Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
God’s Soldiers
ผู้เขียน: Jonathan Wright
ผู้จัดพิมพ์: Image Books
จำนวนหน้า: 337
ราคา: ฿729
buy this book

ยุคที่นักการตลาด หรือคนที่วางแผนธุรกิจมาถึงทางตันกับกรอบกลยุทธ์แบบเดิมๆ ที่จะเอาชนะการแข่งขันได้ และกำลังวนเวียนกับการผสมผสานแนวทางเดิมเสียจนพัลวันไปหมด การมองหาแสงสว่างปลายอุโมงค์จากความสำเร็จที่ "ยั่งยืน" ของศาสนจักรที่มีการจัดองค์กรระดับโลก ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนศรัทธาของสาวกอย่างไม่ขาดสาย ท่ามกลางมรสุมรอบด้าน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่เริ่มมาแรง

ในยุคที่น้ำมันขาดแคลน ดอลลาร์ตกต่ำ การค้าอลหม่าน และเงินเฟ้อทะลุเป้าครั้งใหม่ นักธุรกิจจำต้องเรียนรู้กรอบของโลกนอกแวดวงตัวเองให้มากขึ้น เพราะวิสัยทัศน์เป็นเรื่องที่ไม่อาจเกิดขึ้นจากกรอบความคิดแคบๆ หรือจากการอ่านหนังสือประเภท "จานด่วน" หรือ "ชงพร้อมดื่ม" ซึ่งให้แต่ความรู้ขยะเสียมากกว่า

ข้อเสนอแนะเรื่อง Holistic Marketing หรือ Evangelistic Marketing ดูเหมือนว่าจะเป็นทางเลือกที่ถือเป็นนวัตกรรมที่ได้รับความนิยมและยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยความจริงแล้ว นี่ไม่ถือเป็นนวัตกรรม แต่เป็นกระแสแนวคิดแบบ "สมัยใหม่ตอนปลาย" หรือ post-modernism เท่านั้นเอง ซึ่งโดยทั่วไปที่เห็นกันก็คือ หยิบสาระเก่าเอามาประยุกต์ใหม่ให้เหมาะกับกระแสนิยมร่วมสมัยเท่านั้น แต่ไม่ถึงกับเป็น "เหล้าเก่าในขวดใหม่" อย่างที่พูดกัน หากถือเป็นการแปลงกายและประดิษฐ์ใหม่จากซากเก่า อันเป็นแนวทางที่ลัทธินิวเอจ (New Age Cult) ทั้งหลายนิยมกันทั่วทุกมุมโลกยามนี้

ศาสนาและปรัชญาเก่าแก่ จึงถูกนำมาใช้ใหม่ เพื่อสนองตอบความต้องการแหวกจากการซ้ำซากของวิธีคิดและธุรกรรม ตัวอย่างเช่น Nike หรือ Oracle ที่ตั้งชื่อแบรนด์จากเทพธิดาหรือตำนานกรีกโบราณมาผสมกับความสามารถด้านอื่นๆ จนประสบความสำเร็จโด่งดัง

หนังสือเล่มนี้ นำเรื่องราวองค์กรจัดตั้งของคริสต์ศาสนจักรในดินแดนนอกยุโรปที่เคยรุ่งเรืองในฐานะ "กองหน้าของพระเยซูคริสต์" ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เยซูอิต หรือสมาคมของพระคริสต์ (Institutum Societas Jesu) ก่อนจะถูกมรสุมกระหน่ำเสียจนเกือบจะล่มสลาย แล้วก็กลับฟื้นคืนมาสู่สถานะใหม่ในปัจจุบัน ในฐานะองค์กรที่วาติกันยังไม่อาจปฏิเสธได้

