิลท์ เจ้าพ่อวอลล์สตรีทคนแรกของอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่เป็นต้นแบบวัฒนธรรม "ความฝันแบบอเมริกัน" ที่คนจากรากหญ้าสามารถกลายเป็นมหาเศรษฐีนักปล้น (robber barons) ในชั่ว อายุคนเดียวจากการเก็งกำไรท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินและตลาดหุ้น และการคิดค้นตราสารการเงินใหม่ๆ เพื่อนำไปสร้างกิจการในช่วงก่อสร้างประเทศ
4. Wall Street in Coventry ความเฟื่องฟูของมหาเศรษฐีนักปล้น (robber barons) จำนวนหนึ่งที่ฉวยโอกาสจากโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาลในการรวมประเทศหลังสงครามกลางเมืองอเมริกา ที่ทำให้เกิดความผันผวนในวอลล์สตรีท และตามมาด้วยการสร้างกติกาที่เข้มงวดมากขึ้นในการกำกับตลาดทุนจนเป็นรากฐานของยุคใหม่
Part 2 The Imperial Age
5. The Engine Room of Corporate Capitalism บทบาทอันโดดเด่นของ เจ.พี.มอร์แกน เจ้าของวาณิชธนกิจที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกาให้กลายเป็นทุนระดับโลก พร้อมกับสร้างวัฒนธรรม free-for-all (มือใครยาวสาวได้สาวเอา) ในขณะที่แสนยานุภาพของอเมริกา เริ่มมีบทบาทขยายตัวเข้าร่วมวงไพบูลย์ในเวทีโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
6. The Great Satan ความเฟื่องฟูของแนวคิดปฏิรูปสังคมปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้กลุ่มทุนวอลล์สตรีท (ที่เริ่มมีกลุ่มยิวอพยพจากยุโรป เข้ามายึดกุมมากขึ้น) เริ่มถูกควบคุมความละโมบให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอำนาจการครอบงำกลไกเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกากำลังเปลี่ยนจากมาตรฐานเงิน มาเป็นมาตรฐานทองคำ และมีการตื่นทองขนานใหญ่ในภาคตะวันตก
7. Wall Street and the Decline of Western Civilization กระแสต่อต้านยิวและกลุ่มทุนยิวจากยุโรป รวมทั้งแนวคิดมองโลกในแง่ร้าย เกี่ยวกับผลเสียของทุนนิยมผูกขาดแพร่สะพัดส่งผลต่อวอลล์สตรีทอย่างลึกซึ้งด้วย เปิดทางให้แนวคิดเสรีนิยม แพร่กระจายเพื่อสร้างระบบทุนและตลาดทุนที่ให้คนทั่วไป เข้ามามีส่วนร่วมในความมั่งคั่งมากขึ้น
8. Wall Street is Dead! Long Live Wall Street! ชนชั้นอภิเศรษฐีทำให้นิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางอเมริกัน และนักการเงินในวอลล์สตรีทคือต้นแบบของการสร้างตัวเองของคนหนุ่มสาว โดยอาศัยความช่ำชองในการบริหารทุน และเป็นวีรชนในภาพลักษณ์ใหม่ของสังคม
9. Other People's Money การปฏิรูปวอลล์สตรีท (หรือปรากฏการณ์รองเท้าขาว) อีกครั้งของประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รุสเวลท์ ที่ต้องการสร้างกฎหมายต่อต้านการผูกขาดธุรกิจของกลุ่มทุนวอลล์สตรีทโดยตรง นำไปสู่การแตกกระจายของทุนเก่า และเปิดกว้างให้ทุนใหม่เข้ามีส่วนร่วมในการสร้างความมั่งคั่งใหม่
10. War and Peace on Wall Street บทบาทและสถานะของวอลล์สตรีท ในการระดมทุนเพื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งแรก ก่อนจะเข้าสู่ยุคทองของฟองสบู่ครั้งใหญ่
