Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Strait Talk on Investing
ผู้เขียน: Jack Brennan, Martha McCave
ผู้จัดพิมพ์: John Wiley & Sons, Inc.
จำนวนหน้า: 239
ราคา: ฿542
buy this book

สำนักพิมพ์ John Wiley & Sons ได้ชื่อว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่ถนัดทางด้านพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการลงทุนและการเงินเจ้าใหญ่รายหนึ่งของอเมริกา หนังสือเล่มนี้ก็เป็นการรวบรวมเอาเรื่องทำนองเดียวกันมา เพียงแต่ชื่อของผู้เขียนหลัก (ซึ่งคงจะไม่ได้เขียนเองทั้งเล่ม แต่การันตีชื่อไว้ข้างหน้าเพื่อผลการตลาด) ในฐานะประธานกรรมการ และซีอีโอใหญ่ของ Vanguard Group บริษัทจัดการกองทุนประเภท no-load fund (กองทุนรวมที่ไม่คิดค่าบริหาร แต่คิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า) ที่ใหญ่ที่สุด และประสบความสำเร็จจากการบริหารกองทุนรวมสูงสุดในอเมริกา เรื่องมันก็เลยดูน่าสนใจมากขึ้น

หนังสือนี้ผู้เขียนบอกเลยตั้งแต่ต้นว่า ต้องการให้เป็นคู่มือสำหรับ "มือใหม่หัดขับ" ในการลงทุนด้านตลาดเงินและตลาดทุนโดยรวม โดยระลึกย้อนไปว่า สมัยที่ตนเองเข้าสู่ตลาดหุ้นแรกสุดนั้น ต้องการคำแนะนำอะไรบ้างที่จะหลุดพ้นจากหายนะทางการเงินและปากเหยี่ยวปากกามาได้

ดังนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือนี้ จึงไม่เน้นที่ความลึกซึ้งทางเทคนิคอะไร แต่สร้างความเข้าใจพื้นฐานมากกว่า

ประสบการณ์มากกว่า 20 ปีในวอลล์สตรีทในฐานะผู้จัดการและผู้บริหารบริษัทจัดการกองทุนรวม ก็คงเป็นการการันตีได้ระดับหนึ่ง แต่ประเด็นก็คือ ต้องเข้าใจท่าทีของผู้เขียนให้ชัดว่าต้องการให้ผู้อ่านที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลหน้าใหม่ว่า ควรทำอะไรกันแน่ ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายดังนี้

1) ไม่ต้องการให้เล่นหุ้นหรือลงทุนบ่อยเกินไป

2) ไม่ต้องการให้มีมุมมองระยะสั้น

3) ไม่ต้องการให้นักลงทุนยึดติดว่า ตลาดทุนและตลาดเงินไหนดีที่สุด

4) ไม่ต้องการให้นักลงทุนเชื่อว่า ที่ปรึกษาการเงินหรือนักวิเคราะห์คือคนที่เก่งสุดหรือศาสดาในตลาดเก็งกำไร ด้วยกรอบคิดเช่นนี้จึงอย่าได้ประหลาดใจ ที่แม้ว่าผู้เขียนหลักคือ เบรนแนนนั้นจะเป็นประธานและผู้บริหารกองทุนรวมขนาดใหญ่ เขาก็ไม่ได้บอกว่าการลงทุนในกองทุนรวมนั้น เป็นการลงทุนดีที่สุดกว่าอย่างอื่นๆ ถือเป็นความเป็นกลางในงานเขียนชนิดที่ไม่เอาแต่ได้กัน และมีความรับผิดชอบพอสมควร

โดยกรอบของการลงทุนเก็งกำไร ผู้เขียนนั้นมีกรอบใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่นักลงทุนใช้กันคือ การลงทุนขึ้นอยู่กับตัวแปรเรื่องผลตอบแทน ความเสี่ยง และต้นทุนการบริหารพอร์ต ใครที่สามารถถอดรหัส และจัดระเบียบ 3 ส่วนนี้ได้ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ไม่ยากนัก

