Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
The Economy of Cities
ผู้เขียน: Jane Jacobs
ผู้จัดพิมพ์: Vintage Books
จำนวนหน้า: 168
ราคา: ฿647
buy this book

หนังสือเล่มนี้ เขียนมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว ถือว่าค่อนข้างล้าสมัยสำหรับประเทศตะวันตกที่ผ่านพัฒนาการทางสังคมมายาวนานของยุคอุตสาหกรรม แต่สำหรับเมืองในประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเติบโตและไร้ระเบียบอย่างหนัก ถือว่าได้จังหวะพอดีสำหรับเศรษฐศาสตร์การจัดการเมืองให้เหมาะสม

กรอบความคิดในหนังสือเล่มนี้ ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติความคิดเก่าๆ ที่เชื่อกันว่า การทุ่มเงินพัฒนาชนบทเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้เท่าเทียมกันนั้น จะก่อให้เกิดสมดุลทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า เพราะผู้เขียนยืนยันว่า เป็นการสูญเปล่ามากกว่า เพราะความจริงแล้ว หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของสังคม จะพบว่า การกำเนิดขึ้นของชุมชนเมืองต่างหากที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาสังคมชนบท

ข้อเสนอทางทฤษฎีของผู้เขียนจึงเน้นว่า ต้องสร้างเมืองและทำให้เมืองเติบโตก่อน จากนั้นเมืองจะถ่ายโอนความเจริญและเทคโนโลยีไปให้แก่ชนบท โดยวิธีการแบ่งงานกันทำที่สำคัญเมืองที่เกิดขึ้นจากชุมชนการค้า หัตถกรรม และอุตสาหกรรมนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้ชนบทเกิดการปรับโครงสร้างและเลือกเอาเทคโนโลยีหรือการผลิตที่เหมาะสมเพื่อเกิดประโยชน์ร่วมกัน

การแบ่งงานกันทำในเมือง ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่ชัดเจนในการเติบโต และสร้างรายได้ให้กับชาวเมือง แต่นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า จะต้องมีการกระจายประเภทของการผลิตและการบริการออกไปให้กว้างขวางเต็มที่ เพื่อให้ชุมชนเมืองเติบโตอย่างยั่งยืน

ผู้เขียนย้ำว่า การแบ่งงานทำ อาจจะทำให้เมืองกระจายความมั่งคั่งและฝึกฝนความชำนาญในระยะยาว แต่ไม่ใช่หลักประกันการเติบโตต่อเนื่อง เพราะอาจจะเกิดการชะงักงันได้ ทางเลือกที่ผู้บริหารเมืองใหญ่ต้องเลือกทำก็คือ การพยายามสร้างกระบวนการผลิตเพื่อการส่งออกสินค้าและบริการไปยังแหล่งอื่นๆ ซึ่งภายใต้กระบวนการนี้ จะก่อให้เกิดการถ่ายโอนการผลิตไปสู่มือของผู้ผลิตรายย่อยในเขตเมืองมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็จะมีการเชื่อมโยงโดยนำเข้าสินค้าจากแหล่งนอกเมืองเข้ามาเพื่อผลิตส่งออกซ้ำอีก ทำให้เมืองเร่งการเติบโตไม่หยุดนิ่ง และมีการจ้างงานต่อเนื่อง

หากจะให้ดีกว่านั้น ก็คือ ต้องมีกระบวนการเร่งสร้างการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากภายนอกขึ้นมาพร้อมกันไปด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้เมืองขยายตัวแนวระนาบกว้างไปอีก

กรอบความคิดของผู้เขียน มีรากฐานสนับสนุนที่ชัดเจน เช่นกรณีของเมืองเบอร์มิงแฮมในอังกฤษ ที่มีการเติบโตไม่หยุดนิ่ง เพราะไม่ได้ผูกพันเมืองเข้ากับธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียว แต่กระจายไปอย่างหลากหลาย

นอกจากนั้น ผู้เขียนยังเห็นอีกว่า การกระจายความมั่งคั่งของเมืองนั้น ต้องการความหลากหลายทางชนชั้นของคนในเมืองด้วย ซึ่งหมายความว่า เมืองจะต้องมี "แรงงานสำรอง" ของชนชั้นรากหญ้าที่ยากจนปะปนอยู่ด้วย เพื่อป้องกันมิให้ค่าแรงหรือต้นทุนของการใช้ชีวิตในเมืองสูงเกินไปจนกระทั่งคนในเมืองอยู่ไม่ได้ ต้องอพยพไปอยู่เมืองอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เมืองหยุดการเติบโตได้ในระยะยาว

