Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Guanxi (The Art of Relationships)
ผู้เขียน: Robert Buderi, Gregory T. Huang
ผู้จัดพิมพ์: Simon & Schuster
จำนวนหน้า: 306
ราคา: ฿451
buy this book

ลำพังเรื่องของบิลล์ เกตส์ กับเรื่องพัฒนาการเศรษฐกิจจีนร่วมสมัย ต่างก็ถือเป็นความน่าสนใจโดยตัวเองอยู่แล้ว

บิลล์ เกตส์ ถือเป็นสุดยอดของตัวแทนระบบทุนนิยมร่วมสมัยแบบอเมริกัน ความสำเร็จในการบุกเบิกไมโครซอฟท์ ให้กลายเป็นบริษัทซอฟต์แวร์หนึ่งที่เกือบผูกขาดโลกเข้าไว้ในกำมือ

ส่วนจีนที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องกัน 20 ปี โดยเฉลี่ยปีละ 10% และคาดว่าหากยังไม่หยุดโตเพราะมีเหตุบางประการจะมีเศรษฐกิจโตอันดับหนึ่งของโลก

การที่เกตส์และจีนหันมาจับมือกัน ก็ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา และเพิ่มความน่าสนใจมากขึ้นทวีคูณ

หนังสือเล่มนี้พูดถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากความพยายามของไมโครซอฟท์ที่ต้องการเจาะตลาดจีนในฐานะ "คนขายซอฟต์แวร์" แล้ว มากลายสภาพความสัมพันธ์แบบ "หุ้นส่วน" ด้วยการที่ไมโครซอฟท์เข้าไปตั้งสำนักงานวิจัยและพัฒนาในปักกิ่ง เพื่อทำการผลิตซอฟต์แวร์ขึ้นมา ด้านหนึ่งเพื่อป้อนตลาดจีน อีกด้านหนึ่งเพื่อเสริมความสามารถของบริษัทแม่ในการผลิตซอฟต์แวร์

จุดโดดเด่นที่ไม่คาดฝันก็คือ บริษัทวิจัยซอฟต์แวร์ในจีน ได้กลายเป็น "อาวุธลับ" ที่คาดไม่ถึง เพราะความสามารถเกินคาดของพนักงานและคนที่ไมโครซอฟท์จีนรับเข้ามา พัฒนาไปรวดเร็วเสียจนบริษัทแม่ไม่อาจปฏิเสธได้ และนี่นำมาซึ่งปัญหาที่ตามมา เพราะระบบบริหารแบบ "อาณานิคมใหม่" ที่รวมศูนย์อำนาจในบริษัทแม่ ผู้เขียนหนังสือนี้เริ่มต้นเรื่องไว้น่าสนใจถึงการเปลี่ยนกลยุทธ์ หลังจากที่บิลล์ เกตส์ เดินทางไปพบกับ เจียง เจ๋อ หมิน ซึ่งจีนแสดงนัยทางการเมืองไว้ชัดเจนว่าหากไมโครซอฟท์จะเดินหน้าฉันมิตรกับจีนยาวนาน ไมโครซอฟท์ต้องมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ "อบรม" คนจีนให้มีความรู้ โดยอาศัยฐานของทรัพยากรบุคคลที่มีมหาศาลให้เลือกใช้

กระบวนการคัดหาผู้บริหารที่เป็นหัวหอกจากคนอเมริกันเชื้อสายจีนเพื่อบุกเบิกธุรกิจ ตามมาด้วยการให้ผู้บริหารจีนแท้ขึ้นมารับผิดชอบงานเมื่อบริษัทลูกเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใต้คำขวัญ "ทำงานกับไมโครซอฟท์ เพื่อประโยชน์ของจีน" สะท้อนให้เห็นการทำงานที่มุ่งสัมฤทธิผลสไตล์ไมโครซอฟท์ได้ชัดเจนว่า กำลังก้าวเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ได้ราบรื่นและประสานประโยชน์

