Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Gods of Management
ผู้เขียน: Charles Handy
ผู้จัดพิมพ์: Arrow Books
จำนวนหน้า: 268
ราคา: ฿528
buy this book

ชาร์ลส แฮนดี้ นักคิดทางด้านการบริหารจัดการธุรกิจร่วมสมัยชาวไอริช มีชื่อเสียงโด่งดังมากในยุโรป จากหนังสือชื่อดัง The Age of Unreason พร้อมกับทฤษฎี "กบต้ม" อันลือเลื่องของเขา และหลังจากนั้นก็ผลิตงานออกมาสม่ำเสมอ ไม่แพ้นักเขียนทางด้านนี้ในอเมริกา

ประวัติส่วนตัวจากประสบการณ์อันโชกโชนในฐานะนักคิดเชิงบริหารจัดการของบริษัทน้ำมันระดับโลกยาวนานและ แนวคิดกันแปลกใหม่อยู่เสมอ ทำให้แฮนดี้ได้รับความสนใจไม่เคยขาด

งานเขียนส่วนใหญ่ของแฮนดี้ มีลักษณะ "อนุรักษนิยม" แบบคนโลกเก่า และปีเตอร์ ดรักเกอร์ ตรงที่ นำเสนอแนวคิดในลักษณะอรรถาธิบาย มากกว่า การนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณรวมทั้งการถอดรหัสด้วยคณิตศาสตร์มากมายแบบที่นักคิดร่วมสมัย

แฮนดี้ไม่เคยนำเสนอ "แบบจำลองใหม่" เพื่อสร้างองค์กรแห่งอนาคต แต่เขาต้องการกระตุ้นเตือนให้ผู้อ่านให้มองเห็นประเด็น "เส้นผมบังภูเขา" ทั้งหลายแหล่ เนื่องจากมองไม่เห็นความจำเป็นว่าการทำธุรกิจนั้น ไม่ต้อง "คิดซับซ้อน" มากเกินขนาด เพราะว่า ขุมทรัพย์ที่แท้จริงนั้น บางครั้งอยู่ที่การหยิบฉวยเรื่องที่ถูกมองข้ามไปจากคนอื่นๆ ให้เป็นประโยชน์

ไม่มีความจำเป็นต้องขี่ช้างเพื่อจับตั๊กแตนแต่อย่างใดเลย

วิธีการ "ทดลองนำเสนอ" เช่นนี้ อาจจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แฮนดี้ไม่โด่งดังเป็นพลุแตกเหมือนกับคนอย่างไมเคิล พอร์ตเตอร์ หรือใครต่อใครจากฝรั่งอเมริกา แต่สำหรับคนที่เป็นแฟนประจำของแฮนดี้แล้ว ต้องยอมรับว่า ไอเดียของเขา ไม่เคยจบสิ้น และไม่เคยวนเวียนในเขาวงกต แต่ก้าวหน้าและล้ำหน้าไปเสมอ

เล่มนี้ก็เช่นกัน แฮนดี้มาแปลกด้วยการเข้าสู่บรรยากาศอันเป็นแนวโน้มใหม่ของยุค "นิว เอจ" หรือ "การกลับมาของศาสนาครั้งที่สอง" ที่หนุ่มสาวทั่วโลกยุค "หลังมาร์กซ" กำลังชื่นชมกันอยู่ ด้วยการหยิบเอาวิธีสร้างวัฒนธรรมองค์กรแนวใหม่ที่อิงเข้ากับหลักการของศาสนาในยุคเก่า

แฮนดี้หยิบเอาเทพปกรณัมของกรีกโบราณ 4 องค์ คือ ซุส (ZeusX เทพเหนือเทพ ผู้สร้างกฎแต่อยู่เหนือกฎ อพอลโล (Apollo) เทพแห่งความชาญฉลาด อเธเน่ (Athena) เทพีแห่งสงครามและการต่อสู้ และไดโอนีซัส (Dionysus) เทพแห่งพิธีกรรม และความรื่นรมย์ เอามาเปรียบเทียบให้เห็นว่า วิธีการบริหารธุรกิจและองค์กรนั้น ก็มีบุคลิกเฉกเช่นกับเทพ-เทพีทั้ง 4 องค์นั่นเอง และไม่สามารถเรียกว่าวิธีการแบบใดจะดีกว่า แต่ขึ้นกับความเหมาะสมของสถานการณ์และเวลา

กุญแจสำคัญของการนำเอาเทพทั้ง 4 เข้ามาเทียบกับ 4 แนวทางขององค์กรธุรกิจร่วมสมัย อยู่ที่การสร้างเอกภาพบนพื้นฐานการยอมรับความแตกต่างของปัจเจกชนที่มีเป้าหมายและวิธีการทำงานแตกต่างกันไป เพื่อมุ่งสร้าง "เป้าหมายร่วม"

แฮนดี้เน้นว่า วัฒนธรรมองค์กรนั้น ไม่สามารถสร้างขึ้นมาด้วยการบังคับได้ แต่จะต้องเกิดจากความสมัครใจ เพื่อเกิดแรงกระตุ้นให้สมาชิกองค์กรหรือพนักงาน เกิดความกระหายอยากที่จะมีส่วนเข้าร่วม โดยหวังว่า จะสามารถทำให้ตนเองบรรลุเป้าหมายส่วนตัวเข้าไปด้วยได้

