Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Power vs. Force
ผู้เขียน: David R. Hawkins
ผู้จัดพิมพ์: Hay House
จำนวนหน้า: 341
ราคา: ฿736
buy this book

เวลาที่คนในอาชีพแพทย์หันมาเขียนหนังสือให้คนอ่าน ผู้คนคงจินตนาการล่วงหน้าว่า มันจะมีรสชาติฝาดเฝื่อนและแห้งแล้งพิกลจนกระทั่งไม่อยากแตะต้อง หลายคนคงไม่อยากหยิบขึ้นมาพูดถึงด้วยซ้ำ แต่หนังสือเล่มนี้ถือเป็นข้อยกเว้นอย่างแท้จริง

ผู้เขียนแม้จะเป็นแพทย์ชื่อดังและศึกษาวิชาที่ค่อนข้างจะเข้าใจยากสักนิด คือ วิชาว่าด้วยการทดสอบปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อกับระบบประสาท หรือ Kinesiology ก็จริง แต่วิธีการนำเสนอเนื้อหาและประเด็นที่เลือกมาให้ผู้อ่านนั้น ไม่ใช่เฉพาะพวก "แว่นหนา ตาโปน" ในเสื้อกาวน์อย่างแน่นอน แต่มุ่งเป้าไปให้ผู้อ่านที่เป็นคนทั่วไปได้เข้าใจและตรวจสอบสภาวะทางจิตของตนเองผ่านงานเขียนและวิจัยบางอย่างที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้

โดยเฉพาะผลของความเครียดจากสังคมและวิถีชีวิตประจำวันรอบด้านที่กดบีบจนกระทั่งภาวการณ์เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ซึ่งรับส่งทอดผ่านมาจากระบบประสาทและการควบคุมทางจิตของคนเราทุกวันนี้ แทบจะหาคน "ปกติ" ได้น้อยเต็มที โดยเฉพาะคนที่เริ่มวัยทำงานเป็นต้นไป

อาการผิดปกติเพราะโรคสังคม ไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านเลยและถือเป็นเรื่องเล็กอีกต่อไป เพราะในทางปรัชญาการแพทย์สมัยใหม่ ถือว่าการที่มนุษย์เหินห่างจากคำว่า "เล่น" และละทิ้งคติเก่าแก่ของอดีตจำพวก "จับปลา 2 วัน ตากแห 3 วัน" (ภาษิตจีนโบราณ) หรือ "ล่าสัตว์ 3 วัน กินเสบียง 4 วัน" หันมาถือคติคริสเตียน "ทำงาน 6 วัน หยุดพัก 1 วัน" กันไปหมดจนเกือบกลายเป็นกฎสากลไปแล้ว

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่บีบคั้นตัวเอง โดยเชื่อในจริยธรรมที่เรียกว่า work ethics เพื่อสั่งสมความมั่งคั่งในอนาคต ทำให้มนุษย์ยุคใหม่ตกเป็นเหยื่อของ "คำสาปในการทำงาน" ได้ทำให้ภาวะจิตใจทำงานอย่างผิดปกติมากขึ้นทุกขณะเมื่อความเครียดถูกสะสมพอกพูนขึ้น

เนื้อหาหนังสือเล่มนี้ นอกจากนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง code of hard working ที่มนุษย์ร่วมสมัยเราได้ประพฤติกันอยู่จนเกินเลยแล้ว ยังแสดงออกมาถึงสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมบางอย่าง ซึ่งอาจจะมีทั้งคนเห็นด้วยและต่อต้านได้

ผู้เขียนแบ่งหนังสือออกเป็น 3 ภาค จากทั้งหมด 24 บท โดยแต่ละบทมีความยาวไม่มากนัก แต่ละบทจะมีประเด็นที่ชัดเจนแยกย่อยให้เห็นกรณีศึกษาต่างๆ ที่ช่วยให้เข้าใจประเด็นอย่างถ่องแท้ ด้วยภาษาที่เรียบง่าย ไม่ใช้ภาษาเทคนิคทางการแพทย์มากเสียจนอ่านไม่รู้เรื่อง

แม้หนังสือเล่มนี้จะไม่อธิบายนิยามชัดว่า อำนาจ กับ กำลัง มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่อ่านไปแล้ว ผู้อ่านจะเข้าใจไม่ยากว่า อำนาจ หมายถึง พลังของจิตสำนึกที่แสดงออกมาทางบวก ในขณะที่ กำลัง หมายถึง พลังทางกายภาพที่แสดงออกทางลบ