ผู้เขียนเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่สนใจกับการตั้งคำถามสำคัญว่า องค์กรจัดตั้งเพื่อเผยแผ่ศรัทธาของคาทอลิกระดับโลกนี้ ผ่านความรุ่งเรือง ล้มเหลว และความอลหม่านของยุคสมัยต่างๆ มาได้ยาวนานกว่า 400 ปี ได้โดยอาศัยปัจจัยอย่างใดบ้าง เพื่อที่จะฉายภาพให้เป็นบทเรียนว่า องค์กรธุรกิจสมัยใหม่ จะสามารถปรับสภาพแบบเดียวกันได้มากน้อยเพียงใด

ความน่าสนใจของเนื้อหาขององค์กรจัดตั้งที่ไม่ใช่การแยกนิกาย แต่เริ่มต้นด้วยจำนวนพระเยซูอิตจำนวนหยิบมือในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จากนั้นก็รุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว และในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ถูกปราบปรามอย่างหนักทั้งจากกษัตริย์และวาติกันเอง ในข้อหาว่าเป็นแหล่งซ่องสุมความคิดใหม่ "ที่เป็นภัย" ต่อรัฐและศาสนา จนกระทั่งเกือบล่มสลายไป แต่ในที่สุดก็กลับฟื้นคืนมากลายเป็นองค์กรใหญ่อีกครั้ง ด้วยจำนวนพระในสังกัดกว่า 2 หมื่นคน กระจายกันตามโบสถ์คาทอลิกทั่วโลก เป็นบทเรียนว่า องค์กรทุกองค์กรนั้น ต้องผ่านมรสุมและความสำเร็จมาด้วยกัน แต่การจัดการให้คงทนนั้น ต้องการมากกว่าแค่ศรัทธาอย่างเดียว หากต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นด้วย โดยเฉพาะสภาวะแวดล้อมทางอำนาจและผลประโยชน์ในโลกที่เป็นรูปธรรม

ในด้านการจัดการสมัยใหม่นั้น การจัดองค์กร ถือเป็นกลไกหนึ่งนอกเหนือจากความชัดเจนทางด้านศรัทธา ซึ่งรวมผสมกลมกลืนกันในฐานะ "วัฒนธรรมองค์กร" ซึ่งจะบอกให้รู้ว่า โอกาสของความสำเร็จและล้มเหลวนั้นจะช้าหรือเร็วเพียงใด

ความสำเร็จและล้มเหลวผ่านกาลเวลาหลายศตวรรษนับแต่ยุคของตำนานอันยิ่งใหญ่อย่าง นักบุญฟรานซิส ฮาเบียร์ (คนไทยส่วนใหญ่เรียกชื่อผิดเสมอว่า ฟรังซิส ซาเวียร์) ที่ปักธงแรกสุดบนดินแดนเอเชีย มาจนถึงความขัดแย้งระหว่างนักล่าอาณานิคมกับพระเยซูอิตนับครั้งไม่ถ้วน ตลอดจนถึงที่มาของการตัดสินใจทรยศนักบวชเยซูอิตของวาติกันที่มีต่อคณะนักบวชเยซูอิตทั่วโลกในช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาฟื้นฟูใหม่ในระยะต่อมา เมื่อศาสนาคาทอลิกกำลังต้องการสร้างองค์กรให้เป็น "ทางเลือกที่สาม" ในช่วงสงครามเย็น พร้อมกับกลยุทธ์ใหม่ในการสื่อสาร Contextualization (หมายถึง การสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายตามสภาพวัฒนธรรมของท้องถิ่น) ที่ปัจจุบันนักการตลาดชั้นนำทั่วโลกกำลังหมกมุ่นศึกษาอย่างเอาเป็นเอาตาย

เรื่องทั้งหลายที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ ยืนยันชัดเจนว่า 1) องค์กรจัดตั้งของวาติกันและคณะนักบวชคริสต์คาทอลิกนั้น มีการเมืองและผลประโยชน์เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งในฐานะธุรกรรมด้านจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ 2) องค์กรคณะเยซูอิตในดินแดนนอกยุโรปถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของพลังอิทธิพลที่ขับเคลื่อนลัทธิอาณานิคมตะวันตก ก่อนที่จะเปิดทางให้กับลัทธิจักรวรรดินิยมโลกในเวลาต่อมาถึงปัจจุบัน แม้ว่าเจตจำนงของคณะเยซูอิตจะแตกต่างจากนักล่าอาณานิคมอย่างสุดขั้วก็ตามที

