Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Decline of the West (Abridged Edition)
ผู้เขียน: Oswald Spengler
ผู้จัดพิมพ์: Vintage Books
จำนวนหน้า: 415
ราคา: ฿701
buy this book

หนังสือเล่มนี้ หากนับจากเริ่มต้นเขียนแล้ว ก็ถือว่าเก่าแก่นับร้อยปีแล้ว แต่เมื่อถูกถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์แบบมองโลกในแง่ร้าย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ยุคอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงถือเป็นหนังสือที่ทันสมัยอยู่เสมอ

ออสวัลด์ สเปงเกลอร์ นักเขียนเยอรมันผู้นี้เขียนหนังสือเล่มเดียวแล้วก็เสียชีวิตไป แต่งานเขียนอันลึกซึ้งเล่มนี้ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อนักคิดต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านเทคโนโลยี และนักคิดอนาธิปไตยทั้งหลายในโลก

แถมชื่อหนังสือเล่มนี้ก็กลายเป็นคำพูดที่คนชอบนำไปอ้างต่อกันนักหนาว่า อารยธรรมของประเทศในโลกตะวันตกกำลังจะล่มสลาย โดยเฉพาะบรรดานักคิดในเอเชียที่พยายามนำไปอ้างเพื่อสนองความเชื่อส่วนตัว

ความจริงแล้ว หากอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงจังจะเห็นได้ว่า สเปงเกลอร์ไม่ได้ระบุชัดเลยว่า อารยธรรมตะวันตก (หมายถึงยุโรปตะวันตก ไม่ใช่ตะวันตกทั้งหมด) จะล่มสลายแต่อย่างใด เขาย้ำแค่ว่า การสร้างอารยธรรมบนพื้นฐานของความรู้ที่ปฏิเสธศาสนานั้น กำลังเป็นการฆ่าตัวตายทีละน้อยของคนที่คลั่งไคล้วิทยาศาสตร์ แบบเดียวกันกับตัวละครเรื่อง เฟ้าสต์ ของเกอเธ่ เคยเผชิญมาแล้วนั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้ เขาให้เหตุผลชัดว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น แท้ที่จริงแล้วจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากรากฐานทางศาสนา แม้โดยความเชื่อพื้นฐานแล้ว ศรัทธาทางศาสนาจะประกาศโดยเปิดเผย เป็นปฏิปักษ์กับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างถึงราก

สเปงเกลอร์อ้างถึงเฮล์มโฮลท์ที่ว่า เป้าหมายสุดท้ายของวิทยาศาสตร์ คือการค้นหาความเคลื่อนไหวที่ตอกย้ำการเปลี่ยนแปลงของจักรวาล และพลังขับเคลื่อน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วยกระบวนวิธีที่พิสูจน์ได้ ซึ่งการเริ่มต้นค้นหาดังกล่าว จะต้องตั้งบนสมมุติฐานที่โยงถึงกระบวนคิดที่ชัดเจน ซึ่งหนีไม่พ้นจินตนาการเกี่ยวกับศาสนาหรือความเชื่อที่แน่นอนในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะวิชาบางอย่าง เช่น ฟิสิกส์ หรือเคมี ซึ่งต้องการความรู้เชิงนามธรรม ที่มากกว่าประสาทสัมผัสปกติ

นั่นหมายความว่า สเปงเกลอร์นั้นปฏิเสธความก้าวหน้าแบบกลไกที่ระบุว่า ความรู้นั้น สามารถพัฒนายกระดับเป็นเส้นตรงได้ แต่เขาย้ำว่า ความรู้นั้นต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อนและวกวนมากกว่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นความรู้ที่ขาดฐานรากรองรับ และนำไปสู่ความขัดแย้งในตัวเอง ที่ท้ายสุดก็จะกลายเป็นความรู้ที่ไร้เป้าหมาย และไร้ราก

แน่นอนว่า ถึงแม้คำอธิบายต่างๆ ในหนังสือจะรอบคอบ แต่คำทำนายต่ออนาคตของประวัติศาสตร์ ที่สเปงเกลอร์กล่าวเอาไว้นั้น มีข้อผิดพลาดไม่น้อย แต่โดยภาพรวมแล้ว ถือว่ายังคงน่าทึ่งเกี่ยวกับกระบวนการหาความรู้ และทัศนะต่ออนาคตของเขาชนิดที่ยากจะปฏิเสธได้

โดยเฉพาะการที่เขายืนยันว่า ยุโรปตะวันตกจะหมดความสามารถในการครอบงำโลก ได้กลายเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับเลยว่า นับแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่อเมริกาได้กลายมาเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ของโลกในปัจจุบัน

