|
new releases
Manager 360 aStore
|
|
|
|
|
Moral Courage
ผู้เขียน: Rushworth M. Kidder
ผู้จัดพิมพ์: William Morrow
จำนวนหน้า: 308
ราคา: $24.95
buy this book
|
|
|
|
ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องแม้ต้องเสี่ยงอันตราย
การมาบรรจบกันของการกล้าที่จะยืนหยัดในการทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยตระหนักดีถึงอันตราย แต่ยังคงเต็มใจที่จะยอมรับความเสี่ยงและความยากลำบากนั้น คือแนวคิดสำคัญและทำได้ยากยิ่งของสิ่งที่เรียกว่า "ความกล้าหาญทางศีลธรรม" (Moral Courage)
ผู้ประพันธ์คือ Rushworth M. Kidder ผู้ก่อตั้ง Institute for Global Ethics ชี้ว่า ความกล้าหาญทางศีลธรรมหรือจริยธรรม คือสิ่งที่ใช้แยกความแตกต่างระหว่างพวกมือถือสากปากถือศีล กับคนที่กล้าพูดกล้าทำ และกล้าที่จะเสี่ยงอันตรายเพื่อปกป้องหลักการที่ตนเชื่อมั่นว่าถูกต้อง
ใน Moral Courage ผู้ประพันธ์ได้เล่าเรื่องและแนะนำเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณสามารถตัดสินใจได้อย่างชัดเจนและเชื่อมั่น เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ความขัดแย้งเชิงศีลธรรมจรรยาทั้งในการทำงาน ชีวิตส่วนตัว และในชุมชน
ผู้แต่งชี้ว่า แม้คนเราอาจจะพูดได้อย่างมั่นใจว่าตนยึดมั่นในคุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง และอาจสามารถพัฒนาทักษะการพูดให้เหตุผลในเชิงศีลธรรมต่างๆ นานา ขึ้นมารองรับการตัดสินใจของตน ที่ได้เลือกที่จะยึดมั่นในคุณค่าหรือศีลธรรมจรรยาดังกล่าว แต่กระบวนการทางความคิดเช่นนั้นแทบจะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง หากพวกเขาเพียงแต่พูดว่าตนเชื่อ โดยไม่กล้าลงมือกระทำตามความเชื่อของตน ซึ่งจะต้องอาศัยความกล้าหาญทางศีลธรรม จึงจะสามารถทำให้การตัดสินใจของพวกเขาในการยึดมั่นในคุณค่าหนึ่งๆ กลายเป็นความจริง และสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างผู้ที่มีศีลธรรมจรรยาที่แท้จริง
กล้ายืนหยัดปกป้องคุณค่า
ลักษณะสำคัญของความกล้าหาญทางศีลธรรมหรือจริยธรรมก็คือ กล้าที่จะยืนหยัดเพื่อปกป้องคุณค่าที่ตนยึดถือ และยกตัวอย่างทหารสหรัฐฯ ที่ทารุณนักโทษอิรักในเรือนจำ Abu Ghraib ในอิรัก CEO ของบริษัท Parmalat บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของอิตาลี ซึ่งทำไม่รู้ไม่ชี้เมื่อเกิดความไม่ชอบมาพากลในด้านการเงินขึ้นในบริษัท และนักกีฬาโอลิมปิกที่ใช้สารกระตุ้น ว่าเป็นผู้ที่ล้มเหลวในการตัดสินใจที่จะรักษาความซื่อสัตย์ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ขัดแย้งในเชิงศีลธรรม อันเนื่องมาจากการที่พวกเขาขาดความกล้าหาญทางศีลธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะยกระดับคุณค่าจากการพูดมาเป็นการกระทำ และก้าวพ้นจากการยกอ้างเหตุผลในเชิงศีลธรรมด้วยปากเปล่า มาเป็นการกระทำที่มีหลักการ
ผู้แต่งเสนอแนะขั้นตอน 7 ขั้นในการส่งเสริมความกล้าหาญทางจริยธรรมในตัวเรา ดังนี้
1. ประเมินสถานการณ์ คุณคิดว่าสถานการณ์ ที่คุณกำลังเผชิญเรียกร้องความกล้าหาญทางจริยธรรมหรือไม่
2. ค้นหาคุณค่า คุณมองเห็นคุณค่าที่ควรจะต้องปกป้องหรือไม่
3. ยืนหยัดเพื่อจิตสำนึก คุณค่าหรือหลักการใดที่คุณจำเป็นต้องปกป้องในสถานการณ์นี้
4. พิจารณาถึงอันตราย คุณตระหนักอย่างชัดเจนหรือไม่ว่าอันตรายใดที่คุณจะต้องเสี่ยง
5. ยอมเผชิญความยากลำบาก หากคุณตัดสินใจปกป้องคุณค่าดังกล่าว ความยากลำบากที่จะต้องเผชิญจะทำให้คุณต้องเลิกล้มกลางคันหรือไม่ หรือคุณจะสามารถยืนหยัดต่อไปได้
6. หลีกเลี่ยงหลุมพราง คุณจะสามารถเอาชนะความขี้ขลาดและความมุทะลุ อันเป็นอุปสรรคสำคัญของความกล้าหาญทางจริยธรรมได้หรือไม่
7. พัฒนาความกล้าหาญทางจริยธรรมในตัวคุณ คุณจะรักษา เรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาความกล้าหาญทางจริยธรรมได้อย่างไร
ผู้นำผู้กล้าหาญ
ผู้แต่งชี้ว่า เราอาจเห็นความกล้าหาญทางจริยธรรม หรือการขาดความกล้าหาญทางจริยธรรมได้ทั่วไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ ในวงการเมือง กีฬาและบันเทิง หรือแม้แต่ในชีวิตส่วนตัวและสังคมของเราเอง Juan Guillermo Ocampo คือตัวอย่างของผู้ที่ทำงานเพื่อเปลี่ยนวัยรุ่นชาวโคลัมเบียจากการจับปืนมาถือไวโอลิน ด้วยการสอนดนตรีคลาสสิก ซึ่งเปลี่ยนให้พวกเขากลายเป็นต้นแบบที่ดีแทนที่จะเป็นนักฆ่า ในขณะที่ Trent Lott อดีตผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ คือตัวอย่างของการขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม เมื่อเขาพบว่า การกล่าวคำขออภัยหลังจากที่เขาได้กล่าวสนับสนุนการเหยียดเชื้อชาติออกไป กลับทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง และทำให้เขาถึงกับต้องตกจากตำแหน่งผู้นำด้วยความอัปยศ
|
|
|
|