Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 



new releases
Manager 360 aStore






 
Lives For Sale
ผู้เขียน: Mark Bostridge
ผู้จัดพิมพ์: Cotinuum
จำนวนหน้า: 220
ราคา: ฿844
buy this book

ศาสตร์และศิลปะว่าด้วยนินทากาเล

จะเรียกหนังสือรวมงานเขียนของนักเขียนชีวประวัติชาวอังกฤษชั้นนำเล่มนี้ว่า คำสารภาพของคนมีอาชีพสอดรู้สอดเห็นและตีแผ่เรื่องชาวบ้าน ก็ย่อมได้

เรื่องราวของบุคคลนั้น ได้รับความสนใจเสมอมาโดยเฉพาะบางคนนั้น ชีวิตจริงเป็นมากกว่านิยายขนาดยาวเสียอีก ฝรั่งเรียกว่า larger than life และความอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวที่นอกจากเจ้าตัวอยากให้ปรากฏ ก็ยิ่งเป็นความทะยานอยากหรือกิเลสที่แก้ไม่หายของมนุษย์เสมอมา

หนังสือเกร็ดชีวิต หรือชีวประวัติ จึงขายได้ขายดีทั้งในรูปของงานเขียนโดยมืออาชีพ หรือโดยเจ้าตัว ที่เรียกว่า อัตชีวประวัติ ซึ่งเรื่องนี้คนอังกฤษเป็นชาติที่โดดเด่นในเรื่องนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กๆ อังกฤษนั้นถูกตั้งโปรแกรมให้หัดบันทึกชีวิตประจำวันหรือ memoir กันจนกลายเป็นจารีตหรือวัฒนธรรมประจำชาติกัน และหนังสือประเภทชีวประวัติ ก็ขายขึ้นหิ้งในชาตินี้มากเป็นพิเศษ บางครั้งเหนือกว่าหนังสือนวนิยายเสียด้วยซ้ำ

คำว่า ชีวประวัติ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของยุคสมัย แต่เป็นเกร็ดเสี้ยวหนึ่งที่มีบุคคลเป็นแกนของเรื่องที่มีเรื่องของพฤติกรรม ผลงาน อารมณ์ และชีวิตส่วนตัวด้านต่างๆ ที่ถูกนำมาเสนอโดยผ่านมุมมองของผู้เขียน (จาก 9 มิติของชีวิตมนุษย์แต่ละคน)

จารีตของงานเขียนชีวประวัตินั้นมีมานานแล้วในโลก โดยในยุคแรกจะเน้นไปที่การสร้างวีรชนจนเกินจริงและออกมาในรูปนิทาน หรือเรื่องปรัมปราที่เต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ (เช่น รามายนะของอินเดีย หรือเรื่องราวในไบเบิลยิว หรือเรื่องเทพปกรณัมของกรีกโบราณ) แต่ที่ถือว่าเป็นต้นกำเนิดที่แท้จริงได้แก่งานเขียนของเซโนฟอนแห่งเอเธนส์โบราณ จากนั้นก็พัฒนาผ่านยุคสมัยมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

บางยุคสมัย งานเขียนชีวประวัติออกมาในรูปของนิยาย เช่นเรื่องของกษัตริย์อาร์เธอร์กับอัศวินโต๊ะกลม ของเซอร์โธมัส มาลอรี่

ในยุคสมัยใหม่งานเขียนของไอแซค วอลตันในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถือเป็นต้นตำรับชีวประวัติคลาสสิกมาจนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับชีวิตของจอห์น ดัน กวีอังกฤษ ที่ให้ทั้งภาพหลากมิติ และข้อมูลจากหลายแหล่งประกอบกันเข้า

ปัจจุบัน พัฒนาการของงานเขียนชีวประวัติมุ่งเน้นไปที่การค้นคว้าชีวิตของคนเด่นดังในสังคม และนักการเมืองเป็นหลัก เพราะแค่ชื่อก็ขายได้แล้ว และขายได้ดีกว่าปกติเสมอ จนกลายเป็นจารีตไปแล้วว่าต้องใช้สูตรนี้

