Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Third Reich in Power
ผู้เขียน: Richard J. Evans
ผู้จัดพิมพ์: Penguin
จำนวนหน้า: 941
ราคา: ฿668
buy this book

หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ออกมาใหม่ๆ ในยุคปัจจุบัน มีภารกิจ 2 ด้านที่เลี่ยงไม่พ้น คือ 1) นำเสนอเรื่องที่ยังไม่มีใครรู้ หรือ ยังไม่มีใครเอามาเปิดเผยนำเสนอออกมา ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะก่อให้เกิดมุมมองใหม่หรือไม่ 2) ถอดรหัสหรือสร้างมุมมองใหม่ขึ้นมาจากข้อมูลเดิมที่มีอยู่

หนังสือเล่มนี้พยายามทำทั้ง 2 เรื่อง คือ เสนอข้อมูลใหม่ประเภท untold stories กับสร้างมุมมองใหม่ แต่ดูเหมือนด้านแรกจะโดดเด่นกว่าด้านที่สอง เพราะว่าด้วยมุมมองใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กลายเป็นวีรชนขึ้นมาได้ ยังไงเสียก็ต้องเป็นผู้ร้ายวันยังค่ำ

เพียงแต่ข้อมูลที่นำเสนอในลักษณะที่เรียกว่า inside out (มองจากภายในออกมาข้างนอก) ในเรื่องของการสร้างองค์กรและพิธีกรรมของลัทธินาซีออกมาเพื่อครอบงำสังคมเยอรมันยุคอาณาจักรไรท์ที่สามนั้น ถือว่า ได้ช่วยมองเห็นภาพว่า ปิศาจร้ายเผด็จการขวาจัดได้ถูกสร้างขึ้นมากันอย่างไร

เหมาะกับยุคสมัยที่คนกำลังตั้งคำถามกับทฤษฎีเกมที่เรียกว่า dictator's game ซึ่งนักการเมืองขวาจัดเริ่มนำมาใช้ครองอำนาจโดยอาศัยความบกพร่องของกระบวนการเลือกตั้งในประเทศทั่วโลกกันอยู่พอดี

หนังสือเล่มนี้มองจากมุมของการวางแผนอย่างเป็นระบบของการสร้างโครงข่ายอำนาจรัฐเผด็จการอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นวิทยาศาสตร์ โดยฮิตเลอร์และพลพรรควางแผนสร้างอำนาจโดยอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนรอบด้านหลังจากเยอรมนีประสบภาวะยุ่งยากหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา

อาศัยจุดอ่อนของกลไกประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง (ซึ่งในยุคสมัยนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกเดียวของความเป็นอารยะ) พรรคนาซี (อาศัยความคลุมเครือของชื่อที่มีทั้ง สังคมนิยม และชาตินิยม ปะปนกันในชื่อเต็มของพรรค รวมทั้งอาศัยสัญลักษณ์ทางศาสนาเก่าแก่ (สวัสดิกะ) มาบิดเบือนใหม่) เข้ายึดกุมอำนาจรัฐทางกายภาพ (หรือ อำนาจแข็ง) โดยเฉพาะการควบคุมสื่อหลักของสังคม จากนั้นก็อาศัยการสร้างอำนาจอ่อน เข้ายึดกุมจิตวิทยาฝูงชน ทำให้ชาติที่เคยเต็มไปด้วยความหลากหลายทางปัญญา ผลิตนักคิดระดับโลกมาจำนวนไม่ถ้วน ต้องกลายเป็นชาติที่บ้าคลั่งไปกับชาตินิยมตาบอด ที่เห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวเป็นความชอบธรรม เห็นการทำลายล้างปัญญาชนกลายเป็นเรื่องสามัญ

เมื่อความรุนแรงกลายเป็นสรณะของรัฐ และความหวาดกลัวกลายเป็นสรณะของประชาชนผู้ถูกปกครองไปเสียแล้ว อำนาจเผด็จการก็ไร้คนต่อต้านแข็งขึ้น และผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งอย่างฮิตเลอร์ก็กลายเป็นปิศาจที่อาการป่วยทางจิตกำเริบไปได้อย่างสะดวก

