Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Japanese Mind
ผู้เขียน: Osamu Ikeno, Roger J. Davies
ผู้จัดพิมพ์: Turtle Publishing
จำนวนหน้า: 270
ราคา: ฿658
buy this book

ญี่ปุ่นส่งสินค้าไปขายทั่วโลก มีแบรนด์ระดับโลกมากมาย ขณะเดียวกันก็ซื้อสินค้าทั้งที่เป็นวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป และสินค้ามีแบรนด์จากทั่วโลกมากไม่น้อย แต่คนญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นญี่ปุ่นที่เข้าใจยากต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะคนต่างชาติ เนื่องจากมีกำแพงขวางกั้นการทำความเข้าใจที่หนาพอสมควร

2 ปีก่อน ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Lost in Translation สะท้อนแง่มุมนี้ออกมาอย่างสะใจ และทำให้เกิดความพยายามที่จะอธิบายวิธีคิดแบบญี่ปุ่นให้โลกรับรู้มากขึ้น

หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามให้เกิดความเข้าใจกรอบของจิตสำนึก และพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ในลักษณะให้มุมมองแบบ inside-out ซึ่งหมายถึงการเอาสิ่งที่ "คนใน" มองเห็นออกมาตีแผ่และอธิบายด้วยความเข้าใจ ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจากกระบวน outside-in ที่มองจากมุมมองของคนภายนอกที่แสดงปฏิกิริยาต่อสิ่งที่สัมผัสมา

ทั้งหมดนี้แม้จะมีความพยายาม แต่ก็ดูเหมือนว่า หนังสือจะสามารถแก้ปัญหาเรื่อง Lost in Translation ที่กำลังระบาดมากับกระแสโลกาภิวัตน์ได้ไม่มากนัก

เหตุผลก็คือ คำอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมนี้มุ่งมั่นที่จะอธิบายรากเหง้าของปรัชญาเบื้องหลังพฤติกรรมว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงต่างจากคนชาติอื่นๆ อันเป็นคำอธิบายที่ต่างจากโจทย์ประเภท ทำไมคนญี่ปุ่นจึงไม่พยายามเข้าใจคนต่างชาติ

ที่มาของคำตอบอาจจะเป็นด้วยว่า รากฐานวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นนั้น ซับซ้อนยิ่งนัก จนแม้กระทั่งคนญี่ปุ่นเองก็ยากจะอธิบายเรื่องของตนเองให้ชาวโลกเข้าใจได้ทั้งหมด ซึ่งก็ไม่น่าใช่ เพราะโดยข้อเท็จจริง ทุกๆ วัฒนธรรมของแต่ละชนชาติในโลกนี้ก็ล้วนแล้วแต่ซับซ้อนทั้งสิ้น (ยิ่งหากนำไปเทียบกับวัฒนธรรมอินเดีย จีน และตะวันออกกลางด้วยแล้ว ยิ่งเทียบกันไม่ได้เลย)

อีกคำตอบหนึ่งก็คือ คนญี่ปุ่นในปัจจุบันก็เริ่มรู้จักรากเหง้าของตนเองน้อยลง ที่ใช้ชีวิตในปัจจุบันก็ล้วนเป็นไปตาม "กระแส" ที่ผสมผสานระหว่างชีวิตร่วมสมัยกับจารีตของวิถีเดิมที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมทั่วไปออกมา

ส่วนคำตอบสุดท้ายก็คือ คนญี่ปุ่นนั้นใช้สัญญาณและสัญลักษณ์ทางภาษาที่มีความหมายสื่อสารกับคนต่างชาติในฐานะ "คนนอก" อย่างไม่ค่อยจะเข้ากันดี

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นแบบไหน หนังสือเล่มนี้ก็ถือว่า ได้ให้ภาพเบื้องต้นเกี่ยวกับวัตรปฏิบัติและเบื้องหลังวิธีคิดของคนญี่ปุ่น เพื่อที่คนต่างชาติซึ่งต้องการปะทะสังสรรค์กับคนญี่ปุ่นจะได้เข้าใจอย่างรวบรัดได้ดีว่า การวางตัวกับคนญี่ปุ่นที่เหมาะสมนั้นควรจะเป็นอย่างไร