หนังสือเล่มนี้รวบรวมงานเขียนสั้นๆ และคำให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับงานด้านชีวประวัติเกี่ยวกับประสบ การณ์บางอย่างที่น่าจดจำ เอาไว้เป็นบทเรียนให้คนที่อยากจะเป็นนักเขียนชีวประวัติได้ศึกษาเป็นกรณีศึกษา

ความน่าสนใจของข้อเขียนเหล่านี้ก็คือ นักเขียนเหล่านี้เขียนโดยคนที่ประสบการณ์ตรง และประสบความสำเร็จจากงานเขียนดังกล่าวมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชีวประวัติของคนร่วมสมัยหรือคนในอดีต

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ นับตั้งแต่เกริ่นนำไปเลยก็คือ การพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า ชีวิตจริงกับชีวประวัตินั้น ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกันเสมอไป เพราะชีวประวัตินั้นต้องมีพล็อตเรื่องที่ชัดเจนและน่าสนใจ แต่ชีวิตจริงนั้น ไม่มีพล็อต

ยิ่งไปกว่านั้น งานเขียนยังมีการจำแนกประเภทไปอีกว่า มีสองประเภทหลัก คือด้านหนึ่งเป็นการย่นย่อชีวิตจริงในลักษณะ "อัดเม็ด" (capsule) เพื่อให้สะดวกแก่การอ่านและเรียนรู้ กับอีกด้านหนึ่งเป็นงานเขียนประเภทยกย่องตามสูตร "หนังสืองานศพ" (tombstone) ที่มักจะสรรเสริญคุณงามความดีของผู้ที่ถูกเขียนถึงอย่างด้านเดียวเป็นหลัก

นอกจากนั้นประสบการณ์ของผู้เขียนแต่ละคนที่ถ่ายทอดออกมา สะท้อนให้เห็นลักษณะจำเพาะของการทำงานที่ต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ อารมณ์ และบรรยากาศ เนื่องจากการค้นหาข้อมูลนั้นมีความแตกต่างกันตามประเภทของคนที่เกี่ยวข้องที่ไม่สามารถควบคุมได้ บางคนมีข้อมูลมากเกินไปและขัดแย้งกันเอง บางคนหาข้อมูลแทบไม่ได้เลย บางคนปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล ฯลฯ

เป็นหนังสือที่ขอแนะนำให้ต้องอ่าน สำหรับคนที่อยากรู้ว่า นักเขียนชีวประวัติเขาทำงานกันอย่างไร? และเป็นมากกว่า "เสือกเรื่องชาวบ้าน" แค่ไหน?

เหมาะจะเป็นคู่มือสำหรับคนที่สนใจจะเขียนชีวประวัติผู้อื่นและตนเอง และเหมาะกับคนที่ต้องการจับผิดงานเขียนประเภท "เชียร์เข้ารกเข้าพง" ที่ถือเป็นงานประชาสัมพันธ์เกรดต่ำที่มีอยู่เกลื่อนตลาดในบ้านเรายามนี้ อย่างน้อยก็จะได้แยกดีแยกเลวออกจากกันได้ชัดขึ้น รายละเอียดในหนังสือ

Preface การจำแนกงานเขียนชีวประวัติบุคคลออกเป็น 2 กลุ่ม คือ พวก "งานย่นย่อชีวิต" กับ "งานหน้าหลุมฝังศพ"

Chapter 1 The Death Mask ลินดัล กอร์ดอน เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้พบข้อมูลอันน่าตกใจว่า เฮนรี่ เจมส์ ทอดทิ้งภริยา และชู้รักที่กำลังจะตายอย่างเฉยเมย และพบคนใกล้ชิดเขียนว่าเขาต้องคำสาปลึกลับ