หนังสือชี้ให้เห็นกระบวนการออกแบบสังคมแบบนาซีที่ทรงพลัง การเขียนคัมภีร์ใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (ดัดแปลงศาสนาคริสต์) สร้างระบบการศึกษาแบบคลั่งชาติในทุกระดับ สร้างนโยบายผลิตประชากรที่มีคุณภาพ (ปราศจากเลือดชั่วของยิว) ส่งเสริมสิทธิสตรี (ซูเปอร์วูแมน) สร้างเสริมระบบมั่งคั่งร่วมระหว่างรัฐและเอกชนด้วยเศรษฐศาสตร์สงคราม

จนกระทั่งคลี่คลายไปถึงจุดสุดท้ายคือ ทำให้การเข้าสู่สงครามกลายเป็นเกมเกียรติยศของอารยชนไปได้

หนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของงานเขียน 3 เล่มจบ ที่นักประวัติศาสตร์อังกฤษตั้งใจเอาไว้ ไม่ได้ต้องการแสดงให้เห็นภาพประวัติศาสตร์ทางการเมืองว่า ก้าวย่างและยุทธวิธีของฮิตเลอร์ก่อนเข้าสู่สงครามนั้นเป็นอย่างไร ถูกหรือผิด แต่ให้ภาพแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังนโยบายของพรรคนาซีที่ครอบงำคนเยอรมัน ด้วยมือทั้งสองข้างถือไม้เรียว ในขณะที่ปากพร่ำพูดถึงความหวังแห่งอนาคตอันสวยงาม

รายละเอียดจำนวนมหาศาลของหนังสือที่เกี่ยวกับนาซีนี้ อาจจะมีคนนำเสนอมาแล้ว และผสมกับรายละเอียดใหม่ๆ อาจจะไม่ก่อให้เกิดประเด็นใหม่มากนัก แต่ให้ภาพที่ดีอย่างมีตรรกะว่า ความมุ่งมั่นของผู้ทะยานอยากในอำนาจเบ็ดเสร็จนั้น น่าสะพรึงกลัวได้ เพราะความอ่อนเปราะทางจริยธรรม และความมึนชาทางการเมืองของปัญญาชนในชาติอย่างแท้จริง ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะในเยอรมนี แต่เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ซึ่งยินยอมให้อำนาจของสังคมถูกถ่ายโอนเข้าสู่มือของอำนาจส่วนบุคคล

เมื่ออ่านหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้จบลง หลายคนคงคุ้นว่า หนังสือเล่มนี้ให้อารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกับอ่านนวนิยายของจอร์จ ออร์เวล เรื่อง Animal Farm และ 1984 เลยทีเดียว ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องแต่ง

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว อย่าลืมอ่านหนังสือหนักๆ ของนักคิดออสเตรีย 2 คนอย่าง Friedrich Kayek เรื่อง Road to Serfdom และ Karl Popper เรื่อง The Open Society and It's Enemies เล่มแรกคัดค้านนาซี เล่มหลังคัดค้านคอมมิวนิสต์ หรือไม่ก็หนังสือเบาๆ อย่างนวนิยายของ Graham Greene อย่างเรื่อง Power and Glory และ The Quiet American รวมทั้ง The Heart of Darkness ของ Joseph Conrad

หนังสือหนาเตอะเล่มนี้เหมาะสำหรับคนไทยยุคหลังทักษิณ ที่กำลังหาทางปฏิรูปการเมืองเพื่อป้องกันปิศาจทุนสามานย์กลับมาอาละวาดครั้งใหม่อย่างยิ่ง แต่ถ้าหากจะให้ดี ต้องเรียนรู้ทฤษฎีเกมให้มากขึ้น เพราะเผด็จการในปัจจุบันมาลึกซึ้งและแนบเนียนกว่าฮิตเลอร์หลายเท่านัก

รายละเอียดในหนังสือเล่มนี้

Prologue บทเกริ่นนำถึงกระบวนการเข้ายึดกุมอำนาจของพรรคนาซีอย่างบูรณาการทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านอุดมการณ์ที่ทำให้คนเยอรมันซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นชนชาตินักคิดของยุโรป ตกอยู่ภายใต้ภวังค์ และสูญเสียจิตวิญญาณอิสระอย่างไม่มีวันหวนกลับคืนมาอีก

Chapter 1 The Police State ว่าด้วยการใช้อำนาจ "แข็ง" ของพรรคนาซี หรือสังคมชาตินิยม ที่เข้าครอบงำกลไกรัฐเป็นรูปธรรมที่สุดโดยผ่านองค์กรตำรวจลับ SS (เกสตาโป) ที่น่าสะพรึงกลัว โดยเฉพาะในองค์กรสื่อทุกประเภท และทุกสหภาพแรงงานอย่างเบ็ดเสร็จ