กรอบความคิดของผู้เขียน ได้ก้าวข้ามขอบความรู้เดิมของตนทางการแพทย์ออกมา ด้วยการใช้ฐานข้อมูลจากการทดสอบกล้ามเนื้อมาย้ำว่า จิตใต้สำนึกนั้น สามารถเชื่อมโยงเข้ากับความรู้อื่นในบริบทของปรากฏการณ์ตอบสนองความคิด และอารมณ์ที่ถ่ายทอดกันไปมาได้ กลายเป็นกรอบเรื่องสหสาขาวิชาของความรู้ที่แปลกใหม่ ที่เรียกว่า paranormal อย่างน้อยก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมมนุษย์แต่ละคนจึงแสดงปฏิกิริยาตอบสนองโลกภายนอกต่างกันไป

สาระใหญ่ของหนังสือก็คือ การสื่อความระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายในของบุคคลที่แสดงปฏิกิริยาต่อกันและกันในรูปการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ โดยผ่านระบบประสาทสัมผัส ทำให้อำนาจและแรงของมนุษย์ในการสร้างสัมพันธ์ต่อตัวเอง และต่อผู้อื่นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และมีส่วนสร้าง "ความหมาย" ใหม่ๆ หรือตอกย้ำกับปรากฏการณ์ของ "จิตสำนึก" ต่อโลกภายนอกอย่างไร บทสรุปของผู้เขียนถือเป็น การเปิดเผยความลับภายในตัวตนของเราอย่างชนิดที่ไม่น่าเชื่อกันเลยทีเดียว

ข้อเสนอของผู้เขียนในเรื่องที่ว่า สิ่งที่เรียกว่าความจริงนั้นไม่จำเป็นต้องมีตัวตนจริง แต่หมายถึงสิ่งที่สามารถวัดคุณค่าออกมาได้ อาจจะโดยหน่วยสมมุติจากจินตนาการ ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ถือเป็นข้อสรุปทางปรัชญาแบบ "จิตนิยม" แบบเดส์คาตส์ ที่ท้าทายยุคสมัยอย่างมาก

ที่น่าประหลาดใจก็คือ บทที่ 4 ของหนังสือ มีการจำแนกและแปลงระดับของจิตสำนึก หรือมิติทางอารมณ์ ออกมาเป็นหน่วยในตารางลอการิทึมขั้นต่างๆ ออกมาจากระดับต่ำสุดคือ ความอาย (20 หน่วย) มลทินใจ (30) ไล่ขึ้นไปผ่านความห่วงใย ความเศร้า ความกลัว...ไปจนกระทั่งการตรัสรู้ อันเป็นระดับสูงสุดนั้น ท้ายสุด นำไปสู่ข้อสรุปที่ค่อนข้างคล้ายกันกับกระบวนวิธีสร้างสัญลักษณ์มือแบบอินเดียที่เรียกว่า มุถรา (mudra) ซึ่งพุทธศาสนานำมาสร้างเป็นปางต่างๆ ของพระพุทธปฏิมาอย่างสอดคล้องกันเลยทีเดียว นับว่าน่าประหลาดมาก ทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือว่าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับจิตประสาท จะย้อนกลับมาสู่อภิปรัชญาโบราณอีก?

ในบทที่ 23 พูดถึงประเด็นการพยายามเข้าถึงสัจจะทางความเชื่อในฐานะเป้าหมายของจิตสำนึก โดยยกกรณีของผู้ที่เชื่อในศาสนาสำคัญต่างๆ ของโลก พบว่า ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าใด ความเข้มข้นในการพยายามเข้าถึงสัจจะยิ่งถดถอยลง โดยมีตัวแปรอื่นเป็นตัวเสริม ซึ่งพบว่า แต่ละศาสนามีความเข้มข้นต่างกันโดยเฉพาะพวกนับถือคริสเตียน ซึ่งมีระดับต่ำที่สุด พอๆ กับพวกหัวรุนแรงมุสลิม แต่ที่สูงสุด ได้แก่ พุทธศาสนานิกายหินยานนี่เอง ซึ่งเป็นประเด็นให้สืบค้นต่อกันว่า ทำไม?