Chapter 2 Personality Rights แอนดรูว์ วิลสัน เล่าถึงประสบการณ์เขียนชีวประวัติ แพตตริเซีย ไฮสมิธ ผู้ซื่อประสบการณ์วัยเด็กที่ขมขื่น เพราะถูกแม่คิดจะทิ้งเป็นปมในใจให้ใกล้บ้า ต้องหาทางดึงปมในใจออกมาเป็นงานเขียนเชิงฆาตกรรมชื่อดังอย่าง The Talented Mr.Riupley

Chapter 3 A Narcissist's Wedding แกรห์ม ร็อบ เปรียบเทียบว่า งานเขียนชีวประวัติจากประสบการณ์ค้นคว้าเรื่องกวีโฮโมเซ็กชวลฝรั่งเศส อาร์เธอร์ รองโบด์ เสมือนหนึ่งงานแต่งงานของคนที่หลงรักตัวเอง เพราะมักจะทำให้คนเขียนหลงผิดได้เสมอ

Chapter 4 Confessions of a Long-Distance Biographer โรเบิร์ต สกิเดลสกี้ เล่าถึงประสบการณ์ว้าวุ่นเมื่อตอนเขาเขียนเรื่องการเป็นรักร่วมเพศช่วงหนึ่งของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ในเคมบริดจ์ ก่อนจะเลิกพฤติกรรมดังกล่าว และหันมาเขียนหนังสือตำราเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง

Chapter 5 A Great House Full of Rooms เฮอร์เมียน ลี เขียนถึงตอนที่เขาค้นชีวประวัติของ เอดิธ วอร์ตัน นักเขียนอเมริกันยุคแรกที่เปิดโปงสังคมนิวยอร์กและนิวอิงแลนด์ ที่กดขี่สตรีอย่างรุนแรง พร้อมกับความประทับใจในความสามารถตกแต่งบ้านอย่างงดงามของเธอ แตกต่างจากความโดดเดี่ยวของตัวละครเอกที่เธอเคยแต่ง

Chapter 6 A Love Triangle ฟรานเซส วิลสัน เล่าถึงการเขียนประวัติแฮร์เรียต วิลสัน เมียลับผู้โด่งดังในประวัติศาสตร์อังกฤษเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเพศของเธอกับชายชั้นสูงหลายคนที่มาติดพัน โดยเฉพาะกับโทมัส คาร์ไลล์ กวีชื่อดัง ซึ่งค่อนข้างหมิ่นเหม่ต่อคำวิจารณ์ว่า อาจจะเป็นการล้ำเส้นมากเกินไปหรือไม่

Chapter 7 Pantherine เจเรมี ลูอิส เล่าถึงประสบการณ์เมื่อรับงานเขียนตามคำอนุญาตของ ซีรีล คอนนอลลี บรรณาธิการหนังสือฝ่ายซ้ายของอังกฤษชื่อดัง เพื่อนรักของจอร์จ ออร์เวล ซึ่งมีความสามารถเหนือกว่าผลงาน โดยได้รับข้อมูลจำนวนมากเกินคาดจาก อดีตภริยา "หญิงตัวแสบ" บาร์บารา สเกลตัน ซึ่งมีประวัติคบชู้ลือลั่นเกาะอังกฤษ

Chapter 8 Rebecca's Ghost มาร์กาเรต ฟอร์สเตอร์ เล่าเรื่องตอนที่เธอเขียนชีวประวัติของดาฟเน่ ดู มอริเย่ร์ เจ้าของผลงาน รีเบคก้า อันลือลั่น ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่เธอตัดสินใจ ที่จะตายด้วยการอดอาหารพอดี ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่หลอกหลอนผู้เขียนไปนานหลายเดือนทีเดียว

Chapter 9 Breaking In แอนดรูว์ โมชั่น เล่าการเขียนชีวิตรัก ที่ไม่ได้แต่งงานกันของกวี ฟิลลิฟ ลาร์กิน กับคนรัก โมนิก้า โจนส์ อันยาวนานกว่า 40 ปี พร้อมกับการสืบค้นรังรักที่ถูกปดปิดมายาวนาน หลังจากฝ่ายชายเสียชีวิตไปก่อน