หากเป้าหมายหลักของหนังสือนี้เพื่อบอกให้คนต่างชาติปรับตัวให้เข้าถึงคนญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น และสร้างสัมพันธ์ที่ราบรื่นขึ้น ก็ถือว่าหนังสือเล่มนี้บรรลุเป้าแล้ว แต่ก็อย่างที่หนังสือนี้ระบุไว้ในบทที่ว่าด้วย Uchi to Soto ว่าคนญี่ปุ่น เขาจัดระดับความสัมพันธ์คนต่างชาติในฐานะ "คนนอก" การที่จะให้คนญี่ปุ่นเข้าใจคนต่างชาติ ก็ดูเป็นไปได้น้อยมาก ซึ่งทำให้มีคำถามตามมา เพราะว่าการสร้างสัมพันธ์ต่อกันอย่างจริงใจในระยะยาวแล้ว การเปิดใจรับซึ่งกันและกันเพื่อแปลงคนแปลกหน้าให้เป็น "คนใน" หรือ "คนใกล้ตัว" จะต้องทำกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายเดียว

บทที่โดดเด่นสุดในหนังสือนี้ ดูเหมือนจะได้แก่บทแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจตรงที่ว่าค่อนข้างขัดแย้งกับหนังสือตำราทั่วไปร่วมสมัยแบบอเมริกันที่เน้นว่า การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา และเปิดเผยคือการแสดงออกที่ดีที่สุดในการสร้างสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะญี่ปุ่นแล้ว นั่นคือมารยาทที่เลวร้ายทีเดียว คนญี่ปุ่นถูกสอนเสมอมาว่า การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และคลุมเครือนั่นแหละคือการแสดงออกที่แท้จริง และเปี่ยมด้วยศิลปะ

ข้อความเช่นนี้ สอดคล้องกับข้อสรุปของนักคิดฝรั่งเศส โรลองด์ บาร์ทส ที่เขียนหนังสือ Empire of Signs ที่สรุปว่า ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่น่าศึกษาเรื่องสัญญาณและสัญลักษณ์มากที่สุดในโลก

อ่านหนังสือนี้แล้ว จะเข้าใจคนญี่ปุ่นได้มากขึ้นพอประมาณ แม้ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร แต่อย่าหวังเลยว่าคนญี่ปุ่นจะเข้าใจคนต่างชาติ (รวมทั้งคนไทย) มากขึ้น เพราะพวกเขาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีกรอบคิดแบบ "หลงอัตตา" อย่างเข้มข้น

ทางเลือกของคนที่อยากคบกับญี่ปุ่น ก็มีแค่ว่า หากเลือกคบกันลึกซึ้งแบบ "ฉันมิตร" ไม่ได้ การเลือกจะคบกันแบบผิวเผินในฐานะ "คู่ค้า" เพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า ก็คงไม่เสียหลายอะไรมากนัก

เพียงแต่ต้องระวังว่าอย่าเผลอก็แล้วกัน เพราะอาจจะถูกกินรวบเมื่อใดก็ได้

รายละเอียดในหนังสือเล่มนี้

Aimai : Ambiguity and the Japanese การแสดงความคลุมเครือเป็นการแสดงสัญญะที่คนญี่ปุ่นไม่ต้องการปะทะ ซึ่งหน้ากับผู้ที่ร่วมสมาคมและติดต่อด้วยโดยตรง ถือว่าการแสดงออกโดยเปิดเผยเป็นเรื่องของคนไร้เดียงสา โดยเฉพาะผ่านถ้อยคำในภาษาที่ใช้ และถือว่าเป็นศิลปะชั้นสูงที่คนญี่ปุ่นต้องเรียนรู้เพื่อเข้าวงสังคม เพราะเข้ากับหลักปรัชญาพื้นฐานว่าด้วยการประสานประโยชน์ร่วมและประนีประนอม โดยเฉพาะการรักษาหน้าและเกียรติของฝ่ายตรงกันข้าม

Amae : The Concept of Japanese Dependence การแสดงพฤติกรรมและมารยาทที่ระมัดระวังและขึ้นต่อการกระทำของผู้อื่น เป็นความจำเป็นในการสร้างสัมพันธ์ที่ให้เกียรติกันและกัน ถือเป็นการลดอัตตาที่สำคัญ ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงมักจะกล่าวคำปฏิเสธตรงๆ ยากมาก จนกระทั่งถูกมองโดยคนตะวันตกว่าเป็นเด็กไม่ยอมโตแบบปีเตอร์ แพน