มีภาคผนวกท้ายเล่มอยู่เรื่องหนึ่ง ว่าด้วยขั้นตอนทดสอบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เพื่อพิสูจน์เจตนาของผู้กระทำหรือผู้เข้าทดสอบ ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่สนใจด้านนี้โดยตรง ส่วนนี้เข้าใจว่า เอามาเพื่อไขความกระจ่างว่า ข้อสรุปในหนังสือนี้ ไม่ได้ทำกันอย่างมั่วซั่ว หรืออาศัยจินตนาการอย่างเดียว แต่เป็น "วิทยาศาสตร์" อย่างแท้จริง และตรวจสอบได้

ถือเป็นหนังสือที่ "ต้องอ่าน" กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองกำลังเครียดเพราะวิกฤติเชิงโครงสร้างและจริยธรรมในห้วงยามนี้

รายละเอียดในหนังสือ

Part 1 Tools

Chapter 1 Critical Advances in Knowledge ว่าด้วยความเป็นมาและกระบวนวิธีการศึกษาศาสตร์ทางการแพทย์ใหม่ ที่เรียกว่า kinesiology ซึ่งจะใช้เครื่องมือทำการสร้างแผนที่สำรวจจิตสำนึกของคนแต่ละคนที่เข้าทำการทดสอบด้วยกระบวนการ attractor research ที่ส่วนใหญ่จะออกมาเป็นโครงสร้างที่เรียกว่า Lorenzo's butterfly ที่จะบ่งบอกบุคลิกของบุคคลที่แตกต่างกันไปชัดเจน

Chapter 2 History and Methodology ว่าด้วยความก้าวหน้าของกระบวนการทดสอบทางคลินิกในรอบ 20 ปีของวิชาดังกล่าว ที่พัฒนามาเป็นศาสตร์อันซับซ้อนและมีระบบแบบแผนมากขึ้น โดยให้ผลลัพธ์ในการทดสอบแม่นยำกว่ากระบวนการทางการแพทย์เก่าๆ

Chapter 3 Test Results and Interpretation ว่าด้วยกระบวนการตีความผลลัพธ์ของแผนที่บุคลิกภาพของคนจากการทดสอบด้านกล้ามเนื้อและระบบประสาท เพื่อค้นหาความเครียดทางจิตวิทยาของผู้ถูกทดสอบ ก่อนที่จะนำไปประเมินค่าและปรับปรุง

Chapter 4 Levels of Human Consciousness ว่าด้วยกระบวนการจัดระดับของจิตสำนึกที่ผ่านการดัดแปลงเป็นตารางลอการิทึม เพื่อจัดระดับจิตสำนึกตั้งแต่ต่ำสุดจนถึงสูงสุด มีทั้งหมด 17 ระดับ ตั้งแต่ต่ำสุด ความอาย จนถึงขั้นกลาง ความรัก และสูงสุดคือ ตรัสรู้

Chapter 5 Social Distribution of Consciousness Levels ว่าด้วยพัฒนาการของจิตสำนึกในมิติทางสังคม ซึ่งสามารถบ่งบอก ถึงกรอบของพฤติกรรมของกลุ่มสังคมที่ปัจเจกบุคคลสังกัดอยู่ได้ว่ามีภูมิปัญญา ปัญหา และระบบคิดอย่างไรบ้าง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตวิธีการปรับปรุงระดับให้ดีขึ้นของแต่ละคน

Chapter 6 New Horizons in Research ว่าด้วยการประยุกต์ความรู้ทางการแพทย์ใหม่นี้ เพื่อนำไปสู่ความรู้อื่นที่จำเป็น อาทิ ปัญหาทางสังคม ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น หรือความแตกร้าวทางกลุ่มสังคม ตลอดจนการทดสอบทางการผลิต อุตสาหกรรม และการตลาดใหม่ๆ รวมถึงปรัชญาใหม่ๆ ที่เพิ่มพูนปัญญาของผู้คนด้วย

Chapter 7 Everyday Critical Point Analysis กระบวนวิธีวิเคราะห์ปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อที่จะนำเอาบุคลิกที่ซ่อนอยู่ หรือแสดงออกมาโดยนัย ให้เปิดเผยออกมาโดยตรงสอดคล้องกับธรรมชาติและบุคลิกภาพตามธรรมชาติของแต่ละคน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตัวเองด้านต่างๆ และตั้งเป้าหมายชีวิตด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้ชีวิตลดความเครียดลงไม่เกิดปรากฏการณ์แบบที่ปรากฏในนิยายของดิกเก้นส์เรื่อง A Christmas Carol