ผู้เขียนมองตัวเองในลักษณะคนแก่ที่ผ่านประสบการณ์ในทางปฏิบัติมาเยอะ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำพื้นฐานง่ายๆ ที่ปฏิบัติตามได้มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้สะดวกแก่การติดตาม แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทิ้งมุมมองที่สำคัญของหนังสือ ซึ่งต้องการให้เห็นว่า การลงทุนเก็งกำไรนั้นจะต้องมีวินัยที่ชัดเจน และมีการควบคุมความโลภให้พอเหมาะพอดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันยากเหลือเกิน เพราะนักลงทุนมักจะตกเป็นเหยื่อของอารมณ์แบบจิตวิทยาฝูงชนที่เต็มไปด้วยความหวือหวาเข้าครอบงำจนลืมหลักการสำคัญของการลงทุนได้ไม่ยาก

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ภาค และ 22 บท ซึ่งแต่ละบทก็มีการจัดหมวดหมู่ให้อ่านแบบต่อเนื่องจากง่ายไปยาก เหมาะสำหรับคนอ่านได้แกะรอยทีละขั้น นับแต่พื้นฐานการลงทุนไปจนถึงภาคปฏิบัติเมื่อตัดสินใจลงทุนแล้ว

กุญแจความสำเร็จ 3 ประการ (การออมต่อเนื่อง ซื้อแล้วถือให้นาน และอย่าซื้อขายบ่อย) ที่เขาเน้นเสมอตลอดทั้งเล่ม ถือเป็นเครื่องเตือนสติที่ดีสำหรับคนอ่านได้ทางหนึ่ง และมีความหมายที่ต้องทบทวนกันเรื่อยๆ

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วต้องกลับไปทบทวนตัวเองว่า พฤติกรรมการลงทุนของตนเองในฐานะนักลงทุนเบี่ยงเบนจากมาตรฐานของผู้เชี่ยวชาญนี้แค่ไหน

เป็นหนังสืออ่านง่ายๆ แต่อาจจะง่ายเกินไปสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเทคนิคซับซ้อนประเภทอ่านแล้วรวย

จุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้อย่างหนึ่งคือ เขียนอย่างไร้อารมณ์ ดังนั้น คนอ่านอาจจะรู้สึกว่าไม่ค่อยมีชีวิตชีวาเอามากๆ แต่ก็นั่นแหละ เป้าหมายของการลงทุนนั้นก็เพื่อเอากำไร ไม่ใช่เอา "มัน" เป็นหลัก หนังสือเล่มนี้จึงไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการอ่านเพื่อความสะใจ

รายละเอียดในหนังสือเล่มนี้

Part 1 Master the Basics ว่าด้วยกรอบมาตรฐานอย่างกว้างสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ต้องมี

Chapter 1 Successful Investing In Easier Than You Think เสนอหลักการง่ายๆ ในทางปฏิบัติ 4 ประการที่เป็นคัมภีร์ นักลงทุนต้องเตือนตัวเองเสมอในเวลาลงทุนเสี่ยงในฐานะที่ไม่มีคำว่าจับเสือมือเปล่า คือ 1) ทำการบ้านให้รอบคอบและละเอียด 2) พัฒนานิสัยการลงทุนที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ 3) ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความหวือหวาของตลาดเสมอ 4) เรียนรู้การลงทุนเพิ่มเติมอย่าได้ขาด

Chapter 2 You've Gotta Have Trust
หลักการพื้นฐานทางจิตใจสำหรับนักลงทุนก็คือ เชื่อมั่นตัวเองใน 3 เรื่อง นั่นคือ 1) ไม่ฟังข่าวลือร้อนๆ 2) ไม่เชื่อคำยุยงซื้อขายบ่อยๆ ของมาร์เก็ตติ้งของโบรกเกอร์ 3) ไม่ยึดถือนักวิเคราะห์เป็นสรณะเดียว แต่กระบวนการตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่นจะต้องอาศัยข้อมูลเชิงปริมาณที่เหมาะสมโดยพิจารณาจากจังหวะเวลาที่เหมาะสม และแหล่งข้อมูลที่มีประวัติน่าเชื่อถือได้

