|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
The 80/20 Individual
ผู้เขียน: Richard Koch
ผู้จัดพิมพ์: Doubleday
จำนวนหน้า: 247
ราคา: ฿622
buy this book
|
|
|
|
ผู้เขียนหนังสือประเภท How to เล่มนี้ เคยโด่งดังมากับหนังสือเล่มแรก THE 80/20 PRINCIPLE ที่หยิบเอาหลักการของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวอิตาเลียน วิลเฟรโด พาเรโต เจ้าของทฤษฎี Pareto Efficiency (ที่บอกว่า ในช่วงเศรษฐกิจดีขึ้น หากมีคนกลุ่มหนึ่ง 20% ได้มากขึ้น สวัสดิการสังคมจะเข้าสมดุลเมื่ออีกคนอีกกลุ่มหนึ่ง 80% เสียประโยชน์) มาดัดแปลงเสียใหม่ ภายใต้สมมุติฐานสำหรับกระบวนการตัดสินใจใหม่ที่เรียกว่า Juran's assumption (เอามาจากชื่อของนักคิดทางด้านการบริหารชื่อ Joseph M. Juran)
กฎที่ผู้เขียนสร้างเองเออเองจนโด่งดังนี้ ปัจจุบันเรียกว่า กฎแห่งส่วนน้อยที่ชี้เป็นชี้ตาย หรือ Law of Vital Few หรือไม่ก็ Principle of Factor Sparsity สุดแท้แต่จะเรียก
ที่โด่งดังมากขึ้นไปอีก ตรงที่พานเลยไปสรุปอีกว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็อยู่ภายใต้กรอบ 80/20 นี้ด้วย
ในเล่มนี้ ผู้เขียนก้าวไปไกลถึงขั้นยกระดับการวิเคราะห์สังคมเพื่อชี้ว่า สังคมและวัฒนธรรมแบบมวลชน (mass society & culture) นั้นได้คลี่คลายเติบใหญ่กลายเป็นสังคมแบบแยกส่วน (segmentized society) เสียจนกระทั่งวิธีการจัดการแบบเดิมๆ เช่นบรรษัทขนาดใหญ่ หรือการประเมินความสามารถโดยใช้เกณฑ์คุณภาพ ไม่สามารถนำมาใช้ได้อีกต่อไป
ข้อเสนอของผู้เขียนก็คือ ต้องนำหลักการเรื่อง 80/20 มาใช้เพื่อให้เหมาะกับการบริหารแบบแยกส่วนตามไปด้วย เนื่องจากองค์กรสมัยใหม่ จะต้องมุ่งไปให้ความสำคัญกับพนักงานในฐานะปัจเจกมากกว่าเดิม ไม่ใช่แค่ทรัพยากรมนุษย์ตามนิยามเก่าๆ ของฝ่ายบุคคลของบริษัทที่ใช้มายาวนาน
การคัดเลือกพนักงานโดยมุ่งไปที่การค้นหา "มนุษย์ทองคำ" ที่เป็นไปตามกรอบ 20% เพื่อที่จะก่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดเพิ่มขึ้น เพราะถือว่าคนเหล่านี้คือสมบัติมีค่าสูงสุดขององค์กร
ผู้เขียนเน้นไปที่ปัจเจกที่สร้างสรรค์ จะเป็นกุญแจสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จขององค์กร เพราะปัจจุบันถึงแม้ว่าในด้านหนึ่ง ข้อมูลข่าวสารจะเปิดกว้างให้การร่วมมือสะดวกมากขึ้น แต่ในมุมกลับ ก็ส่งผลให้ศักยภาพของปัจเจกในการทำงานถูกจำแนกชัดเจนยิ่งขึ้น ผลลัพธ์ก็คือ องค์กรกลายเป็นแค่เครื่องมือให้พนักงานแสดงศักยภาพออกมาเท่านั้น เกิดการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคที่ปัจเจกที่เก่งกาจสามารถแสดง "พลังที่มองไม่เห็น" ได้มากกว่าเดิมและมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเดิม เพียงแต่ต้องอยู่ในลักษณะของปัจเจกที่ร่วมมือกับผู้อื่นได้ดีด้วยเท่านั้น