ที่แม่นยำมากกว่าแม่นยำ หนีไม่พ้นคำทำนายที่ว่า คนจะหันกลับมานับถือศาสนาครั้งที่สองอีกครั้ง (บทที่ 16) ซึ่งปรากฏการณ์นี้ กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อศาสนาหรือลัทธิความเชื่อ นิวเอจ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ความเชื่อปฏิเสธศาสนาอย่างมาร์กซิสม์ และสังคมนิยมทั้งหลาย กลับหมดแรงเอาดื้อๆ เมื่อเผชิญกับการท้าทาย

การได้อ่านหนังสือของสเปงเกลอร์ ในยามที่กระแสโลกาภิวัตน์กำลังมาแรง และคนกำลังตั้งคำถามว่า ชาติเล็กจะถูกครอบงำจากภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ ถือเป็นการทบทวนทางปัญญาที่พึงกระทำอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ไม่หลงผิด

อย่างน้อยการได้ทราบว่า ที่เขาระบุว่าตะวันตกกำลังเสื่อม (ไม่ใช่ล่มสลาย) นั้น ไม่ได้หมายถึงโลกตะวันตกทั้งหมด แต่หมายถึงบางส่วนเท่านั้นเอง ก็เป็นการเตือนให้เราทราบว่า ความเสื่อมของยุโรปตะวันตกที่เขียนไว้นั้น ไม่ได้หมายถึง ความรุ่งเรืองของตะวันออก (เอเชีย) แต่อย่างใด หากว่า ตะวันออกไม่สามารถสร้างภูมิปัญญาที่คุ้มกันตัวเองได้แข็งแกร่งเพียงพอ

หนังสือของสเปงเกลอร์เล่มนี้ เปรียบได้กับ "ขิงแก่" อย่างแท้จริง ถึงแม้ข้อมูลบางอย่างจะดูเก่าไปสักหน่อย แต่ก็ยังหานักคิดรุ่นใหม่ๆ ทาบไม่ได้เลย

รายละเอียดในหนังสือเล่มนี้

1. Introduction ความหมายของประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศักยภาพของปัจเจกบุคคล เพื่อสืบค้นว่า ชะตากรรมของวัฒนธรรมตะวันตกที่มีรากมาตั้งแต่อียิปต์และกรีก จะเป็นอย่างไรในอนาคต

2. The Meaning of Numbers ว่าด้วยรากฐานของอารยธรรมมนุษย์ เริ่มแต่การคิดค้นวิชาคณิตศาสตร์ขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการคำนวณความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และจินตนาการ ซึ่งไปไกลกว่าประสาทสัมผัส

3. The Problem of World-History ว่าด้วยวัฒนธรรมในฐานะองคาพยพของสังคมมนุษย์ ที่เชื่อมโยงเข้ากับเงื่อนไขของเวลา ผ่านปรากฏการณ์ต่างๆ พร้อมกับการตอบคำถามที่ว่า สามารถจะสร้างศาสตร์ที่คาดเดาประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้หรือไม่ว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะความจริงนั้นเป็นมากกว่าปรากฏการณ์

4. Makrokosmos : The Symbolism of the World-Picture and the Space-Problem ว่าด้วยการที่มนุษย์ยุคเริ่มแรกสร้างและตีความสัญลักษณ์ทางธรรมชาติออกมาเป็นสังคมและอารยธรรมที่กำหนดจิตสำนึก

5. Makrokosmos : Apollinian, Faustian, and Magian Soul ว่าด้วยงานสถาปัตยกรรมที่โยงใยเข้ากับความเชื่อเรื่องศักดิ์สิทธิ์และองคาพยพทางวัฒนธรรมซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นมาเป็นกรอบพฤติกรรมให้ตัวเอง

6. Music and Plastic : The Arts of Form ว่าด้วยศิลปะในฐานะสัญลักษณ์ของระเบียบทางความคิดชั้นสูงที่กำหนดเป็นรูปแบบการดำรงชีวิต

7. Music and Plastic : Act and Portrait ว่าด้วยการที่มนุษย์พยายามสร้างภาพเสมือนจริงของตนเองออกมาอย่างหลายหลากในแต่ละห้วงเวลา เพื่อค้นหาความสุดยอดของมนุษย์ จนกระทั่งมาถึงปลายสุดของเส้นทางนวัตกรรมทางศิลปะ

8. Soul-Image and Life-Feeling : On the Form of the Soul ภาพลักษณ์ของจิตวิญญาณในฐานะมายาคติที่รับบทบาทแทนโลกของมนุษย์ และบทบาทของละครหรือการแสดงทำหน้าที่อธิบายเชิงสัญลักษณ์ของมนุษย์ในการสร้างสัมพันธ์กับอำนาจ