หากอ่านหนังสือเล่มนี้ใน 4 -5 บทแรก โดยไม่อ่านต่อจนจบ อาจจะทำให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า นี่คือหนังสือประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของไมโครซอฟท์ในจีน แต่เมื่ออ่านไปจนถึงบทก่อนสุดท้าย ในส่วนที่ว่าด้วยผลพวงที่ทำให้ผู้บริหารในปักกิ่งอึดอัดเสียจนกระทั่งส่งผลให้เกิดภาวะสมองไหลเกิดขึ้น ก็สะท้อนชัดว่า ไม่ใช่หนังสือประชาสัมพันธ์แน่นอน หากเป็นกรณีศึกษาที่มีสีสันอย่างแท้จริง แม้ในบทท้ายสุด จะยังคงกลับมาย้ำประเด็นที่ว่า การสูญเสียผู้บริหารบางคนไป ไม่ได้ทำให้บริษัทชะงักงันนวัตกรรมแต่อย่างใด

ผู้เขียนจบหนังสือด้วยการสรุปถึงบัญญัติ 6 ประการ ที่ผู้บริหารจีนซึ่งอำลาบริษัทไป ได้ระบุเอาไว้ในการทำงาน ซึ่งผู้บริหารบริษัทแม่ในอเมริกาต้องเตือนตัวเองเอาไว้ว่า การคบหากับจีนภายใต้ความสัมพันธ์ยาวนานตามชื่อหนังสือนั้น ต้องพยายามระวังไม่ให้เกิดความหวาดระแวง ซึ่งเป็นไปตามชื่อของหนังสือ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความหมายของคำว่า Guanxi (กว่านซื่อ) นั้น เป็นส่วนหนึ่งจารีตสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมอันลึกซึ้งในเชิงเอื้อประโยชน์หรือเอื้ออาทรของจีน อันประกอบด้วยองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ ความสัมพันธ์ของปัจเจกในฐานะตัวเชื่อมโยงเข้ากับองค์กรหรือสังคม (กว่านซื่อคือส่วนนี้) กับ ความเชื่อมโยงทางอารมณ์ที่ภักดีระหว่างบุคคลกับองค์กร (เรียกว่า กานฉิน แต้จิ๋วว่า กังฉิน) ซึ่งอย่างหลังนี้ แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมโดยผ่านการ "ให้ของ" (อาจจะหมายถึงสินบน หรือของขวัญ หรือเงินก้นถุง หรือของฝาก หรือบัตรอวยพร) โดยแกนกลางของความสัมพันธ์คือ "รักษาหน้า" หรือ "เชิดชูเกียรติ" กันและกัน

นั่นหมายถึงการลงทุนสร้างความเห็นหุ้นส่วนในระยะสั้น เพื่อหาทางใช้ประโยชน์จาก "ต้นทุนทางสังคม" ในระยะยาว แปลงจาก "คนไกลตัว" ให้เป็น "คนใกล้ตัว"

โดยนัยนี้ ผู้อ่านหนังสือก็สามารถที่จะอ่านระหว่างบรรทัดมากกว่าที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้นำเสนอมาก็คือ ภาพความสัมพันธ์ที่ไม่เปิดเผยระหว่างผู้นำจีนในปักกิ่งกับบิลล์ เกตส์ ที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน มากกว่าแค่การเป็น "หุ้นส่วนธุรกิจ" ธรรมดา

อย่างน้อยการวิเคราะห์ปนความเชื่อของคนอเมริกันบางคนที่ว่า อนาคตของบิลล์ เกตส์ หลังจากลาออกจากตำแหน่งบริหารสำคัญในไมโครซอฟท์เมื่อเดือนที่ผ่านมาแสดงชัดว่า หนีไม่พ้นเข้าไปอยู่บนเส้นทางการเมืองเพื่อเป็นประธานาธิบดีในอนาคตของอเมริกา ก็บ่งถึงเบาะแสว่า เหตุใดผู้นำจีนจึงยอมเปิดประตูกว้างของทำเนียบจง หนาน ไห่ แก่ บิลล์ เกตส์ มากเป็นพิเศษ

คุณค่าของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า ไมโครซอฟท์ร่ำรวยมากขึ้นเท่าใดจากจีน หรือจีนได้ประโยชน์อะไรจากบิลล์ เกตส์ แต่อยู่ที่การฉายภาพกระบวนการสร้างสัมพันธ์ทางธุรกิจที่สร้างโอกาสและอุปสรรคพร้อมๆ กันไปของคนจาก 2 ระบบทางสังคม