หน้าที่ของผู้บริหารองค์กรสมัยใหม่ ตามทัศนะของผู้เขียนจึงอยู่ที่การค้นหาสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า "เหล็กเดือย" ขององค์กร หรือพลังโดดเด่น 20% ในองค์กรให้พบ แล้วเพิ่มพลังเข้าไปในส่วนนั้น เช่น ทดสอบทัศนคติ ค้นหาความคิดสร้างสรรค์ คัดเลือกพนักงานดีเด่น ฝึกอบรมพนักงาน และกระตุ้นพนักงานเป้าหมาย หลังจากนั้นก็หาวิธีจัดการกับ 80% ที่ไม่มีประสิทธิภาพในรูปแบบต่างๆ กัน
บทที่ 7 ของหนังสือเล่มนี้ เขาได้แนะนำหลักการเลือกพนักงานใหม่เข้าทำงานในองค์กรเอาไว้ โดยนำเสนอกรอบคิดของตนเอง ที่เรียกว่า กฎการสร้างความมั่งคั่ง หรือ Koch's Law of Wealth Creation ซึ่งเน้นหลัก 3 ประการคือ 1) จ้างคนดีที่สุด อย่าจ้างคนปานกลาง 2) หาคนที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนความสามารถส่วนตัวเป็นผลงานได้ดีในหลายสถานการณ์ 3) ต้องระวังอย่าจ่ายค่าตัวแพงเกินจำเป็น
กฎดังกล่าว เขาระบุโดยสูตรผลงานของพนักงาน 20% ในองค์กร หายเฉลี่ยด้วยผลงานของพนักงาน 80% ได้ผลลัพธ์ว่า พนักงานกลุ่มที่โดดเด่นนั้น สร้างผลงานเฉลี่ยให้มากกว่าพนักงานธรรมดาถึง 16 เท่า
จากการคำนวณดังกล่าว เขานำมาขยายความเพื่อแปรเปลี่ยนความสามารถของพนักงานออกมาเป็นรูปของความมั่งคั่งองค์กร โดยสมการว่า ความมั่งคั่ง เท่ากับ ผลคูณของสมรรถนะพนักงานกับสัมประสิทธิ์ของการสร้างความมั่งคั่ง
สัมประสิทธิ์ของความมั่งคั่ง มาจากไหน? เขาตอบว่า มันคือสิ่งที่เรียกว่า ยีนทางธุรกิจ หรือ business genes ซึ่งหานิยามได้ยาก (เขาบอกว่า ความฉลาดไม่ใช่หลักประกันความร่ำรวย เพราะไม่อย่างนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องรวยทุกคน) เสมือนหนึ่งค่า X ในวิชาพีชคณิตนั่นเอง การรับพนักงานโดยพึ่งพาเรื่องไอคิวอย่างเดียวไม่ได้ผล
ประเด็นที่ผู้เขียนไม่ได้พูดถึง และผู้อ่านต้องตระหนักก็คือ หนังสือเล่มนี้ เน้นมุมมองจากด้านบนคือผู้บริหาร และเจ้าของกิจการ ในขณะที่ละเลยมุมมองจากด้านล่าง เพราะบริษัทที่จะปลดปล่อยศักยภาพของพนักงานได้มากนั้น ต้องเปิดช่องให้พนักงานแต่ละคนสามารถสร้างวาระส่วนตัว (ที่บางครั้งอาจจะไม่สอดคล้องกับวาระของบริษัท) และให้รางวัลที่เหมาะสมและยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรได้มากกว่ารายได้ปกติ หากสัมฤทธิผล เพื่อให้พนักงานไม่รู้สึกว่า ถูกควบคุมจนเกินขนาดเหมือนทาสในองค์กร ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เห็นได้ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในองค์กรที่ใช้โครงสร้างอำนาจนิยมแบบเอเชีย
ถือเป็นหนังสือธุรกิจประเภท How To ที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง ไม่ใช่เพราะว่า เอาไปอ่านแล้วรวย แต่เพราะให้ไอเดียที่ดี เพียงแต่อย่าได้คาดหวังในความสมบูรณ์แบบมากเกินไปเท่านั้น
รายละเอียดในหนังสือ
Part 1 Turbo-Boost Your Career : Become an 80/20 Individual!