Chapter 10 Archives ไดอะเมด แมคคัลลอค เล่าถึงการเขียนชีวประวัติของสังฆราชชื่อดังในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ของอังกฤษ โทมัส แครนเมอร์ ผู้ถูกพระนางแมรี่เผาในข้อหาต่อต้านคาทอลิกและนอกรีต ซึ่งสะท้อนปัญหาในราชสำนักอังกฤษและวิธีการทางการทูตของชาติในยุโรปในยุคปฏิรูปศาสนาคริสต์

Chapter 11 Glenpowder's Syndrome ฮิลลารี่ สเปอร์ลิ่ง เล่าถึงการเขียนประวัติ ไอวี่ คอมป์ตัน-เบอร์เน็ต นักเขียนสตรีอังกฤษ และพอล สก๊อต นักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับอินเดียยุคอังกฤษปกครองว่าเปรียบเสมือนคลื่นที่ไม่แน่นอน เพราะข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปมาตามความสามารถในการจำและลืมของบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ง่าย

Chapter 12 The Dictionary Man ไบรอัน วิลสัน บรรณาธิการคนที่สองของโครงการเขียนพจนานุกรมชีวประวัติของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เล่าถึงความยากลำบากในการค้นคว้า และย่นย่อชีวิตของคนที่มีชื่อเสียงให้เหลือเพียงสั้นๆ เพื่อความกระชับและค้นหาง่าย ซึ่งทำให้เขาสามารถจำแนกว่า งานเขียนประเภท "ย่นย่อชีวิต" นั้น เป็นงานที่สาหัสเพียงใด

Chapter 13 Polar Gap ซาร่า วีลเลอร์ เล่าเรื่องปัญหาที่คาดไม่ถึงจากงานสัมภาษณ์เพื่อเขียนชีวประวัติชิ้นแรกในชีวิต จากการเขียนงานของแอบสลี่ย เชอร์รี่-การ์ราร์ด หนึ่งในทีมงานสำรวจขั้วโลกใต้ของกัปตันสก๊อต ที่เสียชีวิตพร้อมกันหลังจากความล้มเหลวที่จะหาทางกลับ โดยผู้ให้ข้อมูลคือภริยาของนักสำรวจเอง ซึ่งทำให้ต้องครุ่นคิดว่า ระหว่างอารมณ์ของความเป็นมนุษย์กับผลงานของบุคคลนั้น อย่างไหนควรสำคัญมากกว่ากัน

Chapter 14 Starting Over บทสัมภาษณ์ แคลร์ โทมาลิน เกี่ยวกับประสบการณ์ตอนเขียนชีวประวัติโทมัส ฮาร์ดี้ นักเขียนชาวอังกฤษ (ผู้เขียน "เทสส์ ผู้บริสุทธิ์") ซึ่งต้องแยกให้ได้ระหว่างเรื่องราวที่ปรากฏในนวนิยายกับเรื่องชีวิตจริง ซึ่งแม้จะเกี่ยวข้องกันแต่ก็แตกต่างกัน

Chapter 15 Ipplepen 269 มาร์ก บอสตริดจ์ เล่าถึงการเขียนประวัติเชอร์รี่ วิลเลียมส์ อดีตหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยของอังกฤษ ซึ่งมีแง่มุมที่มากกว่าชีวิตทางการเมือง และนำไปสู่งานเขียนที่ซับซ้อนกว่า นั่นคือประวัติของพอล เบอร์รี่ นักการเมืองฝ่ายซ้ายของไอร์แลนด์เหนือที่ชีวิตมีสีสันอย่างมากกับพฤติกรรมรักร่วมเพศ

Chapter 16 Optical Research แอนโตเนีย เฟรเซอร์ เล่าถึงความยุ่งยากตอนสืบค้นเรื่องการเก็บภาษีสมัยพระนางแม่รี่แห่งสกอตแลนด์ ซึ่งโยงใยกับการต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายระหว่างพวกคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในอังกฤษ ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16

