Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Cash Nexus
ผู้เขียน: Niall Ferguson
ผู้จัดพิมพ์: Penguin Books
จำนวนหน้า: 553
ราคา: ฿831
buy this book

ชื่อของหนังสือเล่มนี้ค่อนข้างสะดุดตาให้หยิบจับมาอ่าน เพราะใครๆ ก็รู้ว่า เงินกับอำนาจนั้นเป็นความปรารถนาของผู้คนจำนวนมากในสังคมที่ต้องแย่งชิงกันมา เนื่องจากมีอุปทานจำกัด แต่ความต้องการไม่จำกัด

ไม่เพียงเท่านั้น คนเขียนหนังสือ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อังกฤษ ก็เคยมีผลงานโด่งดังในเรื่องสงครามโลกครั้งแรกในมุมการบริหารเศรษฐกิจ และประวัติตระกูลรอธไชลด์ เศรษฐียิวเยอรมันที่ครั้งหนึ่งอยู่เบื้องหลังลัทธิจักรวรรดินิยมอังกฤษมายาวนาน ก็ยิ่งน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

เพียงแต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ไปหลายบท ก็พบว่า ความจริงแล้ว ชื่อหนังสืออาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ไม่ยาก เพราะสาระของหนังสือเล่มนี้มุ่งไปที่การบริหารการคลังของรัฐประชาชาติสมัยใหม่ในการใช้จ่ายทางทหาร ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะต้องการเงินมหาศาลสำหรับการแข่งขันเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ซึ่งมักจะไม่เพียงพอ จนกระทั่งเป็นหนทางบีบคั้นให้รัฐบาลต้องหานวัตกรรมทางการเงินใหม่ขึ้นมาเพื่อระดมทุน

ข้อสรุปของผู้เขียนที่พยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างนวัตกรรมทางการเงินในโลกตะวันตกระยะ 200 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เข้ากับการสร้างแสนยานุภาพทางทหาร ถือเป็นมิติใหม่ที่นับว่าน่าสนใจไม่น้อย

อย่างน้อยก็ช่วยให้มองเห็นภาพของท่าทีหรือยุทธศาสตร์ระดับโลกของบรรดามหาอำนาจขนาดใหญ่ ที่เร่งสร้างความเหนือกว่าทางทหารในนามของการปกป้องสันติภาพ โดยผ่านกระบวนการใช้ตลาดเงินและตลาดทุน ทั้งตราสารหนี้ และตราสารการเงินอื่นๆ ให้เป็นประโยชน์ แม้ว่าการกระทำดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุผลของรัฐ จะมีคนต่อต้านในฐานะเป็นความฟุ่มเฟือยและสูญเปล่าทางเศรษฐกิจก็ตาม

เนื่องจากงานเขียนชิ้นนี้ มีลักษณะแปลกจากการเขียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโดยทั่วไป ตรงที่ผู้เขียนอาศัยข้อมูลที่มีอยู่อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ในชาติตะวันตก เพื่อเอามาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ผ่านตารางเวลา และสถิติต่างๆ ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า "ประวัติศาสตร์แนวใหม่" ดังนั้น จึงทำให้งานเขียนที่มีจุดเริ่มจากข้อมูลดิบและสังเคราะห์ผ่านสถิติต่างๆ ดูน่าสนใจและมีความน่าเชื่อถือมากกว่างานเขียนที่อาศัยเอกสารและข้อเขียนหรือความเห็นและคำบอกเล่าด้วยภาษาสามัญปกติของวิธีการทางประวัติศาสตร์เดิมๆ

มุมมองของผู้เขียนยืนยันด้วยสถิติว่า ประวัติศาสตร์ ของมนุษย์นั้นไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยสันติภาพ ความมั่งคั่ง และประชาธิปไตย แต่ตรงกันข้ามเพราะมีแต่ความรุนแรง ความยากจน และการลุแก่อำนาจของผู้นำ นอกจากนั้นวิกฤติทางการเมือง-ทางทหารที่ก่อตั้งขึ้นมาจากอคติทางศาสนา กฎหมาย และวัฒนธรรมนั้น นำพาสังคมโลกไปสู่สงครามและการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้นไม่สามารถให้หลักประกันได้เลยว่า จะทำให้โลกมีสันติภาพและเสถียรภาพ

ยิ่งกว่านั้น เขายังฟันธงต่อไปอีกว่า โลกาภิวัตน์จะไม่นำโลกไปสู่ความร่วมมือกันทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง แต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ที่มากยิ่งขึ้น

ข้อสรุปของผู้เขียนที่ทำให้หลายคนอาจจะต้องกลับมานั่งคิดและตั้งคำถามก็คือ เป็นเหตุผลหลักอย่างเดียวหรือไม่ ที่การคิดค้นนวัตกรรมทางการเงินของรัฐ เป็นหน้าที่ปฐมภูมิเพื่อรองรับความต้องการของยุทธศาสตร์ทางทหารเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อสร้างสวัสดิการและความมั่นคงทางสังคมแก่รัฐและประชาชน? และจริงหรือไม่ที่การแผ่ขยายจักรวรรดิโดยใช้สงครามเป็นเครื่องมือ (แบบที่อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี โซเวียต และอเมริกา กระทำมา) จะนำไปสู่การหุบตัวของจักรวรรดิ?