Amakudari : Descent from Heaven การให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเชื่อว่าคนเหล่านี้ได้รับอำนาจที่เป็นอาณัติจากสวรรค์ ทำให้ท่าทีของธุรกิจกับเจ้าหน้าที่รัฐปรองดองและเกื้อหนุนกันแน่นแฟ้น จนอาจเข้าข่าย "สมรู้ร่วมคิด" ไม่ใช่ในฐานะผู้ให้บริการและผู้ซื้อบริการ ที่มีประโยชน์ตรงกันข้ามกัน

Bigaku : Ther Japanese Sense of Beauty ความงามทางศิลปะของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นแบบจารีตหรือแบบร่วมสมัยที่มีอิทธิพลตะวันตกอยู่บนรากฐานของคุณค่า ไม่ใช่เป็นความงามที่เกิดจากศิลปะเอง และความงามอันสัมบูรณ์ตามปรัชญาตะวันตกนั้น ไม่เคยมี แต่ทัศนคตินี้กำลังเริ่มเลือนหายอย่างรวดเร็วในคนรุ่นใหม่

Bushido : The Way of the Warrior แม้ชนชั้นซามูไรจะไม่มีอีกแล้วในสังคมญี่ปุ่น แต่คุณค่าทางวัฒนธรรมบูชิโดที่เน้นเรื่องเกียรติยศ ความภักดีต่อองค์กร และการเคารพนับถือกันและกัน ยังคงมีอิทธิพลและกำหนดบุคลิกภาพของคนญี่ปุ่นค่อนข้างสูง ซึ่งขัดแย้งกับปรัชญาปัจเจกชนนิยมของตะวันตกร่วมสมัย

Chinmoku : Silence in Japanese Communication การสื่อสารของคนญี่ปุ่นนั้นถือเป็นศิลปะที่มากกว่าเรื่องภาษาอย่างเดียว ความเงียบก็เป็นการสื่อสารอีกทางหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากนิกายเซน ตามคติ "ตะปูที่ตรึงแน่น ย่อมตอกเข้าเนื้อไม้ลึกกว่าตะปูคลอน" ซึ่งถือว่า การแสดงออกแต่น้อย ให้ผลมากกว่าแสดงมากเกินจำเป็น แต่ก็มักทำให้คนต่างชาติเข้าใจผิดได้เสมอๆ

Danjyo Kankei: Male and Female Relationships in Japan แม้ว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างชายและหญิงในสังคมจะถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบขงจื๊ออย่างแข็งแกร่ง แต่สังคมสมัยใหม่ก็ทำให้ความสัมพันธ์เสมอภาคกันมากขึ้นแม้จะไม่เทียบกับตะวันตก ชายและหญิงที่มีการศึกษาสมัยใหม่แต่งงานใช้ชีวิตร่วมกันเพราะความผูกพันส่วนตัวมากขึ้น แต่ก็ไม่เป็นอิสระเพราะคนญี่ปุ่นยังคงฝังแน่นกับแนวคิดเรื่องการผูกพันซึ่งกันและกันสูงมาก

The Do Spirit of Japan การทำตัวให้สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติหรือกติกาแห่งจารีตตามคติลัทธิเต๋า เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น ถือว่า การกระทำดังกล่าวในชีวิตประจำวันด้านต่างๆ คือการทำให้ชีวิตพึงพอใจ ดังนั้น การกระทำแบบแหกคอกจึงเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับต่ำ

Gambari : Japanese Patience and Communication ความมุ่งมั่นทำให้บรรลุผลในลักษณะปิดทองหลังพระเพื่อกลุ่มสังคม มากกว่ามุ่งผลตอบแทนส่วนตน ถือเป็นการแสดงเจตนาเคารพในตนเอง เพราะการมีเวลาว่างคือความสูญเปล่าของจชีวิต

Giri : Japanese Social Obligations รากฐานหลักของการอุทิศตัวให้ส่วนรวมคือ 1) เป็นหน้าที่ในฐานะสมาชิก 2) ปฏิบัติตามกฎพื้นฐานของสังคม 3) การลดเลิกอัตตาของตนเองเพื่อผู้อื่น มาจากสังคมเกษตรเก่าแก่ในญี่ปุ่นโบราณ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ (รวมทั้งการแสดงความยินดีหรือส่งคำอวยพรหรือของขวัญ เป็นสัดส่วนภาระที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้

Haragei : An Implicit Way of Communicating in Japan การอ่านความรู้สึกผู้อื่นและเก็บความรู้สึกของตนเองในการสื่อสาร โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับคุณค่าทางสังคม เป็นวัตรปฏิบัติที่คนญี่ปุ่นถูกพร่ำสอนตลอดชีวิต จนคนต่างชาติเข้าใจผิดเสมอว่า เป็นวิธีการโกหกอย่างเงียบๆ สไตล์ญี่ปุ่น