Chapter 1 How to Be an 80/20 Individual กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของทฤษฎี 80/20 (คนในองค์กร 20% ให้ผลผลิตต่อองค์กร 80%) ของวิลเฟรโด บาเรโต ซึ่งถูกดัดแปลงมาพัฒนาให้พนักงานในองค์กรให้เพิ่มศักยภาพของตนเองเพื่อให้เข้าไปหนึ่งใน 20% ของคนที่มีคุณภาพสูงสุดในองค์กรในสามมิติคือ 1) ดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น 2) ดึงเอาคนที่มีพลังสูงกว่า (ทั้งที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้) ในองค์กรให้แสดงศักยภาพออกมา 3) กระตุ้นให้ความคิดและปัจเจกบุคคลได้ปะทะและร่วมมือกันอย่างเต็มที่
Chapter 2 The Rise of the Creative Individual ถึงแม้ว่าข้อมูลข่าวสารจะเปิดกว้างให้การร่วมมือสะดวกมากขึ้น แต่ในมุมกลับ ทำให้ศักยภาพของปัจเจกในการทำงานถูกจำแนกชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้องค์กรกลายเป็นแค่เครื่องมือให้พนักงานแสดงพลังออกมาเท่านั้น เข้าสู่ยุคที่ปัจเจกที่เก่งกาจสามารถแสดงออก "พลังที่มองไม่เห็น" มากกว่าเดิมและมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเดิม เพียงแต่ต้องอยู่ในลักษณะของ ปัจเจกที่ร่วมมือกับผู้อื่นได้ดีด้วยเท่านั้น
Part 2 The Nine Essentials of 80/20 success
Chapter 3 Use Your Most Creative 20 Percent การค้นหาสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า "เหล็กเดือย" ขององค์กร หรือพลังโดดเด่น 20% ในองค์กรให้พบ แล้วเพิ่มพลังเข้าไปในส่วนนั้น (เช่น ทดสอบทัศนคติ ค้นหาความคิดสร้างสรรค์ คัดเลือกพนักงานดีเด่น ฝึกอบรมพนักงาน และกระตุ้นพนักงานเป้าหมาย) หลังจากนั้นก็หาวิธีจัดการกับ 80% ที่ไม่มีประสิทธิภาพในรูปแบบต่างๆ กัน รวมทั้งกลยุทธ์จ้างคนภายนอกที่กำลังได้รับความนิยม
Chapter 4 Spawn and Mutate Great Ideas ถึงแม้ธุรกิจจะมีองค์ประกอบของความสำเร็จด้วย ตัวเลข พลัง อุปกรณ์ จำนวนคน และความคิด แต่การเน้นไปว่าความคิด คือกุญแจหลักของธุรกิจ เป็นเรื่องที่ถือว่าถูกต้องที่สุด ดังนั้น การค้นหาความคิดที่สำคัญลำดับแรก และคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ระดับหัวแถวในองค์กร จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยผ่านการแข่งขัน ทดสอบ และต้องไม่ลืมว่า "ความคิดที่ประสบความสำเร็จก็เพื่อรอวันตายเท่านั้น" พร้อมกันนั้นก็ต้องหาทางค้นหาความคิด "นอกคอก" ทั้งจากภายในและภายนอก เอามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมซึ่งมีอยู่ 6 วิธี
Chapter 5 Find the Vital Few Profit Sources การตั้งเป้าหมายเพื่อค้นหาว่า กุญแจแห่งการสร้างกำไรของบริษัทที่อยู่ใน 20% ของผลิตภัณฑ์ เพื่อทุ่มเททรัพยากรไปสร้างโอกาสในอนาคต ซึ่งมีประเด็นให้พิจารณา 2 ประการคือ 1) อะไรสร้างกำไรสูงสุดเมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ใส่เข้าไป 2) ทรัพยากรไหนเกิดประโยชน์สูงสุดในกระบวนการทำงาน จากนั้นค่อยมาพิจารณาว่า ใครคือคนที่ใช้ทรัพยากรเหล่านั้น และลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านั้นเป็นใคร ซึ่งการพิจารณาเหล่านี้มี 7 กระบวนการ