Chapter 8 The Source of Power นิยามสั้นๆ ของอำนาจว่า เกิดขึ้นจากการให้ความหมายของการกระทำที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ และเข็มมุ่งของชีวิต เพื่อยกระดับทำให้ภาคภูมิใจและสง่างามมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเรื่อง Positivism ที่บอกว่า ไม่มีอะไรเป็นจริงในโลกนี้ ยกเว้นสิ่งที่สามารถบอกจำนวนนับได้ (ไม่มีก็ต้องแปลงให้เกิดเป็นหน่วยนับให้ได้) แต่ไม่ต้องการความยุติธรรม และไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับสิ่งอื่นเสมอไป

Part 2 Work

Chapter 9 Power Patterns in Human Attitudes ประสบการณ์ทั้งร้ายและดีของแต่ละคนในชีวิต จะก่อรูปเป็นแบบแผนของอำนาจที่ฝังแน่นในทัศนคติของแต่ละคน ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อใช้อ่านแผนที่จิตสำนึกได้ว่า ระดับของจิตสำนึกที่แท้จริงแต่ละช่วงเวลาที่ทดสอบเป็นอย่างใด

Chapter 10 Power in Politics อำนาจทางการเมืองมีแบบแผน ที่เริ่มด้วยพลังทางบวกของระดับจิตสำนึกขั้นสูงก่อน จากนั้นจึงถูกความเห็นแก่ตัวและการใช้กำลังทางลบทำลายความชอบธรรมลงไป กลายเป็นการต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นปัญหาของทุกอารยธรรมที่ต้องเผชิญและก้าวข้ามให้ได้

Chapter 11 Power in the Marketplace ประยุกต์แนวคิดเรื่องสำนึกในอำนาจในการตลาดสินค้าและบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเลือกของผู้บริโภค ซึ่งมีแรงจูงใจที่แตกต่างกันบนฐานของรางวัลและการลงโทษ

Chapter 12 Power and Sports กีฬาถูกสร้างขึ้นมาบนรากฐานของการสร้างความเหนือกว่าคู่แข่ง และความภาคภูมิใจกับความสำเร็จตามเป้าหมายของนักกีฬา ในขณะที่เป็นตัวกระตุ้นความมีวินัยและความรับผิดชอบให้กับคนดูที่มีอารมณ์ร่วม

Chapter 13 Social Power and the Human Spirit ประยุกต์จิตสำนึกเข้ากับอำนาจในมิติทางสังคมหลายด้าน โดยผ่านโปรแกรม 12 ขั้นสำหรับดัดแปลงจิตสำนึกซึ่งประสบความสำเร็จในกรณีแก้ปัญหาเสพติดเหล้า

Chapter 14 Power in the Arts การสร้างความสวยงามในงานศิลปะ เกิดจากการจัดระเบียบให้องค์ประกอบศิลปะผ่านเครื่องมือที่เหมาะสมบนความอลหม่านของอารมณ์ให้มีรูปร่างในจิตที่ชัดเจน เรียกว่า การกระตุ้นแรงบันดาลใจ และสร้างแบนแผนที่ทรงพลังออกมาเมื่อได้สัมผัส

Chapter 15 Genius and the Power of Creativity อัจฉริยะ หมายถึงคนที่เปล่งพลังสูงในจิตสำนึกออกมาอย่างสอดประสานกันและด้วยวิธีที่ฉีกจารีต เพื่อทำให้ผู้รับเกิดการเปลี่ยนการรับรู้อย่างฉับพลันในระดับเหนือกว่าปกติ ซึ่งเข้าข่าย "ทำในสิ่งที่อยาก ทำให้ดีที่สุด และทำจนสุดความสามารถ"

Chapter 16 Surviving Success การรักษาระดับความสำเร็จให้ยั่งยืน เพื่อเป็นผู้ชนะทางด้านบุคลิกภาพ โดยหลีกเลี่ยงจากการผนวกปัจจัยลบทั้งหลายแหล่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ พร้อมกับรักษาความมีน้ำใสใจจริง ความตื่นตัวต่อความรู้สึกของผู้อื่น และการดูแลคนรอบข้างอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการตระหนักว่า ฐานะของคนเรานั้น ขึ้นกับ "ทำอะไร" มากกว่า "มีอะไร"

Chapter 17 Physical Health and Power ภาวะโภชนาการที่เหมาะสม เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับจิตสำนึก เพราะคนที่สุขภาพแย่ มักจะมีแนวโน้มเกิดปัญหาทางจิตสำนึกบกพร่องง่ายกว่าคนปกติ