Hedataru to Najimu : Japanese Personal Space การรักษาระยะห่างของความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่เหมาะสม เป็นการจัดระดับความสัมพันธ์ของบุคคลโดยใช้สัญญาณที่แนบเนียนทั้งด้านการสร้างความเป็นส่วนตัว และการมีส่วนร่วมกับสังคมอย่างได้จังหวะ

Honne to Tatemae : Private vs. Public Stance in Japan ชุดของการสร้างสัมพันธ์กับคนต่างชาติในสังคมญี่ปุ่นที่ใช้สัญญาของภาษา "ตามมารยาท" ที่ให้ความหมายตรงกันข้าม และภาษา "ตามเจตนา" เพื่อบอกเป้าหมายที่แท้จริงอย่างซับซ้อน ซึ่งทำให้คนต่างชาติค่อนข้างสับสน เวลาที่คนญี่ปุ่นถามว่า "คุณจะกินอาหารค่ำกับเราไหม?" ซึ่งไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นคำเชิญแต่อย่างใด เพราะความหมายบอกว่า ถึงเวลาจะลาจากกันแล้ว

The Japanese Ie System การจัดลำดับอาวุโสของความสัมพันธ์ในองค์กรและครอบครัวแบบขยายตามจารีต ยังเป็นมาตรฐานพื้นฐานของคนญี่ปุ่นผ่านกระบวนการเรียนรู้ในครอบครัว แต่เริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้น แม้ยังคงมีอิทธิพลอย่างมาก พร้อมจะต่อสู้กับลัทธิปัจเจกชนนิยม

Iitoko-Dori : Adopting Elements of Foreign Culture การพร้อมยอมรับอิทธิพลของต่างชาติ และเลือกรับเอาสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายโดยสมัครใจเป็นสำคัญ ก่อให้คนญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี

Ikuji : Childrearing Practices in Japan กระบวนการเลี้ยงและอบรมเด็กของพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นที่เน้นการแสวงหาความร่วมมือกับผู้อื่น พร้อมกับสาธิตกระบวนการเรียนรู้ใกล้ชิด โดยไม่ต้องอธิบาย พร้อมกับสอนเรื่องการมีมารยาทที่ดีต่อผู้อื่น เป็นรากฐานที่แตกต่างจากลัทธิปัจเจกชนนิยม และการอธิบายด้วยตรรกะแบบตะวันตกอย่างชัดเจน

Kenkyo : The Japanese Virtue of Modesty ความอ่อนโยนและถ่อมตัว คือคุณสมบัติในลักษณะ "ยิ่งสูง ยิ่งโน้มหัวต่ำ" ที่แสดงบุคลิกความพยายามสร้างอุดมคติร่วมและการปรองดองในสังคม ซึ่งเป็นรากฐานที่เป็นเอกลักษณ์เริ่มปะทะเข้ากับค่านิยมใหม่ของการเอาตัวรอดในสังคมปัจจุบัน

Kisetsu : The Japanese Sense of the Seasons อิทธิพลของฤดูกาลที่แปรปรวน 4 ฤดูที่กลายมาเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น และยังคงส่งอิทธิพลต่อกรอบพฤติกรรมมาจนถึงปัจจุบันให้ปรับตัวสอดคล้องกับธรรมชาติอย่างยืดหยุ่น และทำให้คนญี่ปุ่นรักษาความต่อเนื่องกับประวัติศาสตร์ตนเองได้เหนียวแน่น

Nemawashi : Laying the Groundwork in Japan กระบวนการตัดสินใจด้วยการปิดห้องเพื่อถกประเด็นความเห็นภายใน แล้วหาความเห็นร่วมเพื่อตัดสินใจ แทนการอภิปรายโดยเปิดเผยอย่างกว้างขวาง เพื่อหาข้อสรุปที่มีคนเห็นด้วยมากที่สุด (ไม่ใช่ดีที่สุด) กลายเป็นวัฒนธรรมที่ทำให้คนต่างชาติเข้าใจคนญี่ปุ่นผิดว่า ชอบเล่นเกมใต้โต๊ะและระบบพรรคพวก