บทเรียนจากหนังสือนี้ก็คือ แม้กระทั่งองค์กรที่ต้องการปลดเปลี้องจิตวิญญาณของมนุษย์ ก็ยังต้องพัวพันกับความสกปรกของมนุษย์อย่างไม่มีทางเลี่ยง

อ่านหนังสือเล่มนี้ พร้อมกับหาความรู้เรื่องสงครามครูเสด (หรือดูภาพยนตร์เรื่อง Kingdom of Heaven) พร้อมกับนวนิยายโด่งดังเกี่ยวกับพวก Knight Templar อย่าง Da Vinci's Code ก็จะได้อรรถรสอย่างมากมาย อย่างน้อยก็เกิดประกายปัญญา แม้ว่าหนังสือพวกนี้จะไม่ใช่หนังสือประเภท Business How To ก็ตามที

รายละเอียดในหนังสือ

Introduction : The Afterlife of Francis Xavier ว่าด้วยเรื่องย่อของชีวิตที่กลายเป็นตำนานอมตะของนักบุญคนอื่นๆ ฮาเบียร์ที่เดินทางเผยแผ่ศาสนาอย่างมหัศจรรย์ในเอเชีย และปักธงคาทอลิกในโลกนอกยุโรปได้อย่างมีความหมาย

Chapter 1 New Athletes to Combat God's Enemies : Jesuit and Reformations ว่าด้วยการถือกำเนิดองค์กรเยซูอิตโดยนักบวชโลโยลา ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปศาสนาและความ ขัดแย้งที่กำลังรุนแรงในยุโรปในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งส่งผลให้ 50 ปีแรกของคณะสงฆ์นี้เผชิญความยากลำบากนานัปการ แม้ว่านักบวชหลายคนในสังกัดจะสร้างตำนานอมตะเอาไว้เป็น ต้นแบบ

Chapter 2 One World Is Not Enough : The First Jesuit Century ความสำเร็จหลังจากผ่านการก่อตั้งมาได้ครบ 100 ปีแรก ที่เกิดจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกภาพโดยเฉพาะการฝึกอบรมนักบวชใหม่ต่อเนื่องยาวนานจำนวนหลายหมื่นรูป ผู้ซื่อพร้อมอุทิศตัวให้กับความยากลำบากในดินแดน "คนเถื่อน" ภายใต้แรงบันดาลใจของศรัทธาลึกความเข้าใจโลกทัศน์ในมุมกว้าง (เพราะไม่ปฏิเสธความรู้นอกโลกของวาติกัน) กลายเป็นองค์กรที่ทรงอำนาจขึ้นมาในศาสนาโดยปริยาย

Chapter 3 Over Many Vast Worlds of Water : The Jesuit Missionary Enterprise บทบาทหน้าที่คู่ขนานระหว่างพระเยซูอิต และนักล่าอาณานิคมคาทอลิกในเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา ทำให้บางครั้งแยกไม่ออกระหว่างความร่วมมือกันในการครอบงำชาวพื้นเมืองทั่วโลกอย่างเกื้อหนุนกัน ว่าใครเป็นกองหน้าและกองหลังกันแน่ นอกเหนือจากทำให้ตำนานเก่าอย่างเพรสเตอร์ จอห์น และดินแดนคาเธ่ย์เลือนหายไป ทำให้บางครั้งนักบวชเยซูอิตกลายเป็นเป้าสังหารของคนพื้นเมืองที่ไม่วางใจ