คุ้มค่าน่าอ่านสำหรับคนที่คิดจะทำธุรกิจกับจีนโดยตรง

รายละเอียดในหนังสือเล่มนี้

Proloque : The Mysterious Journey to China of The World's Richest man, and Other Stories ว่าด้วยการเดินทางพบผู้นำจีนหลายครั้งที่เปลี่ยนโฉมกระบวนทัศน์ของบิลล์ เกตส์ จากความไร้เดียงสาของคนที่คิดจะขายสินค้ามากลายเป็นความเข้าใจและสร้างหุ้นส่วนกับจีนเพื่อความมั่งคั่งในอนาคตร่วมกันผ่านการลงทุนสร้างฐานผลิตซอฟต์แวร์ในจีนเพราะมองเห็นว่าจุดเด่นของจีนไม่ใช่แค่ตลาดที่ยิ่งใหญ่ หากเป็นพลังความสามารถของคนที่ยิ่งใหญ่และมีจำนวนมหาศาล

Beast from the East ว่าด้วยกระบวนการทำงานและสร้างทีมอัจฉริยะใหม่ของไมโครซอฟท์เอเชีย สำนักงานวิจัยซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ในปักกิ่ง หลังจากการก่อตั้งสำเร็จ และคาดว่าจะเป็นขุมทรัพย์แหล่งใหม่ของไมโครซอฟท์ทั่วโลกในอนาคต โดยใช้ฐานความรู้ของไมโครซอฟท์บวกกับความมุ่งมั่นและกระตือรือร้นของพนักงานจีน

The Bell Laps of China ว่าด้วยไอเดียเริ่มแรกของการก่อตั้งฐานผลิตไมโครซอฟท์ในจีนอันเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของบิลล์ เกตส์ หลังจากที่ควานหาแหล่งผลิตใหม่เรื่อยมาจากยุโรปและเอเชียอื่นๆ จนพบว่าเงื่อนไขที่จีนน่าสนใจกว่าที่อื่นๆ ภายใต้โจทย์สำคัญว่า จะฝ่าฟันอุปสรรคเรื่องภาษาและวัฒนธรรมการทำงานได้เพียงใด ซึ่งคำตอบคือหาผู้บริหารเชื้อสายจีนที่ตอบโจทย์ได้ชัด จึงสามารถตั้งเป้าหมายธุรกิจ

From Beijing to Bill G. ว่าด้วยการช่วงชิงโอกาส และเอาชนะอุปสรรคในการสร้างทีมงานเชื้อสายจีนเพื่อเข้ามาสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ที่ปักกิ่ง ท่ามกลางการแข่งขันจากคู่แข่งทั้งในจีนและต่างชาติ จนในที่สุดก็สามารถสร้างแผนธุรกิจเพื่อเสนอกรรมการในอเมริกา เพื่อให้อนุมัติโครงการหลังจากที่ตรวจสอบพบว่า มีความเป็นไปได้สำหรับการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ แม้จะใช้เงินมหาศาล

Mocrosoft's Chinese Heart ความสำเร็จในการสร้างทีมงานปีแรกส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจีนอย่างมหาศาลเพราะทีมนี้ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูงในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้กับไมโครซอฟท์ในอเมริกาอย่างมาก จนกระทั่งผู้นำคนแรกในจีนได้รับตำแหน่งใหญ่ในอเมริกา

Ya-Qin Dynasty ผู้สร้างทีมรุ่นที่สองของไมโครซอฟท์ในจีนที่ใช้กลยุทธ์ "ผู้ยิ่งใหญ่เขาเหลียงซาน" มาใช้ในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับแล็บวิจัยในมหาวิทยาลัยสำคัญในจีน เพื่อสร้างบุคลากรในอนาคต พ่วงกับการบุกเบิกสร้างงานวิจัยซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ได้สร้างนวัตกรรมธุรกิจขึ้นมาภายใต้คำขวัญ ทำงานกับไมโครซอฟท์ เพื่อประชาชนจีน กลบกระแสในช่วงที่บริษัทแม่ถูกโจมตีอย่างหนักเรื่องผูกขาดธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรมในอเมริกาและยุโรป

The Great Wall and Other Microsoft Creations ก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่เปรียบกับทำลายกำแพงเมืองจีน เมื่อไมโครซอฟท์จีนเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นไมโครซอฟท์เอเชีย หมายถึงการยอมรับความสำคัญในฐานะฐานวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ของภูมิภาค ซึ่งจะกลายเป็นศูนย์กลางของนักวิจัยที่มาจากทั่วเอเชีย และจับมือกับรัฐบาลจีนสร้างวิทยาลัยซอฟต์แวร์ขึ้นทั่วประเทศเพื่อผลิตบุคลากร

Microsoft Made in China ก้าวใหม่ของแนวคิดในการทำให้งานวิจัยกลายเป็นเทคโนโลยีเพื่อการค้าให้ได้เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์พกพา โดยใช้จีนเป็นโมเดลทดลองเริ่มต้นจริงจัง เพราะมีตลาดขนาดใหญ่ที่สามารถพลิกแพลงให้ทดลองได้เต็มที่ ภายใต้บริษัทใหม่ ATC

The Curious Inventions of Jian Wang ก้าวใหม่ของการทดลองวิจัยเพื่อสร้างหมึกดิจิตอลสำหรับ universal pen ที่จะมาแทนเมาส์ ซึ่งกำลังจะตกสมัยไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีอนาคตภายใต้ชื่อรหัสว่า Windsor ที่เป็นผลผลิตจากจีนเต็มรูป

Search War สงครามเสิร์ชเอ็นจิ้นที่กำลังมาแรงสุดในจีนและมีกำไรมหาศาล ทำให้ไมโครซอฟท์เข้ามีบทบาทอย่างแข็งขันเพื่อสร้างช่องทางใหม่ในการแข่งขัน หลังจากที่ตกเป็นเบี้ยล่างรายอื่นที่ใหญ่กว่ามาตลอดทั่วโลก โดยวางยุทธศาสตร์ให้บริษัทวิจัยจีนเป็นอาวุธลับและกำลังภายในสำหรับสู้ทั่วโลก ซึ่งคาดว่าในปี 2007 จะปรากฏโฉมออกมาสร้างความตื่นตะลึงให้โลกอีกครั้งผ่าน MSN

The Further Adventures of One-Handed Jordan and Mr.Magneto การพัฒนาคนครั้งใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ "ทำงานหนัก แต่เล่นหนักกว่า" ของไมโครซอฟท์จีน เพื่อเค้นเอาความสามารถนอกกรอบของพนักงานออกมาให้เหนือกว่าคู่แข่งให้ได้ กลายเป็นจุดเด่นใหม่ในการพัฒนาพนักงานที่น่าศึกษา เพราะทำให้มีนวัตกรรมแปลกออกมามากกว่าเดิม

Battle over Kai-Fu Lee การหลงเพลินกับความสำเร็จของทีมงานจีนจนละเลยจุดอ่อนเรื่องพนักงานบางประเด็น ทำให้ไมโครซอฟท์เรียนรู้ที่จะถูกฉกตัวพนักงานอัจฉริยะจากคู่แข่งมากขึ้นโดยเฉพาะรายสำคัญที่เหนือกว่าไมโครซอฟท์ในธุรกิจเสิร์ชเอ็นจิ้น ได้แก่ กูเกิ้ลที่ยื่นข้อเสนอในการทำงานท้าทายมากกว่า และศึกษาความผิดพลาดของบริษัทหลายประการที่เป็นจุดบอดซึ่งสำนักงานใหญ่ในอเมริกามองไม่เห็น

How to Make It in China หลังการสูญเสียพนักงานระดับสูงในจีนของไมโครซอฟท์ มีการเปิดเผยสูตรลับ 6 ประการเบื้องหลังความสำเร็จของไมโครซอฟท์ในจีน 1) การรักษาสัญญาในความสัมพันธ์ 2) การเสียสละก่อน แล้วเก็บเกี่ยวผลทีหลังในฐานะเพื่อน 3) ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างชาติและพนักงานส่วนใหญ่ต้องเป็นคนจีน เพื่อแสดงความให้เกียรติ โดยเฉพาะเรื่องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้คนท้องถิ่น 4) เข้าใจกติกาของจีนให้ดี ยืดหยุ่น และรอบคอบ 5) ต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในตลาดจีนแข่งขันกับโลกได้ 6) ภาพลักษณ์ของบริษัทมีโอกาสเสี่ยงหากสูญเสียพนักงานที่มีความสามารถเพราะบริษัทไม่สร้างความภักดีให้เกิดขึ้นยาวนาน



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us