Omiai : Arranged Marriage in Japan การเปลี่ยนสาระของกระบวนการแต่งงานผ่านแม่สื่อที่แม้เจตนารมณ์ของผู้ที่จะแต่งงานจะได้รับการเอาใจใส่มากกว่าเดิม แต่สาระหลักของการมีแม่สื่อที่ใช้รากฐานครอบครัวเป็นเครื่องมือกำหนด ก็ยังไม่ได้สูญหายไป ซึ่งยังผลให้อัตราการหย่าร้างไม่มากเท่ากับตะวันตก

Otogibanashi : Folktales of Japan อิทธิพลของนิทานพื้นบ้านที่ยังคงตอบคำถามถึงประเด็นทางสังคมในปัจจุบันได้ในเรื่องความงาม อุดมคติกับธรรมชาติ ซึ่งยังคงได้รับความนิยม ทำให้คนญี่ปุ่นรักษาความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์เอาไว้ได้เหนียวแน่น แม้อิทธิพลของสื่อตะวันตกจะถาโถมเข้ามามาก

Ryosaikenbo-"Good Wives and Wise Mother" : The Social Expectations of Women in Japan การจำแนกบทบาทในครอบครัวของชายและหญิงที่ยังคงมีรากของจารีตในวิถีชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น โดยสื่อต่างๆ โดยเฉพาะนิตยสารสตรี ได้เป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่หล่อหลอมบุคลิกภาพคนญี่ปุ่นออกมาชัดเจน

Sempai-Ishiki : Seniority Rules in Japanese Relations อิทธิพลที่ยังฝังรากลึกในเรื่องการให้ความสำคัญกับระบบอาวุโส ซึ่งอยู่บนรากฐานของวัยวุฒิ และลำดับชั้นทางสังคม ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของบุคคลมีความชัดเจน และลามไปถึงที่ทำงานด้วย กลายเป็นทั้งผลดีและผลเสียในเวลาเดียวกันได้

Shudan Ishiki : Japanese Group

Consciousness จิตสำนึกเรื่องการรวมกลุ่มและการตัดสินใจโดยกลุ่ม พร้อมกับทำงานอย่างสอดประสานอย่างรู้หน้าที่โดยไม่ต้องออกคำสั่ง เพื่อสร้างความภักดีผ่านกติกาที่กลุ่มกำหนด คือรากฐานที่แข็งแกร่งของการทำงานร่วม แต่ก็เป็นตัวการสกัดกั้นคนนอกอย่างมีประสิทธิภาพเกินคาด เสรีภาพของปัจเจกเป็นเรื่องฉาบฉวยเท่านั้น

Soshiki : Japanese Funeral การฝังแน่นกับความเชื่อในชีวิตหลังการตายจากอิทธิพลของหลายศาสนาและลัทธิ ทำให้จารีตของพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพของคนญี่ปุ่นค่อนข้างซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ค่อนข้างมาก

Uchi to Soto : Dual Meanings in Japanese Human Relations การใช้ภาษาเพื่อจัดระดับความสัมพันธ์ของผู้คนออกเป็น "คนใน" กับ "คนนอก" ของญี่ปุ่น (ซึ่งแตกต่างจากจีนที่จัดลำดับความสัมพันธ์เป็น "คนใกล้ตัว" กับ "คนไกลตัว") คือประเด็นปัญหาว่าเหตุใดคนญี่ปุ่นจึงมีความสัมพันธ์แบบห่างเหินกันคนต่างชาติแม้เป็นความสัมพันธ์ในระดับโลกอย่างกว้างขวาง ซึ่งต่างจากจีน

Wabi-Sabi : Simplicity and Elegance as Japanese Ideals of Beauty ความสละสลวยอย่างเรียบง่ายของศิลปะแบบญี่ปุ่น จากรากฐานที่ผสมผสานลงตัวระหว่างสุนทรียะกับการปลีกวิเวกจากความวุ่นวายอันเป็นอิทธิพลของนิกายเซน กำลังถูกท้าทายจากแนวคิดนิยมวัตถุแบบตะวันตกที่มาแรงขึ้นเรื่อยๆ

Zoto : The Japanese Custom of Gift Giving การให้ของขวัญตามเทศกาลและวันอันมีความหมาย นอกจากเป็นการแสดงออกความรู้สึกโดยไม่ต้องส่งภาษาและถ้อยคำแก่กันและกันแล้ว ยังมีมิติทางสังคมควบคู่ด้วยในฐานะเครื่องมือยืนยันความใกล้ชิดกันและกัน และคนญี่ปุ่นไม่ถือว่าการให้เงินเป็นเรื่องต้องห้ามแบบตะวันตก



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us