9. Soul-Image and Life-Feeling : Buddhism, Stoicism, Socialism ว่าด้วยกระบวนการสร้างจริยธรรมเฉพาะท้องถิ่นตามที่กำหนดโดยสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณ ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงสมัยใหม่ กระทั่งลัทธิที่ประกาศไม่นับถือศาสนาอย่างสังคมนิยมก็หนีไม่พ้น

10. Faustian and Apollinian Nature-Knowledge วิทยาการทันสมัยทุกชนิด วางอยู่บนรากฐานของศาสนา พร้อมด้วยกรณีศึกษาการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ เช่น ทฤษฎีอะตอม การประกาศปฏิเสธศาสนา ย่อมหมายถึงการทำลายตัวเองของความรู้ และทำให้วิทยาการว่างเปล่า

11. Origin and Landscape : The Cosmic and the Microcosm การอธิบายเชิงเปรียบเทียบให้เห็นโครงสร้างของเซลล์พืช เทียบกับโครงสร้างทางจิตวิญญาณและกระบวนทัศน์ของมนุษย์ในเรื่องจักรวาล

12. Origin and Landscape : The Group of the Higher Cultures ว่าด้วยการอธิบายประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์และนักคิดแต่ละยุคสมัย ภายใต้กระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงนั้นมีได้ยากเพราะถูกครอบงำไว้ด้วยวัตถุประสงค์ และอคติแห่งยุคสมัย

13. City and Peoples จิตวิญญาณของมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาคคือ ภาคเมืองใหญ่ที่ปกครอง-ครอบงำกับเมืองบริวารที่ถูกปกครอง ได้สร้างภาษาที่แตกต่างกันระหว่าง "มาตรฐาน" กับ "ท้องถิ่น" ขึ้นมา เพื่อยืนยันความแตกต่าง และกลายเป็นรูปแบบและอัตลักษณ์เฉพาะขึ้นมา

14. Problems of the Arabian Culture : Historic Psudomophoses ว่าด้วยความฝันเทียมที่พวกยิว-อาหรับสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนมีศาสนาคริสต์และอิสลาม และกลายเป็นรากฐานของความเชื่อที่ศาสนารับเอามา

15. Problems of the Arabian Culture : The Magian Soul ว่าด้วยปรัชญาทวินิคมที่แบ่งสาระของจักรวาลเป็นขาวกับดำชัดเจน ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งนำไปสู่การหักล้างกันอย่างสุดขั้ว เพราะเป้าหมายของศาสนาหรือลัทธิ มุ่งสู่ความเชื่อบริสุทธิ์มากเกินขนาด

16. Problems of the Arabian Culture : Pythagorus, Mohammed, Crompwell ศาสนาหรือความเชื่อที่เน้นความสำคัญของการอุทิศตัวในฐานะคุณธรรมสูงสุด ทำให้คนถอยห่างออกจากความมีเหตุมีผลได้อย่างชัดเจน ตามกรณีศึกษาของหลายศาสนา

17. The State : The Problem of the Estates ปัญหาความสัมพันธ์และการแบ่งงานทำ ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันเชิงอำนาจในสังคมได้อย่างลึกซึ้ง แปลงรูปออกมาเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัว และรัฐ ผ่านกระบวนการศึกษาและเรียนรู้ทางสังคม

18. State and History รัฐที่สามารถแปลงวัฒนธรรมให้กลายเป็นอารยธรรม มักจะกำหนดกติกาที่ระบุเอาไว้เพื่อรองรับการใช้อำนาจของผู้ที่ได้เปรียบในสังคม ซึ่งยากจะ ระบุได้ชัดเจนว่า กติกาใดจะถือว่าดีและเหมาะสมที่สุด และระหว่างจารีตกับทฤษฎี อย่างไหนควรจะครอบงำ รวมทั้งประชาธิปไตยซึ่งมีไว้รองรับผลประโยชน์ของชนชั้นกลาง

19. Philosophy of Politics ว่าด้วยบทบาทที่แตกต่างกันในทางการเมืองของผู้ปกครองรัฐ ทฤษฎีการเมือง และ ชะตากรรมของประชาธิปไตย

20. The Form-World of Economy Life : Money ว่าด้วยบทบาทของเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและ การเมือง กรอบคิดว่าด้วยสินค้าและเงิน เงินกับการทำงาน

21. The Form-World of Economy Life : The Machine ว่าด้วยบทบาทของเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อภูมิปัญญา และกรอบวิธีคิดของผู้คนในแต่ละยุค ซึ่งสะท้อนว่า เสรีภาพที่ว่างเปล่าโดยปราศจากพันธะไม่มีทางเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะเหตุว่าเราไม่ได้รับเสรีภาพเพื่อเลือกกระทำโน่นกระทำนี่ แต่มีเสรีภาพเพื่อเลือกกระทำในสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ หรือไม่กระทำเลย



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us