Chapter 3 A Map to Success : Hmmm, Sounds like a Plan
นักลงทุนไม่ต้องการแผนการลงทุนที่ซับซ้อนมากนัก เพียงแต่เดินตามขั้นตอนง่ายๆ 3 ขั้น 1) ตัดสินใจเกี่ยวกับวงเงินลงทุนที่เหมาะสมในแต่ละครั้ง อย่าทุ่มจนหมดหน้าตัก 2) ตัดสินใจเกี่ยวกับประเภทธุรกิจหรือตราสารที่ต้องลงทุนให้ชัดเจน และ 3) คำนวณเกี่ยวกับการลงทุนและผลตอบแทนที่ต้องการล่วงหน้าในใจเอาไว้ก่อน แต่ที่สำคัญสุด อย่าสร้างหนี้มาลงทุน เพราะนั่นคือจุดเริ่มของหายนะ

Chapter 4 Save More-Without Felling the Pinch
การออม เป็นกุญแจสำคัญที่นักลงทุนต้องเตือนตัวเองเสมอว่าจะต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ โดยวางแผนเรื่องการออมอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธี 1) สร้างสูตรอัตโนมัติเตือนตัวเองเกี่ยวกับการออมและลงทุนให้พอดี 2) ตระหนักถึงความจำเป็นของการออมเพื่อสำรองใช้ในวัยหลังเกษียณ 3) ติดตามเงื่อนไขพิเศษที่จะทำให้เงินออมมีค่ามากขึ้นในบางช่วงเวลาที่เหมาะสม

Chapter 5 Hope for the Best-But Prepare for Something Less
นักลงทุนที่รอบคอบ ต้องทำตัวอนุรักษนิยมในเรื่องการลงทุน ด้วยเหตุผลว่า มีเหตุไม่คาดฝันในเรื่องทำให้คุณค่าของเงินสดเสื่อมลงเร็วกว่าปกติได้เสมอ เช่น เงินเฟ้อ หรือความผันแปรในโอกาสลงทุนที่ส่วนใหญ่จะอยู่นอกเหนือการควบคุม ดังนั้น หากตั้งความหวังรับผลตอบแทนการลงทุน จึงต้องคิดถึงความเสี่ยงควบไปด้วยเสมอ

Part 2 Construct a Sensible Portfolio แนวทางสร้างระบบบริหารพอร์ตลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง

Chapter 6 Balance and Diversification Help You Sleep at Night
กลยุทธ์หลักในการลงทุนสำหรับนักลงทุนทุกคนคือ สร้างพอร์ตแบบสมดุล และกระจายความเสี่ยง แม้ว่าบางครั้งการกระจายอาจจะทำให้ขาดทุนบ้าง แต่ก็ถือว่าในระยะยาวเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ไม่มีทางเลือกใดดีกว่านี้

Chapter 7 You Need a Personal Investment Policy Whether You Start with Zillions or Zip
การจัดสรรเงินลงทุนในพอร์ตไม่ว่าใหญ่หรือเล็กเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นและเป็นวิชาบังคับสำหรับนักลงทุน โดยกลยุทธ์ OTROC ถือเป็นหลักการที่ดีที่สุด ได้แก่ 1) ชัดเจนในเป้าหมายลงทุน 2) มีเงื่อนเวลาลงทุนชัดเจน 3) มีการป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสม 4) มองหาการลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น 5) ตัดสินใจในจังหวะที่เหมาะสม