สำหรับคนที่สนใจใคร่รู้เรื่องบทบาทหน้าที่ของภาษีอากร ตราสารการเงิน ค่าเงิน และธุรกรรมการเงิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลไกหรือกิจการของรัฐ หนังสือเล่มนี้ให้รายละเอียดและคำอธิบายอย่างน่าสนใจดีมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนของอัตราดอกเบี้ย และตลาดหุ้น แม้ว่ารายละเอียดบางตอน อาจจะทำให้ผู้อ่านไขว้เขวออกไปจากประเด็นหลักของหนังสือไปพอสมควรก็ตาม

จุดโฟกัสของหนังสือเล่มนี้ที่มุ่งเน้นไปในเรื่องการบริหารทุนของรัฐกับสงคราม อาจจะให้ภาพหน้าที่ทางเศรษฐกิจมหภาพของรัฐบิดเบี้ยวไปมาก และทำให้ดูเหมือนจะลืมไปเลยว่าจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ และนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ ที่เน้นเสมอว่า หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของรัฐคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงาน และเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ หายไปไหนกันหมด

ความจริงแล้ว มันเป็นคนละมุมของภาพรวมเท่านั้นเอง เรื่องนี้ คนที่อ่านต้องเตือนตัวเองเสมอ เพราะไม่อย่างนั้นก็คงเชื่อตามข้อมูลที่ผู้เขียนนำเสนอประหนึ่งว่า รัฐทุกแห่งมุ่งทำสงครามเป็นหลัก ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะงบประมาณเพื่อการทหาร (สำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีการจัดการทางการคลังที่ถูกต้องและมีวินัย) นั้น ปัจจุบันถูกจำกัดเอาไว้ไม่ให้มากเกินจนไปแย่งส่วนอื่นๆ มากเกินจำเป็นอยู่แล้ว

เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับอ่านเพื่อทำความเข้าใจงบประมาณทางทหารในโลกปัจจุบันให้ลึกซึ้งมากกว่าเดิม (ซึ่งไม่เกี่ยวกับงบราชการลับ ที่หน่วยงานทางความมั่นคงบางแห่งชอบอ้างเพื่อหนีการตรวจสอบจากสาธารณะ อันเป็นข้อยกเว้นที่ต้องแยกพูดอีกต่างหาก)

เป็นหนังสือดีเกินคาดเล่มหนึ่งทีเดียว เมื่อเทียบกับราคาปก

รายละเอียดในหนังสือ
I n t r o d u c t i o n
ว่าด้วยกรอบมุมมองใหม่ในเชิงโครงสร้างเศรษฐศาสตร์การเมืองหลัง

ยุคมาร์กซ์ ที่มีตัวแปร 3 ประการให้พิจารณาคือ 1) การเติบโตทางเศรษฐกิจนำไปสู่การเฟื่องฟูของประชาธิปไตย 2) ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจเป็นเกราะคุ้มครองการเลือกตั้งใหม่บ่อยครั้ง 3) การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นกุญแจสำคัญในเวทีอำนาจระหว่างประเทศ ซึ่งผู้เขียนนำเอาตัวแปรว่าด้วยทุนมาพิจารณาในฐานะเครื่องมือเชื่อมโยงทางอำนาจภายใต้กรอบคำถาม 14 ข้อ โดยโยงเรื่องยุทธศาสตร์ทางทหารเข้ากับความเติบโตของทุน

Section One : Spending and Taxing

Chapter 1 The Rise of the Warfare State บทบาทของการสะสมทุนของรัฐแต่ละรัฐ มีเป้าหมาย (นอกเหนือจากบริหารประชาชน) หลักที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การสะสมเพื่อเตรียมทำสงคราม (ในอนาคต) และการชดเชยความเสียหายจากสงคราม (ในอดีต) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นต้นทุนที่ใหญ่กว่าการหามาได้จากภาษี และรายได้อื่นๆ ของภาครัฐ และอัตราเพิ่มของค่าใช้จ่ายทางทหารแต่ละปีจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเสมอ

Chapter 2 Hateful Taxes ที่มาของรายได้รัฐมาจาก 2 ทางคือ จากทรัพย์สินในธุรกิจที่รัฐถืออยู่ (รัฐวิสาหกิจ หรืออื่นๆ) และจากภาษี ซึ่งอย่างหลังจะเป็นตัวแปรสำคัญที่สนับสนุนความเข้มแข็งทางทหารได้มากที่สุด โดยที่ภาษีทางตรงและภาษีบริโภค จะเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญขึ้นเรื่อยๆ ในรัฐสมัยใหม่

Chapter 3 The Common and the Castle : Representation and Administration ความจำเป็นที่รัฐต้องหาทางเรียกเก็บภาษีจากประชาชนโดยเฉพาะภาษีทางตรง ให้มากที่สุด ทำให้บทบาทของรัฐประชาธิปไตยแบบตัวแทนในฐานะคนกำกับดูแลภาษีของประชาชน ต้องเพิ่มความสำคัญมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นตัววัดที่สำคัญว่า ประเทศใดเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่ากัน โดยผ่านระบบตรวจสอบงบประมาณภาครัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบบแบบนวนิยายของฟรานซ์ คาฟกา เกิดขึ้น โดยเป้าหมายคือ สร้างขีดจำกัดป้องกันรัฐใช้เงินไปในทางทหารมากเกินขนาด

Section Two : Promise To Pay

Chapter 4 Mountains of the Moon : Public Debts วิวัฒนาการของหนี้สาธารณะของรัฐในโลกนั้น เพิ่งเกิดขึ้นไม่เกิน 700 ปีเท่านั้นเอง เนื่องจากรัฐสมัยใหม่ต่างต้องการเงินที่มากกว่าภาษีรายได้มาทำสงครามขนาดใหญ่ ทำให้ต้องมีการ "บังคับกู้" ในรูปต่างๆ ก่อนจะพัฒนามาเป็นพันธบัตรเงินกู้ (เงินกู้ระยะยาว) และตั๋วเงินคลัง (เงินกู้ระยะสั้น) มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางแต่ละช่วงเวลา จนกระทั่งต้องหาทางสร้างกติกากำหนดวินัยทางการคลังภาครัฐขึ้นมา เพื่อป้องกันเศรษฐกิจและค่าเงินล้มละลาย

Chapter 5 The Money Printers : Default and Debasement การเมืองว่าด้วยเงินเฟ้อและปริมาณเงินของธนาคารกลาง ที่เกี่ยวข้องกับหนี้และรายได้ภาครัฐ การเติบโต และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในประวัติศาสตร์ของรัฐประชาชาติในยุโรปและอเมริกา ซึ่งผู้เขียนมีข้อสรุปว่า อัตราดอกเบี้ยนั้นแหละคือภาษีสำหรับเงินเฟ้อรูปแบบหนึ่งที่คนกู้เงินต้องจ่าย เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเบี้ยวหนี้ โดยธนาคารจะเป็นคนส่งสัญญาณด้วยตัวเองให้ตลาดเงินรับทราบ

Chapter 6 Of Interest ว่าด้วยการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย ที่เกี่ยวโยงถึงความต้องการก่อหนี้ภาครัฐ ที่ปรากฏในทฤษฎีเช่น Gibson paradox หรือ Fisher Effect ซึ่งมีรากฐานสำคัญจากค่าใช้จ่ายทางทหารเป็นแรงขับสำคัญ ถือเป็นการบริหารหนี้ภาครัฐที่มีนัยลึกซึ้ง ที่ดูได้จากเส้น yield curve ของพันธบัตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นอัตราของความกังวลเกี่ยวกับการเบี้ยวหนี้ของรัฐบาลได้ชัดเจน ยืนยันชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์ทางการเมืองการทหารในแต่ละช่วงเวลามีสหสัมพันธ์ลึกซึ้ง

Section Three : Economic Politics

Chapter 7 Dead Weights and Tax-eaters : The Social History of Finance การต่อสู้ทางผลประโยชน์ในเรื่องจ่ายภาษี และรับผลจากสวัสดิการของรัฐของชนชั้นต่างๆ ในแต่ละสังคมโดยถ้าคนมีเงินออมกับคนมีหนี้ ส่งผลให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐผันผวนได้ตามยุคสมัย ทำให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นศิลปะที่ยุ่งยาก และจบลงด้วยคำตอบที่ไม่มีชนชั้นใดพอใจ ซึ่งมักจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองได้