Chapter 17 Catching Trout ฟรานเซส สปอลดิ้ง บอกประสบการณ์ตอนที่เขียนประวัติ โรเจอร์ ฟราย นักเขียนกลุ่มบรูมสเบอร์รี่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผ่านการสัมภาษณ์ลูกสาวของเขา แล้วพบว่า อดีตนั้น ไม่ใช่อดีตอีกต่อไป หากเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอย่างวิเคราะห์ เพื่อท้าทายปัจจุบัน

Chapter 18 La-Di-Da แอนดรูว์ โรเบิร์ต กล่าวถึงประสบการณ์เขียนชีวประวัติลอร์ด ฮาลิแฟกซ อุปราชแห่งอินเดีย เจ้าของสมญา หมาจิ้งจอกศักดิ์สิทธิ์ ที่ประสบความล้มเหลวในการเจรจากับมหาตมะ คานธี และนำไปสู่เอกราชของอินเดียต่อมา ซึ่งเขาพบว่า ผู้ที่ถูกประวัติศาสตร์ตัดสินอย่างผิดๆ นั้น ให้ความร่วมมือดีเกินคาดอย่างไม่มียึดติดกับความขมขื่นในอดีตอย่างน่าทึ่ง

Chapter 19 My Race Not to Be the Second Primo เอียน ธอมสัน เล่าถึงการเขียนชีวประวัตินักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง พรีโม เลวี ซึ่งกินเวลายาวนานซึ่งฆ่าตัวตายในปี 1987 แข่งขันกับนักเขียนที่เป็นคู่แข่งที่เขาเปรียบว่าเหมือนฝันร้าย

Chapter 20 Stuff with Raw Edges ลูคัสตา มิลเลอร์ เล่าการเขียนชีวประวัติของ ชาร์ล็อต บรอนเต้ นักเขียนหนึ่งใน 3 พี่น้องชื่อดังของอังกฤษยุควิกตอเรีย ซึ่งมีสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับครูสอนภาษาฝรั่งเศสชาวเบลเยียมของเธอเอง ซึ่งก่อให้เกิดคำถามตามมาหลายอย่างที่ยังตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด

Chapter 21 No Respect จอห์น ซัทเธอร์แลนด์ บอกถึงแรงจูงใจ 3 ประการที่ทำให้เขากลายมาเป็นนักเขียนชีวประวัติบุคคล พร้อมจำแนกช่องว่างของตลาดกับตัวบุคคลที่ถูกเขียนถึง แต่เมื่อเขียนไปแล้ว บรรณาธิการและนักวิจารณ์จะชอบหยิบขึ้นมาพิจารณาก่อนใคร เพราะเหตุผลเรื่องความเป็นมนุษย์นั่นเอง

Chapter 22 Fever แคธรีน ฮิวส์ กล่าวถึงกลวิธีที่เรียกว่า Footstepping หมายถึงการพยายามเทียบเคียงความรู้สึกและจินตนาการของผู้เขียนเพื่อเข้าถึงอารมณ์และแรงจูงใจของผู้ที่ถูกเขียนถึง โดยยกกรณีเขียนประวัติ จอร์จ เอลเลียต มาศึกษา

Chapter 23 Caught in the Net แอนน์ โร กล่าวถึงความพยายามเขียนชีวประวัติของชายลึกลับ เพอร์กิน วอร์เบค ผู้อ้างตัวว่ามีสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15

Chapter 24 Finding a Good Woman ไมเคิล โฮลรอยด์ อธิบายว่า เหตุใดเรื่องของผู้หญิงที่ดี และมีชีวิตสวยงาม จึงไม่น่าสนใจพอสำหรับการนำมาเขียนชีวประวัติ หรือไม่ก็เขียนออกมาแล้ว ขายได้น้อย ต่างจากหญิงตัวร้ายที่มีสีสันกว่าหลายเท่า แม้จะมีการติดป้าย "ห้ามรุกล้ำ" ก็ตาม