Chapter 8 Mutual Fund : The Easy Way to Diversify
สำหรับนักลงทุนที่ไม่มั่นใจในความสามารถกระจายการลงทุนได้ดี ทางเลือกในการซื้อกองทุนรวม เป็นทางออกหนึ่งที่ควรพิจารณาเพราะศักยภาพในการลงทุนของกองทุนรวมนั้นเหมาะกับการกระจายโดยธรรมชาติ นอกเหนือจากความชำนาญของมืออาชีพในการเลือกลงทุน และมีการจำกัดต้นทุนที่ชัดเจน รวมทั้งความสามารถยืดหยุ่นพอร์ตจากขนาดใหญ่ของกองทุน

Chapter 9 How to Pick a Mutual Fund (and How Not to)
การเลือกและไม่เลือกกองทุนรวมนั้น นักลงทุนจะต้องพิจารณาข้อจำกัดหรือโทษสมบัติของกองทุนว่าเข้าข่าย 4 ประการนี้หรือไม่ ได้แก่ 1) การซื้อตามแรงโฆษณาในสื่อ 2) การอวดอ้างผลงานที่มีอายุเกิน 1 ปี 3) กองทุนที่มีอันดับผลตอบแทนสูงในการจัดอันดับของสำนักจัดอันดับต่างๆ 4) ผู้จัดการกองทุนชอบอวดอ้างว่าตนเองเก่ง แต่นักลงทุนจะต้องพิจารณาและสอบถามเกี่ยวกับความสามารถทางการจัดการของผู้จัดการเป็นปฐม พร้อมกับพิจารณาเงื่อนไขที่เทียบกับกองทุนชนิดเดียวกันประกอบ

Chapter 10 It's What You Keep That Counts
ต้นทุนการจัดการและภาษี คือ ตัวแปรสำคัญที่นักลงทุนต้องพิจารณาเสมอในการลงทุนในกองทุนรวม เพื่อให้ตัวแปรทั้งสองอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยมีเกณฑ์พิจารณาคือ 1) กองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมสูง มากหรือน้อย 2) เลือกกองทุนรวมที่มีค่าใช้จ่ายต่ำเทียบกับเงินกองทุน 3) เลือกกองทุนที่ไม่ซื้อขายบ่อยเกินไป 4) เลือกกองทุนที่ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี 5) เลือกกองทุนที่สามารถเลื่อนหรือยืดหยุ่นการจ่ายภาษีได้

Chapter 11 Risk : Give it the Gut Test
การทำความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงด้านต่างๆ ในการลงทุน เป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าเรื่องผลตอบแทนด้วยซ้ำ นักลงทุนต้องพิจารณาบนพื้นฐาน 2 ประการคือ 1) ประเภทและระดับของความเสี่ยงมีอะไรบ้าง และนักลงทุนรู้จักมันดีแค่ไหน 2) นักลงทุนจะสามารถรับมือความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับตลาดทุนและตราสารที่ลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะจำกัดความเสี่ยง

Chapter 12 Keep Things Simple
แม้การลงทุนในตลาดทุนทุกวันนี้จะมีความซับซ้อนทางเทคนิคอย่างมาก แต่นักลงทุนสามารถที่จะทำให้พอร์ตลงทุนของตนเองเข้าใจง่ายๆ ด้วยการเรียนรู้ที่จะถอดรหัสพอร์ตของตนเอง โดยเฉพาะในกองทุนรวม ซึ่งมีแนวทางง่ายๆ คือ 1) ดูวัตถุประสงค์ของกองทุนว่าสอดคล้องวัตถุประสงค์ส่วนตัวแค่ไหน 2) ดูสไตล์หรือความหวือหวาของผู้จัดการกองทุนว่ามากน้อยเพียงใด 3) ประเมินผลตอบแทนการลงทุนว่าคุ้มค่าหรือตรงตามเป้าหมายมากน้อยเพียงใด

Part 3 Manage Your Investments with Focus and Discipline ว่าด้วยการสร้างวินัยใน
การบริหารพอร์ตลงทุน