Chapter 2 The Mobilization of the Spirit ว่าด้วยการจุดประกายขายฝัน สร้างความหวังว่าวันคืนอันยิ่งใหญ่ในอดีตจะกลับคืนมา ด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนหายตื่นกลัวจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งแรก และความยากไร้ที่ถาโถมหลังสงคราม ด้วยกลยุทธ์ทฤษฎีโฆษณาชวนเชื่อที่โด่งดัง Big Lie ของโจเซฟ ก็อบเบิล ก่อนการเข้าครอบงำ

Chapter 3 Converting the Soul การเข้าครอบงำทางอุดมการณ์ หลังจากที่เข้าควบคุมกลไกรัฐทางกายภาพสำเร็จแล้ว เพื่อสร้างกรอบการครอบงำที่แข็งแกร่งด้วยเพทุบายหลายประการ นับแต่ทำลายปัญญาชนที่ไม่ยอมสยบ นำเอามายาคติของศาสนาและลัทธิเก่าแก่มาสร้างตำนานใหม่เพื่อสร้างศรัทธา และเจาะทะลวงจิตใจคนหนุ่มสาวที่แสวงหาวีรชนใหม่ในรูปแบบที่ปรัชญาเมธีรุ่นเก่าอย่างเฟรดริก นิทเช่ เคยเสนอเอาไว้

Chapter 4 Prosperity and Plunder การผนวกพ่วงเอาทรัพยากรแห่งอำนาจทั้งอ่อนและแข็งมาบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนอำนาจของพรรคนาซีอย่างเป็นเอกภาพ โดยอ้างถึงกรอบความคิดเก่าเรื่องเชื้อชาติอารยันที่บริสุทธิ์ (เพื่อมอมเมาให้การสังหารหมู่ยิวกลายเป็นความชอบธรรม) เพื่อเข้ายึดครองทรัพย์สินที่เคยอยู่ในมือกลุ่มยิวมาเป็นกลไกทางเศรษฐกิจของรัฐด้วยความรุนแรง

Chapter 5 Building the People's Community การย้อนกลับไปใช้เครื่องมือสร้างรัฐปรัสเซียเก่า ซึ่งบิสมาร์กเคยใช้ได้ผลในอดีต กลับมาเป็นเครื่องมือรวบอำนาจเบ็ดเสร็จภายใต้กลไกตำรวจลับที่ทรงอานุภาพและโหดเหี้ยม กดขี่สหภาพแรงงานให้กลายเป็นเครื่องมือพรรคนาซี ไม่ใช่เป็นองค์กรทางชนชั้นในตัวเองอีกต่อไป พร้อมกับสร้างความหวังที่ไม่มีทางบรรลุได้ ด้วยการมุ่งหาแพะรับบาปในต่างประเทศ

Chapter 6 Towards the Radical Utopia อุดมการณ์นาซีขึ้นถึงขีดสูงสุดในระดับที่นักจิตวิทยาและสังคมวิทยาเรียกว่า สร้างมายาการแห่งความสะพรึงกลัว tragic illusion อันเป็นระดับสูงสุดของการโฆษณาชวนเชื่อในสงครามจิตวิทยา เมื่อมีการพ่วงเอาปัญหาเรื่องสุขภาพของประชาชนในรัฐขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนเข้าสู่เรื่องของเผ่าพันธุ์อารยันที่บริสุทธิ์ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า ต้องทำลายล้างเผ่าพันธุ์ยิวให้หมดไปจากยุโรป พร้อมกับสร้างแผนที่โฆษณาชวนเชื่อขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าสู่สงคราม

Chapter 7 The Road To War สงครามเป็นทางเลือกที่เลี่ยงไม่พ้น เมื่อแนวคิดสร้างเยอรมนีที่ยิ่งใหญ่ถูกขยายความให้ประชาชนที่เคยมีเหตุมีผลตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว และยอมสยบต่ออำนาจที่ไร้ขอบเขต จนกระทั่งมหาอำนาจอื่นโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษ ตระหนักว่าไม่สามารถยินยอมอีกต่อไปได้ และกลายเป็นสงครามโลกที่ทำให้พรรคนาซีถึงจุดจบ



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us