Chapter 18 Wellness and the Disease Process การมีสุขภาพกายและจิตที่ปกติ ปลอดจากโรค ถือเป็นการสร้างอำนาจที่มองไม่เห็นอย่างง่ายๆ เหมือนเส้นผมบังภูเขา เพราะทำให้ชีวิตมีการสอดประสานที่ดี และ "ตีนติดดิน" มากกว่าคนที่บกพร่อง

Part 3 Meaning

Chapter 19 The Database of Consciousness สิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า สระน้ำแห่งจิตไร้สำนึก คือฐานข้อมูลสำคัญที่สุดที่การทดสอบทางการแพทย์สามารถดึง หรือสแกนเอามาใช้ เพื่อการวิเคราะห์หาคำตอบที่เป็นไปได้ในการค้นหาความเครียดในตัวคนที่ทดสอบเพื่อเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ "ไม่รู้" เข้ากับสิ่งที่ "รู้" ด้วยการถ่ายโอนแนวคิดให้กลายเป็นรูปร่าง หรือประสบการณ์รูปธรรมที่มีเกณฑ์วัดได้

Chapter 20 The Evolution of consciousness จิตสำนึกของมนุษย์นั้นมีวิวัฒนาการสูงขึ้นช้ามากเมื่อเทียบกับพัฒนาการด้านอื่นๆ ของปัญญา และในแต่ละย่างก้าวของวิวัฒนาการ จะมีความเจ็บปวดเกิดขึ้นเสมอ เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนมักจะตายเสียก่อนที่จะเปลี่ยนจิตสำนึก เหตุผลหลักก็คือ คนส่วนใหญ่ในโลกยังคงพึ่งพากำลังมากกว่าอำนาจ ในพฤติกรรมต่างๆ ทำให้จิตสำนึกระดับสูงไม่แสดงศักยภาพออกมาตามที่ควรจะเกิดขึ้น

Chapter 21 The Study of Pure Consciousness ว่าด้วยกระบวนการศึกษาเพื่อค้นหาจิตสำนึกที่แท้จริงเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างกำลังทางกายภาพกับจิตสำนึกที่เป็นต้นธารของอำนาจ โดยวิธีการของวิชาแพทย์ที่ตรวจสอบได้จากประสบการณ์

Chapter 22 Spiritual Struggle ว่าด้วยกระบวนการอันซับซ้อนของการศึกษา เพื่อค้นหาทัศนคติ อารมณ์ และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับจิตสำนึก แล้วเอามาปรับเป็นเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้รับการทดสอบปรับพฤติกรรมสอดคล้องกับแผนที่จิตสำนึก เช่น การทดสอบทางคลินิกพบว่า คนที่ติดยาเสพติดจะไม่มีทางหายอยากเสพ ตราบใดที่ยังคงฟังเพลงเฮฟวี่ร็อกต่อไปเรื่อยๆ

Chapter 23 The Search for truth ว่าด้วยการสำรวจเพื่อทดสอบความเข้มข้นของอำนาจจิตสำนึกเมื่อเวลาผ่านไป โดยยกเอากรณีศึกษาเรื่องศาสนา ซึ่งเริ่มต้นด้วยศรัทธาอันแรงกล้าในการเข้าถึงสัจจะ จากนั้นจะค่อยๆ ลดระดับอำนาจลงไปเมื่อเวลาผ่านไปยาวนาน เนื่องจากการตีความที่บกพร่องของผู้สืบทอดเจตนา และมักจะสร้างกับดักทำให้สาวกรุ่นใหม่ๆ หลงเข้าไปติดยึดกับลัทธิหยาบๆ ที่แอบอิงไปกับสัจจะกลายเป็นโรคระบาดทางจิตสำนึก

Chapter 24 Resolution ความก้าวหน้าของกระบวนการทดสอบทางการแพทย์ของวิชา kinesiology ยืนยันความก้าวหน้าว่า หากมีการทดสอบที่ถูกต้องแล้ว จะทำให้ผู้รับการทดสอบสามารถยกระดับจิตสำนึกให้สูงขึ้นได้อย่างน้อย 35 หน่วย โดยเฉลี่ยยืนยันว่า จิตสำนึกนั้นเป็นกระบวนการเรียนรู้ได้ และช่วยให้เพิ่มความสามารถของคนในการจำแนกสัจจะออกจากมายาได้ และการปลดเปลื้องทุกข์ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน หากมีความมุ่งมั่น



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us