Chapter 25 Brushstrokes เบน พิมล็อต ให้คำอธิบายว่า ทำไมยุคสมัยปัจจุบันจึงเป็นยุคทองของการเขียนชีวประวัติ แต่ที่น่าเสียดายก็คือ นักเขียนที่สร้างสรรค์กลับมีน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเขียนต้องเร่งเร้าตัวเองให้หลีกเลี่ยงงานคุณภาพต่ำ และหลีกหนีจารีตเดิมๆ ของงานเขียนตั้งแต่ยุคพลูตาร์ช

Chapter 26 Baptism by Fire ฟิโอน่า แมคคาร์ธี เล่าถึงประสบการณ์ขมขื่นของการเขียนประวัติ เอริค จิลล์ นักแกะสลักคาทอลิกชื่อดัง ที่เพื่อนของเขาเป็นคนให้ข้อมูล แต่กลับมีปัญหาภายหลัง ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญของนักเขียนชีวประวัติต้องจำเอาไว้

Chapter 27 He Put My Brother in His Book ดี.เจ.เทย์เลอร์ เล่าถึงประสบการณ์เขียนประวัติจอร์จ ออร์ เวล นักเขียนฝ่ายซ้ายชื่อดัง เจ้าของนวนิยาย แอนนิมอล ฟาร์ม ซึ่งได้สนทนากับคนที่ออร์แวลนำมาเป็นตัวร้ายในนวนิยายของเขา เพราะความเกลียดชังเป็นการส่วนตัว

Chapter 28 Manuscript Moments เจนนี่ อักลอว์ วิจารณ์งานเขียนชีวประวัติของกาสเคล เกี่ยวกับชีวิตของชาร์ล็อต บรอนเต้ และความสำคัญของการบันทึกข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

Chapter 29 Tarts เจน ริดลี่ย์ เขียนถึงประสบการณ์เมื่อเธอเขียนประวัตินักการเมืองแห่งพรรคทอรี่ในอดีตซึ่งถูกวิจารณ์ว่า ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่เขามีข้อโต้แย้งว่า ไม่จำเป็น เพราะความจริงแล้ว มีเรื่องซ่อนนักประวัติศาสตร์ไม่ให้รู้ความจริงอีกมาก

Chapter 30 The Hand From the Grave มิรันด้า ซีย์มัวร์ เล่าถึงเมื่อครั้งเขียนชีวประวัติของ ลอรา ไรดิ้ง กวีหญิงอเมริกัน ซึ่งมีสัมพันธ์ 3 เส้ากับ โรเบิร์ต เกรฟส์ จนทำให้ครอบครัวเกรฟส์ต้องแตกสลายลง แต่ไรดิ้งและเกรฟส์ กลับไม่มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาว หากแต่เป็นเพราะศรัทธาในความเชื่อลึกลับอะไรบางอย่างร่วมกัน

Chapter 31 Who is Sylvia? แคลร์ ฮาร์มัน อธิบายว่า การล่วงล้ำชีวิตส่วนตัวของผู้อื่น เป็นธุรกรรมที่เลี่ยงไม่ได้ของงานเขียนชีวประวัติ ซึ่งต้องการความรู้พิเศษมากกว่าปกติ โดยเฉพาะจิตสำนึกทางนามธรรมทั้งหลาย ซึ่งเธออธิบายว่าได้พบความลับนี้ ตอนที่เขียนประวัติของ ซิลเวีย ทาวเซนด์ วอร์เนอร์

Chapter 32 Felling Byronic ที. เจ. บินยัน อธิบายถึงการใช้จินตนาการเพื่อเข้าถึงข้อมูลเก่าในอดีตในงานเขียนประวัติอเล็กซานเดอร์ พุชกิน ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวเอง

Chapter 33 Waiting for the Biographer บทสัมภาษณ์นักเขียนนวนิยายเบอร์ริล เบรนบริดจ์ ถึงเหตุผลที่เธอไม่ยอมให้ใครเขียนงานชีวประวัติของเธอเอง เว้นแต่เลขานุการส่วนตัวของเธอจะร้องขอ เหตุผลคือเธอยังรู้สึกว่าไม่ฉลาดพอที่จะเข้าใจตนเองเลยด้วยซ้ำ แม้จะอายุมากแล้ว



upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide



 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us