เขาไม่ได้ปฏิเสธความขัดแย้งของปัจเจกในองค์กร แต่กลับให้ยอมรับการดำรงอยู่ของมัน และทำความเข้าใจเพื่อที่จะสามารถสร้างพลังขึ้นมาได้

ยกตัวอย่างเช่น องค์กรแบบซุส ซึ่งเป็นองค์กรที่ขึ้นตรงต่ออำนาจของผู้นำมากเป็นพิเศษ แม้บางครั้งจะไหวโอนและไม่ค่อยมีเหตุผลมากนัก แต่ก็เหมาะสำหรับองค์กรเริ่มต้นที่ต้องการสร้างพลังร่วมโดยศรัทธามากกว่าโครงสร้างแบ่งงานกันชัดเจน แต่เมื่อองค์กรเติบโตขึ้น มันก็ใช้การไม่ได้

ในทางตรงกันข้าม องค์กรที่มีการจัดโครงสร้างและบทบาทของคนชัดเจน แม้จะมีผลดีในระยะวางรากฐาน แต่เมื่อองค์กรมีอายุมากขึ้น ความขัดแย้ง และปัญหา "อาณาจักรส่วนตัว" จะทำลายพลังสร้างสรรค์ลงไป จนต้องหาทางสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบใหม่ที่มีอิสระและยืดหยุ่นกว่า เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค โดยภาคแรก เน้นเพื่อให้เปรียบเทียบเห็นภาพองค์กรสมัยใหม่ด้วยวิธีการของเทพ-เทพีทั้ง 4 เพื่อเกิดจินตนาการใหม่ๆ ในขณะที่ภาคสองจะเน้นให้เห็นความจำเป็นของการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในหลายแง่มุม

การเปลี่ยนแปลงหลังจากองค์กรเริ่มตั้งมั่นได้แล้วเพื่อหลบหนีจากแรงกดดัน 3 ประการคือ 1) การสูญเสียความรู้สึกร่วมในชุมชน 2) ความจำเป็นในการสร้างแรงขับแห่งชัยชนะใหม่ 3) ความจำเป็นในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองใหม่ๆ ทั้งขององค์กรและของปัจเจก ถือเป็นเป้าหมายว่า ต้องกระตุ้นให้เกิดขึ้นก่อนที่จะถูกความเฉื่อยเนือยเข้ามาแทนที่

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การพยายามร้อยรัดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่ขัดแย้งกัน 3 ระดับคือ องค์กรธุรกิจ ปัจเจกบุคคล และสังคมระดับมหภาค พร้อมกับนำเสนอทางเลือกใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

เหมาะสำหรับผู้บริหารที่มีประสบการณ์สูง และผ่านการศึกษาแนวทางการบริหารใหม่ๆ มาแล้วมากมาย แต่ต้องการผ่อนคลายกับแรงกระตุ้นทางความคิดที่อาจจะหลงลืมไป เพื่อกลับมาสร้างสรรค์ครั้งใหม่

อ่านช้าๆ แล้วเดินหรือนั่งคิดทบทวนเนื้อหาในหนังสือไปเรื่อยๆ ประกายไอเดียร้อยล้าน พันล้าน อาจจะเกิดขึ้นมาด้วยปัญญาญาณไม่ยากนัก

ราคาไม่แพงเลย สำหรับคนที่เชื่อว่า นวัตกรรมทางความคิด ไม่ใช่เรื่องยากที่จะแสวงหา แต่อยู่ใกล้ตัวนี่เอง

รายละเอียดในหนังสือ
Introduction
ผู้เขียนเสนอเจตนาว่า การนำเอาเทพและเทพีของกรีกมานำเสนอเทียมกับองค์กรธุรกิจร่วมสมัย ก็เพื่อแสดงว่าแนวทางการจัดการองค์กรนั้นมีหลายวิธี และขึ้นกับความเหมาะสมของเวลาและสถานการณ์ ไม่ควรยึดติดตายตัวกับกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง

Part One : The Theory of Cultural Propriety

Chapter 1 The Four Gods of Management เปรียบเทียบวิธีการบริหารของเทพและเทพี 4 องค์คือ ซุส (เทพเหนือเทพ เจ้าของอำนาจและผู้คุมกฎที่อยู่เหนือกฎ) อพอลโล (เทพแห่งปัญญา และความสามารถ) อะเธเน่ (เทพีแห่งสงครามและการต่อสู้) ไดโอนิซัส (เทพแห่งพิธีกรรม และความรื่นรมย์) เข้ากับวิธีการจัดการวัฒนธรรมองค์กรธุรกิจ ที่เทียบได้กับการสร้างองค์กร การกำหนดบทบาทของสมาชิก การกำหนดความภารกิจ และการกำหนดเวทีเพื่อขยายบทบาทของปัจเจกในการมีส่วนร่วม