11. A Season in Utopia ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมรถยนต์ และน้ำมัน ทำให้วอลล์สตรีทกลายเป็นแหล่งสร้างความมั่งคั่งทางลัดอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับพัฒนาการของธุรกิจหลักทรัพย์ วาณิชธนกิจ ที่ปรึกษาการเงิน และธนาคารเพื่อการลงทุน เสมือนหนึ่งเครื่องมือปั่นเงินมหัศจรรย์จนกระทั่งไม่มีใครเชื่อว่า จะเกิดการพังทลายของตลาดหุ้นในเวลาต่อมา
Part 3 The Age of Ignominy
12. Who's Afraid of the Big Bad Wolf? หายนะจากฟองสบู่แตกที่วอลล์สตรีทหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ตามมาด้วยเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำลายความเชื่อมั่นในอนาคตของคนอเมริกันทั่วประเทศ ทำให้กระบวนทัศน์เกี่ยวกับความมั่งคั่ง และการสร้างเศรษฐกิจของคนอเมริกันเปลี่ยนไปอย่างถึงราก อิทธิพลของกลุ่มรองเท้าขาว จบสิ้นอย่างกะทันหัน ในขณะที่รัฐบาลเริ่มสร้างความหวังใหม่ขึ้นมา พร้อมกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
13. Evicted from the Temple การฟื้นฟูวอลล์สตรีทขึ้นมาใหม่ ภายใต้กรอบคิดของเคนส์ นักเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษ หลังจากที่ข้อเสนอจำนวนมากในอเมริกาถูกปฏิเสธ มีการสร้างกติกาตลาดทุนขึ้นมาใหม่ด้วยกฎหมายหลายฉบับ สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับตลาดทุน พร้อมกับที่แฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ กำลังนำนโยบาย นิว ดีล มาใช้ฟื้นฟูประเทศในระดับมหภาค
14. The Long Goodbye การลดบทบาทของกลุ่มนักเก็งกำไรรุ่นเก่า และการเข้ามาใหม่ของกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีเครื่องมือในตลาดทุนใหม่ๆ มากกว่าเดิม ทำให้วอลล์สตรีทกลับมาเฟื่องฟูครั้งใหม่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 ที่เรียกว่าช่วง Go-Go Years ในขณะที่ถูกสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของระบบทุนนิยมโลกในห้วงเวลาสงครามเย็นขึ้นถึงจุดสุดยอด
15. The Return of the Repressed ตลาดวอลล์สตรีทพังทลายอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 ในช่วงเวลาสงครามเวียดนามขึ้นสู่จุดสูงสุด เพราะรัฐบาลอเมริกันตัดสินใจฉีกข้อตกลงเบรตัน วูด ด้วยการปล่อยค่าดอลลาร์ลอยตัว ทำให้เกิดความผันผวนครั้งสำคัญ หมดสิ้นยุคทองอีกครั้ง และนำไปสู่การระดมทุนในรูปตราสารหนี้ขยะ (junk-bond) จนระบาดไปทั่ว
16. Shareholder Nation การเปิดเสรีให้บริษัทหลักทรัพย์ และกองทุนรวมสามารถเปิดสาขาได้ทั่วประเทศ ทำให้คนอเมริกันค่อนประเทศ กลายเป็นนักลงทุนที่แข็งขันในวอลล์สตรีท และส่งผลให้ตลาดนี้ ทรงอิทธิพลมากขึ้น พร้อมกับการทะยานขึ้นของดัชนีดาวโจนส์ยาวนานในยุคของคลินตัน จนเสมือนหนึ่งอเมริกาได้กลายเป็นประเทศบรรษัทที่ทุกคนถือหุ้นอยู่ร่วมด้วย พร้อมกับ "คุณค่าการตลาด" กลายเป็นวัฒนธรรมครอบงำสังคม แทนที่ "คุณค่าของอภิชน" ที่เคยครอบงำชนชั้นกลางมายาวนาน
|
|
|
|