ความเห็นดังกล่าว อาจจะทำให้บรรดานักสังคมสงเคราะห์ และนักสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนพากันตั้งข้อรังเกียจหนังสือเล่มนี้ได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อมองเข้าไปในสังคมเมืองปัจจุบัน ก็จะเห็นชัดเจนว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องปฏิเสธได้ยากพอสมควร

ความเห็นที่ค่อนข้างแปลกอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่เรื่องการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งผู้เขียนมองว่า ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในเมืองที่ชัดเจน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความแออัด อยู่ที่การจัดการไม่เหมาะสมมากกว่าเป็นปัญหาโดยตรง เพราะจำนวนพลเมืองที่มากขึ้น หมายถึงกำลังแรงงานและกำลังซื้อที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการเฟื่องฟูขึ้นต่างหาก

สิ่งที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างมากก็คือนโยบายทุ่มเงินไปลงในชนบทด้วยการสร้างโรงงาน หรือสร้างสาธารณูปโภคที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการผลิตเดิมของชนบทเพราะอาจจะเป็นการสูญเปล่าได้ง่าย เนื่องจากไม่มีวิถีการผลิตและวัฒนธรรมมารองรับ และอาจจะช่วยให้เกิดการเติบโตเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้นเอง

หนังสือเล่มนี้ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักการเมือง หรือ ผู้รับผิดชอบเมืองที่กำลังจะมีการกระจายอำนาจการบริหารไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น เพราะจะช่วยสร้างวิสัยทัศน์ได้เหมาะสมว่า ควรทำอะไรก่อนหลัง เพื่อจะได้ไม่เกิดความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างน้อยก็จะได้เตรียมรับมือในกรณีที่นโยบายไม่เป็นไปตามที่คาดหมายเอาไว้

อ่านหนังสือเล่มนี้ อาจจะไม่ได้ตัวอย่างรูปธรรมสำหรับเมืองยุคใหม่ได้ดีพอ ดังนั้น หากจะให้ครบถ้วนต้องอ่านหนังสืออีก 2 เล่มที่มีเนื้อหาสอดคล้องกันและทันสมัยกว่า ได้แก่ The Image of the City (Kevin Lynch) และ The City Shaped : Urban Patterns and Meanings Through History (Spiro Kostof)

รายละเอียดในหนังสือ
Chapter 1 Cities First-Rural Development Later อธิบายกรอบคิดของผู้เขียนที่ยืนยันโต้แย้งวิธีการคิดที่ผิดพลาดของนักเศรษฐศาสตร์พัฒนาการที่ว่า สังคมชนบทคือรากฐานของการเติบโตของเมือง เพราะความจริงจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์แล้ว ตรงกันข้าม เมืองที่ใหญ่ และมีการแบ่งงานกันโดยการผ่องถ่ายต่อเป็นทอดๆ ต่างหากคือรากฐานการเติบโตและพัฒนาเทคโนโลยีของชนบท โดยยกตัวอย่างเมืองโบราณในตุรกีเป็นหลักฐานตั้งแต่ยุคหินใหม่

Chapter 2 How New Work Begins กล่าวถึงกระบวนการแบ่งงานกันทำของชุมชนเมือง ซึ่งจะทำให้งานมีการถ่ายโอนจากงานเดิมไปสู่งานใหม่ ผ่านกระบวนการ "แตกตัว" ของกลุ่มพนักงาน ในองค์กรเก่าไปตั้งองค์กรใหม่ หรือนำเอาสินค้าหรือบริการเก่ามาประยุกต์ใช้ใหม่เพื่อประโยชน์แตกต่างออกไป ที่เรียกว่า putting out system เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

Chapter 3 The Valuable Inefficiencies and Impracticalities of Cities การพัฒนาที่ไม่สมดุลระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจและช่องว่างของการกระจายรายได้ทางสังคม แทนที่จะเป็นผลเสียเสมอไป บางทีกลับกลายเป็นโอกาสเพราะก่อให้เกิดพลวัตใหม่ๆ ขึ้นมาต่อเนื่อง เนื่องจากความขัดแย้งอาจจะนำไปสู่การริเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้มากขึ้น ขณะที่เมืองที่มีความสมบูรณ์พร้อมมากเกินไป อาจจะก่อให้เกิดการอิ่มตัวและการเพิ่มต้นทุนในการจ้างงานและค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพมากเกินขนาดได้