Chapter 2 The Gods at Work วัฒนธรรมองค์กรแบบอพอลโล หรือการกำหนดบทบาทที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการสูญเปล่าของทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ และเสริมประสิทธิภาพให้สูงสุด แต่ การปรับเข้ากับวัฒนธรรมแบบอื่นที่เสริมเข้ามาอย่างมีสมดุล จะทำให้การทำงานราบรื่นมากขึ้น โดยผ่าน 3 กระบวนการคือ คิด-ทำงาน สร้างอิทธิพล-เปลี่ยนแปลง และสร้างแรงจูงใจ-ให้รางวัล ซึ่งมีความแตกต่างกัน

Chapter 3 The Gods in Balance เทพและเทพีแต่ละองค์ (หรือวิธีบริหารแต่ละแบบ) ก็มีบุคลิกภาพและวิธีการต่างกัน การถ่วงดุลเทพ-เทพีให้เหมาะสม เป็นศิลปะที่ต้องผ่านกระบวนการทดสอบ และการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมต่อเนื่อง โดยผ่านแรงขับ และทางเลือกที่ผสมผสาน ภายใต้กรอบสถานการณ์และเวลา เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ สร้างภาษาร่วมขึ้นมาในองค์กรที่เข้าใจกันทั่วถึงและชัดเจน เพราะวัฒนธรรมองค์กร เป็นเรื่องที่ไม่สามารถสร้างโดยใช้บังคับได้ ต้องสร้างจากความกระหายอยาก

Chapter 4 The Gods in Their Settings ท่าทีของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกต่อเทพ-เทพี แตกต่างกันไป โดยใช้ต้นแบบที่ต่างกันชัดคือ อเมริกาและญี่ปุ่น การทำความเข้าใจรายละเอียดของอุปนิสัยพื้นฐานของมนุษย์ที่เป็นสมาชิกในองค์กร อยู่ที่การใช้เวลาค้นคว้าเกี่ยวกับประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ "เครือข่ายสังคม" ที่มีองค์ประกอบหลักคือ 1) ท่าทีต่ออำนาจในความสัมพันธ์ 2) ท่าทีต่อความเสี่ยงและความปลอดภัย 3) ท่าทีต่อความเป็นส่วนตัว 4) ท่าทีต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพศ

Part Two : The Apollonian Crisis

Chapter 5 The Dilemma of Apollo ว่าด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ผสมผสนาความแตกต่างกันของสมาชิกให้เกิดพลังขับเคลื่อน โดยผ่านการประนีประนอม เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์โดยสมัครใจที่ก่อให้เกิดงานหรือผลิตผล และก่อให้เกิดแรงต่อต้านเป้าหมายรวมน้อยที่สุด หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า "ความเชื่อมั่นครั้งใหม่" ขึ้นมา

Chapter 6 Reactions ว่าด้วยการสร้างวแรงถ่วงดุล เพื่อให้ประโยชน์ขององค์กรโดยรวม และประโยชน์ของสมาชิกองค์กรเดินไปในทิศทางเดียวกัน แม้ว่าจะรักษาความแตกต่างในความเห็นและการกระทำเอาไว้โดยยึดถือหลัก 1) องค์กรคือเครื่องมือแห่งประสิทธิภาพ 2) การทำงานให้องค์กร ไม่มีภาระ แต่เป็นอภิสิทธิ์ 3) บรรยากาศประชาธิปไตยในองค์กรช่วยสร้างชุมชนเสรีและมีประสิทธิผลพร้อมกัน ซึ่งหากทำได้ตามนี้ จะทำให้ต้นทุนของการเติบโตต่ำลงอย่างชัดเจน

Chapter 7 The Gods in New Order ว่าด้วยการจัดระเบียบใหม่หลังจากองค์กรวางรากฐานของการทำงานเสร็จแล้ว เพื่อจัดการกับความขัดแย้งที่มองไม่เห็น เนื่องจากการต่อสู้เพื่อรักษาหลังการส่วนตัวของปัจเจกที่เป็นสมาชิก ด้วยขั้นการรื้อเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่เพื่อสนองตอบความต้องการของปัจเจกมากขึ้น สร้างองค์กรแบบมืออาชีพที่มีอิสระ และมีความผูกพันโดยสมัครใจ เสมือนหนึ่งไม่มีการจัดการจากข้างบนขององค์กร แต่ก็ไม่ปฏิเสธภาวะความเป็นผู้นำของบุคคลบางคน

Chapter 8 The Consequences กติกาและบรรยากาศใหม่ของการแข่งขันในโลกธุรกิจ ทำให้องค์กรในอนาคตจะอยู่บนรากฐาน 3 ข้อคือ 1) การลดจำนวนลงของพนักงานเต็มเวลาในองค์กร 2) รูปแบบความเป็นเจ้าขององค์กรธุรกิจแบบใหม่ 3) กระบวนทัศน์ใหม่ในการทำงาน การแข่งขัน และความสัมพันธ์ในองค์กร ซึ่งนอกจากสร้างโอกาสใหม่แล้ว ยังสร้างโจทย์ใหม่ๆ ในเรื่องวิถีชีวิต การศึกษา และการปกป้องตัวเอง



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us