Chapter 4 Sometimes Sweetly, Sometimes with the Swords : Missionary Method อิทธิพลที่มากขึ้นขององค์กรเยซูอิต ในขณะที่ลัทธิอาณานิคมแพร่ขยาย ทำให้เกิดคำถามมากมายตามมาว่า ระหว่างการทำหน้าที่ในฐานะผู้ปกป้องจิตวิญญาณ และล้างบาปของมนุษยชาติกับสร้างความชอบธรรมให้กับนักล่าอาณานิคมนั้น เยซูอิตเน้นเรื่องไหนสำคัญกว่า ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างเยซูอิตกับผู้ปกครองอาณานิคมบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากบทบาทในสงครามครูเสดที่นักรบและนักบวชเป็นกลุ่มเดียวกัน นอกจากนั้น พระเยซูอิตยังทะเลาะกับพวกพ่อค้าและนักค้าทาสรุนแรงขึ้น เมื่อย่างเข้าสู่ศตวรรษที่สามของการก่อตั้ง

Chapter 5 Rhapsodies of Calumny : The Creation of the Anti-Jesuit Myth เมื่อพระเยซูอิตกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางนักล่าอาณานิคม การวางแผนโค่นอิทธิพลขององค์กรจึงเกิดขึ้นจากหลายทาง เริ่มด้วยข้อกล่าวหาว่า นักบวชทำตัวเป็นพ่อมดหมอผี และต่อมาก็เรื่องอื่นๆ จนกลายเป็นการลอบสังหารพระเยซูอิตอย่างเปิดเผย ด้วยข่าวลือแพร่สะพัดว่าพระเยซูอิตทำตัวสนับสนุนพวกต้านอำนาจรัฐ

Chapter 6 The Jesuit is No More : Enlightenment and Suppression ข้อกล่าวหาว่าโบสถ์เยซูอิต เป็นที่ซ่องสุมของพวก ต่อต้านรัฐและพวกแพร่แนวคิดที่เป็นอันตราย ทำให้รัฐในยุโรปร่วมมือกับวาติกัน ทำการปราบปรามนักบวชเยซูอิตอย่างรุนแรง ด้วยข้อหาไม่ชัดเจนว่า ต่อต้านสังคม และเกิดการทำลายโบสถ์ในอาณานิคมอย่างรุนแรงในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ตอนปลาย ทำให้องค์กรแตกกระจายไม่มีชิ้นดี เหลือเอาไว้แต่บางแห่งเท่านั้น ที่ต้องดำเนินการอย่างซุ่มซ่อน

Chapter 7 Styill on a Million Tounges : Jesuit Since 1814 การรื้อฟื้นองค์กรเยซูอิตขึ้นมาใหม่หลัง ค.ศ.1814 ในช่วงที่นโปเลียนมีอำนาจ และความคิดปฏิวัติแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนที่หวั่นไหวการเปลี่ยนแปลง พากันหันเข้าหาที่พึ่งศรัทธาทางศาสนามากขึ้น ทำให้ความจำเป็นที่ต้องสร้างพระเยซูอิตเป็นเรื่องต้องกระทำเพื่อสร้างพลังของวาติกันกลับคืนมา ในรูปแบบที่แตกต่างออกไป แม้จะถูกพวกโปรเตสแตนต์ตั้งป้อมต่อต้านอย่างหนักก็ตาม

Chapter 8 The Fifth Jesuit Century ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยทฤษฎีที่สั่นสะเทือนศาสนาของดาร์วิน ตลอดจนสงครามโลก 2 ครั้ง ทำให้วาติกันจำต้องหันมาสนับสนุนบทบาทขององค์กรเยซูอิตในฐานะทางเลือกแห่งศรัทธาของชาวโลกขึ้นมาอีกครั้ง โดยยอมรับเปิดกว้างทางความคิด เพื่อนำมาประยุกต์ให้ทันสมัยรับมือกับพลวัตทางวัฒนธรรมที่มากับพาณิชยกรรมรุนแรง โดยมีลักษณะประนีประนอมมากกว่าในอดีตหลายเท่า โดยเป้าหมายคือ อยู่ในโลกร่วมสมัยโดยไม่สูญเสียศรัทธาในพระเยซูเป็นสำคัญ



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us