Chapter 6 Enlist Einstein ว่าด้วยการใช้เวลาที่เปล่าประโยชน์ของคนทั่วไป และการบริหารเวลาให้ได้อรรถประโยชน์สูงสุด โดยมุ่งไปที่เวลา 20% ที่สำคัญที่สุดในกระบวนการทำงาน โดยถือหลัก 2 ข้อ คือ 1) หาว่ากิจกรรมอะไรสำคัญที่สุดแล้วใช้เวลากับตรงนั้น 2) ใช้เวลากับความคิดใหม่ๆ มากกว่าความคิดดาดๆ
Chapter 7 Hire Great Individuals ว่าด้วยการรับพนักงานใหม่เข้ามาร่วมงาน โดยไม่ต้องใช้การวัดไอคิวเสมอไป แต่ให้พึ่งพาหลักของ Koch's Law of Wealth Creation ของผู้เขียนเอง ซึ่งเน้นหลัก 2 ประการคือ 1) จ้างคนดีที่สุด อย่าจ้างคนปานกลาง 2) หาคนที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนความสามารถส่วนตัวเป็นผลงานได้ดีในหลายสถานการณ์ 3) ต้องระวังอย่าจ่ายค่าตัวแพงเกินจำเป็น
Chapter 8 Use Your Current Company to Your Advantage ว่าด้วยการค้นหาประโยชน์สูงสุดจากองค์กรเดิมที่คุณทำงานอยู่ แทนที่จะหางานใหม่ทำ ด้วยการค้นหาส่วนดีที่สุด 20% แล้วเข้าไปใช้ศักยภาพให้เป็นประโยชน์สูงสุด เช่น 1) สร้างหน่วยธุรกิจใหม่ที่มีกำไรสูงกว่า 2) หาส่วนผสมใหม่ที่ดีกว่าเดิม
Chapter 9 Exploit Other Firms ว่าด้วยการหาประโยชน์จากศักยภาพขององค์กรหรือบริษัทอื่นมาเพิ่มประสิทธิภาพของเราเองด้วยการ outsourcing ในลักษณะชั่วคราว โดยถือหลัก
1) ค้นหาจุดอ่อนของเราและจุดแข็งผู้อื่นในตลาด 2) เน้นหลักการ 80/20 ในการพิจารณาถ่วงน้ำหนักก่อนว่าจ้างภายนอกเทียบกับภายใน 3) จำแนกจุดอ่อนจุดแข็งของผู้รับงานภายนอกให้ชัดเพื่อสร้างพันธมิตรชั่วคราว 4) ตัดสินใจเปลี่ยนผู้รับงานภายนอกได้ทันทีหากวัตถุประสงค์ไม่ตรงกัน
Chapter 10 Secure Capital ว่าด้วยการบริหารทุนให้ปลอดภัยบนพื้นฐาน 3 ประการ 1) เมื่อพบโอกาส ต้องไม่ปฏิเสธ 2) เข้าใจว่าทุนเกิดจากความไว้วางใจ ซึ่งหากเป็นคนอื่นแล้ว จะมีเป้าหมายและแรงจูงใจต่างกัน 3) การระดมทุนและเพิ่มทุน ต้องพึ่งพาหลัก 80/20 เสมอ เพราะมีแต่ทุนจำนวนน้อยเท่านั้น ที่เข้าใจสอดคล้องและพร้อมจะสร้างผลิตภาพให้องค์กรได้ โดยการใช้ทุนนั้น ต้องพึ่งพาหลักทั่วไป 7 ประการให้บรรลุผล
Chapter 11 Make Zigzag Progress ว่าด้วยศิลปะการใช้ทรัพยากรที่ต้องการความอดทนและหลากรูปแบบในการบรรลุเป้าหมาย โดยไม่อิงกับสูตรสำเร็จเดียวตายตัว
Part 3 The 80/20 Revolution
Chapter 12 From Capitalism to Individualism เมื่อสังคมพัฒนาเป็นสังคมแยกย่อย (segmentized society) ระบบการจัดการก็ต้องสอดคล้อง และพึ่งพาหลัก 80/20 มากขึ้นเป็นองค์กรแบบใหม่ ในลักษณะพึ่งพาปัจเจกมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในยุค new economy ที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทสูงขึ้น
Chapter 13 What If? บททดลองเสนอกรอบวิธีคิดใหม่ในกรณีอุดมคติว่าหากทุกองค์กรธุรกิจในโลก นำหลักการ 80/20 ไปใช้ประโยชน์เต็มที่ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการปฏิวัติครั้งสำคัญที่เรียกว่าเป็น a la carte menu เช่น สภาพคล่องทางการเงินจะสำคัญกว่าทุน บริษัทเล็กจะสำคัญกว่าบริษัทใหญ่ พนักงานจะมีรายได้ตามความสามารถที่แท้จริง หุ้นส่วนจะไร้ความหมายลงต่อเนื่อง
|
|
|
|