Chapter 13 Buy and Hold Really Works
การลงทุนซื้อหุ้น แล้วถือเอาไว้ยาว แม้จะไม่ตื่นเต้น แต่ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ดีกว่า การซื้อขายบ่อยครั้ง และการเล่นหุ้นตามจังหวะสัญญาณทางเทคนิค เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่า และมีความหวือหวาน้อยกว่า เพราะไม่ได้ขึ้นกับความเชื่อมากเกินขนาด

Chapter 14 Making Money Is What Matters
การประเมินผลตอบแทนที่ดีที่สุดคือ เปรียบเทียบผลตอบแทนจริงเข้ากับผลตอบแทนคาดหวังที่ตั้งเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่ใช่การเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือตลาดรวม เพราะอาจจะทำให้นักลงทุนคับข้องใจมากเกินไป เกณฑ์ที่ควรใช้ประเมินควรเป็น 4 แนวทางดังนี้คือ 1) ไม่ดูผลงานระยะสั้นมาก 2) ผลตอบแทนที่หวือหวาระยะสั้นมากจะมีผลงานต่ำลงในระยะยาว 3) รายงานที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หรือสื่อ อาจจะไม่ใช่ผลตอบแทนที่แท้จริงเมื่อถึงวันปิดงบ 4) ต้องเทียบเคียงผลการดำเนินงานกับเป้าหมายในใจ ไม่ใช่เทียบกับหุ้นหรือกองทุนใกล้เคียง

Chapter 15 Time is Everything
การตั้งเป้าหมายสร้างผลตอบแทน ต้องอยู่บนเงื่อนไขของเวลาด้วยเสมอ จะเอาผลงานต่างเวลามาเทียบกันไม่ได้ สิ่งที่ต้องชัดเจนในการลงทุนเกี่ยวกับเวลาคือ 1) กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนในการประเมิน 2) สินค้าทางการเงินมีความเสี่ยงในแต่ละช่วงเวลาไม่เท่ากัน 3) ไม่มีคำว่า สายเกินไป ในการลงทุน และการแก้ตัวใหม่

Chapter 16 Give Your Portfolio an Occasional Tune-Up
การปรับพอร์ตก่อนกำหนด ตามสถานการณ์ เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจใส่ เพราะสิ่งแวดล้อมในการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลง และเป้าหมายการลงทุนต้องมีการทบทวนใหม่ เพื่อลดความเสี่ยง และตั้งผลตอบแทนใหม่ให้เหมาะสม โดยเน้นไปที่การจัดสัดส่วนสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะกับบรรยากาศ

Chapter 17 Stupid Math Tricks for Smart Investors
อย่าได้ละเลยตัวเงินเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพราะมันอาจจะเป็นปัญหาในภายหลัง ดังนั้นการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่าย จึงเป็นความรอบคอบ โดยเฉพาะเกี่ยวกับรอบการหมุนของเงินลงทุน เทียบกับต้นทุน ซึ่งอาจจะไม่สัมพันธ์กันได้

Part 4 Stay on Course การพิจารณาการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และไม่ประมาท

Chapter 18 "It's a Mad, Mad, Mad World"
ความผันผวนของตลาดหุ้น โดยเฉพาะในช่วงขาขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องมองหาทางป้องกันตัวเองล่วงหน้าเอาไว้เสมอ เพราะเมื่อหมดระยะเวลาฟองสบู่แล้ว จะหมายถึงอันตรายร้ายแรงได้ มีวิธีพิจารณา 4 ประการที่สำคัญคือ 1) ไม่แห่ตามกระแสฝูงชนจนเกินเหตุ 2) หนักแน่นเกี่ยวกับเป้าหมายผลตอบแทนส่วนตัวเอาไว้ อย่าเชื่อข่าวลือในตลาด 3) ถ่วงน้ำหนักข่าวลือด้วยการพิจารณามุมของความเสี่ยงให้มาก 4) ลงทุนในหุ้นพื้นฐาน อย่าลงทุนในหุ้นที่ราคาหวือหวา