Chapter 4 How Cities Start Growing ว่าด้วยจุดเริ่มการขยายตัวของเมืองใหญ่อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ในระลอกที่สอง เนื่องจากความสามารถในการผลิตเพื่อส่งออกและนำเข้าสินค้าหรือบริการที่เชื่อมโยงกับหน่วยผลิตชิ้นส่วนหรือซัปพลายเออร์ขนาดเล็กกว่าในเมืองหรือแหล่งผลิตอื่นๆ โดยกระบวนการทางเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่ซ้ำกับกระบวนการเดิม ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงานสำหรับแรงงานรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาด เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และสร้างโอกาสใหม่ด้วย

Chapter 5 Explosive City Growth ตัวเร่งขั้นตอนต่อไปหลังจากการเริ่มส่งออกสินค้าจากเมืองแล้ว การนำเข้าเพื่อส่งออกซ้ำอีกครั้ง ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการที่เพิ่มแรงกระตุ้นให้เมืองขยายตัวเติบใหญ่กว่าเดิมอย่างรุนแรง ตราบใดที่ต้นทุนการนำเข้าและค่าขนส่งนำเข้า ไม่สูงเกินไปจนกระทั่งทำให้ต้นทุนการผลิตของเมืองสูงกว่าราคาจำหน่ายสินค้า และบริการนั้น แต่เมื่อใดที่การนำเข้ามีสัดส่วนสูงกว่าการส่งออก โอกาสที่เมืองจะเริ่มหยุดขยายตัวจะเกิดขึ้นชัดเจน เว้นเสียแต่ว่าเมืองจะสามารถนำสินค้าที่นำเข้านั้น มาสร้างกระบวนการต่อยอดเพื่อกระตุ้นแรงซื้อในเมืองเองอย่างรวดเร็ว

Chapter 6 How Large Cities Generate Exports ความหลากหลายของกิจกรรมและกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อผลิตต่อ และสนับสนุนการส่งออก โดยมีสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับและมีต้นทุนต่ำ คือ กุญแจสำคัญสำหรับการสร้างความเติบโตของเมืองให้ต่อเนื่อง ในขณะที่กระบวนการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า ก็เป็นช่องทางใหม่ที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตด้านเศรษฐกิจของเมืองไปพร้อมกัน

Chapter 7 Capital for City Economic Development แหล่งทุนและสถาบันการเงิน (โดยเฉพาะบริษัททุนร่วมเสี่ยง หรือทุนเพื่อการพัฒนา) ที่สนับสนุน โดยไม่เข้าไปหรือควบคุมกระบวนการผลิต (โดยสร้างกติกาที่ชัดเจนขึ้นมาเกี่ยวกับการถือครองหุ้น) เป็นหนึ่งในกุญแจสำหรับรองรับการเติบโตของการผลิตสินค้าและบริการของเมืองที่ขาดไม่ได้ แต่ต้องมีกติกาที่ควบคุมมิให้มีการส่งออกทุนเพื่อไปสนับสนุนการผลิตในเมืองอื่นขึ้นมา ยกเว้นในกรณีที่มีการเติบโตของเมืองมากพอที่จะมีทุนล้นเกินแล้ว ซึ่งจำต้องระบายออกไปเพื่อป้องกันมิให้มีการนำไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิตใหม่ ผลพวงของกระบวนการนี้คือ เมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญ จะกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการเงินสำคัญพร้อมกันไปด้วย

Chapter 8 Some Patterns of Future Development ก้าวต่อไปของการพัฒนาเมืองใหญ่ อยู่ที่การยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าและบริการแบบเหมารวม (mass) มาสู่การผลิตสินค้าและบริการแบบโดดเด่น (differentiated) เพิ่มมูลค่าให้กับกระบวนการผลิตและเพิ่มรายได้ อย่างยั่งยืนให้กับคนในเมือง ซึ่งจะเปลี่ยนโครงสร้างของเมืองให้มีหน่วยการผลิตที่มีขนาดเล็กลง และมุ่งไปสู่บริการมากขึ้น พร้อมกับกระจายการผลิตแบบเหมาไปสู่ชนบทหรือเมืองเล็กกว่าแทนเพราะมีต้นทุนต่ำกว่า เป็นการกระจายความมั่งคั่งที่เชื่อมโยงกันได้ ความขัดแย้งจะเคลื่อนย้ายไปเป็นระหว่างคนที่อยู่ในธุรกิจที่ลงรากฐานดีแล้วกับคนที่แสวงหารากฐานใหม่ในอนาคต



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us