Chapter 8 The Myth of Feelgood Factor ว่าด้วยมายาของอารมณ์ทางสังคมเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของรัฐบาล เพราะความรู้สึกดีขึ้นหรือเลวลงในมาตรฐานการครองชีพ ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขอย่างเดียวได้ ไม่ใช่ตรงกับสูตร "ความสำเร็จทางเศรษฐกิจคือ คุณค่าสาธารณะ" เพราะโดยความจริงแล้ว นักการเมืองสร้างนโยบายสาธารณะขึ้นมาเพื่อเอาชนะในการเลือกตั้ง ไม่ใช่เอาชนะในการเลือกตั้งเพื่อไปผลักดันนโยบาย และความรู้สึกดี อาจจะไม่ได้หมายความถึงฐานะที่ดีขึ้นก็ได้

Chapter 9 The Silverbridge Syndrome : Electoral Economics การเลือกตั้งเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง หากไม่กำไรก็ขาดทุน พรรคและนักการเมืองจึงต้องคิดกลยุทธ์การตลาด เพื่อรณรงค์ "ขายตัวเอง" และจูงใจด้วยกระบวนการทดสอบส่งเสริมการขาย กิจกรรม และประเมินผล โดยมีบริษัทที่ปรึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยง เป้าหมายหลักคือเอาชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ใช่สูตรตายตัวเสมอไปว่า การกระทำนี้จะนำไปสู่การสมคบคิดคอร์รัปชันเสมอไป

Section Four : Global Power

Chapter 10 Masters ans Plankton : Financial Globalization ความสำคัญของกระแสโลกาภิวัตน์ในการเปิดเสรีตลาดพันธบัตรเพื่อทำให้ทุนไหลไปทั่วโลก ซึ่งสามารถใช้เป็นตัววัดความเสี่ยงทางการเมืองได้ทางหนึ่ง โดยดูจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ แต่ข้อสังเกตที่สำคัญก็คือ ยิ่งทุนไหลเสรีมากเท่าใด ยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างชาติร่ำรวยกับยากจนห่างเพียงนั้น เพราะทุนจะไม่ไหลไปยังประเทศที่มีผลิตภาพต่ำ หรือไม่มีอนาคตที่จะทำกำไรได้

Chapter 11 Golden Fetters, Paper Chains : International Monetary Regimes การเปลี่ยนมาตรฐานทางคุณค่าของทองคำ มาสู่กระดาษและพลาสติก พร้อมกับสร้างสหภาพทางการเงินร่วมระหว่างประเทศขึ้นมาเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างเสถียรภาพของค่าเงิน การค้า และเพื่อกระจายความมั่งคั่ง แต่นั่นก็ไม่ใช่หลักประกันได้เต็มที่

Chapter 12 The American Wave Democracy-s Flow and Ebb ต้นแบบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยของอเมริกา ถูกส่งออกกลายเป็นมาตรฐานสากลของการพัฒนาประเทศในโลกจนประหนึ่งว่า ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยเป็นของคู่กันชนิดแยกไม่ได้ แม้ว่าจะมีแรงต้านจากชาติในเอเชียที่วัฒนธรรมเดิมของสังคมยังถ่วงรั้งเอาไว้กับอัตตาธิปไตย

Chapter 13 Fractures Unities เอกภาพของชาติและคนในชาติที่เป็นมายา เพราะความหลากหลายและความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับอำนาจที่ยังคงดำรงอยู่ ซึ่งเกินขีดจำกัดของอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองจะจัดการได้โดยลำพัง ซึ่งยังผลให้การบาดหมางยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของโลก

Chapter 14 Underdogged : The Limits of Economic Power เมื่อข้อเรียกร้องทางอำนาจการเมืองมีต้นทุนที่สูงเกินกว่าอำนาจทางเศรษฐกิจของแต่ละชาติจะเอื้ออำนวยให้ในระยะสั้น ภาระในการหาเงินหรือระดมทุนมาสร้างกองทัพและสนับสนุนการทหาร ก็กลายเป็นวัฏจักรชั่วร้ายที่วนเวียนเกิดขึ้นในเขตทั่วโลก ดังจะเห็นได้จากงบประมาณทางทหารที่อยู่เหนืองบประมาณสวัสดิการสังคมหลายเท่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ว่า อาจจะนำมาสู่การพังทลายครั้งใหม่ของตลาดเงินตลาดทุน

C o n c l u s i o n
ผู้เขียนเสนอให้ให้พิจารณา 4 ตัวแปรหลักของเศรษฐกิจ (ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ผู้เสียภาษี ผู้มีเงินออม และเจ้าหน้าที่รัฐ) ว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะรองรับความต้องการใช้จ่ายภาครัฐในการใช้จ่ายทางทหาร และเป็นตัวตัดสินเสถียรภาพ และความยั่งยืนของตลาดเงินและของรัฐบาล ซึ่งยังมีคำถาม เพราะค่าใช้จ่ายมักจะเกินกว่าความสามารถรองรับเสมอ และเป็นคำถามว่า สันติภาพของโลกจะยั่งยืนได้เพียงใด



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us