Chapter 19 Why You May be Your Own Worst Enemy
นักลงทุนที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง มักจะโทษคนอื่น ทั้งที่ความจริงแล้ว ความล้มเหลวเกือบทั้งหมดมาจากนักลงทุนเอง เนื่องจากปล่อยให้ปัจจัยภายนอกครอบงำจนลงทุนผิดพลาด ดังนั้นการหาทางป้องกันไม่ให้ตัวเองผิดพลาดจึงเป็นเรื่องจำเป็นดังนี้คือ 1) ลงทุนในพื้นฐานที่มีเหตุผล 2) ยอมรับตัวแปรด้านบวกและลบของตลาด เพื่อก้าวข้ามการลงทุนระยะสั้นมากไป 3) ไม่เชื่อฟังคนที่แอบอ้างตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุน

Chapter 20 Bear Markets Will Test Your Resolve
นักลงทุนที่ชาญฉลาดต้องรู้จักแปลงวิกฤติเป็นโอกาสขึ้นมาให้ได้ โดยเฉพาะในยามที่ตลาดซบเซา ซึ่งเป็นจังหวะที่ท้าทายความสามารถในการหยั่งรู้อนาคตได้ดีว่า สามารถจัดการเรื่องต่อไปนี้ได้ดีเพียงใดคือ 1) สร้างพอร์ตที่สมดุลและมีต้นทุนต่ำ 2) ลงทุนในจังหวะที่หุ้นสงบนิ่งไม่ลงไปอีก 3) ปรับพอร์ตจากขาดทุนเพื่อสร้างโอกาสในอนาคต 4) สร้างเป้าหมายกำไรในอนาคตล่วงหน้าที่เหมาะสม

Chapter 21 "Ain't Got No Distractions, Can't Hear Those Buzzers and Bells" การจัดการกับข้อมูลที่ท่วมท้นและมากเกินไปในตลาดทุนและเก็งกำไร ซึ่งก่อให้เกิดความสับสนได้ง่าย เป็นเรื่องที่ต้องรับมือให้ได้ โดยผ่าน 4 ขั้นตอนคือ 1) รู้จักแยกแยะให้ได้ว่าข้อเท็จจริงและข่าวลือหรือข่าวลวงนั้นเป็นอย่างไร 2) ยึดหลักการพื้นฐานการลงทุนให้มั่น 3) จับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของตลาดให้ได้ว่าทิศทางจะมุ่งไปทางไหน 4) ไม่ตื่นตระหนกกับความหวือหวาของตลาดจนเกินเหตุ

Chapter 22 Regrets? I've Had a Few ข้อเสนอแนะสำหรับนักลงทุนที่เคยมีบาดแผลจากการลงทุนมาแล้วหลายครั้ง โดยผ่าน 10 แนวทางเพื่อความสำเร็จในอนาคต คือ 1) สร้างแผนการลงทุนที่เหมาะสม 2) เป็นนักออมเงินที่มีวินัยต่อเนื่อง 3) ลงทุนในเมื่อตลาดซบเซา ดีกว่าลงทุนเมื่อตลาดขึ้นมาแล้ว 4) ลงทุนโดยเน้นพอร์ตสมดุลและกระจายความเสี่ยง 5) ควบคุมต้นทุนให้ต่ำ 6) บริหารความเสี่ยงให้รอบคอบ 7) ซื้อแล้วถือยาว อย่าซื้อขายบ่อย 8) ไม่ตื่นตระหนกกับความหวือหวาของตลาด 9) เลือกสรรข่าวสารที่ท่วมท้นตลาดให้เหมาะกับเป้าหมายการลงทุน 10) รักษาเป้าหมายลงทุนระยะยาวให้มั่น



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us